ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “อีไอเอ-อีเอชไอเอ” มาตรการลวงตา – 6 ช่องโหว่ที่ธุรกิจหลบกฏเกณฑ์ เลี่ยงความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม

“อีไอเอ-อีเอชไอเอ” มาตรการลวงตา – 6 ช่องโหว่ที่ธุรกิจหลบกฏเกณฑ์ เลี่ยงความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม

2 พฤษภาคม 2015


รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ เป็นมาตรการสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการบางประเภท แต่ปัจจุบันพบว่ามาตรการดังกล่าวมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ ได้แก่ 1)กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน 2)ความเข้าใจผิดที่ว่าคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ไม่มีอำนาจเห็นชอบ 3)การไม่แก้ไขรายงานเมื่อพบข้อเท็จจริงใหม่ 4)การทำรายงานเท็จ 5)การตีความหมายกฎหมายของหน่วยงานรัฐ และ6)การข้อบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม

ประเทศไทยบังคับให้ต้องจัดทำอีไอเอในโครงการ 35 ประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง และประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ กำหนดให้ต้องจัดทำอีเอชไอเอในโครงการ 11 ประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง(อ่านเพิ่มเติม”เกษมสันต์ จิณณวาโส” เลขาธิการ สผ.)

จากการรวบรวมข้อมูลของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(ENLAWTHAI Foundation)ระบุว่ามีช่องโหว่หลายประการที่ทำให้โครงการต่างๆ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นปัญหาของอีไอเอและอีเอชไอเอ ดังนี้

กฎหมายมีปัญหา

ปัญหาด้านบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้โครงการขนาดเล็กไม่ต้องทำอีไอเอแม้ว่าจะอยู่ในประเภทโครงการที่บังคับอีเอไอ เช่น โรงไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า 9.9 เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำอีไอเอ เพราะกฎหมายกำหนดขนาดโรงไฟฟ้าที่ต้องทำอีไอเอคือ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลี่ยงทำอีไอเอได้

วัตถุดิบโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
วัตถุดิบโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มาภาพ: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างที่ปรากฏแล้ว ได้แก่ กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีปัญหารบกวนสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ ฝุ่นจากวัตถุดิบที่ฟุ้งกระจายสู่ชุมชนโดยรอบเนื่องจากลักษณะการเทกองในที่แจ้ง ซึ่งถือเป็นผลกระทบรูปแบบหนึ่งที่ต้องมีการป้องกันแก้ไข แต่หลายโครงการกลับไม่ต้องทำอีไอเอเพราะขนาดโรงไฟฟ้าไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ โดยผู้ขออนุญาตระบุโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์

หรือกรณีเหมืองแร่ใต้ดินโปแตส แม้ว่าจะครอบคลุมพื้นที่หลายพันไร่ก็ไม่ต้องทำอีเอชไอเอ เพราะกฏหมายระบุว่าหากทำเหมืองแบบมีเสาค้ำยันในเหมือง ให้ทำแค่เพียงอีไอเอเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตามหลักสากลทั่วโลกเหมืองใต้ดินต้องมีเสาค้ำยันทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายใช้เงื่อนไขเรื่องเสาค้ำยันมาสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ เช่น ประกาศว่าจะทำอีเอชไอเอให้ เพราะรู้ว่าสุดท้ายแล้วทำแค่อีไอเอ เพราะเมื่อดำเนินการยื่นเรื่องให้ คชก. พิจารณา คชก. ก็จะสั่งให้ทำเพียงอีไอเอตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการตีความกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่มองแยกส่วนเป็นโครงการๆ ไม่ได้มองโครงการเป็นภาพรวมทั้งพื้นที่ หากกฎหมายบัญญัติไว้ไม่ชัดเจน เช่น กรณีสร้างท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ตามกฎหมายกำหนดว่า หากความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปต้องทำอีไอเอ ดังนั้น เจ้าของโครงการจึงแยกท่าเทียบเรือเป็น 6 โครงการ โดยที่แต่ละโครงการมีความยาวไม่ถึง 100 เมตร ทำให้โครงการท่าเทียบเรือนี้ไม่ต้องทำอีไอเอ ทั้งที่ 6 โครงการเป็นท่าเทียบเรื่อที่อยู่ติดต่อเนื่องกัน หากรวมกันทั้ง 6 ท่าเทียบเรือมีความยาวหน้าท่ารวมกันเกิน 100 เมตรก็ตาม หรือท่าเทียบเรือที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหลายกิจการที่ขออนุญาตในขนาดที่ต่ำกว่ากฏหมายกำหนดเพื่อไม่ต้องทำอีไอเอ และมีปัญหาส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในละแวกนั้น

ปริมาณเรือขนสินค้า ท่าเรืออำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปริมาณเรือขนสินค้า ท่าเรืออำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ชาวบ้านคัดค้านท่าเรือบ้านโพธิ์ ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ชาวบ้านคัดค้านท่าเรือบ้านโพธิ์ ที่มาภาพ: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

สร้างรายงานเท็จ

ปัญหาอีไอเอหรืออีเอชไอเอเท็จเกิดจากบริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับจ้างทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอนั้นนำเสนอข้อมูลในรายงานไม่ตรงกับข้อมูลจริงของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาโครงการของ คชก. เนื่องจาก คชก. พิจารณาเฉพาะข้อมูลตามเอกสารรายงาน เช่น

กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ บริษัทที่ปรึกษาเสนอข้อมูลในรายงานว่าทะเลบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ทิ้งขี้เถ้าถ่านหินเป็นแนวหินโสโครก ดังนั้น การทิ้งขี้เถ้าดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่ง คชก. เห็นชอบอีไอเอและได้รับใบอนุญาตโครงการไปแล้ว ในขณะที่ตามข้อเท็จจริง พื้นที่ดังกล่าวเป็นแนวปะการังน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง

จากปัญหาข้างต้น ชาวบ้านจึงคัดค้านการก่อสร้างโครงการและร้องเรียนให้ คชก. ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่ง คชก. พบข้อเท็จจริงตามที่ชาวบ้านร้องเรียน จึงสั่งให้บริษัทที่ปรึกษาทำอีไอเอฉบับแก้ไขแล้วยื่นใหม่ และสั่งระงับการดำเนินการตามใบอนุญาตที่ได้รับจากฐานข้อมูลอีไอเอเท็จ รวมถึงสั่งลงโทษพักใบอนุญาตบริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำอีไอเอ

ไม่แก้ไขรายงาน แม้พบข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญ

หรือในกรณีที่พบข้อเท็จจริงใหม่ ว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่ควรอนุรักษ์ไว้ แต่โครงการก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยที่ไม่ทำอีไอเอใหม่เพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ เช่น กรณีการทำเหมืองถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอีไอเอผ่านความเห็นชอบของ คชก. และเริ่มทำเหมืองถ่านหินไปแล้ว ภายหลังค้นพบว่าบริเวณพื้นที่โครงการรวม 43 ไร่ มีซากฟอสซิลหอยขมอายุกว่า 13 ล้านปี และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้อนุรักษ์ซากฟอสซิลไว้เพียง 18 ไร่ ด้าน กฝผ. จึงทำเหมืองต่อไปโดยไถทำลายซากฟอสซิลจนเหลือเพียง 18 ไร่เท่านั้น

ด้านชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติ ครม. ที่ลดพื้นที่อนุรักษ์จาก 43 เหลือ 18 ไร่ และขอให้เพิกถอนประทานบัตรบริเวณที่พบซากฟอสซิล รวมถึงให้ กฟผ. ทำอีไอเอเพิ่มเติมเรื่องฟอสซิล ซึ่งศาลปกครองพิพากษาให้ กฟผ. ต้องทำอีไอเอกรณีแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเพิ่มเติมเพื่อขอความเห็นชอบจาก คชก.

ภูเขาฟอสซิสหอยอายุ 13 ล้านปี ที่มาภาพ : มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ภูเขาฟอสซิสหอยอายุ 13 ล้านปี ที่มาภาพ: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

คชก. มี”อำนาจไม่เห็นชอบอีไอเอ”

อีไอเอหรืออีเอชไอเอกับอำนาจของ คชก. เป็นปัญหาสำคัญของสังคมมาโดยตลอด ด้วยข้อเท็จจริงที่อ้างว่า คชก. ไม่มีหน้าที่ไม่เห็นชอบรายงานฯ เพราะกฎหมายกำหนดให้พิจารณาเห็นชอบหรือสั่งแก้ไขรายงานฯ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเคยมีกรณีศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่า คชก. มีอำนาจไม่เห็นชอบรายงานได้

จากกรณีขอทำเหมืองระเบิดหินที่เกาะสมุย โดยยื่นอีไอเอให้ คชก. ตามกฎหมาย แต่ คชก. พิจารณารายงานฯ แล้วมีมติไม่เห็นชอบ โดยให้เหตุผลว่า การทำเหมืองหินจะกระทบต่อทัศนียภาพและบรรยากาศการท่องเที่ยวและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ทำเหมืองจึงไม่ออกใบอนุญาตให้ บริษัทเจ้าของโครงการจึงนำเรื่องดังกล่าวฟ้องต่อศาลปกครอง

ด้านศาลปกครองพิพากษาว่า การที่ คชก. พิจารณาอีไอเอแล้วเห็นพ้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม มีมติไม่เห็นชอบอีไอเอ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว เพราะการทำเหมืองอย่างน้อยที่สุดย่อมส่งผลให้สูญเสียพื้นที่ภูเขาอย่างถาวร และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการทำเหมืองคือมีหินก่อสร้างบนเกาะสมุยที่หาได้ง่ายและราคาถูกลงแล้วนั้น ไม่อาจเทียบได้กับความเสียหายที่จะเกิดแก่สภาพสิ่งแวดล้อมของเกาะสมุย

ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

กระบวนการจัดทำอีไอเอที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีรูปแบบการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน ดังนั้น เสียงของประชาชนจึงไม่ได้ระบุไว้ในอีไอเอ ทำให้โครงการจำนวนมากถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ และในหลายพื้นที่ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมก็ถูกขัดขวาง เพราะเวทีรับฟังความคิดเห็นเสมือนการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน เช่น กรณีเหมืองทองคำที่วังสะพุง จังหวัดเลย ที่วันจัดรับฟังความคิดเห็นมีเจ้าหน้าที่รัฐมายืนกั้นล้อมรอบที่ประชุมและกีดกันประชาชนบางส่วนไม่ให้เข้าร่วมเวที

การที่ประชาชนมีส่วนร่วมไม่แท้จริง เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำอีไอเอนั้น ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่โครงการมากกว่าการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลอย่างแท้จริง ดังนั้น ข้อมูลที่ระบุในรายงานอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของพื้นที่

เมื่อเช้าวันที่ 8 กันยายน 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที Public Scoping  ภาพโดยจิรวิทย์ ฉิมานุกูล
เมื่อเช้าวันที่ 8 กันยายน 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที Public Scoping ภาพโดยจิรวิทย์ ฉิมานุกูล

นอกจากนี้ ขั้นตอนตามกฎหมายของการทำอีไอเอยังระบุการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ชัดเจนด้วย โดยในขั้นตอนกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง เพราะกำหนดจากระยะพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการเท่านั้น ในขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของโครงการไม่ได้มีเฉพาะในรัศมีดังกล่าว อีกทั้งการกำหนดประเด็นต่างๆ ดำเนินการเพียงบริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำกัดและรับจ้างทำงานให้เจ้าของโครงการ จึงอาจทำให้กำหนดประเด็นไม่ครอบคลุมผลกระทบทุกๆ ด้าน

จากปัญหาข้างตันจึงส่งผลให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนห่วงกังวล เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก อีกทั้งประชาชนยังไม่สามารถขอดูร่างรายงานได้ แม้ว่าจะร้องขอต่อ คชก. โดย คชก. ให้เหตุผลว่า ยังไม่ใช่รายงานฉบับจริงจึงไม่สามารถเผยแพร่ได้ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่มีสิทธิตรวจสอบร่างรายงานก่อนที่ คชก. จะให้ความเห็นชอบเสียก่อน

ที่สำคัญอำนาจตัดสินใจในโครงกาเป็นอำนาจของ คชก. เท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีอำนาจลงโทษผู้รับผิดชอบทั้ง คชก. หรือหน่วยงานรัฐผู้อนุมัติอนุญาตด้วยในกรณีที่เห็นชอบโครงการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ปัจจุบันยังขาดหน่วยงานที่รับร้องเรียนว่าด้วยกระบวนการทำอีไอเอที่มิชอบ

สำหรับกระบวนการจัดทำอีเอชไอเอนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนกำหนดไว้ชัดเจนมากกว่าขั้นตอนการทำอีไอเอมาก แต่ก็ยังมีปัญหาในขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะแม้ว่าจะกำหนดให้ต้องแจ้งกำหนดการประชุมและเปิดเผยข้อมูลการประชุมก่อนแล้ว แต่ในวันที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นนั้นจะมีเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครฯ มาคุมการประชุม

นอกจากนี้ การประชุมยังไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และจัดประชุมรวมห้องใหญ่เพียงห้องเดียว ซึ่งทำให้มีผู้ประชุมเพียงส่วนน้อยที่ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม

ส่วนการติดตามและประเมินผลทั้งอีไอเอและอีเอชไอเอนั้น ปัจจุบันแทบจะไม่มีการดำเนินการขั้นตอนนี้ เพราะเจ้าของโครงการไม่ส่งรายงานการดำเนินการตามอีไอเอหรืออีเอชไอเอมาให้ คชก. อีกทั้ง คชก. จะลงพื้นที่ตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบเท่านั้น

EIA Flowchart Web