ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันในระบอบญาติมิตรธิปไตย

คอร์รัปชันในระบอบญาติมิตรธิปไตย

4 พฤษภาคม 2015


Hesse004

ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดคอร์รัปชันในทุกสังคมคือ การมีระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง (Patronage) จนกลายเป็นเครื่องมือของ “ผู้ให้การอุปภัมภ์” ที่สามารถแสวงหาประโยชน์ที่มิพึงได้จาก “ผู้รับการอุปถัมภ์” แม้ว่าผู้ให้การอุปถัมภ์อาจไม่ต้องการผลตอบแทนใดๆ นอกจากการรักษามิตรภาพหรือสร้าง “บารมี” ให้กับตัวเอง

…ด้วยเหตุนี้ สำนวนที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” ยังคงใช้ได้เสมอไม่ว่าจะยุคสมัยใด

ในวิชาคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา อธิบายรูปแบบการอุปถัมภ์ไว้ว่า การอุปถัมภ์นำไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกหรือ Favoritism

คำว่า Favoritism มีรากศัพท์มาจากคำว่า “Favor” ซึ่งแปลว่าชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และความชอบนี้เองได้นำไปสู่การให้ประโยชน์ต่างตอบแทนกัน

หากความชอบดังกล่าวเกิดในการทำธุรกิจ เช่น จับคู่หา Partner คู่ค้ากัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ถ้าความชอบถูกนำมาใช้กับเรื่องอำนาจรัฐเมื่อไหร่ ความชอบนั้นจะกลายเป็น “ประตู” สู่การคอร์รัปชันในที่สุด

ระบบอุปถัมภ์ที่เริ่มต้นจากการเล่นพรรคเล่นพวก ยังนำมาซึ่งการใช้อำนาจรัฐอย่าง “ลำเอียง” ซึ่งลำเอียงที่ว่านี้อาจมาจาก ลำเอียงเพราะ “เสน่หา” หรือลำเอียงเพราะผลประโยชน์ที่ได้รับ

มีคำอธิบายเกี่ยวกับ Favoritism โดย Judy Nadler และ Miriam Schulman ซึ่งสนใจประเด็น Favoritism กับการคอร์รัปชัน1 โดยทั้งคู่อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างกระจ่างว่า Favoritism ยังจำแนกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การเล่นพรรคเล่นพวกจากวงศ์วานว่านเครือ (Nepotism) และ (2) การเล่นพรรคเล่นพวกจากเพื่อนฝูง (Cronyism)

คอร์รัปชันในกลุ่มมิตรภาพ

แน่นอนที่สุดว่า การเล่นพวกทั้งสองลักษณะนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐอย่าง “ลำเอียง” บิดเบือนผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเองโดยที่ผู้ใช้อำนาจรัฐเหล่านั้นอาจได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย

ระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ (Connection) โดยสายสัมพันธ์ที่ว่า นอกจากจะมาจาก “สายเลือด” เดียวกันแล้ว ยังมาจากความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น เป็นเพื่อนนักเรียนที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน หรือเป็นเพื่อนฝูงที่มารู้จักกันในหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้กลายเป็นเวทีแลกเปลี่ยน “นามบัตร” ช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อรักษามิตรภาพและสร้างความสัมพันธ์อันดี อีกทั้งเป็นช่องทางส่งเสริมบารมี ยามเมื่อเพื่อนฝูงร่วมรุ่นเดือดร้อน หรือต้องการใช้อำนาจรัฐมาช่วยปกปักรักษา

Favoritism ทั้งแบบ Nepotism และ Cronyism จึงเป็นลักษณะเด่นของ “ระบอบญาติมิตรธิปไตย” ที่หมายถึง ผู้มีอำนาจรัฐ ผู้ใช้อำนาจรัฐ สามารถเลือกใช้ “ดุลยพินิจ” ตนเองในการช็อปปิ้ง คัดเลือกพี่น้อง พวกพ้อง คนสนิทต่างๆ เข้ามารับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากรัฐ

ดังนั้น พฤติการณ์หลายอย่างในระบอบญาติมิตรธิปไตย จึงมักปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในรูปแบบต่างๆ เช่น

(1) ตระกูลการเมือง (Political family หรือ Political dynasty) ที่มีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองแบบรุ่นต่อรุ่น อาทิ บางประเทศมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากวงศ์วานว่านเครือเดียวกัน 2-3 คน บางประเทศ หลังสามีลงจากตำแหน่งผู้นำสูงสุด ภรรยาก็ขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อ (เช่น กรณีของอาร์เจนตินาที่ประธานาธิบดี Nestor Kirchner ถึงแก่อนิจกรรมลง แล้วภรรยาของเขา นาง Christina Kirchner ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อ)

(2) นอกจากตระกูลการเมืองแล้ว ลักษณะเด่นอีกอย่างของระบอบญาติมิตรธิปไตยคือ สภาครอบครัวหรือสภาญาติพี่น้อง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตัวแทนที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งหรือผ่านการคัดสรรว่าเป็น “คนดี” มีคุณธรรม จะเข้ามานั่งในสภาอันทรงเกียรติ ตัวแทนเหล่านี้มักใช้บริการลูก เมีย พี่น้อง ญาติสนิท ตัวเอง โดยเฉพาะแต่งตั้งให้เป็น “หน้าห้อง” หรือ “ที่ปรึกษา” โดยรับเงินเดือนจากหลวง ทั้งที่อาจไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญตามที่สมอ้างแต่อย่างใด

(3) ระบอบญาติมิตรธิปไตยที่พบเห็น มักจะเอื้ออำนวยกันระหว่างผู้มีอำนาจรัฐที่เปิดโอกาสให้เพื่อนฝูงสมัย “นุ่งกางเกงขาสั้น” ในรั้วโรงเรียนเดียวกัน เข้ามาร่วม “แบ่งปันความสุข” จากโครงการต่างๆ ของรัฐที่ตนเองสามารถใช้ดุลยพินิจได้ เป็นการเอื้ออำนวยแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยฝ่ายหนึ่งได้รับผลประโยชน์จากโครงการรัฐ ส่วนอีกฝ่ายก็ได้สั่งสม “บารมี” หรือ อาจพ่วงผลประโยชน์ “ตบตูด” ปิดท้าย

..ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ล้วนเป็นลักษณะระบอบญาติมิตรธิปไตย ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชันพยายามหาเหตุผลมาอธิบายพฤติการณ์เหล่านี้

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การที่ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องเลือกใช้บริการญาติสนิทมิตรสหายก่อนนั้น เหตุผลหนึ่งคือประหยัดต้นทุนการแสวงหาข้อมูล เพราะผู้มีอำนาจรัฐไม่มีเวลามากพอที่จะคัดสรร “คนเก่งมีฝีมือ” ดังนั้น จึงเลือกหยิบเอาคนใกล้ตัวไว้ก่อน

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การใช้ “ฉันทาคติ” หรือลำเอียงเพราะ “รัก” แล้วเลือกญาติมิตรตัวเองเข้ามาร่วมตัดสินใจหรืออยู่ในอำนาจรัฐด้วยนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Adverse Selection หรือ “เลือกใช้คนที่ผิดฝาผิดตัว” ได้ เพราะแทนที่จะได้คนดีมีฝีมือที่กรองมาจากระบบคัดเลือกแบบ “แข่งขัน” กันจริงๆ แต่กลับได้คนที่ไม่เป็นโล้เป็นพายเข้ามาทำงาน ซึ่งท้ายที่สุด คนเหล่านี้มักเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเลือกนั้น “พังพาบ” มานักต่อนักแล้ว

หมายเหตุ: 1ผู้สนใจโปรดดูงานของทั้งสองได้ใน http://www.scu.edu/ethics/practicing/focusareas/government_ethics/introduction/cronyism.html