ThaiPublica > เกาะกระแส > “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เผยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “สภาเจ้าพนักงานกรมบังคดีโลก ครั้งที่ 23” – แจงผลงาน 7 เดือนดันสินทรัพย์รอการขายได้เกือบ 6 หมื่นล้าน

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เผยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “สภาเจ้าพนักงานกรมบังคดีโลก ครั้งที่ 23” – แจงผลงาน 7 เดือนดันสินทรัพย์รอการขายได้เกือบ 6 หมื่นล้าน

11 มิถุนายน 2015


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ทางสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 ในปี 2561 ซึ่งเป็นการจัดทุกๆ 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกที่มีการดำเนินงานด้านบังคับคดีแพ่ง โดยพนักงานบังคับคดี ไม่ว่างานบังคับคดีแพ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศาล ฝ่ายบริหาร (กระทรวงยุติธรรม) ภาคเอกชนหรือรูปแบบผสม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 85 ประเทศจากทวีปต่างๆ ทั่วโลกมาประชุมหารือร่วมกันในประเด็นสำคัญๆ และความคืบหน้าเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง และความท้าทายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับระบบการบังคับคดีแพ่ง ให้สามารถรองรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ทางกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางไปประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 2-6 มิถุนายน 2558 ที่ประเทศสเปน ปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เจ้าพนักงานบังคับคดี-ความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับเศรษฐกิจ-แนวทางใหม่สำหรับการบังคับคดี” โดยกรมบังคดีไทยได้นำเสนอผลงานของกรมบังคับคดีในประเด็น

1) กลไกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (Engine to the Growth of the Thai Economy) – การเพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity) ให้กับระบบเศรษฐกิจจากการเร่งผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบการบังคับคดีโดยการขายทอดตลาด

2) การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Strengthen the Competitiveness of the Country)

3) กระบวนการยุติธรรมทางเลือก โดยการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี (Mediation at the Enforcement Stage or Post Judicial Mediation) ได้ชี้แจงว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2558 กรมบังคับคดีได้เน้นการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีสำหรับหนี้ครัวเรือน หนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมีผลงาน 7 เดือนที่ผ่านมาจากการดำเนินการด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ตั้งแต่ ตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558 จำนวน 7,109 เรื่อง ทุนทรัพย์ 3,169.87 ล้านบาท มีคดีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ จำนวน 6,051 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 2,450.62 ล้านบาท และคดีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำนวน 1,058 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 719.25 ล้านบาท

การผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมบังคับคดีเพื่อเสริมสร้างการเติบโตและสภาพคล่องของเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ ตุลาคม 2557 – พฤษภาคม 2558 คดีล้มละลายรวมเป็นทุนทรัพย์ 6,509.868 ล้านบาท และคดีแพ่งรวมเป็นทุนทรัพย์ 59,062.66 ล้านบาท คิดเป็น 65.74 % จากเป้าหมายที่กำหนดไว้

4) การแก้ไขกฎหมาย (Law Reform) คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีและการเสนอแก้ไขกฎกระทรวงฉบับต่าง ๆ ที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

5) ความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) ในปี 2547 โดยร่วมลงนามความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างกรมบังคับคดีและสภาเจ้าพนักงานบังคับคดี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และการแจ้งเชิญชวนให้สภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศและประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการบังคับคดีกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงเทพ

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความรวดเร็ว ความเป็นธรรม และความโปร่งใส โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้กับกระบวนการทำงานด้านต่างๆ และได้นำเสนอการพัฒนาระบบ application บนมือถือ ภายใต้ชื่อ “LED Property” เพื่อนำเสนอข้อมูลของทรัพย์ทั่วประเทศที่พร้อมจะนำขายทอดตลาด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเผยแพร่ข้อมูลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ชี้แจงถึงโครงการเสนอการซื้อขายผ่านระบบขายทอดตลาดทางอิเลกทรอนิกส์ (e-Auction) ที่เป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา

จากการสรุปผลการประชุมคองเกรสสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 22 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม คือ การไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี และการพัฒนาระบบ application บนมือถือ ภายใต้ชื่อ “LED Property”

การประชุมว่าด้วยการบังคับคดีกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา ก.ค. นี้

เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีความจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลด้านการบังคับคดีแพ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายและระบบการบังคับคดีของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ตลอดจนแสวงหาและพัฒนาแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจเอกชนที่จะมาดำเนินการค้าและการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ซึ่งได้กำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยภารกิจด้านการบังคับคดีแพ่งของกรมบังคับคดีเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การบังคับคดีให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) ซึ่งประเทศที่มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามข้อตกลง ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทำให้เจ้าหนี้ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืมที่มิใช่สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการให้กู้ยืมหรือปล่อยสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและการลงทุนมากขึ้น

ดังนั้น กรมบังคับคดีจึงได้กำหนดจัดการประชุมว่าด้วยการบังคับคดีกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศ คู่เจรจา เพื่อร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบ และแนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศ (best practices) ด้านการบังคับคดีแพ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา ของอาเซียน คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ร่วมกับหน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับคดีแพ่งในบริบทของการผนวกรวมทางเศรษฐกิจที่เป็นพลวัตร โดยได้เชิญ Dr.Heike Gramckow หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายการยุติธรรมและความมั่นคง จากธนาคารโลก เป็นองค์ปาฐก กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การบังคับคดีกับหลักนิติธรรม และการบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้การประชุมมียังมีหัวข้อที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. บทบาทของศาลแพ่งและพาณิชย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือกในบริบทของการผนวกรวมทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (The Roles of Civil and Commercial Courts and Judicial Officer in the Context of Regional Economic Integration) 2. ศาลและการบังคับคดีอิเล็กทรอนิกส์: ความสำเร็จและอุปสรรค (E-Court and E-Enforcement: Successes and Obstacles) 3. ยุทธศาสตร์สำหรับการขายทอดตลาดที่มีประสิทธิภาพ: แนวปฏิบัติที่ดีเลิศของบางประเทศ (Strategy for Effective Public Auction: Best Practices in Selected Countries) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพมหานคร