ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดไอ้โม่ง ต้นเหตุ “สลากเกินราคา” ตะลึง!โควตา 74 ล้านฉบับ “มูลนิธิสำนักงานสลากฯ” กวาด 9.2 ล้านฉบับ/งวด – รายย่อย 37,000 รายได้เฉลี่ย 12 เล่ม/งวด

เปิดไอ้โม่ง ต้นเหตุ “สลากเกินราคา” ตะลึง!โควตา 74 ล้านฉบับ “มูลนิธิสำนักงานสลากฯ” กวาด 9.2 ล้านฉบับ/งวด – รายย่อย 37,000 รายได้เฉลี่ย 12 เล่ม/งวด

4 พฤษภาคม 2015


จากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายปราบการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ประกาศแต่งตั้ง พล.ต. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานกรรมการมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ผลของการไม่เปิดเผยข้อมูลและไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงไม่เคยมีใครรู้ว่าโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลทั้งหมด 74 ล้านฉบับ อยู่ในครอบครองของยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ค้ารายย่อย มูลนิธิ และสมาคม แต่ละรายได้มีโควตาสลากจำนวนเท่าไหร่ เมื่อได้รับการจัดสรรโควตาไปแล้ว ในทางปฏิบัตินำไปขายจริงหรือขายส่ง และโควตาสลากส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือกลุ่ม 5 เสือนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

มติคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร สั่งให้กองสลากฯ เปิดข้อมูลโควตาหวย

เนื่องจากข้อมูลโควตาการขายสลากของรัฐบาลไม่เป็นที่เปิดเผย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 2540 ขอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากการกุศล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมกับจำนวนโควตาที่ได้รับการจัดสรร เบื้องต้นสำนักงานสลากฯ ปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยได้ หากนำไปเสนอข่าวอาจเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ตามมาตรา 15(5) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540

ต่อมาผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อประธานกรรมการข้อมูลข่าวสาร กรณีสำนักงานสลากฯ ไม่เปิดเผยข้อมูล คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 3 ที่มี รศ.สมยศ เชื้อไทย เป็นหัวหน้าคณะ เชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาชี้แจง โดยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าให้ความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ข้อมูลรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากและจำนวนโควตาที่ได้รับการจัดสรรไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ประวัติการศึกษา ประวัติสุขภาพ แต่เป็นข้อมูลที่สำนักงานสลากฯ ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ยกตัวอย่าง กรณีตัวแทนจำหน่ายสลากเข้ามารับโควตาจากสำนักงานสลากฯ ไปขายได้รับส่วนลดเป็นค่าตอบแทน เปรียบเสมือนบริษัทหรือบุคคลทั่วไปเข้ามารับเหมางานกับทางราชการ รับผลตอบแทนเป็นค่าจ้าง ส่วนราชการผู้ว่าจ้างต้องเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ตามระเบียบกรมบัญชีกลางและ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ถ้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างต้องประกาศที่หน้าโครงการ เป็นต้น

สำนักกฎหมาย สำนักงานสลากฯ กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีพวกมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อบริษัทมูลนิธิที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากไปหลอกลวงประชาชน หากสำนักงานสลากฯ ยอมให้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเผยแพร่รายชื่อตัวแทนจำหน่าย เกรงว่าจะทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทางผู้สื่อข่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ถึงแม้ที่ผ่านมารายชื่อตัวแทนจำหน่ายจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็มีการแอบอ้างชื่อผู้ที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก ถือเป็นหน้าที่ที่สำนักงานสลากฯ ต้องไปแก้ไข และไม่มีมาตราใดใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยกเว้นหรือห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ตามที่สำนักงานสลากฯ หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ในที่สุดคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำสั่งให้สำนักงานสลากฯ เปิดเผยรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งหมด พร้อมกับจำนวนโควตาที่ได้รับการจัดสรร(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โควตาสลากกินแบ่ง

ตะลึง! มูลนิธิสำนักงานสลากฯ พญาเสือตัวจริง ครองโควตาสลาก 9.2 ล้านฉบับต่องวด

จากการตรวจสอบข้อมูลตัวแทนจำหน่ายสลากที่ผู้สื่อข่าวได้รับจากสำนักงานสลากฯ ปรากฏว่า ตัวแทนจำหน่ายที่ครอบครองโควตาสลากมากที่สุด ชื่อที่ปรากฏไม่ใช่ “เจ๊แดง” และ “เจ๊สะเรียง” หรือ “กลุ่ม 5 เสือ” ตามที่สาธารณชนเคยรับรู้กัน หัวหน้าเสือตัวจริง คือ มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ครอบครองโควตาสลากกว่า 9.2 ล้านฉบับต่องวด อันดับที่ 2 สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 2.7 ล้านฉบับ อันดับที่ 3 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2.35 ล้านฉบับ อันดับที่ 4 สมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ล้านฉบับ อันดับที่ 5 ห้างหุ้นส่วนจำกัดขวัญฤดี ของร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า, บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ของ น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ และบริษัทหยาดน้ำเพชร ของนางปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต มีโควตาสลากรวมกัน 4.8 ล้านฉบับ รวม 10 อันดับแรก ครอบครองโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลทั้งหมด 22.74 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 30.7% ของปริมาณสลากทั้งหมด 74 ล้านฉบับ

โควตาสลากกินแบ่ง

โครงสร้างสลากกินแบ่ง

ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ มีผลิตภัณฑ์สลากอยู่ 2 ประเภท คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล พิมพ์ออกขายงวดละ 52 ล้านฉบับ และสลากการกุศลงวดละ 22 ล้านฉบับ ส่วนโครงสร้างการจัดจำหน่ายสลาก 74 ล้านฉบับ แบ่งออกได้ 3 ช่องทาง ดังนี้

1. จัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 23 ล้านฉบับ ให้กับตัวแทนจำหน่ายส่วนกลาง 8,376 ราย
2. จัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 28 ล้านฉบับ โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานคลังจังหวัด เพื่อนำไปจัดสรรต่อให้กับตัวแทนจำหน่ายส่วนภูมิภาค 25,633 ราย
3. จัดสรรโควตาสลากการกุศลประมาณ 22 ล้านฉบับ ผ่านมูลนิธิ สมาคม องค์กร และนิติบุคคล 3,551 ราย

ตั้งกองทุนรับซื้อคืนเลข เปิดทางกองสลากฯ ขายตรง

แหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าวว่า ถึงแม้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2517 มาตรา 35 ให้อำนาจสำนักงานสลากฯ พิจารณาว่าจะจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเองหรือแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนจำหน่ายก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถเปิดจำหน่ายสลากฯ ได้โดยตรง ต้องขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2517 มาตรา 22 กำหนดสัดส่วนการจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลาก 60% จ่ายเป็นเงินรางวัล ไม่น้อยกว่า 28% ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และไม่เกิน 12% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานสลากฯ ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายสลากด้วย หากสำนักงานสลากฯ เปิดขายสลากฯ เอง กรณีเลขไม่สวย ขายสลากไม่หมด เกิดผลขาดทุน อาจจะทำให้สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลาก ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 22 ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงมีการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการสลากขึ้นมา เพื่อรับซื้อคืนสลากเลขไม่สวย หรือสลากเหลือ ขายไม่หมด ทำให้สำนักงานสลากฯ สามารถจัดจำหน่ายสลากเองได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถรักษาสัดส่วนการจัดสรรเงินรายได้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โควตาสลาก 20 ราย

และจากการประมวลผลข้อมูลโควตาสลาก 74 ล้านฉบับ พบว่า ผู้ที่ครอบครองโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลมากที่สุด 10 รายแรก ถือครองโควตาสลากทั้งหมด 22 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 30.7% ของปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายในแต่ละงวด (74 ล้านฉบับ) มีรายละเอียดดังนี้

1. ตัวแทนจำหน่ายสลากการกุศลที่ถือครองโควตาสลากสูงสุด 20 ราย มีโควตาสลากรวมกัน 15 ล้านฉบับ โดยมีมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับการจัดสรรโควตามากที่สุด 3.9 ล้านฉบับ ส่วนตัวแทนจำหน่ายสลากการกุศลที่เหลืออีก 3,551 ราย ถือครองโควตาสลากรวมกัน 6.86 ล้านฉบับ แต่ละรายมีโควตาสลากเฉลี่ย 1,943 ฉบับ

2. ตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลส่วนกลาง 20 รายแรก มีโควตาสลากรวมกัน 10 ล้านฉบับ โดยมีสมาคมคนพิการจังหวัดสมุทรปราการได้รับการจัดสรรโควตามากที่สุด 374,600 ฉบับ ส่วนตัวแทนจำหน่ายสลากส่วนกลางที่เหลือ 8,356 ราย มีโควตาสลากรวมกัน 12 ล้านฉบับ แต่ละรายมีโควตาสลากในมือเฉลี่ย 1,469 ฉบับ

3. ตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลส่วนภูมิภาค 20 รายแรก ถือครองโควตาสลากรวมกัน 1.4 ล้านฉบับ โดยมีมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับการจัดสรรโควตาสลากมากที่สุด 4.1 ล้านเล่ม ส่วนโควตาที่เหลือ 27 ล้านฉบับ กระจายอยู่ในมือตัวแทนจำหน่ายต่างจังหวัด 25,613 ราย แต่ละรายมีโควตาสลากในมือเฉลี่ย 1,069 ฉบับ

จากข้อมูลโควตาสลากที่นำเสนอจะเห็นว่าโควตาสลากเกือบ 40% ของปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายในแต่ละงวด ตกอยู่ในกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ประมาณ 20 ราย ถือครองโควตาสลากเฉลี่ย 1.3 ล้านฉบับต่อราย ขณะที่ผู้ค้าสลากส่วนใหญ่ 37,540 ราย ถือครองโควตาสลากเฉลี่ย 1,239 ฉบับต่อราย หรือ 12 เล่มต่อราย โดยมีมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือครองโควตาสลากสูงสุด 14 ล้านฉบับ จึงเป็นคำถามและเหตุผลของการขายเกินราคาว่า ที่ผ่านมาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาสลากอย่างไร ทำไมโควตาหวยไปกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ไม่กี่ราย และทำไมคนขายหวยตัวจริงไม่มีโควตาหวยขาย ต้องไปรับสลากจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งบวกกำไรกันมาทุกทอด ถึงมือผู้บริโภคราคาคู่ละ 120 บาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558 ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เป็นช่วงที่สัญญาการจัดจำหน่ายสลากทุกประเภทกำลังจะสิ้นสุดลง เรื่องการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องอาศัยคนที่มีบารมี อย่าง พล.ต. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้ามาสะสาง

สลากกินแบ่งเพื่อพัฒนาสังคม

การจัดสรรรายได้สลากกินแบ่ง

“บิ๊กตู่”ใช้ม.44 ปลดบอร์ดสลากยกชุด-ตั้ง”บิ๊กแดง”รื้อโควตาหวย

การขายสลากเกินราคาเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานาน แต่ละปีมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลรับผลประโยชน์จากการขายสลากเกินราคากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯพยายามออกมาตรการมาแก้ปัญหาสลากเกินราคาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้

“หากต้องการแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีบารมี โดยเฉพาะทหาร เข้ามาทำหน้าที่แทนตนเนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าอำนาจข้าราชการพลเรือนจะแก้ไขได้” เป็นคำพูดครั้งสุดท้ายของนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 เพื่อเปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ปัญหาสลากเกินราคา

วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ลงนาม คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 11/2558ออกมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคามีรายละเอียดดังนี้

1.จัดตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม

2. มีคำสั่งปลดคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ”บอร์ดสำนักงานสลาก” ทั้งคณะ พร้อมกับกำหนดโครงการบอร์ดสลากใหม่มีดังนี้ 1)ผู้ที่หัวหน้าคสช.แต่งตั้ง เป็นประธานกรรมการ 2) กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง,ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย,ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม,ผู้แทนกรมบัญชีกลาง,ผู้แทนสำนักงบประมาณ,ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย,ผู้ที่คสช.แต่งตั้งไม่เกิน 3 คน และผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ

3. “กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม” เพื่อเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ดังนี้(ดูกราฟฟิกข้างบนประกอบ)ทั้งนี้ ให้สำนักงานสลากฯจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากส่งเป็นรายได้ของกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม โดยดอกผลที่ได้จากการบริหารเงินองทุน ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และเมื่อเงินกองทุนมีจำนวนมากเกินความจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ สั่งให้ลดเงินกองทุน และคงเหลือไว้ใช้เท่าที่รัฐมนตรีเห็นสมควร เงินกองทุนส่วนที่เกินจากที่รัฐมนตรีกำหนด ให้สำนักงานสลากฯนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และพิจารณาอนุมัติการใช้เงินกองทุน โดยให้ผู้อำนวยการมีหน้าที่ดำเนินกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และตามที่คณะกรรมการกำหนด

4. ยกเลิกข้อความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 22 เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้จัดสรรดังนี้ 4.1 60% เป็นเงินรางวัล 4.2 ไม่น้อยกว่า 20% เป็นรายได้แผ่นดิน 4.3 ไม่เกินกว่า 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย 4.4 จัดสรรเงินรายได้ 3% เป็นเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม”

5.กำหนดบทลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคา โดยให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 39และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “มาตรา 39 ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำและปรับ” โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บัญชาการทหารบก หรือ แม่ทัพภาคมอบหมายมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล(ดูกราฟฟิกด้านบนประกอบ)

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในระหว่างการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง

หากพบว่ามีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสัญญาดำเนินการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารรายงานให้ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ทราบ เพื่อพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตรวจสอบตามประมวลรัษฎากรหรือตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

เมื่อคสช.สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเมื่อได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วให้คำสั่งนี้เป็นอันยกเลิก โดยให้คำสั่งฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 2 พฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.อีก 2 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.(เฉพาะ) ฉบับที่ 1/2558แต่งตั้ง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 หรือ “บิ๊กแดง” เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และคำสั่งหัวหน้าคสช.(เฉพาะ) ฉบับที่ 12-2558แต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 3 คน คือ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข,พ.ท.หนุน ศันสนาคมและธนวรรธน์ พลวิชัย