ThaiPublica > คอลัมน์ > Digital Economy ของประเทศไทยในยุค S-M-I-C และ Internet of Thing กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของโลกในศตวรรษที่ 21

Digital Economy ของประเทศไทยในยุค S-M-I-C และ Internet of Thing กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของโลกในศตวรรษที่ 21

16 พฤษภาคม 2015


ปริญญา หอมเอนก, ACIS Professional Center

รูปที่ 1 : The Nexus of Disruptive Forces in Digital Industrial Economy, Source: Gartner
รูปที่ 1 : The Nexus of Disruptive Forces in Digital Industrial Economy, Source: Gartner

เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “Digital Economy” กำลังเป็น “Hot Issue” ในประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากปรากฏการณ์ “Digital Transformation” และ “Internet of Thing” กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก โดยในโลกเสมือน (Virtual World) การมาถึงยุค S-M-I-C (Social–Mobile–Information–Cloud) กำลังมีผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก จากความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ประกอบกับโลกแห่งความเป็นจริง (Real World) ดูรูปที่ 1 การมาถึงของ Internet of Thing ที่ทุกอุปกรณ์มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเป็น PC, Notebook หรือ Smart Phone อีกต่อไป แต่อาจเป็น นาฬิกา, TV, ตู้เย็น แม้กระทั่งรองเท้า ก็สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ทั้งสิ้น

ในเมื่อธุรกิจประกอบด้วยสินค้าและบริการต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลกจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องมีนโยบายและกฎหมายในการกำกับและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนที่เป็นกำลังหลักในการเพิ่ม GDP ให้กับประเทศ เสริมความแข็งแรงให้เพียงพอในการเข้าสู่ยุคแห่ง Digital PR/Digital Marketing อย่างเต็มรูปแบบ

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจในวันนี้และอนาคต เราจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึกนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลใน 4 คำถามดังนี้

รูปที่ 1 : The Nexus of Disruptive Forces in Digital Industrial Economy, Source: Gartner
รูปที่ 1 : The Nexus of Disruptive Forces in Digital Industrial Economy, Source: Gartner

ภาพประกอบ5

รูปที่ 2 : Thailand Digital Economy Framework, source : Nation and ETDA
รูปที่ 2: Thailand Digital Economy Framework, source : ทีมยุทธศาสตร์ DE
รูปที่ 3 : Digital Transformation, Source: ZDNet Digital Transformation and IT: The CIO´s balancing act
รูปที่ 3: Digital Transformation, Source: ZDNet Digital Transformation and IT: The CIO´s balancing act

1. มุมมองต่อนโยบาย Digital Economy จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างไร?

รูปที่ 4 : Digital Industrial Economy, Source: Gartner
รูปที่ 4: Digital Industrial Economy, Source: Gartner

จากความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสื่อสารของโลกที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในหลายปีที่ผ่านมา พบว่า “The Nexus of Forces” ของ Gartner เป็นกระแสที่มาแรงและกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดย S-M-C-I ย่อมาจาก Social–Mobile–Cloud–Information อุบัติการณ์การมาบรรจบกัน (Convergence) ของกระแสความนิยมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น Facebook และ Twitter ร่วมกับการใช้สมาร์ทโฟน ตลอดจนความนิยมในการดาวน์โหลด “Mobile App” ในการติดต่อกันในลักษณะ Social Network เช่น LINE หรือ WhatsApp ตลอดจนการใช้งานระบบ Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลทั้งส่วนตัวและข้อมูลขององค์กร เช่น การใช้ Free eMail: Hotmail, Gmail รวมถึงการใช้ Cloud–based Application ยอดนิยมต่างๆ เช่น iCloud และ Dropbox เป็นต้น

นโยบาย Digital Economy จึงมีความจำเป็นในการเตรียมตัวในระดับประเทศกับการมาถึงของยุค S-M-I-C ดังกล่าว เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้รองรับการมาถึงของยุค S-M-I-C ดังกล่าว ซึ่งในอนาคตอันใกล้ยุคแห่ง IoT (Internet of Things) กำลังเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก หลายค่ายได้ทำนายไว้ล่วงหน้าว่ามีจำนวนอุปกรณ์ที่ออนไลน์กับอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านอุปกรณ์ ภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งรัฐควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) เพื่อให้เอกชนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกที่นับวันจะแคบลงเรื่อยๆ

นโยบาย Digital Economy ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ที่จะเพิ่มได้นั้น ไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ (Product and Service) ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว ดังนั้น นโยบาย Digital Economy จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย และการทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว

2. ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายดังกล่าว?

หากนโยบายดังกล่าวถูกเขียนขึ้นได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐที่ต้องการเพิ่ม GDP ของประเทศและถูกเขียนขึ้นอย่างมีธรรมาภิบาล เราจะได้เห็นการเติบโตอันแข็งแกร่งของภาคเอกชนมากขึ้น ยกตัวอย่าง ความสำเร็จของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทซัมซุงและบริษัทแอลจีเป็นตัวอย่างที่รัฐสนับสนุนส่งเสริมเอกชน ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในหลายปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเกาหลีใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับค่าตอบแทนในการทำงานที่เพิ่มขึ้น จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในหลายปีที่ผ่านมา

จากนิยามและแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5 หลักการ ในหลักการข้อที่ 1 คือ ภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และส่งเสริมสนับสนุน (Promoter) โดยการสร้างแรงจูงใจอย่างเป็นระบบ และปรับปรุงประสิทธิภาพ กระบวนการทำงานของภาครัฐด้วยดิจิทัล ให้โปร่งใส รวดเร็ว และลดคอร์รัปชันได้

3. อุตสาหกรรมไอซีทีมีส่วนผลักดันแนวนโยบาย Digital Econnomy ให้เป็นจริงได้อย่างไร?

อุตสาหกรรมไอซีทีที่ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนในทุกประเทศทั่วโลก เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ GDP ในระดับประเทศ อุตสาหกรรมไอซีทีจะมีส่วนร่วมผลักดันแนวนโยบาย Digital Economy ให้เป็นจริงได้โดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากภาคเอกชน และรัฐต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และจูงใจโดยมี Incentive ให้กับภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้แข่งขันได้ในอนาคต ตลอดจนรัฐเองต้องไม่ทำตัวเป็นคู่แข่งเอกชนในการหารายได้ ค้ากำไร ให้บริการซ้ำซ้อนกับกการบริการของภาคเอกชน โดยที่ภาคเอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว แต่รัฐควรเล่นบทเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนเอกชน เพื่อให้ภาพรวม GDP ของประเทศไทยมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากความแข็งแกร่งของภาคเอกชน มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ รัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทร่วมกับเอกชนในรูปแบบ PPP ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น

4. บริษัทหรือองค์กรของท่านมีการเตรียมความพร้อมรองรับนโยบาย Digital Economy หรือไม่ อย่างไร?

จากนิยามและแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวง ICT ในแนวคิดที่ 3 กล่าวไว้ว่า ต้องมีการกำหนดนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนให้เกิดสัมฤทธิผล

จะเห็นได้ว่า “ความร่วมมือร่วมใจอย่างเป็นเอกภาพ” ระหว่างรัฐและเอกชนมีแรงจูงใจในการเตรียมความพร้อมรองรับนโยบาย Digital Economy จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การกำหนดนโยบาย Digital Economy ให้มีวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ชัดเจน โปร่งใส จะทำให้เกิดความกระจ่างและความเข้าใจในภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนเห็นถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ และเห็นภาพรวมในการพัฒนาของประเทศ จะทำให้มีการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนเกิดขึ้นด้วย “ความเต็มใจและเต็มที่” โดยภาคเอกชนสามารถที่จะเห็นประโยชน์อย่างชัดเจน (Benefit realization) ตามหลักการกำกับดูแลที่ดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ GEIT และ COBIT 5 (governance objectives) ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ 1) Benefit realisation 2) Risk optimisation 3) Resource optimisation

หมายเหตุ: ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….. ฯ ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทาง 7 เรื่อง ในหมวด 1 ซึ่งครอบคลุม Benefit realization และ Resource optimization แต่ยังขาดประเด็นด้าน Risk optimization ที่ยังไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน รัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบาย Digital Economy ที่ให้เกิดการ Optimize Risk และ Optimize Resource ตามหลักการกำกับดูแลที่ดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ GEIT และ COBIT 5 เพื่อให้ครบทั้งสามแกนหลัก ก็จะทำให้เป้าหมายจากการผลักดันนโยบาย Digital Economyในการปฎิบัติจริง เป็นรูปธรรม มีโอกาสที่จะสำเร็จลุล่วงลงได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตาม Roadmap

เมื่อรัฐส่งเสริม และภาคเอกชนขานรับ ปฏิบัติตามนโยบาย Digital Economy เป้าหมายการเพิ่ม GDP ก็คงอยู่อีกไม่ไกล แต่หากภาคเอกชนยังไม่เข้าใจและไม่ตระหนักถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ รวมถึงในกรณีรัฐไม่ชัดเจน เป็นคู่แข่งเอกชนในการหารายได้ ค้ากำไร ให้บริการซ้ำซ้อนกับการบริการของภาคเอกชน (ยกตัวอย่าง หน่วยงานของรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดเลยที่มีการลงทุนเปิดบริษัทให้บริการร่วมกับเอกชน หากมีแต่หน่วยงานสนับสนุน) การเตรียมความพร้อมดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้กระทบต่อเป้าหมายของนโยบาย Digital Economy อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐจึงจำเป็นต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับเอกชนในประเด็นนี้ให้ชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้าง “Benefit realization” ให้เห็นเป็นรูปธรรมดังที่กล่าวมาแล้ว

กล่าวโดยสรุปคือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากความตั้งใจที่ดีของภาครัฐ หากแต่วัตถุประสงค์และการปฏิบัติจริงนั้น จำเป็นต้องมีความชัดเจน ในส่วนที่เป็นบทบาทของรัฐ ได้แก่ “การส่งเสริมสนับสนุน” รวมถึง “การกำกับ” ให้ Soft Infrastructure มี “Security” และ “Privacy” เพื่อสร้าง “Trust” หรือความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเอกชนและนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนให้บริการในประเทศไทย ในมุมมองของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และการสนับสนุนส่งเสริมที่เข้มแข็งของภาครัฐ เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวคือการเพิ่ม GDP เพิ่มรายได้ให้กับประเทศและประชาชนในประเทศ เพื่อความยั่งยืนของ “เศรษฐกิจ” และ “สังคม” เป็นไปตามอุดมการณ์และความตั้งใจที่ดีของรัฐบาล ดังเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้เขียนชื่อไว้ว่า “พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”