ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมสรรพากรแจกแจงผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชากว่า 2,000 คน พร้อมเก็บภาษีกลางปี 2558

กรมสรรพากรแจกแจงผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชากว่า 2,000 คน พร้อมเก็บภาษีกลางปี 2558

7 พฤษภาคม 2015


กรมสรรพากรจัดอบรมเตรียมพร้อมผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชากว่า 2,000 คน ก่อนเริ่มจัดเก็บภาษีจริงกลางปี 2558 พบผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจการทำบัญชีและระบบการเสียภาษี คาใจทำไมโรงเรียนกวดวิชาต้องจ่ายภาษีทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการคุมเพดานการทำกำไรที่ 20%

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 เห็นชอบจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ล่าสุดเมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2558 กรมสรรพากรจัดสัมมนาเรื่อง “เตรียมพร้อมรอบรู้ระบบบัญชีและภาษีอากรสำหรับกิจการโรงเรียนกวดวิชา” โดยมีนายอดิศักดิ์ สืบประดิษฐ์ นิติกรเชี่ยวชาญ นายสุเทพ ชาญณรงค์ นิติกรชำนาญการพิเศษ และนายสวัสดิ์ ชูเชิด นิติกรชำนาญการ ให้ความรู้ในหัวข้อ “ภาษีอากรสำหรับโรงเรียนกวดวิชา” และนางสาววราวรรณ กิจวิชา เป็นวิทยากรในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมในการทำบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องของโรงเรียนกวดวิชา” สำหรับการอบรมครั้งนี้จัดขึ้น 2 วัน แบ่งเป็นวันละ 2 รอบ โดยให้ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาหรือตัวแทน และผู้ที่สนใจเข้าอบรมรอบละ 500 คน ณ ห้องพระอุเทน 1 ชั้น 2 อาคารกรมสรรพากร

การอบรม "เตรียมพร้อมรอบรู้ระบบบัญชีและภาษีอากรสำหรับกิจการโรงเรียนกวดวิชา" เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ณ กรมสรรพากร
การอบรม “เตรียมพร้อมรอบรู้ระบบบัญชีและภาษีอากรสำหรับกิจการโรงเรียนกวดวิชา” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ณ กรมสรรพากร

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกฎหมายการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชานั้น ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามและบังคับใช้กฎหมายประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดในการชี้แจงในหัวข้อ “ภาษีอากรสำหรับโรงเรียนกวดวิชา” นั้น โดยสรุปคือการแก้กฎหมายให้โรงเรียนกวดวิชาต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้มีรายได้อื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็น 1. บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลทั่วไป ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล และ 2. นิติบุคคล ได้แก่ บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และมูลนิธิหรือสมาคม ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งจะเสียภาษีแบบใดก็ขึ้นกับประเภทที่จดทะเบียนจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา

ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้เข้าอบรมคือ ยังไม่เข้าใจว่าต้องเสียภาษีภาษีเท่าไหร่ อย่างไร โดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยทำบัญชีเพื่อยื่นจ่ายภาษี ส่วนโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่นั้นจะไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากมีการทำบัญชีซึ่งอาจทำเองหรือจ้างบริษัทตรวจสอบบัญชีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การเก็บภาษีดังกล่าวทำให้โรงเรียนกวดวิชามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาเป็นกังวลมาก และจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าอบรมพบว่า ผู้ประกอบการบางส่วนพยายามจะหาทางออกเพื่อผลักภาระต้นทุนของตนเอง เช่น หักภาษีบุคลากรหรือติวเตอร์เพิ่มขึ้น หรือขึ้นราคาค่าเรียน แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ เนื่องจากว่ารัฐบาลประกาศให้ตรึงราคาค่าเรียนพิเศษไว้ 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในเมษายน 2559 ส่วนการหักภาษีติวเตอร์เพิ่มนั้นต้องหารือกันภายในก่อนว่าติวเตอร์จะยอมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นขึ้นค่าเรียนกวดวิชา นักบัญชีซึ่งเป็นตัวแทนเข้าอบรมของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังแห่งหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า อย่าขึ้นค่าเรียนกวดวิชาเลย เพราะว่าโรงเรียนไม่มีต้นทุนอะไรเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ยังข้องใจและทวงถามถึงเหตุผลที่จัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งหลังจากที่ได้รับคำตอบว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรและมีรายได้สูง ซึ่งเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นไม่ได้ เนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ประกาศในปี 2554 ว่า “อัตราผลตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” ฉะนั้นเมื่อกำหนดอัตราผลตอบแทนแล้วทำไมถึงคิดว่าเป็นธุรกิจที่มีรายได้สูง

จากข้อมูลดังกล่าว ไทยพับลิก้าได้สำรวจอัตราผลตอบแทนของธุรกิจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2557 พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการเงินกลุ่มเดียวที่มีอัตราผลตอบแทนต่อปีมากกว่าร้อยละ 20 คือประมาณร้อยละ 21 และหากดูตามรายประเภทธุรกิจการเงินแล้วมีเพียงธุรกิจธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่มีผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 20 คือประมาณร้อยละ 24 ในขณะที่ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตมีอัตราผลตอบแทนประมาณร้อยละ 10 และเงินทุนและหลักทรัพย์มีอัตราผลตอบแทนประมาณร้อยละ 12

นายอดิศักดิ์ สืบประดิษฐ์ นิติกรเชี่ยวชาญ นายสุเทพ ชาญณรงค์ นิติกรชำนาญการพิเศษ และนายสวัสดิ์ ชูเชิด นิติกรชำนาญการ
นายอดิศักดิ์ สืบประดิษฐ์ นิติกรเชี่ยวชาญ นายสุเทพ ชาญณรงค์ นิติกรชำนาญการพิเศษ และนายสวัสดิ์ ชูเชิด นิติกรชำนาญการ

ด้านผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็กกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า โรงเรียนกวดวิชาที่ทำอยู่นั้นขาดทุน และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจตกต่ำลงตลอด แต่ยังคงกิจการอยู่เพราะใจรักการเป็นครู อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งยอมรับว่าการเก็บภาษีครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจมากนักเพราะว่ารายได้ไม่มาก ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งอาจจะไม่ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำเพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่การเก็บภาษีจะกระทบต่อโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่แน่นอน โดยเฉพาะสถาบันที่มีชื่อเสียง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเดือดร้อนผู้เรียนและผู้ปกครองเพราะค่าเรียนที่สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชารายย่อยคนหนึ่งกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการกดดันให้โรงเรียนกวดวิชาปิดกิจการหรือไม่ เนื่องจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนกวดวิชาที่จะเปิดใหม่นั้นต้องเปิดกิจการภายในอาคารที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการเรียนกวดวิชา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเพียง 2 อาคาร คือ อาคารวรรณสรณ์ที่พญาไท และอาคารสยามกิตติ์ที่สยามสแควร์

“ในวันนี้โรงเรียนกวดวิชาถูกกฎหมายบังคับให้เสียภาษี เราก็ต้องเสียภาษี แต่ก่อนจะออกกฎหมายทำไมถึงไม่จัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน และเมื่อกรมสรรพากรบอกว่า ผู้มีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษี ขอให้กรมสรรพากรเก็บภาษีกับโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนให้ได้ด้วย รวมถึงต้องปลดล็อกข้อบังคับกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดอัตราผลตอบแทนไม่เกินร้อยละ 20 ด้วย เพื่อให้โรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจที่แข่งขันเสรีอย่างแท้จริง” เป็นอีกเสียงสะท้อนหนึ่งจากผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชา

ตัวอย่างปัญหาและข้อซักถามในที่ประชุม

1. โรงเรียนกวดวิชามีทั้งที่ขึ้นและไม่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ แล้วกรมสรรพากรจะติดตามจัดเก็บภาษีกับโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนพวกนั้นอย่างไร

เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตอบว่า กรณีที่โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีอยู่ 192 แห่งตามรหัวประเภทธุรกิจ 85493 นั้น เสียภาษีอยู่แล้วเสมือนการทำธุรกิจประเภทอื่นๆ อีกทั้งหากธุรกิจมีกำไรเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 ดังนั้น เมื่อประกาศใช้กฎหมายเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้วกรมสรรพากรก็ไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่มจากโรงเรียนกวดวิชาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒน์ฯ

ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใดเลย หรือที่เรียกว่าโรงเรียนกวดวิชาเถื่อน ซึ่งอาจเปิดสอนแบบตัวต่อตัวตามร้านอาหารหรือตามบ้านนั้น แน่นอนว่าเมื่อไม่มีฐานข้อมูลในระบบก็จัดเก็บภาษีไม่ได้ แต่กรมสรรพากรก็มีเจ้าหน้าที่ติดตามเก็บภาษีนอกระบบ และศูนย์ติดตามเร่งรัดภาษีอยู่แล้ว และหากใครทราบว่ามีโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนที่ไหนก็สามารถแจ้งให้กรมสรรพากรทราบเพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีต่อไป

2. ปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาของผู้ประกอบการ

เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตอบว่า ภาษีเงินบุคคลธรรมดาให้ถือตามเกณฑ์เงินสด หักค่าใช้จ่ายตามสมควร และเสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงสุดที่ร้อยละ 35 โดยมีรายละเอียดดังนี้
– กรณีเงินปันผล เสียภาษีเต็มจำนวนไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ
– กรณีที่นางสาว ก. ซึ่งแต่งงานกับนาย ข. แล้ว โดยที่นางสาว ก. เปิดโรงเรียนกวดวิชาขึ้นนั้น ประการแรก นางสาว ก. ไม่ควรกำหนดให้รายได้ตัวเอง เพราะกำไรทั้งหมดเป็นของนางสาว ก. อยู่แล้ว ประการที่สอง นางสาว ก. ยื่นชำระภาษีเงินได้ 2 แบบคือ ยื่นภาษีทั้งหมดในนามนางสาว ก. และยื่นภาษีทั้งหมดในนามของสามีคือนาย ข. ไม่สามารถแบ่งจ่ายภาษีคนละครึ่งระหว่างสามีภรรยาได้

นางสาววราวรรณ กิจวิชา
นางสาววราวรรณ กิจวิชา

3. การหักภาษีติวเตอร์ หรือครูผู้สอน

เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตอบว่า ในกรณีที่จ้างติวเตอร์เป็นครั้งคราว และเมื่อรวมรายได้ทั้งปีแล้วติวเตอร์คนดังกล่าวมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 กับติวเตอร์ ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะหักภาษีไว้ก่อนเสมอ

4. การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี จากกรณีที่ผู้ประกอบการซื้อรถยนต์เพื่อใช้ประกอบกิจการกวดวิชามูลค่า 1 ล้านบาท สามารถหักลดหย่อนร้อยละ 20 ของราคารถยนต์ หรือ 200,000 บาทได้หรือไม่

เจ้าหน้าที่สรรพากรตอบว่า ในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าซื้อรถยนต์นั้นเพื่อใช้ในการประกอบกิจการจริง ก็สามารถหักลดหย่อนได้ แต่ส่วนใหญ่กรมสรรพากรจะไม่ให้หัก เพราะไม่ใช่เรื่องที่สมควรหรือจำเป็น และไม่เชื่อว่าจะซื้อรถยนต์นั้นประกอบกิจการ น่าจะเพื่อใช้ส่วนตัวมากกว่า

5. การเสียภาษีจากเงินปันผลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตอบว่า เงินปันผลต้องเสียภาษีร้อยละ 10 และต้องนำเงินส่วนนี้คิดรวมเพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย แต่กรมสรรพากรขจัดความซ้ำซ้อนการเสียภาษีให้แล้วโดยให้เป็นเครดิตตอนปลายปี

6. ขอการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้หรือไม่

เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตอบว่า การหักค่าใช้จ่ายให้หักตามจริง ไม่มีระบบเหมาจ่าย ซึ่งโรงเรียนกวดวิชามีค่าใช้จ่ายใดบ้างก็ให้ทำบัญชีไว้

จากประเด็นข้างต้น ผู้ประกอบรายหนึ่งรู้สึกว่ากรมสรรพากรไม่เป็นธรรมที่ห้ามโรงเรียนกวดวิชาหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ในขณะที่ธุรกิจประเภทอื่นๆ สามารถเลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือว่าเหมาจ่าย ซึ่งบางธุรกิจเหมาได้ถึงร้อยละ 85