ThaiPublica > คนในข่าว > “สังศิต พิริยะรังสรรค์” แนะแก้ขายเกินราคา ยกเลิกโควตา-ปิดทางการเมืองเรียกใต้โต๊ะปีละ 600-700 ล้านบาท

“สังศิต พิริยะรังสรรค์” แนะแก้ขายเกินราคา ยกเลิกโควตา-ปิดทางการเมืองเรียกใต้โต๊ะปีละ 600-700 ล้านบาท

1 มิถุนายน 2015


จากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศล 74 ล้านฉบับ ซึ่งโควตาดังกล่าวไม่เคยเปิดเผยมาก่อน โดย มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่ง ซึ่งได้รับการจัดสรรโควตาสลากกว่า 9 ล้านฉบับ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยอมรับว่ามูลนิธิฯจัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดสรรโควตาสลากให้ยี่ปั๊วตามใบสั่งของนักการเมือง มีรายได้จากการหักค่าหัวคิวคู่ละ 1.60 บาท หรือ เดือนละ 14 ล้านบาท โดยรายได้ประมาณ 50% มูลนิธิจัดสรรกลับไปเป็นเงินเดือนพนักงานสลากและลูกจ้างของสำนักงานสลากฯ ส่วนที่เหลือส่งให้สำนักงานสลากฯ เป็นค่าใช้จ่ายในรายการที่เบิกไม่ได้

ขณะที่พล.ต. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ได้ชี้แจงนโยบายแก้ปัญหาสลากเกินราคาไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลยังไม่ได้ถูกรื้อใหม่แต่อย่างใด ต่อเรื่องนี้ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และหนึ่งในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ศึกษาและทำวิจัย”เศรษฐกิจการพนัน” ได้ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นนี้ว่า

ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)
ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)

ไทยพับลิก้า: มาตรการตรึงราคาสลากคู่ละ 80 บาท ของบอร์ดสลากชุดใหม่แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

มาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา ประธานบอร์ดสลากคนใหม่มีหลักการสำคัญคือ

1. ปรับลดเงินรายได้ที่สำนักงานสลากฯ นำส่งคลัง และนำเงินจำนวนนี้ไปเพิ่มส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่ายสลาก เป้าหมายเพื่อตรึงราคาสลากคู่ละ 80 บาท
2. เพิ่มโควตาสลากให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย จากเดิมได้โควตาสลากคนละ 2-3 เล่ม เพิ่มเป็น 5 เล่มใหญ่ เพื่อเปิดตลาด โดยให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมีโควตาสลากเพิ่มมากขึ้น สามารถแข่งขันกับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 รายที่มีอำนาจเหนือตลาดได้
3. มาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ค้าสลากเกินราคา โดยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจ สนธิกำลังตำรวจ ทหาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม จับกุมผู้ค้าสลากเกินราคา

“แต่ประเด็นที่ผมสงสัยคือ คนที่มารับสลากไปขายเป็นผู้ค้าสลากตัวจริง หรือเป็นเครือข่ายของผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย เพราะคนที่มารับสลาก 5 เล่ม ต้องมีเงินสดในมือ 35,000 บาท หรือใช้เงินลงทุนเดือนละ 70,000 บาท ได้กำไรไม่ถึง 10,000 บาท มองในแง่การตลาดคงไม่คุ้มค่ามากเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเครือข่ายของผู้ค้าสลากรายใหญ่ เขาจะออกเงินหรือลงทุนให้ผู้ค้าสลากรายย่อยไปรับสลากมาขายแล้วคิดดอกเบี้ย 2-3% ต่องวด ขายสลากไม่หมด เหลือคืนได้ แต่จะถูกหักส่วนลดเพิ่มอีกนิดหน่อย ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าไปหาเงินมาลงทุนเอง ผมคิดว่าประธานบอร์ดสลากคนใหม่มีเจตนาดี เพียงแต่ผมยังไม่แน่ใจว่ามาตรการนี้จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ถ้าสำเร็จ ผมคิดว่ามาจากมาตรการใช้กฎหมายบีบบังคับมากกว่า เพราะมีการใช้กฎหมายฟอกเงิน สรรพากร ดำเนินการกับคนที่ขายสลากเกินราคา ถือว่าเป็นมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง”

ไทยพับลิก้า: การจัดสรรโควตาเพิ่มเป็น 5 เล่มใหญ่ เป้าหมายเพื่ออะไร

ปัจจุบันการจัดสรรโควตาสลาก ส่วนใหญ่จัดสรรให้ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ส่วนรายย่อยได้รับการจัดสรรโควตาไม่มากนัก และไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะมาแข่งขันกับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย ในอนาคตหากมีการขายเกินราคา 80 บาท รายย่อยก็ไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ ส่วนผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย และครอบครัว นอกจากได้รับจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากแล้ว ยังไปรับซื้อโควตาสลากจากสมาคม มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศลมาขายอีกด้วย

สาเหตุที่มูลนิธิ สมาคม ไม่นำโควตาสลากไปขายเอง เพราะไม่มีเครือข่าย สมาชิกจึงขายเองไม่ได้ ต้องมาขายโควตาสลากให้กับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย ผมคิดว่าทั้ง 3 ราย น่าจะครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% มาตรการเปิดตลาดรายย่อยให้ไปแข่งขันกับรายใหญ่ ในทางปฏิบัติคงทำได้ยาก

ไทยพับลิก้า: การจัดสรรสลาก ปัจจุบันมีความเป็นธรรมแค่ไหน

ในอดีตที่ผ่านมา ยกเว้นรัฐบาลชุดนี้ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ มันมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่จะได้รับการจัดสรรโควตาต้องเป็นสมัครพรรคพวกเท่านั้น ถึงจะได้รับการจัดสรรโควตา โดยเฉพาะนักการเมือง ซึ่งได้รับประโยชน์จากการขายสลากเกินราคา ถึงแม้สำนักงานสลากฯ พยายามเพิ่มจำนวนสลาก จากเดิมพิมพ์สลากออกขายงวดละ 40 ล้านฉบับ เพิ่มเป็น 74 ล้านฉบับ ก็ยังขายเกินราคา เพราะโครงสร้างการจำหน่ายสลากผูกขาดอยู่กับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกมาเท่าไหร่มันก็เข้าไปติดอยู่ในโครงสร้างดังกล่าวนี้มาโดยตลอด เพราะมูลนิธิ สมาคม ที่ได้รับจัดสรรโควตาไม่มีปัญญาขาย ได้โควตามาเท่าไหร่ก็ต้องขายให้ผู้ค้ารายใหญ่ 3 ราย ทำให้เกิดปัญหาขายสลากเกินราคากันมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองในอดีต

ทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้เครื่องออนไลน์พิมพ์สลากกันหมดแล้ว ในภูมิภาคอาเซียนเหลือแต่พม่ากับไทยที่ยังใช้คนเดินขายลอตเตอรี่ หากใช้เครื่องจำหน่ายสลากแบบออนไลน์ก็จะคุมราคาได้ ความหมายคือ สำนักงานสลากฯ เป็นเจ้าของเครื่องออนไลน์พิมพ์สลากขายเอง ตัดคนกลางออกหมด ไม่มีใครมานอนกินส่วนต่างตรงกลาง ก็จัดการง่าย ทุกประเทศทำแบบนี้ทั้งนั้น

“หลักในการแก้ปัญหาสลากเกินราคา คือ ต้องทำให้ตลาดเกิดการแข่งขัน แต่ถ้าตลาดยังเป็นแบบกึ่งผูกขาดอยู่อย่างนี้ ราคาสลากไม่มีทางลดลง”

ดังนั้น การแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาจึงต้องเปิดตลาดเท่านั้น ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มโควตาสลากให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อยเพิ่มขึ้นตามนโยบายของ พล.ต. อภิรัชต์ ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่ต้องเพิ่มจำนวนสลากจนมีปริมาณที่ใกล้เคียงกับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย ถึงจะตรึงราคาขายให้อยู่ที่ 80 บาทต่อคู่ได้ หากใครขายเกินราคา ผู้บริโภคก็จะไปเดินหาซื้อสลากจากคนที่ขาย 80 บาท

หากยังแก้ปัญหาสลากเกินราคาไม่ได้ พล.ต. อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ว่าจะให้ไปขายผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือขายผ่านสาขาของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ออมสิน กรุงไทย ซึ่งแนวทางนี้ ผมเชื่อว่าแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาได้ เพราะทันทีที่สำนักงานสลากฯ จัดส่งโควตาสลากไปให้หน่วยงานเหล่านี้ ก็ต้องบวกกำไรให้หน่วยงานเหล่านี้บ้างตามสมควร แต่ถ้าสำนักงานสลากฯ ให้โควตาสลากแก่หน่วยงานเหล่านี้ไปมากพอสมควร ก็จะช่วยดึงราคาสลากที่ผูกขาดอยู่กับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย ลงมาได้เหมือนกัน

และถ้ายังแก้ปัญหาสลากเกินราคาไม่ได้อีก ก็จะนำเครื่องจำหน่ายสลากแบบออนไลน์มาใช้ ซึ่งมีข้อได้เปรียบคือ ผู้ซื้อสามารถเลือกเลขได้ ตรงกับพฤติกรรมการเล่นหวยของคนไทย หวังจะถูกรางวัลเลขท้ายสองตัวหรือสามตัว ได้เงิน 2-3 พันบาทเท่านั้น ทั้งนี้คงไม่มีใครเดินหาซื้อเลข 6-7 ตัวหรอกครับ นี่คือความหวังของคนไทยที่ซื้อลอตเตอรี่ ซึ่งการขายสลากผ่านเครื่องออนไลน์มีรูปแบบใกล้เคียงกับหวยใต้ดินตรงที่เลือกเบอร์ได้

การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลากให้มีความหลากหลายมากขึ้น แก้ปัญหาสลากเกินราคาได้จริงๆ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือ คนที่เคยมีอาชีพขายสลากตกงาน ดังนั้น ในการแก้ปัญหาสลากเกินราคา ต้องแก้ปัญหา 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน คือ

1. ทำให้สลากลดราคาเหลือคู่ละ 80 บาท

2. แก้ปัญหากลุ่มคนที่ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาส ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นเจ้าของเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์ก่อนเป็นลำดับแรก ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรหามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาให้การสนับสนุน เช่น ค่าเช่าหน้าร้านสะดวกซื้อ ค่าเช่าแผงหรือพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

“ถ้าจะช่วยคนกลุ่มนี้แล้วก็ต้องช่วยให้ตลอด เพราะถ้าให้เครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์ไปขายอย่างเดียว ไม่มีที่วางเครื่องขาย ก็ไปไม่รอด ผมคิดว่าเครื่องออนไลน์ 1 เครื่อง อาจจะมีเจ้าของหลายคน ซึ่งอาจจะใช้วิธีการรวมกลุ่มกันเข้ามาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องออนไลน์ กลุ่มละ 3-4 คน ซึ่งจะช่วยกันบรรเทาปัญหากลุ่มคนด้อยโอกาส ไม่มีงานทำได้บ้าง”

ไทยพับลิก้า: การจัดสรรโควตาสลากมีหลักเกณฑ์อย่างไร ทำไมมูลนิธิและสมาคมมีโควตามากที่สุด

“ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย การจัดสรรโควตาขึ้นอยู่กับคนที่มาเป็นผู้บริหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจในการจัดสรรโควตาให้กับตัวแทนจำหน่าย โดยทำสัญญากันปีต่อปีเท่านั้น แต่กว่าจะตกลงต่อสัญญาให้กับรายใด ในทางปฏิบัติใช้เวลาเกือบ 1 ปี ตรงนี้เป็นแรงกดดันให้คนที่ได้โควตามาจำนวนมากต้องจ่ายเงินให้นักการเมืองที่มีอำนาจมากำกับดูแล ทุกๆ ปีก่อนสัญญาจำหน่ายสลากสิ้นสุดจะเป็นช่วงของการจ่ายเงิน ผู้ค้าสลากรายใหญ่ๆ ก็จะหิ้วเงินกันมาคนละ 600 ล้านบาท หรือ 700 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มากำกับดูแลต้องได้เงินก้อนนี้เสมอไป แต่ในระยะหลังพัฒนาการมันเปลี่ยนไป ก็คือคนที่เลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่างหากเป็นคนที่รับเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจจะไม่ได้รับเงินเลย ได้แต่เกียรติยศ แต่คนที่มีอำนาจจริงๆ เท่านั้นถึงจะได้เงิน เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนากยกรัฐมนตรี วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ทุกปีผมก็ต่อสัญญาโควตาให้คุณ คุณก็จ่ายเงินให้ผม แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย”

เทคนิคที่ใช้กันบ่อยคือ พวกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานสลากฯ ก่อนหมดอำนาจก็สั่งให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลากให้แก่มูลนิธิและสมาคมในเครือข่ายของนักการเมือง บางจังหวัดมี 3 สมาคม ชื่อคล้ายๆ กัน สถานที่ตั้งอยู่ที่เดียวกัน ผมเข้าใจว่าเป็นของนักการเมืองคนเดียวกัน และกิจกรรมส่วนใหญ่ก็เพื่อพัฒนากีฬา สุขภาพ สาเหตุที่นักการเมืองเข้ามาขอโควตาสลากให้กับมูลนิธิของตน ก็เพื่อเก็บไว้เป็นรายได้ของตนให้อนาคต

พวกมูลนิธิและสมาคมที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากไปเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่ไม่ได้ขายเอง เพราะว่าการขายเองมีความเสี่ยง ขายเหลือ ขายไม่หมด ก็ขาดทุน แถมยังต้องไปหาเงินสดมาวางเป็นหลักประกันกับสำนักงานสลากฯ ล่วงหน้า 2 งวด ต้องใช้เงินจำนวนมาก คนที่จะมีเงินมากขนาดนี้คือยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ซึ่งจ่ายเงินวางประกันแทนมูลนิธิและสมาคม โดยมูลนิธิและสมาคมจะได้รับค่าคอมมิสชั่น 2% ของส่วนลด หรือ 1.6 บาทต่อคู่ โดยที่ไม่ต้องทำอะไร ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วนำเงินสดมาจ่ายให้มูลนิธิและสมาคมปีละครั้ง (ก้อนใหญ่) ไม่ใช่ทยอยจ่ายให้เป็นเดือนๆ คนที่ได้โควตาส่วนใหญ่พอใจที่จะขายโควตาสลากให้กับยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิหักคู่ละ 1.6 บาท ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วได้กำไรน้อย ต้องบวกกำไรกันอีกหลายทอด

ใช่ครับ มูลนิธิและสมาคมหักไว้ 1.6 บาท เหลืออีก 5.6 บาท ยี่ปั๊วก็หักไว้อีก บางครั้งนักการเมืองก็มาขอเงินซาปั๊วเพิ่ม ถึงมือซาปั๊วกำไรแทบไม่มีเหลือ ซีปั๊วรับสลากไปขายราคาก็เกิน 80 บาทแล้ว ผมไม่แน่ใจว่ามีผู้บริหารบางคนไปบวกเข้าไปด้วยหรือไม่ ราคาจึงเกิน 80 บาท

สังสิต 3

ไทยพับลิก้า: สรุปว่าที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ ไม่มีหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตา

“ใช่ ไม่มี ช่วงที่ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งผมเข้าไปเป็นรองประธานคณะกรรมการจัดสรรโควตาสลาก ผมเชิญหน่วยงานที่ได้รับโควตาจำนวนมากมาสอบถาม ยกตัวอย่าง กรมบัญชีกลางได้โควตาสลากงวดละ 30,000 เล่ม ผมถามเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางว่าได้โควตาสลากจำนวนมากมาได้อย่างไร เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ตอบว่าเพราะอธิบดีกรมบัญชีกลางมาเป็นบอร์ดสลาก ส่วนมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่สำนักงานสลากฯ ตอบว่า เพราะมีผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ นั่งเป็นบอร์ดสลาก ผมถามต่อว่าเหมาะสมไหม เจ้าหน้าที่ตอบไม่ได้”

ช่วงปี 2549 นอกจากปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งผมเป็นรองประธานคณะกรรมการจัดสรรโควตาสลากแล้ว ผมยังได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เป็นประธานกรรมาธิการการเงิน การคลัง และงบประมาณ จึงใช้อำนาจกรรมาธิการสั่งการให้สำนักงานสลากฯ นำข้อมูลการจัดสรรโควตาทั้งหมดมาให้กรรมาธิการ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่จะถูกลงโทษ พอได้ข้อมูลทั้งหมดจากสำนักงานสลากฯ ก็เอาไปให้ปลัดกระทรวงการคลังขณะนั้นดู

“ปลัดกระทรวงการคลังตกใจมาก บอกผมว่าอาจารย์อย่าไปแตะเรื่องนี้ครับ ขนาดผมเป็นประธานบอร์ดสลากผมยังไม่เคยรู้เลย มันถึงชีวิตครับ อาจารย์อย่าครับ ผมก็บอกมันช้าไปแล้ว ผมแตะเข้าไปแล้ว ดังนั้น ข้อมูลการจัดสรรโควตาสลากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำมาเปิดเผยล่าสุด ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าองค์กรรัฐวิสาหกิจไทยมีการบริหารงานอย่างไร และควรปรับปรุงอย่างไรให้มีความเป็นธรรมาภิบาลมากขึ้น”

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากและกรมบัญชีกลางนำเงินรายได้จากการขายโควตาไปใช้จ่ายอะไร

เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงาน บอกว่า ไม่ได้เข้าหลวง แต่นำเงินไปใช้จ่ายเป็นสวัสดิการพนักงานและข้าราชการ ทั้งในรูปของเงินเดือนพิเศษหรือสวัสดิการรูปแบบอื่น แล้วแต่หน่วยงานตกลงกันเองเป็นการภายใน ตอนนั้นกรมบัญชีกลางได้รับการจัดสรรโควตา 30,000 เล่ม

ไทยพับลิก้า: ตามหลักธรรมภิบาลหรือกฎหมาย ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจรับเงินดังกล่าวได้หรือไม่

ไม่ได้ครับ เพราะเป็นเรื่องของการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หน่วยงานรัฐที่ส่งตัวแทนมานั่งเป็นบอร์ดสลาก โดยหลักการต้องไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เกิดขึ้น แต่ต้องการจะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ต้องไม่ส่งตัวแทนมานั่งเป็นบอร์ดสลาก ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาของกรรมการเป็นไปอย่างอิสระและเป็นกลาง กล่าวคือ กรรมการจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ หากต้องมีผลประโยชน์ ก็ไม่สมควรมานั่งเป็นบอร์ด อย่างเช่นกระทรวงมหาดไทยส่งตัวแทนมานั่งเป็นบอร์ด ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยก็ได้รับการจัดสรรโควตาสลากทุกงวด เพื่อส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปจัดสรรต่อ

ดังนั้น ตัวแทนที่หน่วยงานต่างๆ ส่งมานั่งเป็นบอร์ดสลาก คือ มาทำหน้าที่นั่งเฝ้าโควตาของหน่วยงานตนเอง เพราะบอร์ดมีอำนาจตามกฎหมายเหนือกว่าผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ก็จะไม่กล้าตัดโควตา

ไทยพับลิก้า: ล่าสุดสำนักงานสลากฯ ลดเงินนำส่งคลัง-เพิ่มส่วนลดให้มูลนิธิและสมาคมที่ไม่ได้ขายสลาก

มองอย่างนั้นก็ได้ครับ แต่เจตนาของ พล.ต. อภิรัชต์ ต้องการทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยได้รับค่าตอบแทนพอที่จะเลี้ยงชีพได้ แต่ปัญหาคือ ถ้าคุมราคาขายไม่ให้เกิน 80 บาทไม่ได้ เท่ากับงานนี้เตะหมูเข้าปากสุนัข ถูกไหมครับ เพราะพวกยี่ปั๊วจะได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากคุมราคาไว้ที่ 80 บาทได้ ในอนาคตนักการเมืองเข้ามากำกับดูแลสำนักงานสลากฯ ก็จะได้รับเงินน้อยลง หรืออาจจะไม่ได้เงินเลย เพราะกำไรส่วนที่ขายเกิน 80 บาท จะหายไป ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วก็ไม่มีเงินมาจ่ายนักการเมือง หากทำให้สลากขายคู่ละ 80 บาทได้ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือต้องทำให้ตลาดเกิดการแข่งขัน ทำให้กลไกราคามันทำงาน แต่ไม่ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปไล่จับกุม

ไทยพบลิก้า: ทำไมสำนักงานสลากฯ ไม่ขายเอง ต้องขายผ่านมูลนิธิและสมาคม นิติบุคคล

นโยบายของรัฐบาล คือ ต้องการเงินรายได้ 28% แน่นอน สำนักงานสลากฯ จึงเน้นการขายให้ผู้ค้ารายใหญ่ ปลอดภัยที่สุด โดยผู้ค้ารายใหญ่ไปขายต่อให้ผู้ค้าปลีกรายเล็กรายน้อยอีกทอด ยกตัวอย่าง ช่วงฤดูฝนหรือช่วงเปิดเทอม ยอดขายลอตเตอรี่ตก ถ้าขายให้รายย่อยก็อาจจะไม่มาซื้อ แต่ถ้าขายให้รายใหญ่ รายใหญ่รับซื้อมาทั้งหมด แต่ต้องรับความเสี่ยงขายสลากเหลือ แต่เมื่อนำมาถัวเฉลี่ยกับรายได้จากการขายเกิน 80 บาท ก็อยู่ได้อย่างสบาย

ไทยพับลิก้า: ควรยกเลิกระบบโควตาสลาก เปิดเสรีหรือไม่

ใช่ครับ ผมคิดว่าต้องทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง แต่ผมอยากทำให้สลากมีราคาถูก เนื่องจากเป็นการเสี่ยงโชค ก็ไม่ควรที่จะต้องซื้อแพง ควรตัดขายฉบับละ 40 บาท สมัยก่อนคงจำได้ เคยมีการตัดสลากขายครึ่งซีก ทำให้คนไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมาก

รัฐบาลเองก็ไม่ควรเน้นเก็บรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมาก แต่ควรนำรายได้คืนกลับสู่สังคม แทนที่จะนำเงินเหล่านี้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ก็นำเงินมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสังคม โดยมีคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง กำกับดูแลการใช้จ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปรอเงินงบประมาณแผ่นดิน

ไทยพับลิก้า: ควรจัดตั้งกองทุนรับซื้อคืนเลขไม่สวยหรือไม่

ไม่ต้อง ยุ่งยากมาก แค่ขายผ่านเครื่องจำหน่ายสลากแบบออนไลน์ สามารถควบคุมตัวเลขได้ เลขไหนขายได้ก็ขายไป ขายไม่ได้ก็ไม่ต้องพิมพ์ ใครต้องการซื้อเลขอะไรก็มากดตัวเลขจากเครื่องออนไลน์ ไม่ต้องเสียเงินจัดตั้งกองทุนรับซื้อคืนเลขไม่สวย เป็นภาระกันทั้งสองฝ่าย ระยะยาวต้องแก้ด้วยการใช้เครื่องออนไลน์จะเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานสลากฯ และผู้ซื้อมากที่สุด เพียงแต่ว่าเรื่องการจัดสรรเครื่องออนไลน์สำคัญ ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี คนกลุ่มที่ด้อยโอกาสควรได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก

ไทยพับลิก้า: เพิ่มช่องทางการขายผ่านร้านสะดวกซื้อเห็นด้วยหรือไม่

ตรงนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ร้านสะดวกซื้อเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว แต่ควรจัดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสไปนั่งขายดีกว่า โดยคิดค่าเช่าราคาถูก คนที่ด้อยโอกาสจะได้มีอาชีพ มีรายได้ เพื่อนำมาใช้จ่ายบ้าง เพื่อลดช่องว่างการกระจายรายได้

ไทยพับลิก้า: นอกจากขายผ่านเครื่องออนไลน์แล้ว สำนักงานสลากฯ ควรขายสลากเองหรือไม่

สำนักงานสลากฯ ขายเอง ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ภาครัฐไม่มีทางขายเอง แต่นำไปขายต่อให้ยี่ปั๊ว เพราะสำนักงานสลากฯ ไม่มีเวลาขาย ในที่สุดก็ต้องไปจ้างคนมาขายอีก สำนักงานสลากฯ ควรจะทำหน้าที่กำกับดูแลให้ราคาสลากไม่เกินคู่ละ 80 บาท พอแล้ว และทำให้กลไกราคาให้เกิดการแข่งขันกัน ผมว่าสำนักงานสลากมีหน้าที่แค่นี้พอ

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ นำโควตามา 9 ล้านฉบับ ขายต่อให้ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วรายใหญ่

ใช่ครับ คือหลักเกณฑ์การจัดสรรสลาก อย่างที่ผมกล่าวข้างต้น อะไรที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนต้องยกเลิก นอกจากมูลนิธิสำนักงานสลากฯ แล้ว ยังมีโควตาของสมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสหกรณ์บริการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำกัด ผมว่าอะไรที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต้องยกเลิกทั้งหมด พนักงานสลากที่ปลดเกษียณไม่มีเงินบำนาญ เจ็บป่วยเบิกไม่ได้ ตรงนี้หาวิธีอื่นมาช่วยเหลือได้ แต่ไม่ใช่จัดสรรโควตาสลากไปให้สมาคมหรือสหกรณ์ของสำนักงานสลากฯ

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ นำรายได้จัดสรรกลับไปเป็นเงินเดือนพนักงานถูกต้องหรือไม่

ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง

ไทยพับลิก้า: พนักงานทำอะไรให้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ทำไมต้องจ่ายเงินเดือนและทำไมมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้โควตามากที่สุด

ตามระเบียบ และกฎหมายพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่มีสิทธิที่จะรับอะไรนอกเหนือจากเงินเดือนและสวัสดิการที่สำนักงานสลากฯ จัดให้พนักงาน ยกเว้นคุณไปนั่งทำงานที่อื่นตอนเย็นแล้วได้เงิน ตรงนี้ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งถูกไหม สรุปปัญหาของสำนักงานสลากฯ คือ

1. แก้ปัญหาสลากเกินราคาให้ได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
2. ปัญหาตัวแทนจำหน่ายที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา (ตกงาน)
3. แก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลภายในสำนักงานสลากฯ เช่น ตัวแทนหน่วยงานที่มานั่งเป็นบอร์ดสลากฯ ไม่ใช่มานั่งเฝ้าโควตา

หากแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้ กำไรจากการขายเกินราคาลดลง โอกาสที่นักการเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมาหาผลประโยชน์จากเงินใต้โต๊ะก็หมดไป

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ ปกปิดข้อมูลการจัดสรรโควตาสลาก

ผมคิดว่าอำนาจในการจัดสรรเงินให้แก่องค์กรต่างๆ เป็นอำนาจของผู้อำนวยการหรือประธานบอร์ดสลาก หรือคณะกรรมการสลาก การจัดสรรควรดำเนินการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ การอนุมัติเรื่องอะไรก็ตาม ควรจะลงประกาศบนอินเทอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ของสำนักงานสลากฯ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความโปร่งใส ต้องพยายามผลักดันให้สำนักงานสลากฯ เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

ไทยพับลิก้า: ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ลอตเตอรี่มีประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร

ผมเข้าใจว่าก่อให้เกิดการจ้างงาน มีคนเดินขายสลากทั่วประเทศประมาณแสนคน ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เสริม อย่างเช่น เกษตรกรเดินทางเข้ามาขายสลาก แค่ 1 อาทิตย์แล้วกลับไปทำนา ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจคือ 1. ก่อให้เกิดการจ้างงาน 2. เมื่อคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ 3. สร้างความหวังให้กับคนที่เล่นหวย และช่วยลดความตึงเครียดในสังคมได้ คนกลุ่มนี้มีประมาณ 22 ล้านคน นี่คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาสลากเกินราคา แต่พอถึงวันที่สำนักงานสลากฯ ประกาศผลรางวัล (วันหวยออก) ผลิตภาพหรือผลิตผล (productivity) อาจจะลดลง เพราะคนที่เล่นหวยอาจจะสูญเสียสมาธิในการทำงาน