ThaiPublica > คอลัมน์ > The Science of “โง่เเต่อวดฉลาด”: The Dunning-Kruger Effect

The Science of “โง่เเต่อวดฉลาด”: The Dunning-Kruger Effect

19 พฤษภาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมคนที่ไร้ซึ่งความสามารถหรือมีความสามารถน้อย (no competence/low competence) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม กลับไม่ค่อยจะรู้ตัวถึงความไร้สามารถของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นคนหลายๆ คนที่คิดว่าตัวเองเก่งในหลายๆ เรื่องเเต่ในความเป็นจริงเเล้วกลับไม่ได้เรื่องเอาสักอย่างเลย หรือคนที่คุณสมัครไปทำงานด้วยกลับมองตัวคุณว่าคุณไม่มีความสามารถพอสำหรับงานทั้งๆ ที่ประวัติการทำงานของคุณดีกว่าคนที่กำลังสัมภาษณ์งานคุณอยู่เป็นหลายเท่า เป็นต้น

โง่เเต่อวดฉลาด

“โง่เเต่อวดฉลาด ฉลาดเเต่เรื่องโง่ๆ” เป็นสำนวนที่คนไทยมักนิยมใช้ในการเรียกคนที่ไม่มีความสามารถเเต่ก็ยังมีความมั่นใจว่าตัวเองฉลาด ซึ่งสมัยก่อนผมเคยคิดสงสัยอยู่บ่อยๆ ว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนหลายๆ คนที่ไม่มีความสามารถ (หรือมีความสามารถน้อย) ถึงกล้าคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่นหรือเก่งกว่าความเป็นจริง คนพวกนี้เขาไม่ละอายกันเลยหรือ เขาคิดว่าคนอื่นจะไม่รู้ถึงความไร้ความสามารถของเขาจริงๆ หรือ

เเต่พอมาถึงวันนี้ผมได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ผมมีต่อคนกลุ่มนี้ไปเรียบร้อยเเล้ว ผมไม่สามารถไปโทษการกระทำของพวกเขาอีกต่อไป (เเถมผมยังเเอบสงสารพวกเขาอีกด้วยซ้ำ) นั่นก็เป็นเพราะว่าจริงๆ เเล้วนั้นมันอาจจะไม่ใช่ความผิดของเขาเลยก็ได้ที่เขาไม่รู้ตัวเองว่าเขาไม่ได้มีความสามารถอย่างที่เขาคิด

The Dunning-Kruger Effect

เเละงานวิจัยชิ้นสำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติของผมที่มีต่อคนกลุ่มนี้นั้นก็คือผลงานวิจัยของเดวิด ดันนิง (David Dunning) เเละจัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell) โดยงานวิจัยชิ้นนี้เริ่มมาจากข้อสันนิษฐานของเขาทั้งสองคนว่า คนที่ไม่มีความสามารถจะไม่มีทางรู้ถึงความไม่มีความสามารถของตัวเองได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าความสามารถที่คนเราจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถนั้นเป็นความสามารถเดียวกันกับความสามารถที่คนเหล่านี้ไม่มี (งงไหมครับ) ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ถ้าเดวิด ดันนิง เเละจัสติน ครูเกอร์ สันนิษฐานถูกต้องก็หมายความว่าคนที่ร้องเพลงไม่เก่งจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองร้องเพลงไม่เก่งเพราะว่าเขาไม่มีความสามารถในการร้องเพลงพอที่จะทำให้เขารู้ว่าการร้องเพลงเก่งจริงๆ นั้นเป็นยังไง

โดยในการทดลองของเขาทั้งสอง เขาได้ให้คนที่มาร่วมการทดลอง (หรือ subjects) ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่คอร์เนลทำการประเมินถึงความสามารถในการเเยกเเยะว่าอะไรตลกอะไรไม่ตลก (humour) ความสามารถทางตรรกะ (logical reasoning) เเละความสามารถทางไวยากรณ์ (English grammar) ของตัวเองก่อนที่จะให้พวกเขาทำเเบบทดสอบจริงๆ ในเเต่ละเรื่อง

รูปที่ 1: ค่าประเมินความสามารถของตัวเองในการเข้าใจ sense of humour กับคะเเนนการทดสอบจริงที่มาภาพ  : Kruger and Dunning (1999), p.1124.
รูปที่ 1: ค่าประเมินความสามารถของตัวเองในการเข้าใจ sense of humour กับคะเเนนการทดสอบจริงที่มาภาพ : Kruger and Dunning (1999), p.1124.
รูปที่ 2: ค่าประเมินความสามารถของตัวเองทางตรรกะกับคะเเนนการทดสอบจริง ที่มาภาพ  : Kruger and Dunning (1999), p.1124.
รูปที่ 2: ค่าประเมินความสามารถของตัวเองทางตรรกะกับคะเเนนการทดสอบจริง ที่มาภาพ : Kruger and Dunning (1999), p.1124.
รูปที่ 3: ค่าประเมินความสามารถของตัวเองทางไวยากรณ์กับคะเเนนการทดสอบจริง ที่มาภาพ  : Kruger and Dunning (1999), p.1124.
รูปที่ 3: ค่าประเมินความสามารถของตัวเองทางไวยากรณ์กับคะเเนนการทดสอบจริง
ที่มาภาพ : Kruger and Dunning (1999), p.1124.

จากการทดลองครั้งนี้ทั้งสองนักจิตวิทยาพบว่าคนที่มีความสามารถตำ่ที่สุด 25% ของคนที่ทำเเบบทดสอบทั้งหมดมักจะประเมินตนเองว่าเก่งกว่าความเป็นจริงเกือบถึง 50% ด้วยกัน ในทางกลับกันคนที่มีความสามารถสูงที่สุด 25% ของคนที่ทำเเบบทดสอบทั้งหมดมักจะประเมินตนเองว่าไม่เก่งเท่ากับที่ตัวเองเป็นเกือบถึง 15% ด้วยกัน

พูดง่ายๆ ก็คือคนที่มีความสามารถน้อยมักจะคิดว่าตัวเองเก่งเกินความเป็นจริงเพียงเพราะเขาไม่มีความสามารถพอที่จะทำให้เขารู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอ ส่วนคนที่มีความสามารถเยอะนั้นมักจะคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นๆ นัก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคนที่มีความสามารถเยอะอาจจะคิดว่าเพราะสิ่งที่เขาทำได้มันง่ายคนอื่นๆ ก็น่าจะทำได้ง่ายเช่นกัน

“ความไม่รู้ (ignorance) มักก่อให้เกิดความมั่นใจ (confidence) มากกว่าความรู้ (knowledge)”
-ชาร์ลส์ ดาร์วิน

บทเรียนสำคัญของ Dunning-Kruger effect ก็คือ “little knowledge can be dangerous” (หรือเเปลเป็นไทยก็คือการมีหลักฐานข้อมูลความรู้ที่น้อยเป็นภัยมากกว่าเป็นประโยชน์) ทั้งนี้ก็เพราะว่าคนที่มีความรู้น้อยไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามมักจะถูกข้อมูลที่มีความจำกัดของเขาชักจูงให้เขาผูกขาดในเรื่องผิดๆ ที่เขาเชื่อ ยกตัวอย่างเช่นนักวิชาการหลายๆ คนที่ไม่เคยทำการวิจัยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องที่เขาถูกเชิญมาให้คอมเมนต์มักจะมีความรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง (ถึงเเม้ว่าจริงๆ เเล้วอาจจะผิด) มากเสียจนเกินไป

เเต่คุณผู้อ่านอ่านคอลัมน์ของผมเเล้วอย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับ เพราะเดวิด ดันนิง เเละจัสติน ครูเกอร์ ยังพบด้วยอีกว่า ถ้าคนที่ไม่มีความสามารถพอได้มีโอกาสเรียนรู้เเละเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องที่ตอนเเรกเขามีความรู้จำกัด พวกเขาก็สามารถที่จะปรับค่าประเมินความสามารถของตนเองได้ไห้เท่าๆ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง กับความสามารถจริงๆ ของเขา

เเละผมก็ไม่คิดว่าเราจะสามารถหาเหตุผลที่จะมาสนับสนุนให้นักวิชาการไทยกลับมาสนใจในการทำการวิจัยที่เป็น basic research ให้มากขึ้นที่มันดีกว่าเหตุผลของ Dunning-Kruger effect อีกเเล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Kruger, J., Dunning, D. 1999. Unskilled and unaware of it: How difficulties in recognising one’s own incompetence lead to inflated self-assessments. Journal of Personality and Social Psychology, 77(6), 1121-1134.