ThaiPublica > คนในข่าว > สามคลื่นลูกใหม่แห่งซาอุดีอาระเบีย ก้าวย่างครั้งสำคัญทางการเมืองและการปกครองที่ไม่อาจมองข้ามได้

สามคลื่นลูกใหม่แห่งซาอุดีอาระเบีย ก้าวย่างครั้งสำคัญทางการเมืองและการปกครองที่ไม่อาจมองข้ามได้

25 พฤษภาคม 2015


อิสรนันท์

นับตั้งแต่เจ้าชายซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่แห่งซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พระองค์ได้ทรงปรับเปลี่ยนทิศทางใหม่ของประเทศชนิดแทบจะพลิกฝ่ามือ ทรงปลดพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นเก่าที่ยืดกุมอำนาจในราชสำนักและในคณะรัฐมนตรีมาเนิ่นนานออกจากตำแหน่ง แล้วทรงแต่งตั้งคลื่นลูกใหม่สายเลือดใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศแทน ถือเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญทางการเมืองและการปกครองที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญถึง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งมกุฎราชกุมาร รองมกุฎราชกุมาร และรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งคลื่นลูกใหม่นี้ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ จนหลายฝ่ายเชื่อว่าต่อแต่นี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐฯ จะแนบแน่นผสมผสานกลมกลืนเป็นเสียงเดียวกัน แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน ความเชื่อนี้เริ่มคลอนแคลนลงเมื่อซาอุดีอาระเบียเริ่มระแวงแคลงใจพญาอินทรีอเมริกาที่แบะท่าว่ายินดีจะคืนดีกับอิหร่าน หนึ่งในมหาศัตรูตัวฉกาจของราชอาณาจักรแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวแถลงยืนยันว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ยังคงแน่นแฟ้น และซาอุดีอาระเบียยังคงเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ นอกเหนือจากมีบทบาทนำในภูมิภาค

การท้าทายครั้งสำคัญนี้จะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของคลื่นลูกใหม่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมารควบรัฐมนตรีมหาดไทย รองมกุฎราชกุมารควบรัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ว่าจะฝ่าด่านอรหันต์ทองคำนี้ได้หรือไม่

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด พระราชนัดดาผู้มีพระชนม์ 55 พรรษา มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่  ที่มาภาพ : http://eng.majalla.com/wp-content/uploads/2012/11/Prince-Mohammed-bin-Naif-e1352139162951.jpg
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด พระราชนัดดาผู้มีพระชนม์ 55 พรรษา มกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ ที่มาภาพ : http://eng.majalla.com/wp-content/uploads/2012/11/Prince-Mohammed-bin-Naif-e1352139162951.jpg

คลื่นลูกใหม่พระองค์แรกก็คือเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอุด พระราชนัดดาผู้มีพระชนม์ 55 พรรษา ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่แทนเจ้าชาย มูคริน บิน อับดุล อาซิส พระอนุชาต่างพระมารดา จากเดิมที่ทรงเป็นรองมกุฎราชกุมาร ควบคู่ไปกับการรั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 รัฐมนตรีมหาดไทยและประธานสภาความมั่นคงและการเมือง

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรแห่งนี้ที่พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดูลาซิส ผู้สถาปนาประเทศนี้ได้ขึ้นมาเป็นรัชทายาทแทนที่จะเป็นพระราชโอรสของพระองค์เช่นในอดีต และยังเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระชันษาน้อยที่สุดที่ทรงรั้งตำแหน่งสำคัญที่สุดนี้

เชื่อว่าคนที่ตีปีกยินดีมากที่สุดกับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าชายบิน นาเยฟ เป็นมกุฎราชกุมารองค์ใหม่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา เห็นจะไม่มีใครเกินผู้นำทำเนียบขาว ในเมื่อเป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าชายบิน นาเยฟ ทรงมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิม จนทรงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะซาร์แห่งการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งซาอุดีอาระเบีย กระทั่งเคยถูกลอบปลงพระชนม์หลายครั้ง แต่โชคดีที่ทรงรอดมาได้ทุกครั้งแม้ว่าบางครั้งจะทรงได้รับบาดเจ็บบ้างแต่ไม่สาหัส

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ บิน อับดูลาซิส อัล ซาอุด ประสูติที่เมืองเจดดาห์ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2502 เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในเจ้าชายนาเยฟ บิน อับดูลาซิส อัล ซาอุด อดีตมกุฎราชกุมาร อดีตรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ระหว่างปี 2554-2555 และอดีตรัฐมนตรีมหาดไทยนานถึง 37 ปีระหว่างปี 2518-2555 ระหว่างที่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาระดับประถมศึกษาที่สถาบันอัล อะเซมาห์ ในกรุงริยาด ก่อนจะทรงบินไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยลูอิสแอนด์คลาก ในสหรัฐฯ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2524 แต่ไม่ทรงรับปริญญาใดๆ นอกจากนี้ยังทรงเข้ารับการฝึกด้านการทหารทั้งในราชอาณาจักรและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการตอบโต้การก่อการร้าย ทรงเข้าร่วมการฝึกอบรมด้านความมั่นคงของเอฟบีไอเมื่อปี 2528-2531 และยังฝึกหลักสูตรต่อต้านการก่อการร้ายของสก็อตแลนด์ยาร์ดระหว่างปี 2535-2537

อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงเลือกที่จะทำงานในภาคเอกชนจนเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ก่อนที่อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีมหาดไทยฝ่ายกิจการความมั่นคงเมื่อปี 2542 รับผิดชอบงานด้านการกวาดล้างกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ได้โจมตีราชอาณาจักรแห่งนี้อย่างรุนแรงระหว่างปี 2546 และ 2549 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นคนสนิทของเจ้าชายนาเยฟ บิน อับดูลาซิส พระบิดาที่ทรงเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย แม้ทั้ง 2 พระองค์จะทรงมีแนวคิดต่างกัน โดยเจ้าชายนาเยฟจะทรงต่อต้านตะวันตก ขณะที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด พระโอรส ทรงสนับสนุนสหรัฐฯ เต็มตัว กระนั้น ทั้ง 2 พระองค์ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ในเมื่อมีผลประโยชน์ของประเทศสอดคล้องกัน

ระหว่างนั้น ทรงได้สร้างเครือข่ายต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งภายในราชอาณาจักรและกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนั้นเพื่อร่วมกันต่อกรกับอัลกออิดะห์ ทรงวางรากฐานโครงข่ายตอบโต้แผนก่อความไม่สงบ รวมทั้งยังทรงเป็นผู้อำนวยการหน่วยป้องกันพลเรือน ทำให้กระทรวงมหาดไทยมีผลงานเป็นที่ยกย่องไปทั่ว โดยเฉพาะในการต่อกรกับเครือข่ายของกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง อาทิ ติดตั้งสายตรงด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และสนับสนุนประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่คัดค้านการเผยแพร่ภาพการสอบปากคำผู้ต้องหาก่อการร้าย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังทรงเดินทางไปร่วมการประชุมหรือการเจรจาต่อรองด้านความมั่นคงหลายครั้ง เน้นหนักในเรื่องของการก่อการร้ายและการปราบปรามยาเสพย์ติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมคณะเดินทางไปเยือนอิหร่านครั้งประวัติศาสตร์ นำโดยเจ้าชายนาเยฟ บิน อับดูลาซิส เมื่อกลางเดือน เม.ย. 2544 มีการลงนามในบันทึกความตกลงด้านความมั่นคงของ 2 ประเทศ เพื่อตอบโต้องค์กรของอาชญากร การก่อการร้ายระหว่างประเทศ ขบวนการลักลอบค้าอาวุธ และการฟอกเงิน ด้วยผลงานดีเด่นดังกล่าวจึงทรงได้เลื่อนเป็นรัฐมนตรีหมายเลขสองของกระทรวงมหาดไทย และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการสภาเศรษฐกิจสูงสุดแห่งซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือน พ.ย. 2552 ทำให้สามารถเข้าไปดูแลนโยบายเศรษฐกิจได้

หลังจากเจ้าชายนาเยฟ บิน อับดูลาซิส อัล-ซาอุด พระบิดา สิ้นพระชนม์ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2555 ด้วยพระชนม์ 78 พรรษา เจ้าชายโมฮัมเหม็ดจึงทรงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยคนที่ 10 ของประเทศเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2555 ท่ามกลางการคัดค้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ไม่เห็นด้วยกรณีทรงจับกุมคุมขังผู้ต้องหาหลายพันคนในข้อหาก่อความไม่สงบสุข โดยไม่รับฟังเหตุผลของพระองค์ที่ทรงย้ำว่าต้องทรงใช้นโยบายกำปั้นเหล็กจัดการกับกลุ่มก่อการ้ายซึ่งก็ไม่ต่างไปจากกลุ่มอาชญากรกลุ่มต่างๆ ที่จะต้องปราบให้สิ้นทรากอย่างไม่ปรานีปราศรัย

ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าชายมือสะอาด ไม่มีข้อครหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือทรงใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบ แต่เพราะทรงเดินหน้าปราบปรามกลุ่มอัลกออิดะห์ ทำให้ตกเป็นเป้าความพยายามหมายลอบสังหารถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่การบุกตรงไปที่ห้องทรงงานในกระทรวงมหาดไทยหมายจะปลงพระชนม์ หรือระหว่างที่เสด็จเยือนเยเมน แต่ที่ทรงทำให้รับบาดเจ็บเล็กน้อยก็คือความพยายามลอบสังหารครั้งที่ 3 เมื่อเดือน ส.ค. 2552 โดยมือระเบิดพลีชีพรายหนึ่งได้แอบแทรกซึมเข้าไปในหน่วยองครักษ์ประจำตัวแล้วจุดระเบิด แต่เจ้าชายทรงแค่บาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนมือระเบิดเสียชีวิต

ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นรองมกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2558 เพื่อคลี่คลายความสับสนเรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์ นับเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกในรุ่นเดียวกันที่อยู่ในลำดับผู้มีสิทธิสืบสันตติวงศ์ อีกทั้งยังเป็นประธานสภาการเมืองและความมั่นคงที่เพิ่งตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ปีเดียวกัน เพราะอยู่ในตำแหน่งนี้ทำให้ทรงเป็นผู้บัญชาการ “ปฏิบัติการพายุแห่งความแน่วแน่” นำกำลังของกลุ่มพันธมิตรอาหรับถล่มเยเมนที่ฝ่ายกบฏฮูตีสามารถยึดเมืองหลวงและขับไล่ผู้นำให้หนีภัยมาพึ่งซาอุฯ นับเป็นปฏิบัติการทางทหารแรกของราชอาณาจักรนี้ในศตวรรษที่ 21

เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน พระชนม์ 35 ปี รองมกุฎราชกุมาร ที่มาภาพ : http://vid.alarabiya.net/images/2014/04/25/aaf2231e-171d-47f9-9502-23ad5fa485a0/aaf2231e-171d-47f9-9502-23ad5fa485a0_16x9_600x338.jpg
เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน พระชนม์ 35 ปี รองมกุฎราชกุมาร
ที่มาภาพ : http://vid.alarabiya.net/images/2014/04/25/aaf2231e-171d-47f9-9502-23ad5fa485a0/aaf2231e-171d-47f9-9502-23ad5fa485a0_16x9_600x338.jpg

คลื่นลูกใหม่องค์ที่ 2 ที่จะขึ้นมาช่วยประกันความแข็งแกร่งและความมั่นคงของราชบัลลังก์ในช่วงที่กลุ่มก่อการร้ายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเยเมนและอิหร่านทวีความเข้มแข็งมากขึ้นก็คือ เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน พระชนม์ 35 ปี พระโอรสที่เกิดกับเจ้าหญิงฟาห์ดา บิน สุลต่าน อัล ฮิทา เลน พระชายาองค์ที่ 3 ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองมกุฎราชกุมารควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมที่มีอายุน้อยที่สุดของโลก

เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน อับดูลาซิส อัล ซาอุด ประสูติเมื่อปี 2523 ทรงรับการศึกษาระดับประถมและมัธยมที่โรงเรียนในกรุงริยาด ทรงเรียนดีจนติดอันดับหนึ่งใน 10 นักเรียนดีเด่น จากนั้นทรงไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคิง ซาอุด ระหว่างนั้นทรงเข้ารับการฝึกอบรมด้านต่างๆ กระทั่งทรงสำเร็จนิติศาสตร์บัณฑิต โดยทรงสอบได้ที่ 2 หลังจากนั้นก็ทรงทำงานกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศและบริษัทเอกชนเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะก้าวเข้ามาสู่การเมืองเมื่อปลายปี 2552 ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของเจ้าชายซัลมาน พระบิดาสมัยที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดริยาด หรือมีตำแหน่งทางการว่าเป็นที่ปรึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี ตลอดช่วง 10 ปีหลังจากนั้น ได้ทรงดำรงตำแหน่งมากมาย อาทิ ทรงเป็นเลขาฯ ของสภาส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าแห่งริยาด และที่ปรึกษาพิเศษของประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพื่อการวิจัยคิงอับดูลาซิซ

อีกทั้งยังได้ตามรอยพระบาทพระบิดาด้วยการตั้งองค์กรเพื่อการกุศลที่ไม่แสวงหากำไรหลายองค์กร อาทิ ทรงตั้ง“มูลนิธิเข้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน” (เอ็มไอเอสเค) เพื่อทรงช่วยเหลือเยาวชนที่ประสบปัญหาให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาและแสวงหาความก้าวหน้าในด้านธุรกิจ วรรณคดี วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมวิทยา โดยทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธินี้ อีกทั้งยังทรงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนอัลบีร์ในริยาด ทำให้ทรงได้รับรางวัลมากมาย

คราวที่เจ้าชายซัลมาน พระบิดา ได้รับการสถาปานาเป็นรองมกุฎราชกุมารเมื่อกลางปี 2555 แทนเจ้าชายนาเยฟที่สิ้นพระชนม์ ในปลายปีเดียวกันนั้น ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าชายมูฮัมหมัด พระโอรส เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักงานของมกุฎราชกุมาร ก่อนจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าสำนักงานในกิจการมกุฎราชกุมาร อีกหนึ่งปีต่อมาก็ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และเมื่อพระบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรงโปรดเกล้าให้เจ้าชายมูฮัมหมัด เป็นรองนายกฯ คนที่ 2 เป็นรัฐมนตรีกลาโหมควบตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นราชเลขาธิการ ตามด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานสภาเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่แทนที่คณะกรรมการสูงสุดเศรษฐกิจที่ถูกยุบในวันเดียวกัน ที่สำคัญก็คือโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานบริษัทน้ำมัน “ซาอุดี อารามโก” ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศและบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตน้ำมันในแต่ละวันเกือบ 10 ล้านบาร์เรลและส่งออกน้ำมันดิบ 7.6 บาร์เรลต่อวัน ท้ายสุดก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองมกุฎราชกุมาร

ในฐานะที่ทรงเป็นรัฐมนตรีกลาโหมผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำเหล่าทัพที่มีกำลัง 3 แสนคน พระองค์จึงทรงเป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสมอาหรับภายใต้การนำของซาอุฯ ในปฏิบัติโจมตีทางอากาศสกัดกั้นกองกำลังกบฏฮูตีในเยเมนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน สะท้อนให้เห็นถีงความแข็งกร้าวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของราชอาณาจักรนี้ หลังจากเริ่มไม่พอใจท่าทีของสหรัฐฯ ที่อ่อนข้อให้อิหร่านมากขึ้น

อะเดล อัล จูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่มาภาพ : http://media.npr.org/assets/img/2011/10/11/iran_saudi_amb2_wide-9395d04b1197faeecdef5c55d1fc19c076ef842a-s900-c85.jpg
อะเดล อัล จูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่มาภาพ : http://media.npr.org/assets/img/2011/10/11/iran_saudi_amb2_wide-9395d04b1197faeecdef5c55d1fc19c076ef842a-s900-c85.jpg

คลื่นลูกใหม่คนที่ 3 ผู้ทรงอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียก็คืออะเดล อัล จูเบอีร์ วัย 53 ปี นักการทูตมืออาชีพผู้เคยรั้งตำแหน่งเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำกรุงวอชิงตันมานานถึง 8 ปี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่สืบแทนเจ้าชายซาอุด อัล ไฟซาล พระชนม์ 75 พรรษา ที่ทรงผูกขาดตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมายาวนานที่สุดในโลกถึง 40 ปี ก่อนจะทรงถูกบีบให้ลาออกโดยอ้างว่ามีปัญหาด้านพระพลานามัย จูเบอีร์ ซึ่งพูดได้คล่อง 3 ภาษา คือ อาหรับ อังกฤษ และเยอรมนี เป็นที่รู้จักกันดีของประเทศตะวันตกจากบทบาทกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และการปราบปรามการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง

อะเดล อัล จูเบอีร์ นักการทูตผู้คร่ำหวอดในวงการเกิดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2505 ที่หมู่บ้านมัจมาห์ในจังหวัดริยาด ในครอบครัวข้าราชการและนักการทูต โดยลุงเคยเป็นรัฐมนตรียุติธรรมก่อนจะได้รับเลือกเป็นประธานสภาชอราหรือสภาที่ปรึกษาชุดแรกของประเทศ ส่วนพ่อเป็นนักการทูตอาชีพจึงต้องหอบหิ้วครอบครัวรวมทั้งอะเดล เดินทางไปประจำการตามประเทศต่างๆ อาทิ เยอรมนี อังกฤษ เยเมน เลบานอน และสหรัฐฯ ทำให้เจ้าตัวได้ผ่านประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นหลายครั้ง

โดยเฉพาะเมื่อปี 2520 คราวที่พ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำเยเมน ทำให้ครอบครัวนี้ต้องไปอยู่ที่เลบานอน ซึ่งในยุคนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงจากฝีมือของกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ และกลุ่มปลดแอกปาเลสไตน์ โดยเฉพาะกลุ่มพีแอลโอ ซึ่งได้โจมตีอิสราเอลและถูกโต้กลับด้วยการยิงถล่มกรุงเบรุต ครอบครัวนี้ซึ่งอยู่ระหว่างพักร้อนที่สหรัฐฯ จึงตัดสินใจไม่กลับไปเลบานอน ทำให้อะเดลซึ่งขณะนั้นมีอายุ 16 ปี ได้เรียนต่อที่ประเทศนี้จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเท็กซัสเมื่อปี 2525 และปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในอีก 2 ปีต่อมา

นอกจากนี้ ยังได้รับทุนให้ดูงานด้านการทูตที่สภาวิเทศสัมพันธ์ในนิวยอร์กระหว่างปี 2537-2538 และมีโอกาสเป็นผู้บรรยายพิเศษตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ นอกเหนือจากปรากฏตัวให้สัมภาษณ์สื่ออยู่บ่อยๆ ทำให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขามนุษยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเท็กซัส

หลังสำเร็จการศึกษา อะเดลได้เดินตามรอยเท้าพ่อ สมัครไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศและได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงวอชิงตันเมื่อปี 2530 ในตำแหน่งผู้ช่วยพิเศษของเจ้าชายบันดาร์ บิน สุลต่าน เอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำสหรัฐฯ ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกปี 2534 อะเดล อัล จูเบอีร์ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะโฆษกรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งได้เข้าร่วมกับกองกำลังของสหรัฐฯ และพันธมิตรรวม 34 ประเทศในปฏิบัติการพายุทะเลทรายเพื่อขับไล่ทหารอิรักออกจากคูเวต

นอกจากนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของซาอุฯ ที่มีส่วนร่วมจัดตั้งสำนักงานข้อมูลข่าวสารร่วมที่เมืองดาห์ราน ทางภาคตะวันออกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้แทนของสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เชีย (จีซีซี) ไปร่วมประชุมสันติภาพที่กรุงมาดริดเมื่อปี 2534 เป็นผู้แทนของซาอุฯ ไปร่วมประชุมการประชุมควบคุมอาวุธระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตันเมื่อปี 2535 ในปลายปีเดียวกันนั้นได้เดินทางพร้อมกับทหารซาอุฯ ไปโซมาเลียในปฏิบัติการฟื้นความหวังด้วย

ด้วยความสามารถส่วนตัว จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวสารซาอุดีและสำนักงานกิจการรัฐสภาที่สถานทูตซาอุฯ ในวอชิงตันเมื่อปี 2543 และยังเป็นที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของเจ้าชายมกุฎราชกุมาร ก่อนที่อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ บิน อับดูลาซิส จะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษาประจำพระองค์เมื่อเดือน ส.ค. 2548 มีโอกาสตามเสด็จระหว่างเสด็จเยือนประเทศต่างๆ อาทิ โอมาน จีน อินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย เยอรมนี อิตาลี และอียิปต์ ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี 20 ที่ลอนดอนและที่โตรอนโต ตลอดจนการประชุมสุดยอดอาหรับที่โดฮาเมื่อปี 2552

ระหว่างปฏิบัติหน้าทีที่สถานทูตซาอุฯ ประจำวอชิงตัน จูเบอีร์เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐสภา รัฐบาล สื่อและนักวิชาการะดับหัวกะทิของของสหรัฐฯ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการตั้งกลุ่มคู่เจรจายุทธศาสตร์สหรัฐฯ-ซาอุฯ ซึ่งริเริ่มโดยอดีตสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์และอดีตประธานาธิบดีบุชเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังดูแลด้านสวัสดิการของชาวซาอุฯ ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ตลอดจนความร่วมมือด้านการตอบโต้การก่อการร้าย สันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและโครงการเยาวชนค่ายวัฒธรรม นำไปสู่การลงนามข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ มากมายหลายฉบับ อาทิ ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อการพลเรือน การยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ และยังมีส่วนร่วมตั้งหน่วยเฉพาะกิจตอบโต้การก่อการร้ายและการสกัดกั้นแหล่งเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเครือข่ายก่อการร้ายตลอด 24 ชั่วโมง และการขยายความสัมพันธ์ด้านการทหาร

หลังเหตุการณ์ 11 ก.ย. จูเบอีร์ต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่า ต้องเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ อย่างน้อย 25 เมือง เพื่อพูดคุยกับสภากิจการโลก มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อยืนยันว่าซาอุฯ ไม่มีส่วนรู้เห็นหรืออยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัน ใบหน้าของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วจากการปรากฏตัวตามสื่อโทรทัศน์นับร้อยๆ ครั้งรวมไปถึงการให้สัมภาษณ์สื่อ กระทั่งเคยได้รับเลือกเป็นคนเด่นในรอบสัปดาห์ของไทม์เมื่อปลายปี 2545 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชประจำวอชิงตันเมื่อต้นปี 2550 และรั้งตำแหน่งนี้นานถึง 8 ปี ระหว่างนี้ยังได้สร้างผลงานเป็นที่ประทับใจ จนได้รับรางวัลเอกอัครราชทูตแห่งปีเมื่อปี 2552 จากหอการค้าสหรัฐฯ-อาหรับจากผลงานดีเด่นที่กระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ และยังได้รับรางวัลนักการทูตผู้ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2554 จากสภาแห่งชาติด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-อาหรับ

หลังจากก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ จูเบอีร์ก็ยังต้องเจองานหินและการท้าทายอีกมากมาย ตั้งแต่การปกป้องการตัดสินใจของซาอุฯ ที่เป็นหัวหอกตั้งกลุ่มพันธมิตรอาหรับเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มเยเมน หรือการถูกปล่อยเหมือนโยนหินถามทางว่าซาอุฯ พร้อมเปิดเจรจากับอิหร่าน จนต้องปฏิเสธ