ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาล ปค. สูงสุดยกฟ้อง คดีขอยกเลิกกฎกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ “สิทธิการตาย” ชี้ไม่ขัด กม. – ไม่ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยตายตามยถากรรม

ศาล ปค. สูงสุดยกฟ้อง คดีขอยกเลิกกฎกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ “สิทธิการตาย” ชี้ไม่ขัด กม. – ไม่ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยตายตามยถากรรม

19 มิถุนายน 2015


580619civilcourt
ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000127663

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ องค์คณะศาลปกครองสูงสุด นำโดยนายมนูญ ปุญญกริยากร ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.147/2554 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2558 ซึ่ง นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ, พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของกฎที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีออก “กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553” โดยอาศัยอำนาจของมาตรา 4 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

โดยศาลให้เหตุผลว่า การออกกฎกระทรวงฯ นี้ มิได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และองค์ประกอบอันมีความหมายในการปล่อยให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต แต่เป็นการรักษาอย่าประคับประคองเพื่อให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวตายอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อมิให้ยื้อความตายอย่างสิ้นหวังหรือทำให้ผู้นั้นต้องทรมานจากการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่หากไม่มีบริการสาธารณะที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยแล้วผู้นั้นควรจะตายอย่างธรรมชาติแล้ว

“เมื่อวินิจฉัยเนื้อหาสาระของกฎกระทรวงฯ นี้แล้ว ไม่ปรากฎว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ได้ยื่นฟ้องนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครอง เนื่องจากเหตุว่า กฎกระทรวงฯ นี้ จะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสาธารณสุข และไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่า “การุณยฆาต” (Mercy Killing หรือ Euthanasia) เป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษาหรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป นอกจากนี้ ยังขัดต่อมโนสำนึกในความเป็นแพทย์ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 และผู้ประกอบวิชาชีพเวชรกรรมทั้งปวงได้ถูกปลูกฝัง ฝึกอบรม และปฏิบัติต่อผู้ป่วยสืบต่อกันมา การออกกฎกระทรวงฯ นี้ เกินขอบเขตของ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 และไม่เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง ตามมาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวงฯ นี้

580619euthanasia
ตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนา ที่มา : http://www.thailivingwill.in.th/sites/default/files/024_livingwill.pdf

สำหรับกฎกระทรวงฯ นี้ มีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ป่วยสามารถยื่นหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยในหนังสือจะต้องลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำหนังสือ พยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย ทั้งนี้ อาจมีการระบุรายละเอียดอื่นๆ เช่น ความประสงค์จะเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์จะด้รับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อทางศาสนา และให้สถาบริการสาธารณสุขให้ความร่วมมือตามสมควร โดยหนังสือแสดงเจตนาสามารถทำ ณ สถานที่ใดก็ได้  และสามารถทำได้หลายฉบับ โดยให้ยึดฉบับที่ทำหลังสุด เป็นฉบับที่มีผลบังคับ