ThaiPublica > คนในข่าว > คำต่อคำ “ชัยวัฒน์ พสกภักดี” ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากฯ เปิด “ไอ้โม่ง” ตัวจริง – เก็บค่าต๋งคู่ละ 1.6 บาท แจก พนง. สลาก 800 คน คนละ 9,000 บาท/เดือน

คำต่อคำ “ชัยวัฒน์ พสกภักดี” ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากฯ เปิด “ไอ้โม่ง” ตัวจริง – เก็บค่าต๋งคู่ละ 1.6 บาท แจก พนง. สลาก 800 คน คนละ 9,000 บาท/เดือน

7 พฤษภาคม 2015


หลังจากสำนักข่าวออนไลน์นำเสนอข่าวเปิดตัว “ไอ้โม่ง ต้นเหตุสลากเกินราคา” ซึ่งผู้ที่ได้โควตาสลากมากสุดคือ “มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอไปคือ 14.2 ล้านฉบับ ปรากฏว่าทางมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ชี้แจงว่าทางมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้โควตาสลากกว่า 9 ล้านฉบับเท่านั้น

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่ามูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร มูลนิธินี้เป็นของใคร ผลประกอบการแต่ละปีเป็นอย่างไร และเงินที่ได้นำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้เดินทางไปยังมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งอยู่ด้านข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ได้มีโอกาสพบนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล วัย 74 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมิได้นัดหมาย ซึ่งนายชัยวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ทีมงานโดยตอบทุกประเด็นคำถามนานกว่า 1 ชั่วโมง

มูลนิธิสลากกินแบ่ง

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับการจัดสรรโควตาจำนวนเท่าไหร่?

ผมไม่รู้ไปเอาตัวเลขมาจากไหน มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจัดสรรโควตาแค่ 9 ล้านฉบับ สัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากของมูลนิธิสำนักงานสลากฯ กำลังทยอยสิ้นสุดลง ลอตแรกวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ประมาณ 1 ล้านฉบับ วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 อีก 4 ล้านฉบับ และลอตสุดท้าย 4 ล้านฉบับ สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2558

ไทยพับลิก้า: แล้วมูลนิธิสำนักงานสลากฯ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ มีวัตถุประสงค์อะไร

มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 เป็นช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เจตนาคือต้องการช่วยสำนักงานสลากฯ ทำกิจการบางอย่างที่ส่วนทางราชการทำไม่ได้ เช่น จัดจำหน่ายเครื่องตรวจสอบสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับตัวแทนจำหน่าย เท่าที่จำได้นโยบายรัฐบาลในขณะนั้น (พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร) ต้องการที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ งานบางอย่างที่ส่วนราชการทำไม่ได้แต่เอกชนทำได้ก็ควรตัดให้เอกชนรับไปดำเนินการ ซึ่งงานบางอย่างสำนักงานสลากฯ ทำไม่ได้ แต่มูลนิธิทำได้ เราก็รับมาทำ เพราะถือว่าเป็นมูลนิธิที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย

ไทยพับลิก้า: 14 ปีที่ผ่านมา คุณชัยวัฒน์นั่งเป็นประธานมูลนิธิฯ มาตลอดใช่ไหม?

ใช่ ผมเป็นประธานมูลนิธิฯ มาตลอด จริงๆ กรรมการ มูลนิธิฯ มีอายุ 4 ปี พอครบเทอมก็เลือกกรรมการกันใหม่ กรรมการก็เลือกประธานมูลนิธิฯ

ไทยพับลิก้า: ปัจจุบันมีใครเป็นกรรมการบ้าง?

มูลนิธิสำนักงานสลากฯ มีกรรมการ 5 คน ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากฯ เช่น นายธงชัย เล็กบำรุง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ มี 2 คน คือนายเจริญ ชุมแสงศรี และนายเจริญชัย งามกิจไพบูลย์ และนายอนุพร กล่อมเกลา อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ไทยพับลิก้า: ทำไมมูลนิธิถึงได้รับการจัดสรรโควตาสลากถึง 9 ล้านฉบับ

มันเป็นเรื่องการเมือง (หัวเราะ) แม้แต่ผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ จะเอาสลากฯ เพียง 1 เล่ม ยังไม่ได้เลย สมัยก่อนการเมืองเน้นเรื่องเงิน คนที่จะได้โควตาสลากฯ คือคนจ่าย มูลนิธิจึงเสมือนเป็นทางผ่าน

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้ส่วนลด 9% ของราคาสลาก 80 บาท ใช่ไหม?

ใช่ ผมได้ส่วนลด 9% แต่ผมหักไว้ 2% ของส่วนลดที่ได้ 9% หมายความว่าสลากราคาคู่ละ 80 บาท ได้ส่วนลด 7.2 บาท ผมหักไว้ 1.6 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ที่เหลือ 5.6 บาท เป็นส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายที่มารับโควตาจากมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไปขาย มูลนิธิสำนักงานสลากฯ มีหน้าที่รับสลากจากสำนักงานสลากฯ จากนั้นเขา (นักการเมือง) จะบอกโพยมาเลย สมมติ มูลนิธิได้สลากฯ มา 1,000 เล่ม เขาจะสั่งผมให้จ่ายสลากให้นาย ก. กี่เล่ม นาย ข. นาย ค. กี่เล่ม ผมมีหน้าที่รับสลากจากสำนักงานสลากฯ มา เขาเอาเงินค่าสลากจ่ายให้เรา แล้วเขาก็รับสลากไป

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ มีสมาชิกในสังกัดกี่คน เงินที่ได้นำไปใช้จ่ายอะไร?

ไม่มีสมาชิกเลย มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคม ส่วนเงินรายได้ 2% ที่มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้รับ (หักจากส่วนลด 9%) นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในรายการที่สำนักงานสลากเบิกไม่ได้ เช่น แจกทุนการศึกษาลูกหลานพนักงาน ใช้ในกิจการกฐินผ้าป่า งานสงกรานต์ ปีใหม่ อย่างเช่น พระพุทธอิสระเอาข้าวมาเทที่สำนักงานสลากฯ มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ก็จ่ายเงินไป 1.3 ล้านบาท ให้สำนักงานสลากฯ เป็นค่าทำความสะอาด และยังมีการบริจาคเงินทั่วไปให้วัดวาอาราม โรงเรียน และที่สำคัญ ทุกวันนี้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จ่ายเงินให้พนักงานสลากคนละ 9,000 บาท ต่อเดือน บวกเพิ่มจากเงินเดือนที่ได้รับแต่ละเดือน มูลนิธิสำนักงานสลากฯ มีรายได้เดือนละ 14 ล้านบาท นำไปใช้ในการบริจาคเงินทั่วไป 1 ล้านกว่า ค่าบริหารอะไรต่อมิอะไร แต่ละเดือนก็ใช้จ่ายไปประมาณ 14 ล้านบาท ใช้เกือบหมด เพราะถือว่าเงินทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของสำนักงานสลากฯ เอาไปช่วยเป็นทุนการศึกษาของบุตรพนักงานด้วย

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลาก 9 ล้านฉบับอย่างไร?

ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าสลากทั้งหมด เจ้าใหญ่ เจ้าเล็ก ก็ไม่รู้ อันนี้เป็นรายการที่นักการเมืองสั่งมา ตั้งแต่รัฐมนตรี ประธานบอร์ด ผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ผ่านมาหลังจากบอร์ดมีมติออกมาให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาเพิ่ม ก็มีโพยส่งมาให้ผมจ่ายสลากให้ใครบ้าง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว

ไทยพับลิก้า: หลังจากสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากสิ้นสุด หากมูลนิธิฯ ไม่ได้รับจัดสรรโควตาสลากทำอย่างไร

ไม่มีปัญหา มูลนิธิฯ ของเราอยู่ได้ แต่ว่าปัญหาคือเราจะไม่มีเงินไปจ่ายเป็นทุนการศึกษา สวัสดิการพนักงาน อยากจะยึดโควตาสลากคืนก็สุดแล้วแต่เขา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้แจ้งตัวแทนจำหน่ายที่มารับสลากฯ จากมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไปขายว่าตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2558 ต้องขายสลากคู่ละ 80 บาททั้งหมด หากไม่ให้ความร่วมมือ มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ก็ต้องบังคับ ซึ่งตัวแทนจำหน่ายสลากทุกรายก็โอเคทั้งหมด ส่วนคนที่มารับสลากไปเดินเร่ หากขายเกิน 80 บาทต่อคู่ ตรงนี้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไม่รับรู้

ไทยพับลิก้า: ทุกครั้งที่แก้ปัญหาสลากเกินราคาไม่ได้ โทษกลุ่ม 5 เสือที่มีโควตามากที่สุด ความจริงเป็นอย่างไร

5 เสืออะไร ก็พูดกันไป มันไม่มีแล้ว สมัยก่อนเวลาพิมพ์สลากการกุศลออกมาจำหน่ายใหม่ๆ ตอนนั้นขายไม่ออก พิมพ์มาไม่มีคนซื้อ ก็เลยแบ่งเป็น 5 กอง กองละ 10,000 เล่ม ใครจะเอาโควตาสลากก็ยื่นเรื่องขอโควตา ปรากฏว่ามีแค่ 5 บริษัท ได้โควตาสลากบริษัทละ 10,000 เล่ม จากนั้นจึงเรียกว่ากลุ่ม 5 เสือเรื่อยมา เพราะสมัยนั้นไม่มีบริษัทไหนได้โควตาสลากมากถึง 10,000 เล่ม แต่ราคาสลากตามท้องตลาดก็ไม่ได้ขายกันในราคาแพงอะไรมากมาย ยิ่งมาในยุคนี้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มาบังคับยิ่งแพงหนักกว่าทุกยุค ยกตัวอย่าง สำนักงานสลากฯ ไปบีบให้ตัวแทนจำหน่ายต้องมารับสลากฯ เอง คนอยู่ภาคเหนือ ภาคใต้ ก็ต้องเดินทางมารับสลากฯ ต้นทุนก็สูงขึ้น ยิ่งบังคับ ราคาสลากยิ่งแพง

นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล วัย 74 ปี
นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล วัย 74 ปี

ไทยพับลิก้า: ปัญหาขายสลากเกินราคา ควรแก้ไขอย่างไร?

หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ คือ เปิดเสรี ยกเลิกระบบโควตา จัดพิมพ์ตามความต้องการของผู้ค้าสลาก ไม่ต้องขายผ่านระบบออนไลน์ด้วย แต่ใช้วิธีพิมพ์สลากแบบปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ผู้ค้าสลากรายใดต้องการสลากไปขายก็มาแจ้งสำนักงานสลากฯ ล่วงหน้าก่อนหวยออก 3 งวด หรือจองโควตาสลากล่วงหน้า แต่ต้องวางเงินประกันอย่างน้อย 10% ถ้าทำแบบนี้แก้ปัญหาสลากเกินราคาได้อย่างเบ็ดเสร็จเลย เพราะสุดท้ายจะเหลือแต่คนขายจริงได้กำไรนิดหน่อย หลักการคือตัดพ่อค้าคนกลางทิ้ง คนเดินเร่ขายสลากรายไหนไม่มีโควตา ต้องไปรับสลากราคาแพงๆ มาเดิน หากซื้อสลากราคาถูกที่ไหนไม่ได้มาที่สำนักงานสลากฯ แจ้งล่วงหน้า 3 งวด วางเงินประกัน 10% รับสลากไปขายได้เลย สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสลากฯ เคยทำไป 2 ครั้ง ราคาสลากขายกัน 3 ใบ 200 บาท และที่น่าเสียดายมาก ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งทีมีแค่จัดตั้งกองทุนรับซื้อคืนสลากอย่างเดียว กองทุนประกันเงินรางวัลก็ไม่มี ยกร่างกฎหมายกันไป ยกร่างกันมาเละเทะ

ไทยพับลิก้า: กองทุนประกันเงินรางวัลหมายถึงอะไร?

กองทุนประกันเงินรางวัล หลักการคือขายสลากไม่หมด กองทุนรับซื้อคืน ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ค้าสลาก ไม่ต้องขายสลากเกินราคา และที่สำคัญจ่ายเงินรางวัลได้ไม่อั้น สำนักงานสลากฯ จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาก็ได้ เช่น เปิดหวยบนดิน ผมจ่ายได้ไม่อั้น แต่ร่างแก้ไขกฎหมายปัจจุบันยังกำหนดให้กันเงินรายได้จากการจำหน่ายสลาก 60% เตรียมไว้จ่ายกับผู้ถูกรางวัล แต่ถ้ามีกองทุนประกันเงินรางวัล สามารถจ่ายไม่อั้น

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ มีรายได้ปีละ 168 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นำไปใช้จ่ายจนหมดเลยใช่หรือไม่?

มีกำไรสะสมเหลืออยู่บ้าง อย่างน้อยก็ใช้เป็นหมุนเวียนประมาณ 200 ล้านบาท แต่ว่ากำไรสะสมส่วนนี้ได้มาในสมัยที่เปิดให้ขายหวยบนดิน ขณะนั้นทั้งนิติบุคคล มูลนิธิ สมาคม ไม่มีใครมารับหวยบนดินไปขาย ทางมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ตัดสินใจเข้าไปรับโควตาหวยบนดินมาจัดจำหน่ายเอง พวกเจ้ามือหวยบนดินรายใหญ่ก็มารับโควตาหวยบนดินจากมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไปขายเป็นเครือข่ายเรา ช่วงที่ขายหวยบนดิน มูลนิธิได้ส่วนลด 3% คิดเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท จากวันนั้นจนถึงวันนี้มีกำไรสะสมเหลืออยู่ 200 บาท ส่วนเงินรายได้จากการขายสลากในปัจจุบัน หามาได้ก็จ่ายออกไป มีกำไรเหลือก็เก็บเป็นทุนสะสมไป

ไทยพับลิก้า: วันนี้หากถูกตัดโควตาสลากมูลนิธิฯ อยู่ได้หรือไม่?

แค่เบิกดอกผลมาใช้ก็อยู่ได้สบาย แต่มูลนิธิจะไม่มีเงินไปจ่ายให้สำนักงานสลากฯ นะ

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ หรือสมาคมอื่นที่ได้โควตาสลากอีกไหม

มีสมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กับสหกรณ์บริการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำกัด แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ทำหน้าที่กันคนละส่วนกัน สมาคมพนักงานผู้เกษียณฯ หาเงินมาได้ก็ไม่ได้ไปช่วยเหลืออะไรสำนักงานสลากฯ หรือบริจาคให้ใคร วัตถุประสงค์เพื่อดูแลเฉพาะพนักงานที่เกษียณเท่านั้น ใครเจ็บป่วยก็มาเบิก

ไทยพับลิก้า: สำนักสลากฯ ไม่มีสวัสดิการดูแลคนเกษียณหรือ?

ใช่ รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ พอคุณเกษียณการทำงานก็จบ เบิกค่ารักษาไม่ได้ ไม่มีบำนาญ ได้เป็นบำเหน็จก้อนเดียวจบ หากไม่มีลูกหลานดูแล อยู่ได้ระยะหนึ่ง เงินไม่พอใช้ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรให้สักอย่าง พนักงานบางคนไม่ได้สร้างอะไรไว้เลย ช่วงที่ทำงานก็อาศัยแฟลตของสำนักงานสลากฯ อยู่ฟรี ไม่ต้องจ่ายอะไร พอเกษียณต้องคืนแฟลตให้สำนักงานสลากฯ ย้ายออกไปอยู่ข้างนอก

ไทยพับลิก้า: ตกลงมูลนิธิสำนักงานสลากฯ จ่ายเงินเดือนให้พนักงานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 9,000 บาทต่อคนเป็นเรื่องจริง

ใช่ จ่ายให้ทั้งหมด 800 คน จ่ายตั้งแต่พนักงานยันลูกจ้างสำนักงานสลากฯ รปภ. แม่บ้าน out source ทางมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด พนักงานที่เป็นซี ก็จ่ายเป็นรายคน ถือเป็นรายได้เสริมของเขา เหมือนสวัสดิการพนักงาน

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ นี้ไม่ใช่ส่วนราชการหรือองค์กรรัฐใช่ไหม?

ใช่ ไม่เกี่ยวสิ มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จัดตั้งตามกฎหมายมูลนิธิ จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ผมบริหาร ทำบุญ ทำทาน ว่ากันไป แต่ละวันมีพรรคพวกมาขอเงินบริจาคจำนวนมาก ผมก็ปวดหัวเหมือนกัน ถ้าผมให้ทุกคน ก็หมดตูด เดี๋ยวก็ไปชวนคนนั้นไปชวนคนนี้มาขอเงินบริจาค

ไทยพับลิก้า: มูลนิธิสำนักงานสลากฯ นอกจากเป็นทางผ่านโควตาหวยแล้วทำธุรกิจอื่นอีกไหม?

ขายเครื่องตรวจสอบสลากปลอมให้กับพ่อค้าที่รับซื้อสลากที่ถูกรางวัล เครื่องละ 20,000 บาท มีพ่อค้าซื้อไปประมาณ 200 ราย กระจายอยู่ตามยี่ปั๊ว ช่วยทั้งสำนักงานสลากฯ และพ่อค้าไม่ให้ถูกพวกมิจฉาชีพหลอก

ไทยพับลิก้า: หลังสัญญาตัวแทนจำหน่ายสิ้นสุด มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จะขอโควตาสลากอีกไหม?

ขึ้นอยู่กับสำนักงานสลากฯ ตอนนี้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้โควตามา เพราะสำนักงานสลากฯ ให้สิทธิผม แต่ต่อไปไม่ต้องมาสั่งให้ผมจัดโควตาให้ใคร ผมจะตั้งจุดขายให้ ห้องแถวของมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ก็มีหลายจุด เราก็จะขายให้ ปัจจุบันผมมีสลาก 9 ล้านฉบับ หากสัญญาสิ้นสุด จัดสรรให้ผม 1-2 ล้านฉบับก็พอแล้ว เพราะทุกวันนี้สำนักงานสลากฯ ให้ส่วนลดมูลนิธิสำนักงานสลาก 9% หรือคู่ละ 7.20 บาท มูลนิธิสำนักงานสลากฯ หักไว้คู่ละ 1.60 บาท ที่เหลือคู่ละ 5.60 บาท เป็นกำไรสำหรับคนที่มารับสลากจากมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไปขาย

ไทยพับลิก้า: จริงๆ พนักงานรัฐวิสาหกิจเงินเดือนสูงไม่ใช่หรือ

ไม่มากเท่าไหร่ สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจัดโครงสร้างอัตราเงินพนักงานรัฐวิสาหกิจแบ่งออกเป็น 13 ขั้น ในสมัยผมเป็นผู้อำนวยการได้เงินเดือนสูงสุด 60,000 บาท แต่ในระยะหลังปรับเงินเดือนสูงขึ้น มีลักษณะเป็นแท่ง โดยให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจเป็นผู้พิจารณา

ไทยพับลิก้า: โควตาสลาก 9 ล้านฉบับ มีเจ๊สะเรียง เจ๊แดง และยี่ปั๊วรายใหญ่อื่นๆ มารับไปขายด้วยหรือไม่?

มันก็ต้องทำตามใบสั่ง เจ้าใหญ่ๆ มารับที่นี่หมด เพราะว่าพวกนี้หูไว ตาไว (ถอนหายใจ) มาที่นี่ ผมจะเอาเองสัก 10 เล่ม ผมก็ต้องจ่ายเงินเขา ผมเองก็ไม่มีสิทธิ ไม่ใช่ว่าพรรพวกผมขอโควตาสลากมาผมจัดให้ใครก็ได้ มันไม่ใช่

ไทยพับลิก้า: การจัดสรรโควตาให้ตัวแทนจำหน่ายต้องทำตามใบสั่งการเมืองทั้งหมดหมดเลยใช่ไหม

มันมีมาตั้งแต่โบราณกาล ยังไม่เคยแก้ไขเลย นาย ก. นาย ข. เคยได้โควตาสลากมาตั้งแต่ในอดีต ก็ไม่เคยโละ มีแต่จะได้โควตาเพิ่มขึ้นๆ

ไทยพับลิก้า: สำนักงานสลากฯ ควรจะจัดสรรโควตาสลากอย่างไรให้เป็นธรรม

ประธานมูลนิธิสลากกินแบ่งรัฐบาล-1

กลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสลากฯ 4 แสนราย ก็ไม่ใช่คนขายตัวจริง องค์การบริหารส่วนตำบลไปเกณฑ์คน ทั้งพิการ คนดี ญาติพี่น้อง ยื่นขอโควตาสลาก คราวนี้ไม่ว่าจะสุ่มเลือกอย่างไรมันก็ไม่ได้คนขายสลากจริงๆ ผมเรียน พล.ต. ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ว่า ต้องเร่งทำการสำรวจคนขายจริงทั่วประเทศ ขายจริงเท่าใด ขายงวดละกี่เล่ม มีโควต้ากี่เล่ม อย่างน้อยเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล เมื่อถึงเวลาจัดสรรโควตาใหม่ อย่างมากก็ผิดพลาดนิดหน่อย แต่ไม่ใช่มาขึ้นทะเบียนตัวแทนจำหน่ายแล้วเลิกเลย ต้องเร่งสำรวจคนที่ต้องการขายหวยจริงๆ ด้วย ตอนนี้สำนักงานสลากฯ ไม่รู้ว่าใครคือคนขายหวยตัวจริง พอถามว่าจัดสรรให้ใคร ก็อ้างว่าจัดสรรให้รายย่อยที่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสลากฯ บางคนก็พยุงกันมาเป็นคันรถ ถามว่าคนพวกนี้ใช่คนขายหวยตัวจริงหรือ มันไม่ใช่ สำนักงานสลากฯ ผิดพลาดตรงจุดนี้มานานแล้ว

ไทยพับลิก้า: ควรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านเครื่องออนไลน์หรือไม่

จริงๆ แล้วควร แต่ว่าต้องมีกองทุนประกันเงินรางวัล รับซื้อคืนเลขไม่สวย เลขซ้ำ หากโควตา 2 ล้านฉบับไปขายผ่านเครื่องออนไลน์ ถามว่าเลข 00 ใครจะซื้อ และถ้าเปิดให้ทุกคนเลือกกดซื้อเลขอะไรจากเครื่องออนไลน์ก็ได้ สมมติว่ามีคนถูกรางวัล 10 เท่า ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก เอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ผู้ถูกรางวัล และถ้ากำหนดกติกาว่าแทงเลขซ้ำได้ไม่เกิน 5 ใบ เลขที่เหลือไม่มีคนซื้อ สำนักงานสลากฯ รับซื้อคืนไหวไหม จริงๆ ควรจะเปิดให้เล่นสลากแบบลอตโต้ จัดสรรเงินรางวัลตามยอดที่ซื้อ (ยอดแทง) เงินที่เหลือจะส่งเข้ารัฐหรือหักค่าอะไรก็ว่ากันไป เหมือนที่เคยออกหวยบนดิน

ไทยพับลิก้า: แก้ไข พ.ร.บ.สลากฯ ครั้งนี้ เป้าหมายไม่ได้ต่อสู้หวยใต้ดิน แต่เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา

นี่ไง ผมถึงได้บอกว่า แก้กฎหมายทั้งที อุตส่าห์คิดค้นเรื่องหวยบนดิน หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มานาน แต่ในทางปฏิบัติเปิดเกมการเล่นใหม่ๆ ไม่ได้เลย แก้กฎหมายครั้งนี้ทำได้แค่รับซื้อคืนเลขไม่สวยเท่านั้น พ่อค้าขายสลากเหลือไม่รับซื้อคืน ทราบข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.สลากฯ ฉบับสุดท้าย ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วทำอะไรไม่ได้เลย ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการปรับส่วนลดจาก 9% เพิ่มเป็น 15%

ไทยพับลิก้า: บริษัทล็อกซเล่ย์ ยินดีถอนฟ้อง หากสำนักงานสลากฯ ให้ขายสลากออนไลน์

แนวคิดนี้สำนักงานสลากต้องการแก้ปัญหาสลากเกินราคา อย่างที่ผมกล่าวในข้างต้น หากให้บริษัทล็อกซเล่ย์เหมาสลาก 1 ล้านฉบับ ไปขายผ่านเครื่อง เลขไม่สวยขายที่ไหน อย่างไรก็ต้องเหลือ สลากไม่ได้ขายได้ง่ายๆ น่ะ คุณคอยดูวันที่ 16 มิถุนายน 2558 รายย่อย พ่อค้าขาดทุนกันหมด คนเดินเร่ขายหวยไม่มี เพราะกลัวถูกจับ อาจจะมีขายรวมชุด 5 ใบบ้าง แต่ราคาคู่ละ 80 บาทเท่านั้น จริงๆ ถ้าไม่มีคนเดินเร่ขายหวย แจกโควตาไปคนละ 10 เล่ม หรือ 1,000 ฉบับ ขายไม่หมดหรอก หากไม่มีคนกลางมาช่วยทำตลาดก็เจ๊ง

การมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาทำหน้าที่รวมโควตาสลาก เพื่อนำมาจัดขายเป็นชุด ชุดละ 5 ใบ ข้อดี คือ ทำให้สลากขายหมดอย่างรวดเร็ว แทนที่จะส่งคนไปเดินเร่ขายทีละใบ ถ้ารวมชุดขาย ครั้งเดียว 5 ใบ คนซื้อบางคนชอบเลขนี้ ซื้อทีเดียว 2 ชุด หรือ 10 ใบ ขายสลากหมดอย่างรวดเร็วทุกวันนี้ เพราะขายรวมชุด คนขายเองก็ชอบ ขายได้ทีละ 5 ใบ 10 ใบ

ไทยพับลิก้า: ถ้ามูลนิธิสำนักงานสลากฯ ไม่ได้รับการจัดสรรโควตา ครั้งนี้ทำอย่างไร

ก็เลิก ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ถ้ามูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้รับการจัดสรรโควตาใหม่ ครั้งนี้มูลนิธิสำนักงานสลากฯ จะเปิดร้านขายสลากอย่างจริงจัง ทำเป็นเรื่องเป็นราว และจะไม่ยอมใครมาบังคับเราได้อีกต่อไป

ไทยพับลิก้า: จริงๆ ควรจัดสรรโควตาสลากให้ตัวแทนจำหน่ายรายละเท่าไหร่

เป็นเรื่องบอร์ดสลากต้องพิจารณา หากตัวแทนจำหน่ายรายใดได้โควตาเกิน 5 เล่ม ก็ควรลดลงมา นำส่วนเกินไปให้คนที่ไม่มีโควตาขาย ปัญหาคือจะทราบได้อย่างไรใครไม่มีโควตาสลาก แนวคิดของผู้บริหารสำนักงานสลากฯ ขณะนี้ คงจะส่งโควตาสลากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่จัดสรรโควตาสลากจังหวัดละ 1,000 เล่ม อีกส่วนจัดสรรให้ผู้ที่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสลากฯ ก่อนหน้านี้