ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (11) : “แอมเวย์” พบ “หม่อมอุ๋ย” เคลียร์คดีศุลกากรเรียกภาษีย้อนหลัง 4.6 พันล้าน

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (11) : “แอมเวย์” พบ “หม่อมอุ๋ย” เคลียร์คดีศุลกากรเรียกภาษีย้อนหลัง 4.6 พันล้าน

28 พฤษภาคม 2015


หลังจากคณะกรรมการบริหารกรมศุลกากร มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้สำนักกฎหมายกรมศุลกากรรวบรวมพยานหลักฐานส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีกับบริษัทแอมเวย์ ประเทศไทย จำกัดโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษรับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องศาล

ขณะที่คดีแพ่งทยอยขาดอายุความเป็นรายใบขน นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร จึงแต่งตั้งคณะทำงานประเมินภาษีบริษัทแอมเวย์ และทำหนังสือเรียกให้บริษัทแอมเวย์มาชำระภาษีให้ครบถ้วน ตามมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร 2469 หลังจากที่คำนวณค่าภาษีอากรส่วนที่บริษัทต้องชำระเสร็จ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่รับผิดชอบคดีนี้ ไม่กล้าลงนามในหนังสือเรียกให้บริษัทมาชำระภาษี เพราะการออกหนังสือเรียกให้ผู้นำเข้ามาเสียภาษีเพิ่มเติม ตามมาตรา 112 จะดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าผู้นำเข้าสำแดงรายการค่าภาษีไม่ถูกต้อง ขณะกำลังขนสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร หากผู้นำเข้านำสินค้าออกจากด่านศุลกากร ต้องวางหนังสือค้ำประกันเท่ากับค่าภาษี ตามมาตรา 112 ทวิ

แต่กรณีบริษัทแอมเวย์ ไม่เข้าข่ายมาตรา 112 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สินค้าได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยกรมศุลกากรนำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทแอมเวย์ และไม่ได้มีการวางหนังสือค้ำประกันค่าภาษีขณะที่นำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร ทางคณะทำงานประเมินภาษีบริษัทแอมเวย์ จึงไม่กล้าออกหนังสือเรียกให้บริษัทแอมเวย์มาชำระภาษี ทำให้การดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับบริษัทแอมเวย์ไม่มีความคืบหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 คณะผู้บริหารของบริษัทแอมเวย์ เข้าพบม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อชี้แจ้งข้อเท็จจริง กรณีกรมศุลกากรนำเงินโบนัสที่บริษัทแอมเวย์จ่ายให้กับตัวแทนจำหน่ายมาเป็นฐานประเมินภาษีนำเข้าย้อนหลัง จากนั้นม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากรมาชี้แจง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เปิดเผยว่า “หลังจากที่ผมรับฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปว่ากรณีพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทแอมเวย์ เป็นคดีที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี คดีนี้เคยผ่านการตัดสินจากที่ประชุมองค์การศุลกากรโลก (WCO) มาแล้ว ซึ่งผมก็อยากจะให้คดีนี้ได้ข้อยุติเสียที ไม่อยากให้ทะเลาะกันต่อไปอีก ก็ควรจะเจรจาเพื่อหาข้อยุติ แต่ปัญหาคือทำอย่างไรถึงจะเกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย”

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมศุลกากรร่วมกับตัวแทนบริษัทแอมเวย์ ตั้งประเด็นคำถามหารือองค์การศุลกากรโลก (WCO) ว่าเงินโบนัสของตัวแทนอิสระอาจจะเป็นค่าการตลาด หรือรายได้จากการขายต่อ หรือเป็นเงื่อนไขการขายของที่นำเข้า ทางWCO นำประเด็นข้อพิพาททั้งหมดส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคา WCO ครั้งที่ 36 พิจารณา เมื่อวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ปรากฏว่ามีหลายประเด็นไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อาทิ กรณีการจ่ายเงินโบนัสให้ IBO ถือเป็น “ค่าใช้จ่ายทางการตลาด” หรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้า ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคา จึงยุติการพิจารณา โดยไม่มีการวินิจฉัย (Pending for future session) ประเด็นข้อหารือทั้งหมดถูกนำไปแขวงไว้ในภาคผนวก 3 (conspectus) ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านราคา ไม่ได้ตัดสินคดีนี้

รายงานข้อเท็จจริงคดีแอมเวย์