ThaiPublica > คอลัมน์ > “มังกรสลัดเกล็ด”…รำลึกถึงอาจารย์ป๋วย ผู้มีคุณูปการอเนกอนันต์ต่อประเทศไทย

“มังกรสลัดเกล็ด”…รำลึกถึงอาจารย์ป๋วย ผู้มีคุณูปการอเนกอนันต์ต่อประเทศไทย

2 มิถุนายน 2015


บรรยง พงษ์พานิช

ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ก็จะเป็นวันที่ระลึก 100 ปีชาตกาล ของ ศาสตราจารย์ พันตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท่านยังเคยดำรงตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากมาย เป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศไทย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา และเหนือสิ่งอื่นใด ท่านได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของผู้ที่ยึดมั่นในหลักการ ในอุดมการณ์ ในคุณธรรม ชื่อเสียงของท่านในด้านความเที่ยงตรง กล้าหาญ และซื่อสัตย์นั้น ยากที่จะหาใครเทียบเทียมได้

เมื่อสองคืนก่อน ผมได้ไปชมละครเวที Musical เรื่อง “มังกรสลัดเกล็ด” ซึ่งเป็นการนำประวัติชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาทำเป็นบทละครเพลง จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อันเป็นหนึ่งในหลายสิบกิจกรรมที่จะถูกจัดขึ้นในวาระ 100 ปีชาตกาลครั้งนี้

ที่มาภาพ : http://www.econ.tu.ac.th/oldweb/images/news/1797/03.jpg
ที่มาภาพ : http://www.econ.tu.ac.th/oldweb/images/news/1797/03.jpg

ประวัติของอาจารย์ป๋วยนั้น สามารถหาอ่านได้ทั่วไป ท่านเป็นลูกจีน ที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เป็นคนเรียนเก่ง ที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (London School of Economics) ในระดับเกียรตินิยมดีเยี่ยม แล้วกลับมารับใช้ชาติด้วยการเป็นข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ มากมาย

ท่านเป็นคนที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่ง เคยเป็นเสรีไทยกระโดดร่มเสี่ยงตายเข้ามาเพื่อสร้างเครือข่ายติดต่อกับพันธมิตร และต่อมาในระหว่างรับราชการท่านก็ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะทัดทานผู้มีอำนาจในเรื่องความถูกต้องตลอดมา ฉายา “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ที่ท่านใช้เมื่อคราวเป็นเสรีไทยนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง เที่ยงตรง กล้าหาญ และซื่อสัตย์ ของท่านตลอดมา

ด้วยความเป็นคนตรง คนกล้า ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องมีเรื่องขัดแย้งขัดใจกับผู้มีอำนาจอยู่เนืองๆ เช่น ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านก็ต้องถูกส่งออกไปปฏิบัติราชการต่างแดน ในช่วง 2499-2502 เนื่องจากขัดแย้งกับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ …จวบจนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกฯ จึงขอให้ท่านกลับเข้ามารับราชการในประเทศอีกครั้ง โดยตอนแรกได้ขอให้ท่านเป็น รมต.คลัง แต่ท่านปฏิเสธ

ในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 42 ปี ก็ได้รับตำแหน่งสำคัญมากมายพร้อมๆ กัน คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2502-2514) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (คนแรก 2502-2509) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (คนแรก 2405-2510) คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2507-2515) ซึ่งในทุกๆ ตำแหน่ง ท่านได้ริเริ่มพัฒนาองค์กร ระบบระเบียบต่างๆ และที่สำคัญ ได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรมขึ้นมากมาย

ถึงตรงนี้ คงมีผู้สงสัยว่า คนคนเดียว ทำไมถึงได้สามารถทำงานสำคัญได้มากมายขนาดนั้น ประเทศไทยไม่มีคนคุณภาพอื่นๆ อีกเลยหรือ อาจารย์ป๋วยท่านอัจฉริยะและทำงานหามรุ่งหามคำ่โดยไม่พักผ่อนเลยหรืออย่างไร

แน่นอนครับ อาจารย์ป๋วยเป็นคนฉลาดรอบรู้ มีความทุ่มเท มีความรับผิดชอบสูง แต่ก็เป็นเพราะบริบทสภาพแวดล้อมในขณะนั้นด้วย ที่มีส่วนทำให้อาจารย์ท่านผลงานมากมายขนาดนี้ได้

อาจารย์ป๋วยนั้น นับเป็นหัวขบวนเทคโนแครตไทยในยุคแรก ซึ่งผมขอใช้นิยามเทคโนแครตว่า “เป็นกลุ่มข้าราชการผู้มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในทางเศรษฐกิจ และมีส่วนในการกำหนดและบริหารนโยบายสำคัญของรัฐ” (ซึ่งภายใต้นิยามนี้เราจะเห็นว่า ถ้าแม้นว่าจะมีข้าราชการเทคโนแครตหลงเหลืออยู่ ก็จะมีบทบาทลดลงตามลำดับ เพราะทั้งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ เปรียบเทียบกับเอกชนแล้วก็ถดถอยอย่างมาก แถมบทบาทก็ถูกจำกัด นโยบายถูกกำหนดโดยกลไกการเมืองไปหมด เพราะฉะนั้น เทคโนแครตอย่างอดีต ในความเห็นของผม เป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืนไม่มีทางที่จะสร้างใหม่ได้อีกแล้ว)

อันว่ากลุ่มเทคโนแครตไทยนั้น มีลักษณะสำคัญอยู่หลายประการ คือ เป็นข้าราชการ เป็นนักเรียนทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในตะวันตก มีความใกล้ชิดสัมพันธ์กันสูง รับราชการกระจายอยู่ในหน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญ (เช่น กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์) และมักจะโยกย้ายวนเวียนอยู่ในหน่วยงานเหล่านี้ (เช่น ดร.เสนาะ อูนากูล เคยอยู่ทุกแห่ง ยกเว้นสำนักงบฯ) ซึ่งโดยลักษณะเช่นนี้ ทำให้การทำงานมีการประสานงานกันสูง นโยบายมีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นการเอื้อส่งเสริมให้อาจารย์ป๋วยทำงานได้มากทั้งคุณภาพและปริมาณ ซึ่งกลุ่มเทคโนแครตยุคแรกที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุญมา วงศ์สวรรค์ ฉลอง ปึงตระกูล สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นต้น

อาจารย์ป๋วยนั้น ท่านโชคดีที่ได้รับการศึกษาจาก London School of Economics ซึ่งถือเป็นสถาบันเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่ง แล้วกลับมามีบทบาทสูงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 นี้ เพราะเป็นช่วงที่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างเราเริ่มต้นวางแผนนโยบาย และเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังภายใต้ความช่วยเหลือแนะนำของธนาคารโลกและ IMF ไทยนั้นโชคดีที่ผู้นำเผด็จการเลือกใช้นโยบายตามก้นทุนนิยมตะวันตก และเปิดประเทศรับทั้งทุน ทั้งเทคโนโลยี รวมทั้งวางรากฐานสถาบันต่างๆ เช่น กฎหมาย สถาบันการค้า การเงิน ตามอย่าง Washington Concensus (ซึ่งเหตุที่ท่านผู้นำเลือกทางนี้ จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องนับว่านำผลดีมาให้) เปรียบเทียบกับบางประเทศ เช่น พม่า ที่นายพลเนวิน ปฏิวัติตามหลังไทยไม่กี่ปี แต่ดันเลือกปิดประเทศ จะใช้แต่ภูมิปัญญาพม่า เลือกระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ เลือกตามก้นรัสเซีย ทำให้พม่าซึ่งเมื่อปี 1960 มีจีดีพีต่อหัง $180 สูงกว่าไทยถึง 80% (ไทยมี 101) มาปัจจุบันพม่ามีแค่ $1,100 ขณะที่เรามี $5,600

จะว่าไป สิ่งที่อาจารย์ป๋วยและคณะทำนั้น ก็พอจะสรุปได้ว่า เป็นการ Westernize ไทยแลนด์นั่นเอง มีการวางแผน วางนโยบายที่จะนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า (จำคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ได้ไหมครับ) ส่วนสถาบันต่างๆ ที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้นำนั้นก็ชัดเจนยิ่งว่าเป็นการพัฒนา วางกลไกสถาบัน ตามอย่างมาตรฐานตะวันตก ที่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทยุคสมัยของเราทั้งสิ้น

อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ที่มาภาพ : http://img.tarad.com/shop/m/malai/img-lib/spd_20091030102715_b.jpg
อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ที่มาภาพ : http://img.tarad.com/shop/m/malai/img-lib/spd_20091030102715_b.jpg

และด้วยการมองการณ์ไกลของคณะเทคโนแครตยุคแรก ก็มีการให้ทุนการศึกษาแก่ข้าราชการต่อมาอีก ทำให้มีกลุ่มข้าราชการเทคโนแครตรุ่นต่อๆ มาสานงานต่อเนื่อง จัดเป็นเทคโนแครตรุ่นสอง เช่น เสนาะ อูนากูล อำนวย วีรวรรณ พนัส สิมะเสถียร ชาญชัย ลี้ถาวร นุกูล ประจวบเหมาะ กำจร สถิรกุล ซึ่งเทคโนแครตทั้งสองรุ่นนี้ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยอย่างมากในช่วงสามสิบปี คือ พ.ศ. 2502-2531 (ยุคจอมพล สฤษดิ์ ถึงยุคพลเอก เปรม…พูดอีกอย่าง คือ ยุคเผด็จการถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ) ซึ่งต้องถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการ มีการเติบโตดีที่สุดในประวัติศาสตรจีดีพีต่อหัวเติบโตถึง 13 เท่าตัว จาก $101 ในปี 1960 เป็น $1,307 ในปี 1989 นับว่า ภายใต้ยุคเทคโนแครต เศรษฐกิจโตสูงถึงเฉลี่ย 8.9% ต่อปี ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ทำให้ไทยสามารถยกระดับจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้สำเร็จ

การที่เผด็จการใช้เทคโนแครตบริหารเศรษฐกิจ และการที่เทคโนแครตยอมทำงานภายใต้ระบอบเผด็จการนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษามาก อาจารย์ป๋วยนั้นมีแนวคิดเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่ท่านก็ทำงานกับทหารได้ และมีการยอมรับกันในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุด ช่วงท้ายของยุคจอมพล ถนอม เมื่อมีการปฏิวัติ 2514 ความสัมพันธ์ก็ดูเหมือนจะสิ้นสุดลง ท่านพ้นจากทุกตำแหน่งไปสอนหนังสือที่ Cambridge จนกระทั่งหมดยุคเผด็จการสองจอมพลจึงกลับมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2518 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” 6 ตุลาคม 2519 ท่านจึงไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นการถาวร

หลังจากยุคอาจารย์ป๋วย กลุ่มเทคโนแครตรุ่นสองก็ยังมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจไทยอยู่อีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กับ “ยุคคั่นเวลา” อานันท์ ปันยารชุน แต่พอการเมืองเปลี่ยนเข้าสู่ “ยุคบุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ต่อด้วย “ยุคเผด็จการรัฐสภา…กินรวบประเทศไทย” บทบาทของเทคโนแครตก็ค่อยๆ ลดจางหายไป เทคโนแครตรุ่นสามก็เริ่มเปลี่ยนไป ถึงแม้บางคนจะยังยืนหยัดเพื่อความถูกต้องดีงาม แต่บ้างก็เลิกรา บ้างก็ปรับสภาพบทบาท บ้างก็ไปรับใช้นักการเมือง (ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งธรรมศาสตร์ เคยระบุว่ารุ่นสามนี้มี อาทิ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, นิพัทธ พุกกะณะสุต, วิจิตร สุพินิจ, ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์์, ศุภชัย พานิชภักดิ์ ใครไปทำอะไร จินตนาการกันเองนะครับ)

อาจารย์ป๋วย ได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงจากวงการวิชาการ ข้าราชการ การศึกษา การเงิน การเศรษฐกิจ ท่านได้ริเริ่มการพัฒนาชนบทเพื่อขจัดความยากจน นับเป็นพหูสูตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง จนเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปี 2508 (อีกสี่สิบปี อาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ก็ได้รับรางวัลนี้ นับเป็นพ่อลูกคู่เดียวที่ได้รับเกียรติ)

ชีวิตของอาจารย์ป๋วยนั้น น่าทึ่ง น่าเรียนรู้ น่าศึกษาอย่างยิ่ง จากเด็กลูกจีนสำเพ็ง ได้รับทุนเล่าเรียน มีความมุ่งมั่นรับใช้ชาติ แน่วแน่ในหลักการความถูกต้องเที่ยงธรรม ได้ดำเนินชีวิตสนองอุดมการณ์สมดังบทกวีที่ท่านประพันธ์ไว้ในวัยเยาว์

กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี
กูเกิดมาก็ที หนึ่งเฮ้ย
กูคาดก่อนสิ้นชี- วาอาตม์
กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich วันที่ 31 พฤษภาคม2558