ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กรณีตัวอย่าง”อีไอเอ”ที่แก้ไขได้แม้อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กรณีตัวอย่าง”อีไอเอ”ที่แก้ไขได้แม้อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

5 พฤษภาคม 2015


ก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอ “อีไอเอ-อีเอชไอเอ” มาตรการลวงตา – 6 ช่องโหว่ที่ธุรกิจหลบกฏเกณฑ์ เลี่ยงความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม

โดยทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมข้อมูลและชี้ให้เห็นว่ากระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ มีช่องโหว่หลายประการที่ทำให้โครงการต่างๆ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างกรณีคำพิพากษาศาลปกครองในคดีอีไอเอกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่อนุญาตให้ กฝผ. สามารถแก้ไขอีไอเอได้แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง โดยผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดอีไอเอ หากศาลพิจารณาว่าอีไอเอฉบับใหม่ดีกว่าเดิม ซึ่งคำพิพากษานี้เป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้เจ้าของโครงการพ้นผิดฐานไม่ปฏิบัติตามอีไอเอ

จากกรณีชาวบ้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวม 381 คน ฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปี 2553 ฐานละเมิดหน้าที่ตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในคดีหมายเลขดำที่ อ.16-31/2553 โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.749-764/2557 ให้ กฟผ. ปฏิบัติตามเงื่อนไขอีไอเอในการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆ ที่ กฝผ. ดำเนินกิจการ โดยศาลพิพากษาให้ กฟผ. สามารถแก้ไขอีไอเอได้โดยขออนุมัติ/อนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หากอีไอเอฉบับแก้ไขมีมาตรฐานและเหมาะสมกว่าเดิม(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

นางสาวมนทนา ดวงประภา นักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานรณรงค์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาอีไอเอว่า ช่องโหว่ทางกฎหมายในคดีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าอีไอเอสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลาแม้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี เมื่อแก้ไขอีไอเอแล้ว และศาลพิจารณาเห็นว่าอีไอเอฉบับใหม่ที่แก้ไขมี “มาตรฐานและเหมาะสมกว่า” คดีว่าด้วยการไม่ปฏิบัติตามอีเอไอที่ดำเนินคดีอยู่นั้นก็ยุติลง

นางสาวมนทนากล่าวต่อว่า ในระหว่างศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีดังกล่าว ทางกฟผ. ได้เสนอเปลี่ยนแปลงขอแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อสผ. ซึ่งต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2553 สผ. มีหนังสือ(ที่ ทส. 1009.2/7595) แจ้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะว่าได้เสนอรายงานขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขฯดังกล่าว ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และ คชก. เห็นชอบให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

“ชาวบ้านแม่เมาะได้ฟ้องร้องให้เพิกถอนประทานบัตรในพื้นที่พิพาทตามประทานบัตรที่ 3-6/2530 และคำขอประทานบัตรที่ 30-46/2535 และให้ กฟผ. จ่ายชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาไม่เพิกถอนประทานบัตรเพราะเห็นว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และ กฟผ. กำลังยื่นขอเปลี่ยนเงื่อนไขแล้วกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และเห็นว่าการเพิกถอนประทานบัตรจะกระทบการผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการสาธารณะ ส่วนค่าเสียหายไม่กำหนดให้ต้องชดใช้เพราะไม่ปรากฏหลักฐานแสดงความเสียหาย” นางสาวมนทนากล่าว

เปรียบเทียบข้อเสนอ กฝผ. ที่ระบุในอีไอเอเดิมกับข้อเสนอใหม่ที่ คชก. เห็นชอบ

สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ กฟผ. เสนอปรับแก้จากอีไอเอเดิมมีทั้งหมด 4 ประเด็น คือ

1. เสนอมาตรการป้องกันการการโม่ดินและถ่านจะต้องรักษาความชื้นไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ซึ่งอีไอเอเดิมระบุว่า การโม่ดินและถ่านขนาดใหญ่จะต้องรักษาความชื้นไว้ระหว่างร้อยละ 1.5 และการโม่ถ่านหินขนาดเล็กจะต้องดูดฝุ่นผ่านถุงกรองที่มีประสิทธิภาพอย่างน้อยร้อยละ 99

2. มาตรการที่ระบุให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตรนั้น กฟผ. ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร เมื่อมีการทิ้งดินตั้งแต่ 148 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปีขึ้นไป โดยให้เหตุผลว่า แผนการทำเหมืองในอีไอเอฉบับเพิ่มเติมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 ที่ระบุว่าจะทิ้งดินเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีละประมาณ 65 ล้าน ลบ.ม. เป็นประมาณ 140 ล้าน ลบ.ม. นั้น แต่เนื่องจาก กฟผ. ไม่ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ 14-19 ตามโครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า และหลังจากปี 2543 ได้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ 1-3 จึงทำให้กำลังการผลิตลดลง รวมถึงการทิ้งดินและปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนรัศมี 4-6 กิโลเมตร ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่ได้ประเมินไว้

นอกจากนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การกระทำของ กฟผ. ไม่อาจรับฟังได้ว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ อนามัย ทรัพย์สิน จึงแสดงให้เห็นว่าไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง อีกทั้งระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 และ 10 มกราคม 2549 ให้อพยพประชาชน 4 หมู่บ้าน ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการอพยพประชาชนแล้วบางส่วน

3. สำหรับกรณีที่ กฟผ. นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษศาสตร์และสนามกอล์ฟ แทนการฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติโดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทนนั้น กฟผ. ให้เหตุผลว่า เนื่องจากส่วนสวนพฤกษศาสตร์และสนามกอล์ฟอยู่ในพื้นที่บริเวณพักผ่อนตามแผนผังการฟื้นฟูที่ระบุไว้ในอีไอเอและอยู่นอกพื้นที่การทำเหมืองที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ต้องถมดินกลับไปในบ่อเหมืองและปลูกป่าทดแทน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีอยู่ก่อน กฟผ. ขอประทานบัตรการทำเหมือง

และ 4. แก้ไขมาตรการการติดตั้งผ้าม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศมีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินทางทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินทางทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ ไปเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นระหว่างเขตทำเหมืองและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บ้านหัวฝาย บ้านดง บ้านห้วยคิง และบ้านหางฮุง รวมถึงบำรุงรักษาแนวต้นไม้ และปลูกต้นไม้ใบกว้างสลับกับต้นสน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างบ่อเหมืองด้านตะวันตกกับบ้านห้วยคิง(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

กฝผ. ขอแก้ไขอีไอเอ 3 ประเด็น

ด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ สผ. กำหนดและ กฝผ. ขอแก้ไขนั้น มี 3 ประเด็น คือ 1. สร้างระบบบำบัดน้ำโดยใช้ anaerobic bacteria หรือโดยวิธีอื่นที่เพิ่มประสิทธิภาพในการลดซัลเฟตก่อนปล่อยลงสู่ wetland และขยายพื้นที่ของ wetland หรือสร้างระบบบำบัดโดยใช้ anaerobic bacteria ให้เพียงพอสำหรับการบำบัดน้ำทิ้งจากบ่อเหมืองที่เพิ่มขึ้น แทนมาตรการเดิมที่กำจัดพืชที่ปลูกใน wetland และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน อีกทั้งต้องขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland

2. การดำเนินการของมาตรการป้องกันฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการขุดเปิดชั้นดิน overburden ต้องขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน โดยวางแผนจุดปล่อยดินให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ และกำหนดพื้นที่แนวกันชนระยะจุดปล่อยดินห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์ อีกทั้งการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุดนั้น

สผ.แก้ไขใหม่ให้มาตรการป้องกันฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการขุดเปิดชั้นดิน overburden ต้องดำเนินการโดยใช้ทิศทางลม วางแผนจุดปล่อยดิน และใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งปล่อยดินลงที่เก็บกองดินให้ห่างจากชุมชนมากที่สุด หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้เพิ่มความชื้นโดยการฉีดรดน้ำที่หน้างานดินก่อนการขุดขนในช่วงฤดูแล้ง และใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพานขนส่งเปลือกดิน โดยกำหนดระยะให้ใกล้จุดปล่อยดิน รวมทั้งมีระบบสเปรย์น้ำที่จุดปล่อยดินด้วย ส่วนพื้นที่ แนวกันชนกำหนดระยะจุดปล่อยดินห่างกับชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์

และ 3. เรื่องการจัดทำรายงานตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม (environmental audit) ที่ต้องรายงานการตรวจสอบ (aduit) ผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้นและเสนอให้ สผ. นั้น กฝผ. ได้เปลี่ยนระยะเวลาจาก ทุก 2 ปี เป็นทุก 5 ปี

อย่างไรก็ตาม นางสาวมนทนากล่าวว่า การขอแก้ไขอีไอเอข้างต้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ กฝผ. ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากอธิบดี กพร. ซึ่งปัจจุบัน กฝผ. ยังไม่ได้รับการอนุญาต ดังนั้น การขอแก้ไขดังกล่าวจึงยังไม่มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้นอกจากคดีอีไอเอแล้วโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฝผ. ยังถูกฟ้องร้องอีกหลายคดี ได้แก่

– คดีปกครอง: เรียกค่าเสียหายจากละเมิดทางปกครอง กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดมลพิษมีผลกระทบต่อชุมชน
– คดีแพ่ง: เรียกค่าเสียหายจากละเมิด กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดมลพิษมีผลกระทบต่อชุมชน
– คดีปกครอง: กรณีเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี และใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองถ่านหินเฉพาะส่วน (คดีสุสานหอย)
ดังภาพ (อ่านเพิ่มเติม)