ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมเราอาจจำเป็นต้องเริ่มการซื้อเสียงเพื่อลดการซื้อเสียง

ทำไมเราอาจจำเป็นต้องเริ่มการซื้อเสียงเพื่อลดการซื้อเสียง

24 มิถุนายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ปัญหาของการซื้อเสียงที่เมืองไทยนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่นักวิชาการหลายคนมักยกขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลในการอภิปรายอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมประเทศไทยเราถึงยังไม่พร้อมกับการเลือกตั้งที่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่เต็มร้อยสักที เเต่ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสรับฟังนักวิชาการยกปัญหานี้ขึ้นมาเป็นข้ออ้างทีไร ผมมักจะผิดหวังกับการฟังทุกครั้งเพราะว่าไม่เคยมีนักวิชาการท่านไหนเลยที่สามารถให้คำตอบกับคำถามที่สำคัญที่สุดที่ว่า “เเล้วถ้าสมมติว่าเราอยากจะขจัดปัญหาของการซื้อขายเสียงอย่างมีประสิทธิภาพเเละเห็นผลได้เกือบทันทีล่ะ เราควรจะต้องทำอะไรกันบ้าง?”

วันนี้ผมขอถือโอกาสใช้พื้นที่ของไทยพับลิก้าในการเสนอความเป็นจริงสามข้อเกี่ยวกับการซื้อขายเสียงที่มาจากผลการวิจัยเเละทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อเป็นการช่วยโน้มน้าวให้คุณผู้อ่านเห็นด้วยกับผมว่า การซื้อเสียงอาจเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถลดปัญหาการซื้อขายเสียงที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพเเละรวดเร็วที่สุด

เเต่ก่อนอื่นเลยนะครับ ความเป็นจริงข้อที่หนึ่งเกี่ยวกับการซื้อขายเสียงก็คือ

ข้อที่ 1: การซื้อเสียงอาจเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหา

สมมติว่าผมตั้งคำถามขึ้นมาว่า “การซื้อเสียงเป็นปัญหาไหม” ผมเเน่ใจว่าคุณผู้อ่านเกือบทุกท่านก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นสิ” เเต่ถ้าผมถามคุณผู้อ่านต่ออีกนิดว่า “งั้นการซื้อเสียงเป็นปัญหาตรงไหน” ผมคิดว่าหลายๆ ท่านก็อาจจะตอบกลับมา (อย่างอารมณ์ขึ้นก็อาจเป็นได้) ว่า “จะไม่เป็นปัญหาได้ยังไงในเมื่อมันก็เห็นๆ กันอยู่ชัดๆ ว่ามีการซื้อเสียงจริงๆ ในชนบท นักการเมืองที่รวยๆ เขาก็เอาเงินเขามาเเจกให้กับชาวบ้านเลือกเขา สุดท้ายเเล้วเราก็เอาคนไม่ดีเข้าสภา” ซึ่งพอมาถึงตรงนี้เเล้วผมอาจจะเบรกคุณผู้อ่านก่อนที่จะตอบกลับไปว่าคุณผู้อ่านตอบไม่ตรงคำถามของผมเลย (ก่อนที่จะหลบหมัดฮุคของคุณผู้อ่านพร้อมกับหันหน้าวิ่งหนีไปโดยปริยาย)

สาเหตุที่ผมคิดว่าคุณผู้อ่านตอบไม่ตรงคำถามของผมนั้นเป็นเพราะว่า ผมไม่คิดว่าการที่มีนักการเมืองมาใช้เงินซื้อเสียงกับคนในชนบทจริงๆ เป็นปัญหา เเต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าอะไรคือผลลัพธ์ของการที่มีนักการเมืองมาใช้เงินซื้อเสียงกับคนในชนบท (พูดง่ายๆ ก็คือถึงเเม้ว่าอาจจะมีการใช้เงินในการซื้อเสียงเกิดขึ้นจริงๆ เเต่ถ้าชาวบ้านไม่ได้เลือกนักการเมืองที่มาซื้อเสียงของเขา หรือถ้าเลือกก็ไม่ได้เลือกเพราะเงิน ปัญหาการซื้อเสียงก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นปัญหาเพราะถือว่ามันไม่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมในการลงเสียงของชาวบ้านเลย)

เเละผมก็ยังเชื่ออีกว่าไม่มีใครที่เมืองไทยเเม้เเต่คนเดียวที่จะสามารถตอบคำถามนี้ได้เลย นั่นก็เป็นเพราะว่าตามประวัติเเล้วไม่เคยมีใครเคยทำวิจัยที่เป็นการทดลองเเบบ Randomized Control Trial (RCT) ของการซื้อขายเสียงที่เมืองไทยที่มีทั้งกลุ่มทดลอง (trial) เเละกลุ่มควบคุม (control) เลย (อาจจะมีคนเคยทำวิจัยเเล้วพบว่ามีการซื้อเสียงในชนบทจริงเเละคนที่ถูกซื้อเสียงก็เลือกคนที่มาซื้อเสียงจริงๆ เเต่การทำวิจัยที่ไม่ใช่ RCT เหล่านี้ก็ไม่สามารถบอกกับเราได้ว่าถ้าไม่เกิดการซื้อเสียงขึ้นมาล่ะ คนเขายังจะเลือกนักการเมืองคนเดิมอยู่หรือเปล่า)

เท่าที่ผมทราบในขณะนี้มีการศึกษาที่เป็น RCT ที่เกี่ยวกับผลลัพธ์ของการซื้อเสียงอยู่งานเดียวนั่นก็คืองานวิจัยของเปโดร วิเซนเต (Pedro Vicente) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโนวา เด ลิสบอน (Nova de Lisbon) ของประเทศโปรตุเกส

ในงานวิจัยของเปโดรนั้นเขาต้องการที่จะหาคำตอบกับคำถามที่ว่า “ในการเลือกตั้งหาประธานาธิปดีของประเทศเซาโทเมเเละปรินซิเป (São Tomé and Príncipe) หรือ STP ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 2006 ใน West Africa ซึ่งก็เเน่นอนว่ายากจนกว่าชนบทของเมืองไทยเป็นไหนๆ นั้น เขามีการซื้อเสียงกันมากน้อยเเค่ไหน” ซึ่งในการหาคำตอบของเขานี้ เปโดรได้ทำการสุ่มทำการรณรงค์ (campaign) การต่อต้านการซื้อเสียงเป็นพื้นที่ไป หลังจากนั้นเขาก็เก็บข้อมูลก่อนเเละหลังของคนในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทดลอง เเละพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ควบคุม

สโลเเกนในรูปก็คือ “ระวังอย่าให้มโนธรรมของคุณถูกครอบงำด้วยเงิน - คุณควรจะใช้สิทธิในการใช้เสียงของคุณอย่างชอบธรรม” เเละในหน้าเเรกของใบปลิวยังมีกฎหมายที่ใช้ในการลงโทษการซื้อขายเสียงของประเทศ STP ที่มาภาพ : Vicente, P. (2014). p.F362.
สโลเเกนในรูปก็คือ “ระวังอย่าให้มโนธรรมของคุณถูกครอบงำด้วยเงิน – คุณควรจะใช้สิทธิในการใช้เสียงของคุณอย่างชอบธรรม” เเละในหน้าเเรกของใบปลิวยังมีกฎหมายที่ใช้ในการลงโทษการซื้อขายเสียงของประเทศ STP ที่มาภาพ : Vicente, P. (2014). p.F362.

เปโดรพบว่า เมื่อเทียบกันกับพื้นที่ควบคุม พื้นที่ที่มีการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงนั้นได้มีการขายเสียงให้กับนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากพรรคที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันลดลงเกือบ 9% เเละการขายเสียงให้กับนักการเมืองที่มาจากพรรคที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันลดลงเกือบ 6%

เเต่ว่าการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงก็ไม่ได้มีผลลัพธ์เชิงบวกอย่างเดียว เปโดรพบว่า เมื่อเทียบกันกับพื้นที่ควบคุม พื้นที่ที่มีการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงกลับมีผู้ที่ออกมาใช้เสียงน้อยลงถึง 3-6% ด้วยกัน เเถมการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงยังทำให้ vote share (หรือเปอร์เซ็นต์ของโหวต) ของพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่เพิ่มขึ้น 4% เเละของพรรคที่ไม่ใช่รัฐบาลลดลง 4%

บทสรุปงานวิจัยของเปโดรก็คือ 1) มีการซื้อเสียงเกิดขึ้นจริงๆ 2) การที่มีการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงมีประสิทธิผลในการลดการขายเสียงของคนประมาณ 6-9% 3) เเต่การที่มีการณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงทำให้คนออกมาใช้เสียงน้อยลงถึง 3-6% เเละ 4) เเถมการณรงค์ยังทำเพิ่มโอกาสให้พรรคที่เป็นรัฐบาลได้เป็นรัฐบาลอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยสี่ปี

ส่วนตัวเเล้วผมว่าบทสรุปข้อ 1) เเละ 2) เป็นบทสรุปที่ตรงกันข้ามเเต่ต่างก็สำคัญทั้งคู่ (ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครให้ความสำคัญกับอะไรมากน้อยกว่ากัน)

เเต่ถ้าสมมติว่าเราให้ความสำคัญกับการที่คนจนไม่ขายเสียงมากกว่าจำนวนของคนที่จะออกมาใช้เสียงเลือกตั้ง งานวิจัยของเปโดรทำให้เรารู้ว่าการที่มีการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงนั้นมีประสิทธิผลในการลดการขายเสียงของคนจริงๆ

เเต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็อาจจะมีคุณผู้อ่านหลายท่านที่จะออกมาเถียงกับผมว่า “เเต่ประสิทธิผลประมาณ 6-9% นั้นตำ่มากเมื่อเทียบกันกับทุนที่จำเป็นต้องใช้ในการรณรงค์ จะมีวิธีอื่นอีกไหมที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้”

คำตอบของผมก็คือมีครับ เเต่ก่อนอื่นผมขอเขียนความเป็นจริงที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์เราอีกสองข้อก่อนที่จะเสนอวิธีที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่มากกว่าการรณรงค์ต่อต้านการซื้อขายเสียงนะครับ

ข้อที่ 2: คนเราส่วนใหญ่ไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใคร (reciprocity is an innate trait of human beings)

จากการวิจัย เฟรดริโก ฟิเเนน (Fredrico Finan) เเละลอรา สเก็ชเตอร์ (Laura Schechter) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ (Berkeley) เเละวิสคอนซิน เเมดิสัน (Wisconsin Madison) พบว่าสาเหตุใหญ่ส่วนหนึ่งที่ทำให้การซื้อเสียงมีประสิทธิผลสูงต่อพฤติกรรมในการลงคะเเนนเสียงของคนนั้นก็เป็นเพราะว่า คนเราส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินจากคนที่มาซื้อเสียงไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใคร (ซึ่งก็ทำให้เกิดการตอบสนองบุญคุณกับคนที่ให้เงินกับเราขี้นมา) ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน คือไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใคร

ข้อที่ 3: คนเราไม่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี (people care a great deal about maintaining self-worth)

จากผลงานวิจัยของเเดน อาริเอลี (Dan Ariely) นักเศรษฐศาสตร์เเละจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke) พบว่าเวลาคนเราส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะโกงกันนั้น เราจะไม่ค่อยโกงกันเยอะ เเละถึงเเม้ว่าเราจะมีโอกาสในการโกงกินกันเเบบมหาศาล คนเราส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ทำกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเราไม่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เเละการโกงเเบบเล็กๆ น้อยๆ นั้นทำให้เราสามารถได้ทั้งกำไรที่มาจากการโกง และแถมยังทำให้เราสามารถมองกระจกและบอกกับตัวเองได้ว่าเรายังเป็นคนดีอยู่

การซื้อเสียงเพื่อลดการซื้อเสียง

จากความเป็นจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนข้อที่ 2 เเละ 3 หมายความว่าคนที่ขายเสียงทำไปเพราะ i) ไม่ต้องการเป็นหนี้บุญคุณใคร เเละ ii) เงินหรือสิ่งของที่ได้รับมาตอบเเทนไม่ได้เยอะมากจนทำให้เขาต้องรู้สึกว่าเขากำลังทำอะไรที่ผิดมหาศาลในการขายเสียง

เพราะฉะนั้น วิธีการที่จะสามารถช่วยในการต่อต้านการซื้อขายเสียงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็น่าจะเป็นการใช้ความเป็นจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนทั้งสองข้อให้เป็นประโยชน์ วีธีการนั้นก็คือการใช้เงินหรือสิ่งของนิดๆ หน่อยๆ ที่อาจจะได้มาจากการบริจาค หรือ crowdfunding ในการซื้อเสียงของคนที่พร้อมจะขายเสียงของเขาคืนมา โดยขั้นตอนของการซื้อเสียงนี้คนที่ซื้อต้องบอกว่า “เงินที่คุณจะได้รับมาเป็นเงินจากคนทั่วประเทศบริจาคมาช่วยคนทุกๆ ท้องถิ่นของประเทศ เเต่ถ้าได้รับเเล้วคุณต้องให้สัญญากับคนทั้งประเทศว่าคุณจะตัดสินใจเลือกคนที่คุณคิดว่าดีที่สุดเข้าสภา ซึ่งก็เป็นใครก็ได้เเล้วเเต่คุณ เเต่อย่าไปเลือกคนที่มาซื้อเสียงของคุณถ้าคุณไม่กะจะเลือกเขาตั้งเเต่ต้น”

เเละด้วยเหตุผลที่ว่า i) คนไม่ต้องการเป็นหนี้บุญคุณใคร ถ้าไม่มีใครมาซื้อเสียงของเขานอกจากเราซึ่งไม่ได้เป็นตัวเเทนของใครเลย เขาก็จะเลือกคนที่เขาอยากเลือกที่สุด เเละถึงเเม้ว่าจะมีการซื้อเสียงจากนักการเมืองจริงๆ เพราะ ii) คนเราไม่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เมื่อเขามีทางเลือกระหว่างตอบเเทนบุญคุณของคนทั้งประเทศหรือตอบเเทนบุญคุณของนักการเมืองที่ขี้โกง โอกาสที่เขาอยากจะตอบเเทนบุญคุณของคนทั้งประเทศ ซี่งก็จะไม่ทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับตัวเองด้วยก็น่าจะเยอะกว่า ถึงเเม้ว่าเงินหรือค่าตอบเเทนที่เขาอาจจะได้รับจากเราอาจจะน้อยกว่าเงินที่เขาอาจจะได้รับจากนักการเมืองก็ตาม

เเละอย่างน้อยที่สุด การที่เราสามารถเปิดช่องทางเลือกอื่นในตลาดที่ดีเเละมีศีลธรรมมากกว่าให้ชาวบ้านก็จะสามารถช่วยผลักดันราคาของเสียงชาวบ้านให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักการเมืองที่คดโกงนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้เงินมากขึ้นเป็นทวีคูณในการซื้อเสียง (ซึ่งอันนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีนะครับเพราะคนที่เสียก็คือนักการเมืองเเละคนที่ได้ก็คือชาวบ้านจนๆ เเถมเขาอาจจะไม่เลือกนักการเมืองที่มาซื้อเสียงของเขาด้วยซำ้)

เเต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมได้กล่าวมาเป็นเพียงเเค่ทฤษฎีเท่านั้น มันจะได้ผลจริงหรือไม่ (หรือว่ามีปัญหาข้างเคียงอย่างอื่น อย่างเช่นปัญหา crowding out effect ของการโหวตของชาวบ้านเป็นต้น) นักวิจัยอย่างผมเเละอีกหลายๆ ท่านที่เมืองไทยยังต้องพิสูจน์โดยการลงมือทำ RCT กับการเลือกตั้งจริงๆ ก่อนที่จะสรุปได้ เเต่ผมขอจบโดยสื่อกับคุณผู้อ่านว่าถ้าเราลงมือทำ RCT เเล้วผลยังออกมาคือชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเลือกนักการเมืองที่คุณไม่ชอบอยู่ดี นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาโดนซื้อเสียงหรือวีธีการที่ผมเเนะนำไปใช้ไม่ได้ผลนะครับ เเต่มันอาจจะหมายความว่าชาวบ้านเขากะจะเลือกคนที่เขาคิดว่าดีที่สุดสำหรับเขาเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม
Ariely, D. (2012). The (honest) truth about dishonesty. Harper Audio.
Finan, F., & Schechter, L. (2012). Vote‐Buying and Reciprocity. Econometrica, 80(2), 863-881.
Vicente, P. C. (2014). Is vote buying effective? Evidence from a field experiment in West Africa. The Economic Journal, 124(574), F356-F387.