ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวรบคอร์รัปชันกับ เหตุผลที่ยังต้องมี ป.ป.ช. (ตอนที่ 1)

แนวรบคอร์รัปชันกับ เหตุผลที่ยังต้องมี ป.ป.ช. (ตอนที่ 1)

15 พฤษภาคม 2015


Hesse004

ถ้ามองปัญหาคอร์รัปชัน คือ ภัยคุกคามสำคัญอย่างหนึ่งของสังคม แน่นอนที่สุดว่าการสร้างแนวรบเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน คือ สิ่งจำเป็นที่ทุกประเทศควรทำ

น่าสนใจว่าหลายประเทศไม่มีหน่วยงานต่อต้านทุจริตโดยตรง (Anti Corruption Agency หรือ ACA) เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงจนรัฐต้องลงทุนลงแรงเสียงบประมาณแผ่นดินเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน

ในทางกลับกัน หลายประเทศลงทุนกับปัญหาต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเน้นทั้งกิจกรรมป้องกัน (Prevention) ตรวจสอบ (Detection) และปราบปราม (Suppression) เพื่อไม่ให้อัตราการคอร์รัปชันนั้นขยายตัว

…ACA หรือพูดง่าย ๆ คือ ป.ป.ช. ของแต่ละประเทศนั้นแสดงบทบาทที่ต่างกันไป

ป.ป.ช. บางประเทศแสดงศักยภาพ “น่าเกรงขาม” ธำรงตนเป็นผู้ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างแท้จริง ขณะที่ ป.ป.ช. บางประเทศเป็นเพียง “เสือกระดาษ” ที่ถูกตั้งขึ้นมา แต่ไม่มีอำนาจ ขาดความเป็นอิสระ ถูกแทรกแซงจากอำนาจอื่นอยู่เสมอ

ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานต่อต้านทุจริตภาครัฐของประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุด 5 อันดับแรก และประเทศที่ขี้ฉ้อมากที่สุด 5 อันดับท้าย โดยพิจารณาจากดัชนี Corruption Perception Index (CPI) ปี 2014 พบว่า (ดูตารางข้างล่าง)

5 อันดับความ

5 อันดับความโปร่งใส

จากตารางทั้งสอง เราจะเห็นได้ว่า 5 ประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดนั้น ไม่มี ป.ป.ช. ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง เพราะทุกประเทศต่างใช้ประมวลกฎหมายอาญา (Penal Code หรือ Criminal Code) เป็นกลไกหลักในการปราบปรามคอร์รัปชัน

…นั่นหมายถึง เมื่อใครพบพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐฉ้อฉล คอร์รัปชัน พวกเขาสามารถร้องเรียนไปที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้เลย

ขณะที่ 5 ประเทศขี้ฉ้อ ไล่มาตั้งแต่โซมาเลีย เกาหลีเหนือ ซูดาน อัฟกานิสถาน และเซาท์ซูดาน เราพบว่า เกาหลีเหนือและอัฟกานิสถานก็ไม่มี ป.ป.ช. เช่นกัน ทั้งๆ ที่สถานการณ์คอร์รัปชันเลวร้ายถึงขีดสุด

กรณีอัฟกานิสถาน ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกันจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านทุจริตอย่างเร่งด่วน

แต่สำหรับเกาหลีเหนือแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่ท่านผู้นำคิม จอง อึน จะสนใจปัญหานี้ เพราะเขาไม่ได้ “ยี่หระ” กับเรื่องความโปร่งใสแต่อย่างใด

ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านา โซมาเลียเพิ่งผ่านกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน ทำให้รัฐบาลโซมาเลียต้องเร่งสรรหากรรมการ ป.ป.ช. หรือ Anti Corruption Commission ส่วนหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันในซูดาน มี Anti Graft Commission ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลซูดานเริ่มเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จอยู่ดี

ในเคสของ เซาท์ ซูดาน ก็มี ป.ป.ช. เหมือนกัน โดยใช้ชื่อว่า South Sudan Anti Corruption Commission (SSACC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ อย่างไรก็ตาม บทบาท SSACC ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ” ที่ทำอะไรได้ไม่มากนัก

น่าคิดเหมือนกันว่า แต่ละประเทศที่ตั้ง ป.ป.ช. ขึ้นมาต่างมีเหตุผลและ “ความจำเป็น” ด้วยกันทั้งนั้น อย่างไรก็ดี มีประเด็นข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดตั้ง ป.ป.ช.ทั่วโลก ดังนี้

1. การจัดตั้ง ป.ป.ช. เป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่ ที่รัฐจะต้องลงทุนปราบคอร์รัปชันให้ “สิ้นซาก” เพราะหากปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงมากพอ การตั้ง ป.ป.ช. ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น กรณีนี้เห็นได้จากประเทศที่ติด Top Five เรื่องความโปร่งใส หรือประเทศที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหานี้อย่างเกาหลีเหนือ

2. กรณีที่มี ป.ป.ช. แล้ว หน่วยงานแห่งนี้จะดำเนินภารกิจได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากตั้งขึ้นมา แต่ทำหน้าที่เป็นเพียง “เสือกระดาษ” หรือทำอะไรได้ไม่มากนัก ก็คงเป็นเรื่องสูญเปล่าที่รัฐต้องเสียงบประมาณแผ่นดินโดยไม่ได้ผลตอบแทนต่อสังคมกลับมา

3. กรณีที่มี ป.ป.ช. แล้ว สามารถทำงานด้านป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันได้เต็มที่ หากเป็นเช่นนี้แล้วก็เป็นเรื่องคุ้มค่าที่รัฐควรจะ “ลงทุน” ซึ่งในอนาคตถ้าปัญหาคอร์รัปชันค่อยๆ ลดลง ภารกิจ ป.ป.ช. จะเหลือแค่ส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้าย ป.ป.ช. และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักนั้น ทั้งหมดตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ได้แก่ (1) ICAC หรือ Hong Kong Independent Commission Against Corruption หรือ ป.ป.ช. ฮ่องกง (2) CPIB (Corrupt Practices Investigation Bureau) หรือ ป.ป.ช. สิงค์โปร์ และ (3) KPK (Corruption Eradication Commission) หรือ ป.ป.ช. อินโดนีเซีย

…ทั้งสามหน่วยงานที่ว่านี้จะมีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไรนั้น เราจะมาว่ากันต่อในตอนหน้า