ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ กสทช. ไม่ให้ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เลื่อนจ่ายเงินประมูลงวดสอง หลัง “สตง.-อสส.” ค้าน เหตุส่อเอื้อเอกชน แถมทำรัฐเสียหาย

มติ กสทช. ไม่ให้ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เลื่อนจ่ายเงินประมูลงวดสอง หลัง “สตง.-อสส.” ค้าน เหตุส่อเอื้อเอกชน แถมทำรัฐเสียหาย

22 พฤษภาคม 2015


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงผลการประชุม กสทช. นัดพิเศษในวันเดียวกัน เพื่อพิจารณาถึงการเลื่อนจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง งวดที่ 2 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 นี้ ออกไปอีก 1 ปี ภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับข้อหารือของสำนักงาน กสทช. มาแล้ว ว่าไม่สามารถเลื่อนการจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 2 ออกไปอีก 1 ปี

– สตง. ได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ให้ความเห็นว่า การเลื่อนกำหนดระยะเวลาชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ งวดที่ 2 ออกไป สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก “ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556” และใน “เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต” ได้ระบุถึงระยะเวลาการจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการทำสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างกัน

“ถ้ามีการเลื่อนกำหนดการชำระออกไปจะต้องมีการแก้ไขเงื่อนไขแนบท้าย ซึ่งจะทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน”

– อสส. ได้มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ให้ความเห็นว่า กสทช. ไม่อาจเลื่อนกำหนดระยะเวลาจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ งวดที่ 2 ออกไปได้ นอกจากจะได้มีการแก้ไข “ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556” หรือออกประกาศฉบับใหม่ โดยประกาศฉบับใหม่จะต้องไม่ทำให้รัฐเสียหาย ซึ่ง กสทช. ต้องพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวจะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ และจะเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือไม่

“ซึ่งนัยยะดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการเลื่อนกำหนดระยะเวลาจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ งวดที่ 2 ออกไปได้”

นายฐากรกล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ได้มีมติเห็นชอบกับความเห็นของทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้มีมติไม่ให้เลื่อนการจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ ทั้ง 24 ราย ออกไปอีก 1 ปี และให้นำเงินมาชำระตามกำหนดการเดิม คือภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558

ช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักงาน กสทช.ได้ส่งข่าวประชาสัมพันธ์มาแจ้งว่า จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้ประกอบการมาชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจ งวดที่ 2 แล้ว 16 ราย จากทั้งหมด 24 ราย ประกอบด้วย

1.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง3HD ชำระเงินจำนวน 700 ล้านบาท

2.บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่อง PPTV HD ชำระเงินจำนวน 693 ล้านบาท

3.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง MCOT HD ชำระเงินจำนวน 680 ล้านบาท

4.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง Amarin TV HD ชำระจำนวน 678 ล้านบาท

5.บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด (หรือบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เดิม) ช่อง ONE HD ชำระเงินจำนวน 678 ล้านบาท

6.บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (หรือบริษัท ทรู ดีทีที จำกัด เดิม) ช่อง True4U ชำระเงินจำนวน 329 ล้านบาท

7.บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (หรือบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด) ช่อง GMM Channel ชำระเงินจำนวน 326 ล้านบาท

8.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 3SD ชำระเงินจำนวน 324 ล้านบาท

9.บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ช่อง MONO 29 ชำระเงินจำนวน 322 ล้านบาท

10.บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ช่อง NOW ชำระเงินจำนวน 316 ล้านบาท

11.บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ช่อง Nation ชำระเงินจำนวน 190 ล้านบาท

12.บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ช่อง TNN24 ชำระเงินจำนวน 187 ล้านบาท

13.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 3Family ชำระเงินจำนวน 101 ล้านบาท

14.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง MCOT Kid ชำระเงินจำนวน 100 บาท

15.บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ช่อง 7HD ชำระเงินจำนวน 683 ล้านบาท

16.บริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด ช่อง Workpoint TV ชำระเงินจำนวน 333 บาท