ThaiPublica > คอลัมน์ > คนไร้บ้าน ตอนที่ 2: ความเข้าใจอันผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่มีต่อคนไร้บ้าน

คนไร้บ้าน ตอนที่ 2: ความเข้าใจอันผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่มีต่อคนไร้บ้าน

30 มิถุนายน 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ: ผู้เขียน
ที่มาภาพ: ผู้เขียน

จนถึงทุกวันนี้ ดูจะมีความเข้าใจอันผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อคนไร้บ้านอยู่หลายประการ ทั้งนี้ ความเข้าใจปรากฏการณ์อย่างถูกต้องและใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ดังนั้น วันนี้ก็เลยอยากจะรวบรวมความคลาดเคลื่อนดังกล่าวมาแก้ไขให้ฟังเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นดังนี้ครับ

1. คนไร้บ้านไม่มีบ้าน

นี่คือเรื่องแรกและเรื่องใหญ่ที่สุด ที่ดูจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนทั่วไปที่มีต่อคนไร้บ้าน เพราะดังได้กล่าวเอาไว้ในตอนที่แล้วว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ไม่มีบ้าน พวกเขามีบ้าน แต่มีเหตุผลสารพัดที่ทำให้พวกเขาไม่กินอยู่หลับนอนที่บ้าน ทิ้งบ้าน หนีออกจากบ้าน หรือกระทั่งถูกไล่ออกจากบ้าน (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) จนต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ (หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าข้างถนน)

การมองว่าปัญหาของคนไร้บ้านคือการไม่มีบ้านในความหมายของสิ่งปลูกสร้างสำหรับซุกหัวหลับนอนจึงไม่ถูกต้องนัก เพราะปัญหาจริงๆ ที่นำมาสู่การไม่มีบ้านตรงนี้คือการไม่มี “ปัจจัยที่ห้า” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ในหลายๆ ด้านทั้งทางกายและใจดังเสนอไปในตอนแรก การคิดแก้ปัญหาคนไร้บ้านด้วยการหาที่อาศัยให้เพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด และเสียงสะท้อนจากคนไร้บ้านหลายคนที่มีประสบการณ์กับ “บ้านสงเคราะห์” ของรัฐก็ยืนยันในเรื่องนั้น

2. คนไร้บ้านเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ทำงานทำการ ดีแต่ขอทานเขากิน

เราคงเคยมีกันมาบ้าง กับประสบการณ์ที่ “ใครก็ไม่รู้” แต่ท่าทางสกปรกรกรุงรัง บ่อยครั้งเหม็นสาบหรือถึงขั้นหึ่งเหล้า เดินเข้ามายกมือไหว้ขอเงินพร้อมให้เหตุผลต่างๆ นานา เราคงคุ้นเคยกับการรับรู้ว่าคนเหล่านี้คือ “ขอทาน” ส่วนใครมีคำว่าคนไร้บ้านอยู่ในประสบการณ์ก็อาจจัดหมู่ให้คนลักษณะนี้คือผู้คนในกลุ่มนั้น อันอาจนำไปสู่ความเข้าใจว่าคนไร้บ้านทั้งมวลล้วนหากินในทางนี้

ความจริงก็คือ ไม่ว่าเราจะนับการขอทานเป็นอาชีพหนึ่งหรือไม่ แต่คนไร้บ้านก็มีการประกอบอาชีพอย่างหลากหลายเพื่อหารายได้ประทังชีวิต

ที่มาภาพ: ผู้เขียน
ที่มาภาพ: ผู้เขียน

การทำมาหากินของคนไร้บ้านนั้นมีตั้งแต่การเก็บขยะหรือหาของเก่าขาย ล่าสุดที่เจอคือมีการรับซื้อของบริจาคที่คนไร้บ้านหลายคนสะดวกจะเปลี่ยนมันเป็นเงินสดมากกว่าพกไว้กับตัว (เช่น ข้าวสาร ซึ่งคนไร้บ้านหลายคนย่อมอยู่ในสภาพไม่สามารถหุงต้มได้) แล้วนำไปขายต่อ นอกจากนี้บางคนก็มีอาชีพรับจ้างก่อสร้างรายวัน บางคนเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และท่านหนึ่งที่เคยคุยกันนั้นก็เช่าตุ๊กตุ๊กขับ ครับ พี่เขาพูดภาษาอังกฤษเป็นไฟเลยทีเดียว อย่างน้อยก็ในส่วนที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ

ฟังแบบนี้ก็ดูราวไม่น่าเป็นห่วง แต่ความเป็นจริงก็ยังมีปัญหาอยู่ครับ เพราะงานส่วนใหญ่ที่คนไร้บ้านทำนั้นเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงทางด้านรายได้ และก็ไม่ได้ก่อรายได้ที่มากพอจะเกิดการสะสมทุนมากพอจะเติมต่อความมั่งคั่งแก่ชีวิต ไหนจะยังเป็นงานที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างประกันสังคม ครั้นจะไปเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือ 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อรับสิทธิประกันสังคมก็ไม่ได้มีรายได้แน่นอนและมากมายพอจะส่ง (นี่ยังไม่ได้นับเรื่องว่าอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสิทธินี้ในโลก แถมกรณีมาตรา 39 ยังต้องเคยส่งเงินประกันสังคมในระบบทำงานปรกติมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน) จะใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคก็มีปัญหาว่าที่ที่ตัวเองใช้ชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ใกล้เคียงโรงพยาบาลที่ตนมีชื่อใช้สิทธิอยู่แม้แต่น้อย และสำคัญที่สุด คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชนครับ ด้วยเพราะบางคนก็ไร้บ้านมาตั้งแต่ก่อนจะถึงวัยได้ทำบัตร บ้างเคยมีบัตรแต่ก็หายไปบนถนนสายคนไร้บ้านนี่

พี่คนไร้บ้านท่านหนึ่งขณะทำงาน ที่มาภาพ: ผู้เขียน
พี่คนไร้บ้านท่านหนึ่งขณะทำงาน ที่มาภาพ: ผู้เขียน

ว่ากันด้วยเรื่องไม่มีบัตรประชาชน อย่างเราๆ ท่านๆ เดินไปอำเภอเสียหน่อย เร็วบ้างช้าบ้างแต่ก็ได้บัตรประชาชนมาอ้างความเป็นพลเมืองกันง่ายๆ แต่กับคนไร้บ้านนี่มันไม่ง่ายครับ เพราะพอหายออกจากบ้านช่องไปนานๆ ก็อาจโดนคัดชื่อออกจากที่อยู่เดิมแล้วเข้าสู่ “ทะเบียนกลาง” จะทำบัตรประชาชนใหม่นี่ก็ต้องให้ญาติพี่น้องไปช่วยยืนยันว่าใช่คนนี้คนนั้นจริงๆ แล้วบางคนมีปัญหากับญาติพี่น้อง ก็ย่อมไม่อยากจะกลับไปหาขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้ นี่ยังไม่ต้องนับว่า ระหว่างเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อเอาเอกสารหรือขอให้ญาติพี่น้องช่วยยืนยัน ยังอาจถูกจับระหว่างทางหากเจ้าหน้าที่ตรวจค้นแล้วพบว่าไม่มีบัตรประชาชนจนต้องสงสัยว่าเป็นคนต่างด้าว นี่กลายเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจที่ทับถมให้คนไร้บ้านจมดิ่งลงไปในความไม่มั่นคงลึกลงเรื่อยๆ

3. คนไร้บ้านเป็นพวกสกปรกไม่ชอบอาบน้ำ

บ่อยครั้งที่เราจะพบเจอคนไร้บ้านในสภาพสกปรกมอมแมม เนื้อตัวเลอะเทอะ เสื้อผ้ามอซอเปรอะเปื้อน และหากเฉียดใกล้ก็ไม่วายสัมผัสกลิ่นอายสาบสาง จนการวางตัวเองไว้ห่างๆ เป็นทางเลือกแรกๆ ที่เราจัดการกับพวกเขา

คนไร้บ้านมักปรากฏกายในสภาพที่ความรู้อันเรามีแต่เด็กหรือกระทั่งการเตือนภัยอัตโนมัติทางชีววิทยา (เช่น กลิ่น) บอกว่า “อย่าเฉียดใกล้” ความสกปรกเป็นสิ่งอันตรายไม่พึงประสงค์ที่เราตั้งธงว่าไม่ควรปรากฏในที่สาธารณะ และผู้ใดทำให้ความสกปรกปรากฏในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อสั่งสมมันไว้แก่ร่างกายตัวเอง นั่นคือหนึ่งในมิติความกักขฬะอันไม่ควรเข้าใกล้

ในความเป็นจริง สำหรับคนไร้บ้านแล้ว การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายรวมไปถึงเสื้อผ้าเป็นเรื่องยากเย็นพอกับการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต การอาบน้ำและการซักเสื้อผ้าหมายถึงความเสี่ยงต่อการถูกขโมยทรัพย์สิน (ครับ ทรัพย์สินที่เขาไม่ค่อยจะมีกันนั่นแหละ) คนไร้บ้านไม่มีที่อาบน้ำรวมทั้งซักเสื้อผ้าที่เป็นส่วนตัวและปลอดภัยไว้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ หรือในส่วนของการซักผ้า ก็ไม่ใช่ว่าจะมีน้ำประปามีผงซักฟอกมาทำความสะอาดได้ดังใจ บางทีก็ซักด้วยน้ำแม่น้ำน้ำลำคลองมันเปล่าๆ นั่นแหละ ผลจากเหตุทั้งมวลก็กลายเป็นสภาพสกปรกเลอะเทอะอย่างที่เราเห็น เป็นสภาพที่กีดกันเราออกจากโอกาสในการเข้าใจกัน นี่ยังไม่ต้องนับว่า ในหลายกรณี คนไร้บ้านนั้นมีปัญหาทางจิตประสาท จนกล่าวได้ว่าเขาอยู่ในโลกของความรับรู้อีกแบบ ที่สุขอนามัยไม่ได้มีที่ทางอยู่ในโลกตรรกะใบนั้น โลกที่เราไม่เข้าใจมันแม้แต่นิดเดียว

กับคนไร้บ้านที่มีที่พักชั่วคราวที่ปลอดภัย (จะเล่าให้ฟังในคราวหน้านะครับ) พวกเขาอาบน้ำและแต่งกายสะอาดสะอ้านอย่างคนทั่วไปนี่ละครับ ซึ่งมันสะท้อนชัดว่า สำหรับพวกเขาแล้ว การใช้ชีวิตและมีรูปลักษณ์อย่างห่างไกลสุขอนามัยไม่ใช่นิสัยพื้นฐาน แต่คือความจำเป็นตามปัจจัยอันจำกัด

4. คนไร้บ้านคือผู้พร้อมก่ออาชญากรรม

ด้วยรูปลักษณ์ สถานะ และภาพจินตนาการที่มีต่อคนไร้บ้าน เป็นไปได้ไม่ยากนักที่เราจะคิดถึงคนกลุ่มนี้ในฐานะของความน่ากลัวและภัยคุกคามอันอาจเกิดแก่เรา

ตั้งแต่เริ่มเข้าไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน สิ่งที่ผมบอกกับทุกคนเสมอก็คือ คนไร้บ้านนั้นเป็นมนุษย์เหมือนเรา ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขานั้นดีงามและชั่วช้าได้เท่าที่เราๆ ท่านๆ มีศักยภาพจะเป็นได้ภายใต้ปัจจัยต่างๆ ที่แวดล้อมและบีบบังคับเราอยู่

ว่ากันง่ายๆ แบบไม่ต้องไปขุดคุ้ยข้อมูลเชิงสถิติ สักกี่ครั้งละครับที่คุณเห็นข่าวคนไร้บ้านก่ออาชญากรรม ไอ้ที่เห็นข่าวกันนี่ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดก็คนมีบ้านทั้งนั้น

มันไม่จำเป็นครับว่าเป็นคนไร้บ้านแล้วต้องก่ออาชญากรรม และเราก็ไม่จำเป็นต้องรีบด่วนสรุปให้ชีวิตตัวเองมันง่ายดายทางการคิดอ่านขนาดนั้น

5. คนไร้บ้านเป็นเรื่องไกลตัว ตัวเราไม่มีวันจะกลายเป็นคนไร้บ้าน

ข้อนี้ผมคงต้องบอกว่าผิดถนัด คนไร้บ้านเป็นอุบัติเหตุชีวิตที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทุกคนมีโอกาสจะตกต่ำลงไปจนถึงจุดที่ตัวเองต้องกลายเป็นคนไร้บ้านทั้งนั้น ตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นเมื่อไม่นานมานี้คือกรณีของอดีตมิสเวเนซุเอลา ที่สุดท้ายต้องใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้านถึงสิบห้าปีและถูกพบเป็นศพในสวนสาธารณะ โดยข่าวบอกว่าเธอมีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าและถูกน้องชายทำร้ายร่างกายจนในที่สุดก็หนีออกมาใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านและเสียชีวิตลงในที่สุด

คนไร้บ้านจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิดครับ และมันเป็นโอกาสที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนเองด้วยซ้ำ อุบัติเหตุชีวิตเป็นเรื่องสุดคาดเดาพอๆ กับภัยธรรมชาติและไม่ธรรมชาติหลายๆ ประเภท ที่พอเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง มันอาจรุนแรงเพียงพอจะกวาดคุณลงไปอยู่ ณ จุดต่ำสุดของสังคมที่ไม่มีหลักประกันใดๆ มาคอยรองรับการร่วงหล่นของพลเมืองในประเทศ

ครับ และทั้งหมดนี้ ก็หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจความเป็นมาเป็นไปของคนไร้บ้านกันมากขึ้น