ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดคำขอแก้ รธน. (2): สารพัดเหตุผลไม่เอา ส.ว. โมเดล กมธ.ยกร่าง – จี้รื้อ “สภา-คกก.” ปฏิรูป เหตุสิ้นเปลือง-ไม่จำเป็น-สืบทอดอำนาจ

เปิดคำขอแก้ รธน. (2): สารพัดเหตุผลไม่เอา ส.ว. โมเดล กมธ.ยกร่าง – จี้รื้อ “สภา-คกก.” ปฏิรูป เหตุสิ้นเปลือง-ไม่จำเป็น-สืบทอดอำนาจ

2 มิถุนายน 2015


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ประมวลข้อมูลจากคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 8 คำขอ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 1 คำขอ รวมทั้งหมด 9 คำขอ

พบว่า มีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) อยู่ 2 มาตรา นั่นคือ มาตรา 121 เรื่องที่มาของ ส.ว. และ มาตรา 279 เรื่องการจัดตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” และ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ที่ถูกยื่นแก้ไข “ครบ ทั้ง 9 คำขอ”

หรือแปลง่ายๆ ว่า ทั้ง 2 มาตรานี้ ไม่มีใครที่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนขึ้นมาเลย

ในวันนี้จะมาลงรายละเอียดว่า สิ่งที่ไม่เห็นด้วยมีอะไรบ้าง และอยากให้แก้ไขอย่างไร

Print

– มาตรา 121 เรื่องที่มาของ ส.ว.

ร่างเดิมของ กมธ.ยกร่างฯ มีเนื้อหาโดยสรุปคือ “ให้มี ส.ว. จำนวน 200 คน โดย 77 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมแล้ว ส่วนอีก 173 คน มาจากการสรรหา/เลือกกันเอง แบ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวง 10 คน อดีต ผบ.เหล่าทัพ 10 คน ผู้แทนสมาคมวิชาชีพต่างๆ 15 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ ทั้งเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่น 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 58 คน”

…..

คำขอที่ 1 (นายพลเดช ปิ่นประทีป และคณะ) ขอแก้ไข ให้ ส.ว. ทั้ง 200 คนมาจากการ “สรรหา” ทั้งหมด

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร ที่มาของ ส.ว. จึงควรแตกต่างจาก ส.ส. เพื่อมิให้มีฐานเสียงเดียวกัน อีกทั้งในสมัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้ ส.ว. มีที่มา 2 ประเภท ทั้งสรรหาและเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่าง ส.ว. ซึ่งมีที่มาต่างกัน จึงควรกำหนดให้ ส.ว. มีที่มาจากการสรรหาเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

คำขอที่ 2 (นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ และคณะ) ขอแก้ไขให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง 73 คน “ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง”

โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้ ส.ว. ในส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกตั้งอย่างแท้จริง

คำขอที่ 3 (นายมนูญ ศิริวรรณ และคณะ) ขอแก้ไข 1. ลดจำนวน ส.ว. จาก 200 คน เหลือ 150 คน 2. ให้ ส.ว. เลือกตั้งแต่ละจังหวัด “ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง” และ 3. ลดจำนวน ส.ว.สรรหา/เลือกกันเอง ในกลุ่มผู้แทนองค์กรการเกษตร แรงาน วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่น จาก 30 คน เหลือ 20 คน และในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จาก 58 คน เหลือ 30 คน

โดยให้เหตุผลว่า การเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัดไม่จำเป็นต้องมีคนมากลั่นกรอง ควรมอบให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจโดยตรง

คำขอที่ 4 (นายสมชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ) ขอแก้ไข 1. ให้ ส.ว. เลือกตั้งแต่ละจังหวัด “ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง” 2. ให้ ส.ว. ที่เหลืออีก 173 คน มาจากการ “สรรหา” ทั้งหมด ไม่ให้ “เลือกกันเอง”

โดยให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มอำนาจประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้ง 77 จังหวัดโดยตรง ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการซึ่งไม่มีหลักประกันความเป็นกลางและความเป็นธรรม และการแก้ไขให้ ส.ว. อีก 173 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด ตัดการคัดเลือกกันเองออก เพื่อป้องกันการจับกลุ่ม block vote

คำขอที่ 5 (นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และคณะ) ขอแก้ไข 1. ให้ ส.ว. เลือกตั้งแต่ละจังหวัด “ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง” 2. แก้ไของค์ประกอบของ ส.ว. สรรหา/เลือกกันเอง จำนวน 173 คน ให้เพิ่มตำแหน่งอดีต “ผบ.ตร.” เข้าไปกลุ่ม ผบ.เหล่าทัพด้วย และให้เพิ่มผู้แทนองค์กร “นักปกครองท้องที่” ไปในกลุ่มผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ

โดยให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มอำนาจประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้ง 77 จังหวัดโดยตรง และยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ ส.ว. เลือกตั้งเหล่านั้น ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากประชาชนเหมือนกัน ส่วนการแก้ไของค์ประกอบ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา/เลือกกันเอง กรณี ผบ.ตร. เพราะมีอำนาจหน้าที่ ยศ เงินเดือน และที่มาเหมือน ผบ.เหล่าทัพคนอื่นๆ กรณีเพิ่มผู้แทนองค์กร “นักปกครองท้องที่” เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ เพราะบุคคลเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดประชาชน จึงเข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาชนมากที่สุด

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอแก้ไข ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละ 2 คน รวม 144 คน

โดยให้เหตุผลว่า การที่ กมธ.ยกร่างฯ ให้อำนาจ ส.ว. ไว้กว้างขวาง ทั้งพิจารณบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรี แต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ พิจารณาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งระดับสูง หรือถอดถอนบุคคล โดยหลักวิชาการ “ที่มา” จะต้องสัมพันธ์กับ “อำนาจ” ซึ่งการให้ ส.ว. มีที่มา 2 แบบ คือเลือกตั้งและสรรหา/เลือกกันเอง นอกจากจะไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ยังทำให้เกิดความยุ่งยาก และไม่มีความชัดเจนว่ากระบวนการได้มาจะบริสุทธิ์ยุติธรรม

คำขอที่ 7 (นายประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ) ขอแก้ไข ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 6 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 30-34 คน

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ที่มาของ ส.ว. สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้น จึงควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยให้ที่มาต่างจาก ส.ส. คือได้มาจากฐานอาชีพที่หลากหลาย โดยใช้กลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

คำขอที่ 8 (นายพงศ์โพยม วาศภูติ และคณะ) ขอแก้ไข ให้ ส.ว. เลือกตั้งในแต่ละจังหวัด “ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง”

โดยให้เหตุผลว่า การเลือกตั้ง ส.ว. แต่ละจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะการให้มีคณะกรรมการสรรหาบางครั้งจะเกิดความลำเอียง หรือมีการทุจริตเพื่อให้ได้รับการคัดสรร

คำขอที่ 9 (คณะรัฐมนตรี) ขอแก้ไข ให้ ส.ว. เลือกตั้งในแต่ละจังหวัด “ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง”

โดยให้เหตุผลว่า การให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัคร ส.ว. เลือกตั้งในแต่ละจังหวัด อาจทำให้กระบวนการยืดยาวโดยไม่จำเป็น เพราะในทางปฏิบัติ ในแต่ละจังหวัดคงมีผู้สมัครเกิน 10 คน ไม่มากนัก

Print

-มาตรา 279 เรื่องการจัดตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” และ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ”

ร่างเดิมของ กมธ.ยกร่างฯ มีเนื้อหาโดยสรุปคือ “เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่อง ให้มี 1. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน มาจาก สปช. ชุดปัจจุบัน 60 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน และ 2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งกรรมการเต็มเวลาและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 15 คน ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ แต่งตั้ง ทั้ง 2 องค์กรมีหน้าที่ในการผลักดันเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ หาก ครม. ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปใด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ สามารถลงมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ จัดให้มีการทำประชามติ โดยให้มีผลผูกพัน ครม. ต้องปฏิบัติตามได้”

…..

คำขอที่ 1 (นายพลเดช ปิ่นประทีป และคณะ) ขอแก้ไข ยุบ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ” ให้เหลือเพียง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” โดยให้มีสมาชิกไม่เกิน 60 คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ

โดยให้เหตุผลว่า เห็นด้วยกับการวางระบบกลไกให้การปฏิรูปเกิดความต่อเนื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องมีถึง 2 องค์กรขึ้นมาทำเรื่องเดียวกัน

คำขอที่ 2 (นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ และคณะ) ขอแก้ไข 1. ยุบรวมทั้ง 2 องค์กรเป็น “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 35 คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ 2. เพิ่มจำนวนเสียงในการพิจารณาว่าจะจัดให้มีการทำประชามติการปฏิรูปเรื่องใดหรือไม่ จากเดิมไม่น้อยกว่าสามในสี่ เป็นเอกฉันท์

โดยให้เหตุผลว่า การให้ สปช. และ สนช. เป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ อาจขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสจึงยุบเหลือเพียงองค์กรเดียว และให้มีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ

คำขอที่ 3 (นายมนูญ ศิริวรรณ และคณะ) ขอแก้ไข ยุบ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ให้เหลือเพียง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ” แต่ลดจำนวนสมาชิกเหลือไม่เกิน 100 คน โดยให้มาจาก สปช. 50 คน สนช. 20 คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

คำขอที่ 4 (นายสมชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ) ขอแก้ไข 1. ยุบ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ” ให้เหลือเพียง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” 2. ตัดอำนาจในการจัดทำประชามติเพื่อให้มีผลผูกพันต่อ ครม. ออก

โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดให้ สปช. เป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

คำขอที่ 5 (นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และคณะ) ขอแก้ไข ให้ตัดออกทั้งหมด

โดยให้เหตุผลว่า ควรกำหนดให้ สปช. ทำหน้าที่ต่อไปจนเสร็จภารกิจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอแก้ไข ให้ตัดออกทั้งหมด

โดยให้เหตุผลว่า –

คำขอที่ 7 (นายประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ) ขอแก้ไข ยุบรวมทั้ง 2 องค์กรเป็น “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” มีสมาชิก 60-90 คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การปฏิรูปบรรลุผลสำเร็จและลดข้อกังวลเรื่องการสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้ ให้มีค่าตอบแทนเฉพาะเบี้ยประชุมเท่านั้น ไม่มีเงินเดือน

คำขอที่ 8 (นายพงศ์โพยม วาศภูติ และคณะ) ขอแก้ไข 1. ยุบ “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติฯ” ให้เหลือเพียง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” 2. เพิ่มอำนาจในการร่างกฎหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูป เสนอต่อ ครม. 3. ลดจำนวนเสียงที่พิจารณาว่าจะจัดให้มีการทำประชามติการปฏิรูปเรื่องใดหรือไม่ จากเดิมไม่น้อยกว่าสามในสี่ เป็นไม่กำหนดจำนวนเสียงขั้นต่ำ แค่อาศัยมติเฉยๆ

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อ สปช. ได้เสนอแนะข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปแล้ว หน้าที่ในการปฏิบัติตามเป็นของรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องมีสภามาเสนอแนะอะไรอีก กลไกที่น่าจะจำเป็นมากกว่าคือกลไกติดตามและประเมินความก้าวหน้าในการปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งสามารถใช้สมัชชาพลเมืองแทนได้

คำขอที่ 9 (คณะรัฐมนตรี) ขอแก้ไข 1. ยุบทั้ง 2 องค์กร พร้อมจัดตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” มีสมาชิก 20 คน แบ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผบ.ทสส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. และอดีตประธานรัฐสภา อดีตนายกฯ อดีตประธานศาลฎีกา และกรรมการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ อีก 9 คน และ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน 2. ให้อำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และให้ ครม. และหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นั้น 3. ตัดอำนาจในการเสนอจัดให้มีการทำประชามติออก

โดยให้เหตุผลว่า แก้ไขให้สอดคล้องกับการนำอำนาจหน้าที่ในการสร้างความปรองดองมาไว้ในองค์กรเดียวกัน

580602consti
ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com

ครม. ประยุทธ์ไม่ค้านนายกฯ คนนอก – ส่วนใหญ่ยี้กลุ่มการเมืองลงเลือกตั้ง

สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญและถูกขอให้แก้ มีอาทิ

– มาตรา 172 วรรคสาม ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้มี “นายกฯ คนนอก” ได้ (มีขอแก้ไข 3 คำขอ)

คำขอที่ 5 (นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และคณะ) ขอให้เขียนให้ชัดเจนว่า เมื่อเลือกนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ไม่ได้เสียก่อนถึงจะเลือกคนนอกได้ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอให้ตัดเรื่องนายกฯ คนนอกทิ้ง เพราะนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

คำขอที่ 7 (นายประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ) ขอให้เขียนให้ชัดเจนว่า หลังจากเปิดประชุมสภา 30 วัน แล้วไม่สามารถเลือกนายกฯ จาก ส.ส. ได้ ถึงจะเลือกคนนอกได้ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

– มาตรา 105 และมาตรา 107 ให้ “กลุ่มการเมือง” ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้ (มีขอแก้ไข 6 คำขอ)

คำขอที่ 3 (นายมนูญ ศิริวรรณ และคณะ) ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะจะส่งผลให้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง

คำขอที่ 5 (นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และคณะ) ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนสับสน ก่อให้เกิดช่องทางการทุจริต การหลีกเลี่ยงการยุบพรรคการเมือง

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะเป็นการย้อนอดีต ถอยหลังเข้าคลอง และไม่เห็นผลดีอะไร

คำขอที่ 8 (นายพงศ์โพยม วาศภูติ และคณะ) ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะไม่มีความเป็นสถาบัน กำกับดูแลพฤติกรรมสมาชิกไม่ได้ จะยิ่งทำให้สถาบันทางการเมืองอ่อนแอ

คำขอที่ 9 (คณะรัฐมนตรี) ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้เกิดความอลหม่านมากขึ้น พรรคการเมืองอาจตั้งกลุ่มการเมืองตัวแทน (nominee) เหมือนมุ้งเล็กที่แยกออกมาจากมุ้งใหญ่ ถ้าจะกำหนดให้ผู้สมัครไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ก็ยังพอจะสะท้อนหลักการความเป็นอิสระและพอจะเข้าใจได้ แต่เมื่อไม่ให้สมัครอิสระเสียแล้ว กลุ่มการเมืองก็ไม่ต่างจากพรรคการเมืองนั่นเอง

– มาตรา 174 ประกอบมาตรา 130 เพิ่มอำนาจ ส.ว. ตรวจสอบรายชื่อรัฐมนตรีก่อนนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง (มีขอแก้ไข 2 คำขอ)

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ดังกล่าวออก เพราะการที่ กมธ.ยกร่างฯ ให้อำนาจ ส.ว. ไว้อย่างกว้างขวาง โดยหลักทางวิชาการ ที่มาของ ส.ว. จะต้องมีความสัมพันธ์กับอำนาจหน้าที่ แต่การที่ ส.ว. จำนวนหนึ่งมาจากการสรรหา/เลือกกันเอง ทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน

คำขอที่ 9 (คณะรัฐมนตรี) ขอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ดังกล่าวออก เพราะการกำหนดให้นายกฯ ส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้ ส.ว. ตรวจสอบ โดยไม่ให้มีมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เรื่องนี้จะทำให้กระบวนการแต่งตั้งรัฐมนตรีล่าช้าและไม่เป็นความลับ ซึ่งจะเป็นปัญหาทางการเมืองในสังคมไทยได้ และหาก ส.ว. ตรวจสอบพบว่ารัฐมนตรีคนใดมีความไม่เหมาะสม แต่นายกฯ ยังยืนยันจะแต่งตั้งต่อไป ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระแก่พระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะทรงแต่งตั้งตามที่เสนอหรือไม่ก็ตาม

– มาตรา 207 ให้มี “คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม” ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายข้าราชการ รวม 7 คน ขึ้นมาพิจารณาแต่งตั้งปลัดกระทรวงแทน ครม. (มีขอแก้ไข 7 คำขอ)

คำขอที่ 1 (นายพลเดช ปิ่นประทีป และคณะ) ขอให้ตัดอำนาจในการแต่งตั้งออก เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถเลือกบุคคลที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลได้ แต่ให้เปลี่ยนเป็นส่งประวัติให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบก่อนนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งแทน

คำขอที่ 2 (นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ และคณะ) ขอเพิ่มอำนาจคณะกรรมการฯ คุณธรรม ให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการได้ในทุกระดับ ทุกประเภท ไม่ใช่แค่ปลัดกระทรวงเพียงตำแหน่งเดียว

คำขอที่ 3 (นายมนูญ ศิริวรรณ และคณะ) ขอเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการฯ คุณธรรม โดยเพิ่มรัฐมนตรีเข้าไปด้วย แต่อำนาจต่างๆ ให้คงเดิม

คำขอที่ 5 (นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และคณะ) ขอให้ตัดคณะกรรมการฯ คุณธรรมออก เพราะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะกรรมกาตตามกฎหมายอื่น ซึ่งแต่ละองค์กรได้มีกฎหมายกำหนดในการตรวจสอบ ถ่วงดุล เหมาะสมอยู่แล้ว อีกทั้งในการแต่งตั้งนายทหารของกองทัพ เป็นเรื่องความมั่นคง เป็นพระราชภารกิจ เป็นหน้าที่ประมุข ต้องผ่านการตรวจสอบถวายคำแนะนำโดยองคมนตรีอยู่แล้ว มิใช่ให้คณะกรรมการฯ คุณธรรมเป็นผู้พิจารณา นอจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังระบุห้ามมิให้ฝ่ายการเมือง เข้ามาแทรกแซงข้าราชการกระจำอยู่แล้ว มีขั้นตอน แนวปฏิบัติ เพียงพอสมควรแล้ว

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอให้ตัดบทบัญญํติว่าด้วยคณะกรรมการฯ คุณธรรมออกจากร่างรัฐธรรมนูญ แล้วไปเขียนไว้ในกฎหมายลูกแทน

คำขอที่ 7 (นายประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ) ขอให้เปลี่ยนอำนาจคณะกรรมการฯ คุณธรรม จากการแต่งตั้งโดยตรง เป็นเสนอรายชื่ออย่างน้อย 2 เท่าของจำนวนที่ต้องเลือก ให้นายกฯ พิจารณาแทน

คำขอที่ 9 (คณะรัฐมนตรี) ขอให้ตัดบทบัญญํติว่าด้วยคณะกรรมการฯ คุณธรรมออกจากร่างรัฐธรรมนูญ แล้วไปเขียนไว้ในกฎหมายลูกแทน

มาตรา 268 ให้มี “คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)”  ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงจัดให้มีการทำประชามติ แทน “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” (มีขอแก้ไข 3 คำขอ)

คำขอที่ 5 (นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และคณะ) ขอให้ตัด กจต. ออก แล้วให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งดังเดิม เพราะการจัดตั้ง กจต. นอกจากหน้าที่จะซ้ำซ้อน ยังสิ้นเปลืองงบประมาณ และอาจขาดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ กกต. ยังมีแนวทางการดำเนินการ มีขั้นตอนในการปฏิบัติอยู่แล้ว ตั้งแต่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ไม่จำเป็นต้องมี กจต. มาช่วย

คำขอที่ 6 (นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะ) ขอให้ตัด กจต. ออก แล้วให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งดังเดิม

คำขอที่ 9 (คณะรัฐมนตรี) ขอให้ตัด กจต. ออก เพราะมีข้อเสีย แล้วให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งดังเดิม ส่วนจะใช้วิธีการใดให้เขียนไว้ในกฎหมายลูก

เป็นต้น