ThaiPublica > คอลัมน์ > เยาวชนจีน ทำอะไรในวันหยุด ?

เยาวชนจีน ทำอะไรในวันหยุด ?

5 พฤษภาคม 2015


ยรรยง บุญ-หลง [email protected]

ภาพที่1

สวนสาธารณะ 875 ไร่ กับ Shanghai Science and Technology Museum
สวนสาธารณะ 875 ไร่ กับ Shanghai Science and Technology Museum

ภาพที่3

ลองคิดดูสิครับ ว่าจริงๆ แล้วในปัจจุบัน เราสามารถจะนั่งคุยกับเพื่อน (หรือแฟน) ในสถานที่สาธารณะได้อย่างจริงจังที่ไหนบ้าง โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าที่นั่งทุกชั่วโมง

“ต้องการความช่วยเหลืออะไรไหมคะ”

“จะสั่งกาแฟเพิ่มไหมครับ”

เป็นคำถามที่เรามักจะได้ยินเป็นประจำเวลาเราไปเดินห้าง

หลายคนใช้วิธีจิบกาแฟให้เหลือค้างไว้ในแก้ว แทนที่จะดื่มจนหมดในทีเดียว เพื่อป้องกันคำถาม “จะสั่งอะไรเพิ่มไหมคะ”

แต่มันก็ไม่ใช่วิธีการที่จะทำได้หลายครั้ง โดยเฉพาะในร้านเดียวกัน

ซึ่งหมายความว่าในปัจจุบัน โอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกับคนรักและเพื่อนฝูงในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือสงขลา จะเกิดขึ้นได้ในลักษณะของการบริโภคร่วมกันเท่านั้น

การนั่งคุยกันหรือทำแล็บหุ่นยนต์ร่วมกันคงจะไม่มี

สังเกตไหมครับว่า หลังจากออกจากรั้วมหา’ลัย ไปแล้ว…โอกาสในการหาแฟนของเราจะลดน้อยลงไปมาก

ไม่ใช่เพราะว่าเราแก่ลง แต่เพราะโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้ลดน้อยลงไป …เราจะไปช็อปปิ้งซื้อกระเป๋าหลุยส์ร่วมกันได้สักกี่ครั้งกัน

ภาพที่4

ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าเมืองหนึ่งมีคนอยู่ 10 คน มีสถานที่สาธารณะที่ชุมนุมได้ชั่วโมงละ 2 คน อยู่เพียงแห่งเดียว เมื่อหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ก็ต้องลุกออกจากร้านเพื่อหมุนเวียนผู้คน …. โอกาสที่คน 2 คนจะมาพบกันโดยบังเอิญในหนึ่งชั่วโมงคือ 1/45 (จากคู่ทั้งหมด 45 คู่ เช่นเดียวกับการจับฉลาก)

ภาพที่5

คราวนี้สมมติว่าเมืองแห่งนี้มีที่ชุมนุมสำหรับคน 10 คน นั่งได้ทั้งวัน โอกาสที่คู่รักจะได้เจอกันโดยบังเอิญจะค่อนข้างแน่นอน เพราะทุกชั่วโมง โอกาสที่คน 10 คนจะมาอยู่ในที่เดียวกันจะเกิดขึ้นได้เสมอ

สวนสาธารณะหน้ามหาวิทยาลัย โรงอาหาร ลานสัมมนาอเนกประสงค์ ห้องแล็บทดลอง (รอปฎิกิริยาเคมี) หรือสตูดิโอศิลปะ ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ห้างสรรพสินค้าไม่สามารถทำได้ เพราะหลักการของห้างก็คือการหมุนเวียนคนและการค้าให้ได้มากที่สุดต่อชั่วโมง

“จะรับอะไรเพิ่มไหมคะ!”

ภาพที่6

ผมเพิ่งไปพิพิธภัณฑ์ Shanghai Science and Technology Museum มาเมื่อเดือนที่แล้ว

สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะ 875 ไร่ กลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ชื่อว่าสวน Century Park

“สถานีต่อไป สถานี Shanghai Science and Technology Museum” เสียงประกาศในรถไฟฟ้าดังขึ้น

ในบริเวณชั้นใต้ดินในสถานีรถไฟฟ้า จะมีตลาดขายของ “brand name” (เถื่อน) ขนาดใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งแน่นอนว่าตลาดแห่งนี้จะเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่แพ้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

แม้แต่ในวันธรรมดา เยาวชนจีนตั้งแต่มัธยมจนถึงมหา’ลัย จะมาเดินเล่นกันในบริเวณสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หลายคนมากันเป็นหมู่คณะ มีการจัดสัมมนากันเป็นกลุ่ม ทำให้เยาวชนจากหลายสถาบันสามารถมาพบกันโดยบังเอิญได้ง่าย

เวลาเรานึกถึง “พิพิธภัณฑ์” เรามักจะนึกถึงเรื่องโบราณ เก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าขุนมูลนาย ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิติคนธรรมดาๆ มากนัก และมักจะมีบรรยากาศเหมือนห้องเรียน ที่เอาหนังสือ-สมุดไปใส่ไว้ในตู้กระจก แล้วให้นักเรียนเดินดูผ่านเงาฝุ่น

แต่ในระดับสากลแล้ว พิพิธภัณฑ์คือสถานที่ล้ำสมัย สะดวกสบายเหมือนห้างหรู และเป็น “เครื่องมือ” ในการคิดชนิดหนึ่ง

ภาพที่7

ภาพที่8

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำบรรยายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในแทบทุกหมวดหมู่ จะเริ่มต้นจาก “จีนเป็นผู้คิด-ตะวันตกเอาไปพัฒนาต่อ-จีนเอากลับมาพัฒนาต่ออีกครั้ง”

ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ เลขฐานสองที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ เครื่องทำนายแผ่นดินไหว การเดินเรือโดยใช้ดาราศาสตร์และเข็มทิศ การวิจัยทางเคมี รวมไปถึงจรวดและหุ่นยนต์เครื่องกล ทั้งหมดนี้จะเริ่มการบรรยายจากการที่จีนเป็นผู้ริเริ่มคิดขึ้นมา

แววตาของพวกเขาเต็มไปด้วยความภูมิใจ

ผมได้วิจารณ์จีนไว้เยอะเรื่อง Free Speech แต่ทางด้านวิศวกรรมนั้นเขาอยู่ระดับต้นๆ ของโลก

การเน้น “เครื่องมือ” ในการกระตุ้นความคิด และการพบปะกันของเยาวชนโดยบังเอิญเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ จีนตระหนักดีว่าเขาจะมัวสร้างเศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าราคาถูกไม่ได้

ภาพที่9

เขาเห็นตัวอย่างคนจีนที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกามาแล้ว อย่าง Steve Chen คนจีนผู้คิด YouTube ขึ้นมา หรือ Jerry Yang ผู้สร้าง Yahoo! พวกเขาสร้างมูลค่าบริษัทขึ้นมาจากการคิดล้วนๆ

Jerry Yang นี่เองที่ยอมลงทุนในบริษัท startup เล็กๆ ในจีนที่มีชื่อว่า Alibaba ในปี 2005 และในปัจจุบันการลงทุนของเขามีมูลค่า 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เครื่องแสดงการส่งข้อมูลแบบเครือข่าย
เครื่องแสดงการส่งข้อมูลแบบเครือข่าย

ภาพที่11

จึงเป็นคำถามว่า ทางภาครัฐ (หรือเอกชน) จะจัดโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือให้พลเมืองและเยาวชนสร้างมูลค่าทางความคิดขึ้นมาได้อย่างไร

ทำไมในประเทศไทย อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา หรือแม้แต่กรุงเทพฯ จึงไม่มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์-สวนสาธารณะ ที่ผูกติดกับระบบขนส่งมวลชนแบบนี้บ้าง

ภาพที่12

ภาพที่13

สำหรับประเทศจีนซึ่งมีรากฐานมากจากระบบสังคมนิยม การบรรยายในพิพิธภัณฑ์ก็จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมที่คนธรรมดาๆ เป็นผู้คิด กับระบบการเมืองที่มั่นคง

ในช่วงเวลาที่ ฮ่องเต้ (หรือขุนนาง) ไร้วิสัยทัศน์ มัวแต่บำเรอพวกพ้อง ไม่เน้นเรื่องปากท้องของมวลชน นวัตกรรมทางวิทยศาสตร์ก็จะหยุดชะงักลงไป ส่วนในช่วงเวลาที่ระบบการเมืองเปิดกว้าง ประชาชนอิ่มท้อง มีเวลาว่าง นวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็จะมีมาก

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์อันนี้สักเท่าไร ผมกลับเห็นว่าแม้จีนจะอยู่ในภาวะสงคราม การวิจัยการวิทยาศาสตร์ก็ยังล้ำหน้ามาก โดยเฉพาะช่วง Warring States (480 ถึง 221 BC) หรือช่วงที่รัฐอิสระต่างคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำสงครามกัน !

ภาพที่15

จะเห็นได้ว่าผู้บริหารของประเทศมหาอำนาจจะตระหนักดีว่า “มูลค่า” ที่แท้จริงของประเทศไม่ได้อยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยว หรือค่าเช่าที่เก็บได้จากห้าง สินค้าแบรนด์เนม หรือจำนวนสินค้าที่ส่งออกจากนิคมอุตสาหกรรม … แต่ “มูลค่า” ที่แท้จริงของประเทศอยู่ที่ “ความคิด” ของพลเมืองที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

ในกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา มีพิพิธภัณฑ์ระดับโลกถึง 60 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ National Air and Space Museum และ Udvar-Hazy Center ซึ่งมีจรวด Space Shuttle ตั้งอยู่ รวมทั้ง National Museum of Health and Medicine และ US Botanical Garden นอกจากนี้แล้วยังมีการโชว์นวัตกรรมการแกะรหัสและเครื่องมือต่างๆ ของสายลับ ใน National Cryptologic Museum

สวนสาธารณะ People’s Square มีการวางป้ายประกาศหาคู่กันอย่างโจ่งแจ้ง
สวนสาธารณะ People’s Square มีการวางป้ายประกาศหาคู่กันอย่างโจ่งแจ้ง

ภาพที่17

ภาพที่18

การพบปะกันระหว่างพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก หรือคู่คิด

การจัดโครงการพื้นฐานที่ทำให้พลเมืองได้พบปะกัน …อยากคิด…อยากสร้างสรรค์ร่วมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง

“ถ้าท่านอยากจะสร้างเรือ อย่ามัวปลุกระดมพลให้เข้าป่าเพื่อหาไม้ เลื่อยไม้ และตอกไม้กระดานเข้าด้วยกัน … แต่ท่านควรสร้างความอยากที่จะท่องทะเลกว้าง”

—Antoine de Saint-Exupéry