ThaiPublica > เกาะกระแส > 1ปี “แผ่นดินไหวแม่ลาว” (ตอนที่2) หลากมาตรฐานโครงสร้างอาคาร ชี้ไทยไม่พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

1ปี “แผ่นดินไหวแม่ลาว” (ตอนที่2) หลากมาตรฐานโครงสร้างอาคาร ชี้ไทยไม่พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

6 พฤษภาคม 2015


วันที่ 5 พฤษภาคม วันนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ขึ้นใน จ.เชียงราย ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้นสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก ผ่านไป 1 ปี สภาพความเสียหายค่อยๆ ถูกลบเลือนไป และแม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคจำนนวนครั้งไม่ถ้วนชาวบ้านหลายคนอาจเริ่มคุ้นชินกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ความหวาดกลัวยังคงอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหว

พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำทีมนักวิจัยและผู้สื่อข่าวลงสำรวจพื้นที่ “ย้อนรอย 1 ปี แผ่นดินไหวแม่ลาว…การเปลี่ยนแปลงและการรับมือ” ณ อำเภอแม่ลาวและอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคณะวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย อาทิ ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย, รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์, รศ. ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป, ดร.ธีรพันธ์ อรรรมรัตน์, ดร.กติติภูมิ รอดสิน และ รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม

หลากมาตรฐานโครงสร้างโรงเรียน ผลกระทบซ้ำซ้อนจากเหตุแผ่นดินไหว

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในส่วนของอาคารหน่วยงานรัฐ อาคารของโรงเรียนเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ความเสียหายที่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขั้นต้องรื้ออาคารทิ้งเพื่อสร้างใหม่ ส่งผลให้เด็กๆ ต้องอาศัยห้องเรียนชั่วคราวแบบน็อกดาวน์ (Knock Down) เต็นท์ โรงจอดรถ หรือวัด เป็นห้องเรียน ความเสียหายดังกล่าวโดยส่วนใหญ่ส่งผลต่อผลการเรียนของเด็กๆ เนื่องจากห้องเรียนชั่วคราวมีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนเท่าที่ควร

ความเสียหายของโรงเรียนและอาคารต่างๆ ในแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน เป็นผลมาจากการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมในการก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ก่อสร้างก่อนที่จะมีกฎกระทรวงสำหรับกรออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวปี 2540 และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการความเสียหายของอาคารคือ ชั้นดินในแต่ละพื้นที่ที่ส่งผลต่อความรุนแรงของแผ่นดิน

การลงพื้นที่สำรวจความเปลี่ยนแปลงในอาคารของรัฐ ได้แก่ โรงเรียนพานพิทยาคม โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา (โรงเรียนธารทองวิทยาคม ไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจ) โรงเรียนเหล่านี้มีอาคารบางส่วนที่ได้รับการออกแบบอาคารเรียนใหม่โดยทีมวิจัย สกว. ซึ่งได้รับพระราชทานทรัพย์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทน อีกส่วนหนึ่งเป็นงบจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโรงเรียนบ้านเก่า (เทศบาล 1 อ.พาน) ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการสร้างโรงเรียนใหม่จากทางเทศบาลตำบลเมืองพาน

หนึ่งในโครงสร้างอาคารเรียนต้นแบบที่ได้รับการออกแบบโดยทีมวิจัย
หนึ่งในโครงสร้างอาคารเรียนต้นแบบที่ได้รับการออกแบบโดยทีมวิจัย

จากการลงพื้นที่ สำนักข่าวไทยพับลิก้าพบว่าโครงสร้างอาคารแต่ละหลังที่ถูกออกแบบโดยคณะทำงานที่แตกต่างไปตามหน่วยงานที่ให้งบประมาณสนับสนุนนั้น คือโครงสร้างที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เท่ากัน แม้แผ่นดินไหวจะไม่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวซ้ำอีกในเร็ววัน แต่สิ่งนี้เป็นปัญหาซ้ำซ้อนที่เด็กนักเรียนจะต้องแบกรับความไม่ปลอดภัยต่อไปในอนาคต

ศ. ดร.เป็นหนึ่งระบุว่า การออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวนั้นมีขึ้นก่อนหน้าที่จะเกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 ซึ่งทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างของอาคารจากแบบก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน โรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ ว่ามีจุดใดบ้างที่จะเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในระดับต่างๆ

“การออกแบบใหม่มีขึ้นเพื่อแก้ไขจุดอ่อนทุกๆ ขั้น แก้ปัญหาโดยการนำโครงสร้างที่ผ่านการวิเคราะห์ว่าปลอดภัยใส่เข้าไปในแบบ แล้วทำการทดลองปรับปรุงจนได้โครงสร้างที่เหมาะสม การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการตรวจดูว่ามาตรฐานที่วางไว้ได้รับการนำไปใช้มากน้อยเพียงใด โดยรวมพบว่าทุกคนเริ่มใส่ใจกับการวางโครงสร้างอาคารให้ถูกต้องมากขึ้น แต่ยังคงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะในการทำให้สิ่งที่วิจัยนำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์…แม้การปรับโครงสร้างอาคารเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวจะต้องใช้งบประมาณในการสร้างที่สูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเนื่องจากจุดอ่อนของอาคารทุกจุดเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อยู่ในอาคาร”

ด้าน รศ. ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความปลอดภัยให้กับอาคารคือ “โครงสร้าง” โดยเฉพาะ “เสา” ที่จะเป็นตัวรับน้ำหนักของอาคารทั้งหมด การเพิ่มความแข็งแรงในส่วนของเสาจึงมีความจำเป็น ซึ่งอาคารของโรงเรียนพานพิทยาคมและโรงเรียนแม่ลาววิทยาคมที่ก่อสร้างโดยการออกแบบของทีมนักวิจัย สกว. มีการใช้เสากลม ใช้เหล็กเส้นขดเป็นเกลียว (spiral) ส่วนต่างๆ ของอาคารมีการเสริมเหล็กเส้นจำนวนมากเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น

โครงสร้างอาคารเรียนที่ได้รับการออกแบบจากหน่วยงานอื่น
โครงสร้างอาคารเรียนที่ได้รับการออกแบบจากหน่วยงานอื่น

โดยอาคารต้นแบบใน 4 โรงเรียน มีการออกแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้ประโยชน์ และรูปแบบอาคารเดิมที่มีความเสียหาย โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากครูในโรงเรียนต่างๆ ถึงความต้องการในการปรับเปลี่ยนบางส่วนของอาคาร เช่น การปรับห้องเรียนบางห้องเป็นห้องสมุดเป็นต้น ซึ่งการออกแบบให้แตกต่างกันนี้ก็เพื่อให้อาคารเหล่านี้เป็นอาคาร “ต้นแบบ” สำหรับโรงเรียนอื่นๆ นำไปใช้ในการสร้างอาคารที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน

เมื่อสอบถามจากครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจมาพบว่า เหตุผลด้านงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถใช้โครงสร้างได้คุณภาพเท่ากับอาคารเรียนต้นแบบ ประการถัดมาคือตัวของผู้รับเหมา หรือนายช่างที่ขาดความรู้ ซึ่งตัวอย่างของโรงเรียนบ้านเก่า เป็นโรงเรียนที่ต้องปรับโครงสร้างอาคารใหม่ภายหลังด้วยการเสริมเหล็กปลอกเข้าไปในส่วนของเสา อีกทั้งการวางตัวของอาคารเรียนหลังต่างๆ ค่อนข้างแออัด

รองผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวระบุว่า อาคารเรียนหลังใหม่ต้องสร้างปิดทางเข้าออกเดิม เนื่องจากงบประมาณในส่วนที่ตั้งใจจะเอาไว้สำหรับการขยายโรงเรียนในอนาคตถูกส่งมาช่วยเหลือเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวพอดี หากปฏิเสธก็ยากที่จะได้รับงบประมาณอีกจึงต้องนำมาใช้ให้หมด เมื่อทางเข้าออกแคบลงปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ แม้อาคารที่สร้างจะถูกระบุว่าสามารถรับขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดคือระดับ 7 แต่ช่องทางออกเดียวสำหรับอพยพคนกว่า 600 คน ก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่นกันกับครูและอาจารย์ในอีกหลายโรงเรียนที่ค่อนข้างกังวลถึงความปลอดภัยในอาคารหลังอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาคารต้นแบบ แต่ไม่สามารถเสนอความคิดเห็นใดๆ

อ่านรายละเอียดเพื่มเติม 1YearNakhorn และ อาคารเรียนแม่ลาวหลังใหม่ อ.ไพบูลย์

สร้างบ้านผิดหลัก: รู้ไม่ทัน หรือจำเป็น

สำหรับบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาคารสีแดง อาคารที่ได้รับความเสียหายปานกลางจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาคารสีเหลือง และส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหายจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาคารสีเขียว โดยเฉพาะในพื้นที่ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว จะมีบ้านที่ถูกจัดเป็นอาคารสีแดงอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยทีมอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการเก็บข้อมูลและสำรวจอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ ต.ดงมะดะ เพื่อหาข้อมูลมีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของบ้านทำให้มาสามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ และได้ทำการจำแนกประเภทของอาคารออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

  1. บ้านที่มักก่อสร้างโดยใช้เสาคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีขนาดน้อยกว่า 20 เซนติเมตร บ้างมีเหล็กเสริมภายใน บ้างไม่มี ผนังอาคารเป็นผนังคอนกรีตหนาและหนัก ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือผนังถล่ม
  2. ลักษณะคล้ายบ้านแบบแรก คือ ใช้เสาคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีขนาดน้อยกว่า 20 เซนติเมตร บ้างมีเหล็กเสริมภายใน บ้างไม่มี ผนังอาคารเป็นผนังคอนกรีตหนา และหนัก เพียงแต่มีการยกพื้นสูง ความเสียหายคือผนังถล่มหรือเอนแยกจากอาคารไปด้านใดด้านหนึ่ง
  3. อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้เสาคอนกรีตหล่อขนาดมากกว่า 20 เซนติเมตร เสริมเหล็ก ผนังก่อปูนฉาบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือพบรอยร้าวตามอาคาร อาคารมีการทรุดตัวกรณีที่บ้านยกพื้นสูงขึ้น
  4. อาคารไม้ ยกพื้นสูง อาคารมีน้ำหนักเบา ความเสียหายสูงสุดที่เกิดขึ้นจึงมีเพียงการโยกเอนไปในทิศทางอื่น
บ้านที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว แล้วยังไม่ได้ทำการปรับปรุง
บ้านที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว แล้วยังไม่ได้ทำการปรับปรุง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ความเสียหายอาคารสีแดง ตำบล ดงมะดะ อ.ธีรพันธ์ และ ซ่อมแซมตามแต่ละประเภท อ.ธีรพันธ์

ทั้งนี้ ดร.ธีรพันธ์ ได้กล่าวสรุปว่า โครงสร้างบ้านในรูปแบบที่ 1 และ 2 จะถูกจัดอยู่ในอาคารกลุ่มอาคารสีแดงจำนวนมากที่สุด และเป็นรูปแบบอาคารที่พบมากในพื้นที่ด้วยเช่นกัน และภายหลังการสำรวจตนและคณะได้ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในการเลือกใช้วัสดุในการสร้างบ้านแล้ว แต่เมื่อกลับมาติดตามผลกลับพบว่าบ้านอีกหลายหลังยังคงก่อสร้างผิดแบบเช่นเดิม

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการที่ลักษณะการพังทลายของบ้านเรือนยังคงเป็นแบบเดิมกับที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยยังไม่มีการปรับปรุงการก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งอาจเพราะชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจในการก่อสร้าง

นางประนอม จุมปูจักร์ ชาวบ้านใน ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้รับเงินช่วยเหลือจากทางจังหวัดจำนวน 33,000 บาท ส่วนเงินอีกส่วนหนึ่งจำนวน 40,000 บาท ตนต้องกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“ตอนนี้บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ต้องค่อยๆ ซ่อมไปเท่าที่มี ต้องไปอาศัยอยู่บ้านหลังเก่าของพ่อกับแม่ ทุกวันนี้ยังกลัวการเกิดแผ่นดินไหว กลัวว่าบ้านจะพังลงมาอีก เพราะตอนนี้ไม่มีเงินที่จะซ่อมแล้ว”

ด้านนายสันติ ปินตาสาร ที่เดิมบ้านถูกจัดอยู่ในโครงสร้างแบบที่ 3 ตามที่ทีมวิจัยได้จัดรูปแบบไว้ เนื่องจากฐานของบ้านทรุดทั้งหมด ได้ใช้เงินเก็บส่วนตัวร่วมกับเงินเยียวยาที่ได้จากทางรัฐ เป็นจำนวนเงินประมาณ 130,000 บาท ในการจ้างวิศวกรผู้รับเหมาในการซ่อมแซมบ้าน โดยการเสริมเหล็กเส้นเพิ่มในส่วนของเสาที่เสียหาย และทำฐานแผ่สร้างความเข็งแรงให้กับตัวบ้าน แม้ต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่นายสันติกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อซื้อความปลอดภัยในระยะยาว

บ้านก่อนการปรับปรุง
บ้านก่อนการปรับปรุง
บ้านภายหลังการปรับปรุง
บ้านภายหลังการปรับปรุง

โดยภาพรวมนั้น การสร้างบ้านของชาวบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดมักไม่ได้คำนึงถึงหลักโครงสร้างเท่าใดนัก จึงทำให้มีการใช้วัสดุผิดประเภท ประกอบกับงบประมาณที่ใช้ในการซ่อมแซมมีจำกัดจึงเลือกใช้วัสดุแบบเดิมในการซ่อมแซม

ทั้งนี้ ดร.ธีรพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การแนะนำให้ชาวบ้านเลือกใช้เสาที่มีหน้ากว้างมากกว่า 20 เซนติเมตร และเลือกใช้วัสดุที่เป็นไม้ยังคงมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณของชาวบ้าน และการกรองเสียงรบกวนจากภายนอก ซึ่งตนและทีมวิจัยยังคงทำการวิเคราะห์ต่อไปว่าโครงสร้างบ้านแบบใดที่จะประหยัดงบประมาณและทนต่อแรงของแผ่นดินไหวในประเทศไทยได้เหมาะสมที่สุด ซึ่งนอกจากในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวแล้ว ปัจจัยด้านภัยพิบัติอื่นๆ อาทิ การเกิดพายุลูกเห็บ ก็อาจต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมด้วย

การเยียวยาที่ไม่เพียงพอ กับความไม่พร้อมในการรับมือแผ่นดินไหว

ผ่านมาแล้ว 1 ปี บ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวกว่าร้อยละ 90% ได้รับการซ่อมแซมให้กลับมามีสภาพดีดังเดิมแล้ว จากการที่ผู้สื่อข่าวได้สอบถามชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายรุนแรงและถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาคารสีแดง พบว่าจะได้รับเงินเยียวยาจากทางจังหวัด 33,000 บาท/หลังคาเรือน แต่การซ่อมแซมบ้านต้องอาศัยเงินกว่า 1 แสนบาท โดยเฉพาะหากต้องการให้บ้านมีความคงทนรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้

บางหลังคาเรือนที่เสียหายหนักต้องรื้อถอนทั้งหลัง หากเป็นลูกค้าชั้นดีของ ธ.ก.ส. ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางธนาคารในการสร้างบ้านใหม่ บ้างก็ได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนอื่นๆ หรือให้การช่วยเหลือในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ซ่อมแซมบ้าน เช่น อิฐ ปูน หิน ดิน ทราย เป็นต้น

แต่การช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกในการซ่อมแซมบ้านทั้งหลังไม่ได้ทั่วถึงทุกหลังคาเรือน ชาวบ้านบางส่วนยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านกว่าครึ่งเอง ทำให้บ้างต้องไปกู้หนี้ยืมสิน บ้างต้องนำเงินเก็บที่มีเกือบทั้งหมดมาใช้ในการซ่อมบ้าน บ้างที่เงินไม่พอไม่อยากกู้หนี้ยืมสินก็ค่อยๆ ปรับปรุงซ่อมแซมไป

แต่จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านถึงองค์ความรู้ในการป้องกัน ระวังภัย หรือเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวมีค่อนข้างน้อย

บ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
บ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

นางแสง พิมพ์สาร คุณยายวัย 80 ปี หนึ่งในชาวบ้าน ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ระบุว่าแม้จะเคยมีหน่วยงานจากภายนอกมาให้ความรู้ มาอบรม แต่ตนยังคงไม่เข้าใจในวิธีที่จะรับมือกับแผ่นดินไหว ขณะที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งระบุว่าตนทราบวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจากการติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์

ส่วนชาวบ้าน หมู่ 2 บ้านห้วยหวาย ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ระบุถึงวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวว่าคือการพาตัวเองออกมาจากอาคารบ้านเรือนมาอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้ได้มาจากผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับการอบรมกับหน่วยงานของทางจังหวัด

แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวจะผ่านพ้นไปแล้ว 1 ปี แต่ชาวบ้านในพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวยังคงอยู่ในอาการหวาดกลัวและตื่นตระหนกทุกครั้งที่เกิดอาฟเตอร์ช็อก โดยกลัวว่าบ้านของตนที่สร้างขึ้นใหม่จะต้องพังทลายลงมาอีกครั้ง

เมื่อสอบถามเด็กๆ จากโรงเรียนพานพิทยาคมถึงความมั่นใจต่ออาคารหลังใหม่ พบว่า แม้ความรู้สึกกลัวการเกิดแผ่นดินไหวจะหายไปแล้ว แต่ความกังวลต่อความแข็งแรงของอาคารเรียนยังคงมีอยู่ ซึ่งถือเป็นโชคดีที่แผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมาเกิดในช่วงเปิดเทอมและเป็นเวลาเย็น ทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามในทุกๆ โรงเรียนพบว่าหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดเชียงรายได้มีการอบรมครูและเด็กๆ บางส่วนเพื่อให้ทราบวิธีการเตรียมพร้อมและรับมือการเกิดแผ่นดินไหวในเบื้องต้น เด็กๆ จากโรงเรียนโปร่งแพร่วิทยากล่าวว่า พวกตนได้รับการอบรมจากคุณครูมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวเบื้องต้น เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นใส่ศีรษะเด็กๆ ถูกสอนให้เข้าไปหลบใต้โต๊ะ

แม้แผ่นดินไหวขนาดกลางคงไม่กลับมาเกิดในพื้นที่แม่ลาวในเร็ววันนี้ แต่ผ่านไป 1 ปี ความพร้อมในการรับมือของชาวบ้านและการปรับปรุงโครงสร้างอาคารเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวยังคงสะเปะสะปะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ผ่านมาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอาจทำให้รัฐละเลยการให้ความช่วยเหลือ แต่การสร้างมาตฐานความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันยังคงมีความจำเป็น