ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อแคลิฟอร์เนียปันส่วนการใช้น้ำโดยเร่งด่วนและมีมาตรการคุมอย่างเข้มข้น

เมื่อแคลิฟอร์เนียปันส่วนการใช้น้ำโดยเร่งด่วนและมีมาตรการคุมอย่างเข้มข้น

12 พฤษภาคม 2015


อิสรนันท์

ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่วิปริตแปรปรวนอย่างหนักอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผสมผสานกับภัยธรรมชาติซึ่งนับวันมีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ทั้งภัยแล้ง มหาวาตภัย มหาอุทกภัย ธรณีพิโรธครั้งใหญ่ รวมไปถึงโรคระบาดร้ายแรง อันเป็นผลพวงจากปรากฏการณ์เรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนที่แก้ไม่ตกสักที แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนานาประเทศให้ร่วมมือกันแก้ปัญหานี้มานานกว่าครึ่งค่อนศตวรรษ แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมบางประเทศกลับเล่นแง่ไม่ยอมให้ความร่วมมือสักเท่าใดนัก ได้แต่ชี้นิ้วโทษแดนมังกรจีนว่าเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน

แต่ขณะนี้ เริ่มมีข่าวดีทยอยเข้ามาไม่ขาดสาย ข่าวดีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งก็คือประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ หนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ที่ชอบกราดนิ้วชี้ประณามจีนว่าเป็นประเทศที่สร้างปัญหาโลกร้อนมากที่สุด แต่กลับไม่พูดถึงสหรัฐฯ เองที่ไม่ยอมลงนามในความตกลงว่าด้วยโลกร้อนเพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในประเทศที่เป็นต้นตอสำคัญของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ได้กล่าวเนื่องในวันเอิร์ธเดย์ 22 เม.ย. ที่เพิ่งผ่านมาว่า ทุกวันนี้ไม่มีภัยอะไรที่ร้ายแรงที่สุดต่อโลกมากไปกว่าภาวะโลกร้อนอีกแล้ว และสหรัฐฯ เองก็หนีปัญหานี้ไม่พ้นเมื่อลมฟ้าอากาศเกิดร้อนอบอ้าวมากเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว

โอบามายังให้คำมั่นสัญญาว่าปัญหาโลกร้อนถือเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องหาทางลดมลภาวะในอากาศให้ได้ภายในปี 2568 จาก 26-28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2548 นอกเหนือจากตั้งความหวังว่าการประชุมระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในเดือน ธ.ค. นี้จะบรรลุข้อตกลงสำคัญๆ ได้ดังใจหมาย

ถ้อยแถลงดังกล่าวของโอบามานับว่าทันการณ์พอดีที่จะแก้ปัญหาที่กำลังทยอยปะทุมากขึ้น หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ได้ตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่งของเจย์ ฟามิลกลิเอ็ตต์ นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าขององค์การนาซา ที่เตือนรัฐแคลิฟอร์เนียว่าเหลือน้ำสำหรับใช้สอยอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น หลังจากเกิดภัยแล้งติดต่อกันถึง 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา อันเป็นผลพวงจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นหรือภาวะโลกร้อน มากกว่ามาจากปัญหาฝนแล้ง

เฉพาะปีที่แล้ว แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีพื้นที่การเกษตรกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศได้ทำลายสถิติภัยแล้งจัดมากเป็นประวัติการณ์ในรอบ 120 ปี จากภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาบ่งบอกว่าระดับน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยอ่างเก็บน้ำซาคราเมนโตและลุ่มแม่น้ำซาน เฮาควิน มีปริมาณน้ำเหลือเก็บไว้แค่ 41.6 ล้านล้านลิตร ต่ำกว่าระดับปกติของฤดูกาล ขณะที่เว็บไซต์ USGS เสริมว่าชาวแคลิฟอร์เนียใช้น้ำเฉลี่ยแล้วราว 181 แกลลอนต่อวัน และ 2.5 ล้านแกลลอนต่อปี

เจย์ ฟามิลกลิเอ็ตต์ ได้เรียกร้องให้ผู้บริหารของรัฐแคลิฟอร์เนียรีบจัดระบบ “ปันส่วนการใช้น้ำโดยเร่งด่วน” ครอบคลุมตั้งแต่การปันส่วนการใช้น้ำภายในครัวเรือน ภายในเมือง รวมทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม จากผลการสำรวจความเห็นของชาวแคลิฟอร์เนียพบว่า 1 ใน 3 ต่างสนับสนุนมาตรการปันน้ำ ขณะที่ 94 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาร้ายแรง

ที่มาภาพ : http://jto.s3.amazonaws.com/wp-content/uploads/2015/04/f-caldry-a-20150407.jpg
ที่มาภาพ : http://jto.s3.amazonaws.com/wp-content/uploads/2015/04/f-caldry-a-20150407.jpg

โชคดีของชาวแคลิฟอร์เนียที่เจอร์รี บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ยินดีน้อมรับคำเตือนนั้น ด้วยการออกคำสั่งฉุกเฉินฉบับใหม่ให้ควบคุมการใช้น้ำทั่วทั้งรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐนี้เพื่อรับมือกับวิกฤติแล้งจัด โดยให้มีการปันส่วนการใช้น้ำที่ “รัดกุมและเข้มข้น” มากขึ้น ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ทุกหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน ธุรกิจห้างร้านรวมถึงบ้านเรือนประชาชน ทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร โดยเฉพาะการควบคุมการรดน้ำต้นไม้และสวนเพื่อความสวยงามที่ทำได้แค่อาทิตย์ละ 2 วัน พร้อมกันนั้น ยังกำหนดชัดเจนว่าห้ามรดน้ำสนามหญ้าหรือสวนรอบบ้านระหว่างฝนตกหรือหลังฝนตกเป็นเวลา 48 ชั่วโมง นอกเหนือจากสั่งปิดน้ำพุ สั่งห้ามร้านอาหารเสริฟน้ำหากลูกค้าไม่สั่ง การขอให้โรงแรมมีตัวเลือกให้แขกว่า ต้องการให้ซักผ้าปูที่นอนหรือซักผ้าเช็ดตัวทุกวันหรือไม่ ฯลฯ ทางการยังขู่ด้วยว่าหากมาตรการปันส่วนการใช้น้ำยังไม่ได้ผล ทางการอาจจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปคุมการจ่ายน้ำแบบรายตัวก็เป็นได้

ในมาตรการคุมเข้มการใช้น้ำของรัฐแคลิฟอร์เนียยังครอบคลุมไปถึงการสั่งให้สำนักงานประปาในแต่ละเขตจัดทำรายงานการใช้น้ำประจำเดือนก่อนจะส่งให้ส่วนกลางตรวจสอบ ตลอดจนให้ทำรายงานเพิ่มเติมว่าด้วยความพยายามของแต่ละเขตในการควบคุมการใช้น้ำด้วย

มาตรการคุมเข้มการใช้น้ำซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำเมื่อปี 2555 อันจะช่วยให้มีน้ำเหลือกินเหลือใช้ไปจนถึงปลายปีหรืออีกอย่างน้อย 9 เดือนข้างหน้า เทียบกับเมื่อต้นปีที่แล้ว ที่บราวน์ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำลง 20 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยใช้ตลอดปี 2553

ทั้งนี้ สถานที่ที่จะเป็นเป้าหมายหลักของการปันส่วนการใช้น้ำในครั้งนี้ ได้แก่ สนามหญ้ามหาวิทยาลัย สุสาน และที่ดินขนาดใหญ่ที่ต้องลดการใช้น้ำลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะการบังคับให้ทุกพื้นที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่สนามหญ้าราว 50 ล้านตารางฟุต ให้กลายเป็นลานที่ไม่ต้องใช้น้ำในการบำรุงรักษา ห้ามบ้านเก่าที่สร้างใหม่และโครงการพัฒนาใหม่ๆ ใช้เครื่องฉีดน้ำ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจัดการระบบอื่นมาทดแทนได้ ตลอดจนเร่งรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้แก่ประชาชน อาทิ จะคืนภาษีให้ผู้บริโภคน้ำที่พร้อมใจเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ทั่วไปหันไปใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำหรือผู้ที่ใช้เครื่องไฟฟ้าประหยัดพลังงานขณะที่รัฐพร้อมจะลงทุนในด้านเทคโนโลยีเพื่อบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่

บราวน์ยอมรับว่า “เราอยู่ในยุคใหม่ที่การมีสนามหญ้าเขียวขจีเล็กๆ ที่สามารถรดน้ำได้ทุกวันได้กลายเป็นเรื่องราวในอดีตไปแล้ว”

คำสั่งนี้ยังรวมไปถึงการบังคับให้ทุกเมืองต้องตั้งเกณฑ์ระดับค่าใช้จ่ายการใช้น้ำแบบขั้นบันได ใครฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 4 เท่าของอัตราค่าปรับปกติ หรือระหว่าง 1,480 ดอลลาร์ (ราว 47,000 บาท) ถึง 2,960 ดอลลาร์ (ราว 95,000 บาท) ต่อปริมาณน้ำ 1 เอเคอร์ฟุต หรือ 4,233.5 ลูกบาศก์เมตร หรือจากที่เคยส่งปรับวันละ 500 ดอลลาร์ (ราว 16,000 บาท) เป็นวันละ 10,000 ดอลลาร์ (ราว 320,000 บาท)

แม้ว่ามาตรการลดการใช้น้ำลง 25 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เกษตรกรแคลิฟอร์เนีย แต่เกษตรกรในรัฐนี้จะต้องรายงานการใช้น้ำอย่างละเอียดให้กับหน่วยงานควบคุมการใช้น้ำของรัฐ รวมไปถึงการเปิดเผยว่ามีน้ำจำนวนเท่าใดในความครอบครอง และวิธีการที่จะลดการใช้น้ำลงให้ได้ผลมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการควบคุมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ตั้งแต่การวัดปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมด พบว่าระดับน้ำในทุกพื้นที่ลดลงไปจนเกือบถึงจุดต่ำสุด บางพื้นที่ถึงขั้นแห้งขอด จนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเรือบ้านต้องนำเรือกลับเข้าฝั่ง ขณะที่ระดับความหนาเฉลี่ยของทุ่งหิมะบนเทือกเขาเซียร์รา เนวาดา ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นแหล่งผลิตน้ำจืดสำคัญได้ลดลงฮวบฮาบเมื่อปีที่แล้วอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 65 ปี จากปรกติที่จะมีความหนาไม่ต่ำกว่า 66 นิ้ว ในช่วงเวลานี้ของทุกปี ก่อนความหนาจะลดลงเหลือแค่ 33 นิ้ว เมื่อปีที่แล้ว และขณะนี้เหลือความหนาเพียง 1-2 นิ้ว อันจะส่งผลกระทบต่อปริมาณของน้ำในเขื่อนที่เก็บกักน้ำที่ละลายจากหิมะไว้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำในเขื่อนเก็บกักน้ำ หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำที่สำรองใช้ทั่วรัฐ

เมื่อปี 2540 ช่วงที่บราวน์ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียสมัยแรก บราวน์ได้ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยลดปริมาณการใช้น้ำลง 25 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองต่างๆ ได้จัดหาแหล่งเก็บน้ำสำรองสำหรับท้องถิ่นเองเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดน้ำในภายหลัง ทำให้เป็นการยากสำหรับชาวแคลิฟอร์เนียที่จะจำกัดการใช้น้ำลง ตราบใดที่น้ำยังคงไหลจากท่อประปาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อกระเป๋าเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม

ทีมาภาพ : http://mtv.mtvnimages.com/uri/mgid:file:http:shared:mtv.com/news/wp-content/uploads/2015/04/Drought5-1428091770.jpg?quality=0.85&format=jpg&width=480
ทีมาภาพ : http://mtv.mtvnimages.com/uri/mgid:file:http:shared:mtv.com/news/wp-content/uploads/2015/04/Drought5-1428091770.jpg?quality=0.85&format=jpg&width=480

ลอสแอนเจลิสไทมส์รายงานเพิ่มเติมว่า มาตรการควบคุมการใช้น้ำฉบับใหม่ของรัฐแคลิฟอร์เนียจะมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 1 ปี และจะไม่มีผลครอบคลุมไปถึงนครลอสแอนเจลิสและเมืองใหญ่หลายๆ เมืองทางตอนใต้ของรัฐ ซึ่งมีมาตรการควบคุมการใช้น้ำที่รัดกุมอยู่แล้ว อาทิ การสั่งห้ามรดน้ำสนามหญ้ามากกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน หรือการบังคับให้เจ้าของบ้านซ่อมสปริงเกอร์ที่รั่ว หรือฉีดน้ำออกมาบริเวณทางเดินริมถนน หากไม่ดูแลจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน

อย่างไรก็ดี มีเมืองต่างๆ อีกหลายเมืองที่ยังไม่มีมาตรการการประหยัดน้ำที่ชัดเจนหรือระบุอย่างกว้างๆ อาทิ ห้ามรดน้ำสนามหญ้าในช่วงเวลาอากาศร้อนจัดเท่านั้น

ในรายงานของแอลเอไทมส์ชี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในรัฐนี้ถือว่าดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย โดยเฉพาะในเขตตอนเหนือของรัฐ เนื่องจากมีปริมาณฝนและหิมะมากกว่าปีที่ผ่านมา พลอยทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบชาสตา แหล่งเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดของแคลิฟอร์เนีย มีปริมาณน้ำ 58 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 45 เปอร์เซ็นต์ของปีที่แล้ว หรือที่ทะเลสาบโอโรวิลล์ ก็มีปริมาณน้ำถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จาก 45 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ข่าวดีนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แคลิฟอร์เนียปลอดภัยจากภัยแล้งได้

ด้านรัฐสภาของแคลิฟอร์เนียที่เมืองซาคราเมนโตได้สำทับซ้ำว่า หากทุกพื้นที่ยังไม่สามารถควบคุมการใช้น้ำให้ลดลงตามเป้าที่ตั้งไว้ได้ ทางการก็อาจจะเพิ่มมาตการที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ยกระดับการควบคุมการใช้น้ำจากมาตรการฉุกเฉินให้เป็นระเบียบถาวร หรือให้สำนักงานประปาในทุกเขตทำการตรวจสอบการรั่วไหลทั้งระบบ หรืองัดมาตรการเด็ดขาดขั้นสุดท้ายมาใช้ นั่นก็คือกำหนดปริมาณการใช้น้ำของแต่ละครัวเรือนตามจำนวนคนในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งที่สุด

จากมาตรการคุมเข้มการใช้น้ำดังกล่าวทำให้สำนักการประปาแคลิฟอร์เนียลดปริมาณการจำหน่ายน้ำให้ประชาชนลง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพื้นที่แห้งแล้งทางใต้ของรัฐ ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องงดเพาะปลูกพืชในหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรในรัฐขยับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เกษตรกรบางรายสารภาพว่า ขณะนี้ต้องหันมาพึ่งพาน้ำใต้ดินเป็นหลักหลังจากทางการงดจ่ายน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการมีน้ำใช้ในพื้นที่เพาะปลูก

หลายฝ่ายเชื่อว่า หากมาตรการประหยัดน้ำของบราวน์ได้ผล จะสามารถประหยัดน้ำได้ราว 1.5 ล้านเอเคอร์ฟุตในระยะเวลา 9 เดือนก่อนที่สถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติในราวเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน

โด ปาร์กเกอร์ นักวิเคราะห์นโยบายและผู้เชี่ยวชาญน้ำที่สถาบันทรัพยากรน้ำแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลภาวะอากาศที่มีอยู่ ทำให้เชื่อว่าเเคลิฟอร์เนียจะยังต้องเผชิญกับภัยเเล้งต่อไปอีกนานสลับกับการเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่อันเนื่องจากฝนตกหนัก จึงจำเป็นต้องสร้างระบบน้ำที่สามารถรองรับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่หลากหลายรวมทั้งสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนได้

ความเห็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนที่ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียจำเป็นต้องยกเครื่องระบบน้ำครั้งใหญ่โดยต้องคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นเป็นหลักด้วย ขณะที่ผู้บริหารรัฐนี้ได้ออกพันธบัตรมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงระบบการจัดเก็บน้ำของรัฐ อันจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้น้ำอย่างชาญฉลาด นอกจากจะช่วยสร้างแหล่งน้ำขึ้นในท้องถิ่นแล้ว ยังมีระบบกรองน้ำใต้ดินให้สะอาด มีการนำน้ำใช้แล้วไปหมุนเวียนใช้ใหม่

หลังจากบราวน์ได้ประกาศมาตรการปันส่วนการใช้น้ำแล้ว ปรากฏว่าทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทยอยออกมาตรการลดการใช้และจำหน่ายน้ำ โดยบริษัทผู้ค้าส่งน้ำได้ประกาศลดปริมาณจำหน่ายน้ำให้กับผู้ค้าย่อยลง 15 เปอร์เซ็นต์

นอกเหนือจากมาตรการปันส่วนน้ำแล้ว เมืองต่างๆ ในรัฐนี้ยังเตรียมการจะนำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้บริโภค หรือนำกลับคืนสู่แหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ ตลอดจนเตรียมผลิตน้ำจากน้ำทะเล เหมือนเช่นที่เมืองซานดิเอโก ซึ่งได้ทุ่มทุนร่วมพันล้านดอลลาร์ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุดทางตะวันตกของเมือง คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานได้ในปีหน้า และสามารถผลิตน้ำจืดสำหรับดื่มได้ราววันละ 50 ล้านแกลลอน ไม่นับรวมการเตรียมโครงการสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอีก 15 แห่งตามแนวชายฝั่งตั้งแต่ลอสแอนเจลิสจนถึงซานฟรานซิสโก

อย่างไรก็ดี โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลยังมีข้อเสียที่จะต้องแก้ไขอีกมาก เนื่องจากต้องใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมากในกระบวนการผลิต ที่สำคัญการจะผลิตน้ำดื่มให้ได้ถึง 50 ล้านแกลลอน นั้นต้องใช้น้ำทะเลถึง 100 ล้านแกลลอน หนำซ้ำ เมื่อปล่อยน้ำที่ได้จากการผลิตกลับคืนทะเล ก็เท่ากับเพิ่มระดับความเค็มให้มากขึ้น