ThaiPublica > คอลัมน์ > Income inequality เเละสถิติรายได้ของคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศ

Income inequality เเละสถิติรายได้ของคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศ

2 มิถุนายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ : http://theundercurrent.org/wp-content/uploads/2011/12/eattherich.jpg
ที่มาภาพ : http://theundercurrent.org/wp-content/uploads/2011/12/eattherich.jpg

วันนี้ผมขออนุญาตเปลี่ยนแนวจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์ความสุขมาเขียนเรื่องอื่นบ้างนะครับ

สมมติว่าคุณผู้อ่านมีรายได้หลังจากหักภาษีแล้วประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน คุณผู้อ่านจะคิดว่าตัวเอง 1) เงินเดือนไม่พอใช้ 2) ไม่จนไม่รวย หรือ 3) มีเงินเกินพอที่จะใช้จ่ายรายวันครับ แล้วจากการที่มีรายได้ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือนนี้ คุณผู้อ่านว่าคุณผู้อ่านมีรายได้มากกว่าคนในโลกของเรานี้สักประมาณกี่คนกันครับ 15% ของคนทั้งโลกได้ไหม หรือว่า 30%

แล้วคุณผู้อ่านจะแปลกใจไหมถ้าในความเป็นจริงนั้น การมีรายได้หลังจากหักภาษีแล้วประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน (หรือประมาณ 180,000 บาทต่อปี และคิดเป็นเงินประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ทำให้คุณผู้อ่านมีรายได้มากกว่าคนอีก 91.08% ของคนทั้งโลก

แล้วถ้าการมีเงินเดือนประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ทำให้คุณผู้อ่านมีรายได้คิดเป็นอันดับสูงสุด 9% ของโลก คุณผู้อ่านว่าคนที่รวยที่สุด 1% ของโลกจะมีรายได้ที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของคนในโลกทั้งหมดกัน

The Top 1%

ในโลกปัจจุบันของเราขณะนี้ ตัววัดของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (income inequality) ที่นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คนพูดถึงและกำลังให้ความสำคัญมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นตัววัดของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่วัดได้จากคนที่รวยที่สุด 1% ในประเทศ (หรือ top income shares) พูดง่ายๆ ก็คือ ตัววัดตัวนี้ใช้ในการวัดว่าคนที่รวยที่สุด 1% ในประเทศนั้นๆ มีรายได้อยู่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับรายได้ของคนในประเทศทั้งหมด ซึ่งการวัดคนที่รวยที่สุด 1% ในแต่ละประเทศนั้นไม่ใช่อะไรที่ทำได้ง่ายๆ เพราะเราจะต้องวัดจากข้อมูลของคนที่เสียภาษีของทุกคนในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่กุมข้อมูลตัวนี้ไว้อยู่ก็คือ the Revenue Department หรือกรมสรรพากรนั่นเอง ซึ่งถ้าเขาไม่ปล่อยข้อมูลให้ใช้เราก็คงจะวัดตัวนี้ไม่ได้

แต่ไม่นานมานี้นักเศรษฐศาสตร์อย่างฟาคุนโด อัลวาเรโด (Facundo Alvaredo) โทนี แอตคินสัน (Tony Atkinson) โทมัส พิกเกตตี (Thomas Piketty) และเอมมานูเอล ซาเอส (Emmanuel Saez) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของ top 1% income share จากหลายๆ ประเทศแล้วแชร์ในเว็บ World Top Income Database ของพวกเขา

วันนี้ผมจึงอยากถือโอกาสนำเอาข้อมูลจาก World Top Income Database มาเขียนให้คุณผู้อ่านดูกันว่า ประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนที่รวยที่สุด 1% ในประเทศและคนอีก 99% ที่เหลือของประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อังกฤษ และอเมริกา มีหน้าตาเป็นยังไงกันบ้าง

ภาพที่1-F339F041-EF52-4294-84E9-69AB19E80401

สิงคโปร์ (1947-2011)

ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ค่อนข้างใหม่ มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่วัดได้จากคนที่รวยที่สุดในประเทศค่อนข้างสูงในช่วงห้าปีแรกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง (คนรวยที่สุด 1% มีรายได้คิดเป็น 15% ของรายได้ของคนในประเทศทั้งหมดในปี ค.ศ. 1951) หลังจากนั้นแชร์ของรายได้ของคนที่รวยที่สุด 1% ในสิงคโปร์ก็ลดลงจาก 15% ไปอยู่ที่ประมาณ 10-11% เกือบสามสิบปีจากปี 1967 ไปจนถึงปี 1995 ก่อนที่จะพุ่งขึ้นไปที่ประมาณ 14-15% ในปี 1997 ไปจนเกือบถึงปัจจุบัน

ภาพที่2 FCE61669-01D4-4367-B481-ECFCABECFE1D

อินโดนีเซีย (1920-1944, 1982-2004)

สัดส่วนรายได้ของคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 12% ในปี 1920 ถึง 22% ในปี 1938 แต่ห้าสิบปีหลังจากนั้นสัดส่วนรายได้ของคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศอินโดนีเซียได้ปรับตัวลดลงไปจนเหลือแค่ประมาณ 7% ในปี 1982 ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศอินโดนีเซียได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ก่อนที่จะปรับตัวกลับมาที่ประมาณ 8% ในปี 2004

ภาพที่3 9F82F01B-EBBF-4C61-A1D9-05849C80E44E

มาเลเซีย (1947-2012)

สัดส่วนรายได้ของคนมาเลเซียที่รวยที่สุด 1% มีค่าสูงที่สุดในปี 1965 (คนรวยที่สุด 1% มีรายได้คิดเป็น 13% ของรายได้ทั้งหมดของคนทั้งประเทศ) แต่หลังจากนั้นความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศมาเลเซียก็ปรับตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 8-10% ในช่วงปลายปีศตวรรษที่ 20 ซึ่งนับได้ว่าประเทศมาเลเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่ประสบกับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ลดลงมากกว่าสูงขึ้นในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา

ภาพที่4 4D405C88-0518-4FE4-A8E1-6B339F798700

ไต้หวัน (1977-2013)

เมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่แล้ว ไต้หวันมีประวัติของ top income share ที่ตำ่มาก (ในปี 1981 คนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศไต้หวันมีรายได้คิดเป็นแค่ 6% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ) แต่หลังจากนั้นไม่นานประเทศไต้หวันก็ประสบกับ top income share ที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกปี ซึ่งในปี 2013 คนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศไต้หวันมีรายได้คิดป็นประมาณ 10.8% ของคนทั้งประเทศ

ภาพที่5 1A201361-1C19-4FF7-A3CC-075BAEE4BEEC

ญี่ปุ่น (1886-2010)

เมื่อสมัยร้อยกว่าปีที่แล้วคนรวยที่สุด 1% ของญี่ปุ่นนั้นรวยมาก (คนรวยที่สุด 1% กุมรายได้ถึง 20% ของรายได้ของคนทั้งประเทศรวมกันทั้งหมด) แต่หลังจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง top income share ในประเทศญี่ปุ่นก็ตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 7-8% เกือบกว่าห้าสิบปีก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 10% ในปี 2006

ภาพที่6 2D044086-6F1F-47AF-B368-A24057465A22

สหรัฐราชอาณาจักร (1908-2012)

top income share ในสหรัฐราชอาณาจักรตอนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นสูงถึง 20% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่เหลือแค่ 6% ในปี 1978 แต่หลังจากพรรค Conservatives ของมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) เข้ามาเป็นรัฐบาลได้ไม่นาน top income share ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปจนถึงประมาณ 14-16% ในช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 21

ภาพที่712C2237D-E191-461E-8822-4149AF205982

สหรัฐอเมริกา (1913-2013)

คล้ายๆ กันกับสหรัฐราชอาณาจักร income share ของคนที่รวยที่สุด 1% ในสหรัฐอเมริกานั้นสูงถึงเกือบ 20% ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นไม่นาน top income share ก็ตกลงถึง 10% ด้วยกัน (ในปี 1961 คนที่รวยที่สุด 1% ในสหรัฐอเมริกามีรายได้คิดเป็น 8% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ) หลังจากนั้น top income share ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายจาก 9% เป็น 13% ระหว่างปี 1986 และ 1988 ปัจจุบัน top income share มีค่าอยู่ที่ประมาณ 18-20%

แล้วทำไมเราต้องมาให้ความสนใจกับข้อมูล top income share ด้วย

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะกำลังสงสัยอยู่ว่าทำไมเราต้องแคร์ด้วยว่าคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศมีรายได้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของคนทั้งประเทศรวมกัน สาเหตุใหญ่ๆ เลยก็คือข้อมูล top income share ตัวนี้มีความสัมพันธ์สำคัญกับนโยบายที่เป็นอนุรักษนิยมของประเทศนั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งคนที่รวยที่สุดในประเทศรวยขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่คนพวกนี้จะคุมอำนาจในการออกนโยบายของรัฐบาลก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น และนโยบายที่รัฐบาลจะออกส่วนใหญ่ก็จะเป็นนโยบายที่ทำหน้าที่รับใช้ “the top 1 percent” มากกว่า “the other 99 percent” ซึ่งก็คือนโยบายที่เป็นอนุรักษนิยมที่มีหลักการของการเรียกเก็บภาษีรายได้ที่ต่ำแต่ก็จะมีนโยบายที่เป็นสาธารณะ (universal health care, universal education) ที่ต่ำตามไปด้วยเช่นกัน และนี่ก็เป็นสาเหตุที่นักวิชาการพบว่าเด็กที่เกิดในปีที่ top income share สูงมักโตขึ้นมามีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าเด็กที่เกิดมาในปีที่ top income share ตำ่ (นั่นก็เป็นเพราะว่านโยบายสาธารณะในเชิง universal health care จะดีกว่าในปีที่ top income share ตำ่)

ผมหวังว่ากรมสรรพากรของเราจะยอมให้นักวิจัยทางด้าน top income ได้นำข้อมูลของคนที่เสียภาษีของทุกคนในประเทศของเรามาวิจัยในเร็ววันนี้นะครับ เราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วนั้นความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของเราจริงๆ นั้นมีค่าเท่าไหร่กันแน่

อ่านเพิ่มเติม
Atkinson AB, Piketty T, Saez E. (2011). Top incomes in the long run of history. J Econ Lit. 49, 3-71.
Piketty T, Saez E. (2014). Inequality in the long run. Science 344, 838-843.
Enns PK, Kelly NJ, Morgan J, Volscho T, Witko C. (2014). Conditional Status Quo Bias and Top Income Shares: How US Political Institutions Have Benefited the Rich. J Politics 76, 289-303.
Lillard DR, Burkhauser RV, Hahn MH, Wilkins R. (2015). Does early-life income inequality predict self-reported health in later life? Soc Sci & Med. 128, 347-355.
Leigh A. (2007). How Closely Do Top Income Shares Track Other Measures of Inequality? Econ J., 117, F619–F633.