ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 17) : คคส. เดินหน้าขับเคลื่อน“แบนแร่ใยหิน”ต่อ

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 17) : คคส. เดินหน้าขับเคลื่อน“แบนแร่ใยหิน”ต่อ

17 พฤษภาคม 2015


รศ. ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สปช. ด้านสังคม กล่าวว่าเรื่องสังคมไทยไร้แร่ใยหินเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าทั้งๆ ที่แร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ยอมรับผลการศึกษาที่ผ่านมาที่สรุปว่าแร่ใยหินอันตราย ทั้งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่กระทรวงอุตสหากรรมว่าจ้างศึกษา และผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ได้ให้ข้อมูลแย้งเพื่อสนับสนุนการใช้แร่ใยหินมาเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีความเห็นแย้งอยู่จึงเห็นว่ายังไม่ควรดำเนินการตามมติครม.

“วันนี้การเมืองเปลี่ยนเข้ามาใหม่ รัฐจะอ้างว่ายังไม่รู้เรื่องแร่ใยหินแล้วรอเวลาออกไปเรื่อยๆ หรือ เมื่อทั้งโลกมีข้อสรุปให้แล้วว่าแร่ใยหินอันตราย เหตุผลข้อเดียวที่จะยอมใช้แร่ใยหินคือไม่มีสารทดแทน แต่เมื่อมีสารทดแทนแล้วก็ควรเลิกใช้เพราะทั้งชีวิตที่เกิดมายังไม่เคยเห็นการศึกษาใดที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากเท่าโรคเหตุแร่ใยหิน ซึ่งประเทศไทยก็มีผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินแล้ว แต่จะรอให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อนค่อยยกเลิกหรืออย่างไร” รศ. ดร.วิทยากล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การยกเลิกแร่ใยหินในประเทศไทยต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในประเทศก็ยังต้องมีอยู่ แล้วค่อยๆ กำจัด หรือหากจำเป็นต้องรื้อถอนก็ต้องมีมาตรการรื้อถอนที่ดี 2. หยุดนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหิน ซึ่งถ้าทำได้แร่ใยหินจะหายไปจากประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 80 และ 3. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดแล้วประกาศอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินบางชนิดที่มีความจำเป็นและไม่มีสารทดแทน

การทำงานที่ผ่านมาของ คคส.
สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ทั้งนี้ตามสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครอง 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสาร มีอิสระในการซื้อสินค้าและบริการ มีความปลอดภัยในการใช้สินค้าและบริการ ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายนั้น ทาง คคส. สนใจและให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในสินค้าและบริการมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องอื่นเช่นกัน

ที่ผ่านมา คคส. เข้าไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยในหลายเรื่อง เช่น การจัดฟันแฟชั่น สารตะกั่วในตู้น้ำเย็น สารอันตรายในขวดนมเด็ก น้ำมันทอดซ้ำ ฯลฯ โดย คคส. เป็นหน่วยงานวิชาการซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการผลักดัน สนับสนุน และเสนอแนะ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบนำไปปฏิบัติตาม

สำหรับสินค้าและบริการต่างๆ ที่ คคส. เลือกดูแลนั้น แต่เดิมไม่มีระบบคัดกรองโครงการ แต่ปัจจุบันมีระบบการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยแล้ว โดยกำหนดเกณฑ์ความสำคัญขึ้นมาจากทีมนักวิชาการ รวมถึงมีการประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์ ถึงความคุ้มค่าโดยเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้กับเงินลงทุน ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนับสนุนโครงการให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาประเมินให้

ส่วนการทำงานในแต่ละโครงการของ คคส. จะมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ซึ่งหลายๆ โครงการมีจุดเริ่มต้นมาจากบุคลากรของหน่วยงานรัฐมาขอร่วมมือกับ คคส. เพื่อดำเนินโครงการ เช่นเดียวกับเรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินที่เริ่มต้นมาจากบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขมาขอความร่วมมือจาก คคส. เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การทำงานของคสส.

จุดเริ่มต้นของ คคส. กับแร่ใยหิน

“เรารู้อยู่แล้วว่าแร่ใยหินมีปัญหา พอมีแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขมาคุยเรื่องแร่ใยหินด้วยในปี 2553 จึงคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ให้สำเร็จ วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ หลังจากนั้นจึงไปร่วมประชุมเรื่องแร่ใยหินในประเทศไทย ต่อมาก็เริ่มรู้จักนักวิชาการมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วพยายามสร้างฐานความรู้เรื่องแร่ใยหินให้แน่น รวมถึงสร้างเครือข่ายให้ขยายขึ้นเรื่อยๆ แม้ที่ผ่านมาจะถูกกล่าวหาว่าไม่มีความรู้บ้าง ให้ข้อมูลผิดพลาดบ้าง ทำงานเลือกข้างบ้าง แต่ยิ่งมีคนโจมตีมากขึ้น ก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้น” รศ. ดร.วิทยากล่าว

นอกจากนี้ยังคคส. และเครือข่ายได้ผลิตหนังสือออกมาเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เช่น 25 ถามตอบวิชาการการเป็นสารก่อมะเร็งของแร่ใยหินไครโซไทล์, เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมไทยไร้แร่ใยหินชี้ความจริง ยืนยันแร่ใยหินไครโซไทล์อันตราย, มาตรการควบคุมและขั้นตอนการรื้อถอนซ่อมแซมอาคารที่มีแร่ใยหิน ฯลฯ ซึ่งการขับเคลื่อนที่ผ่านมาเพื่อที่จะเสนอเป็นนโยบายในระดับประเทศ หลังจากที่ทำงานด้านสินค้าไม่ปลอดภัยโดยร่วมมือกับนักวิชาการที่ทำเรื่องใยหินแล้วพบว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากในต่างประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งในอนาคตหากจะหยุดโรคมะเร็งจากแร่ใยหินในประเทศไทยได้ก็ต้องหยุดการนำเข้าก่อน ดังนั้น คคส. จึงทำงานไปตามระบบผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการทำงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายผ่านกลไกที่มีอยู่ของรัฐ รวมถึงเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะและชักชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย

“การคุ้มครองผู้บริโภคโดยเปลี่ยนสินค้าและบริการให้มีความปลอดภัย คือปรัชญาที่แท้จริงของ คคส. ที่จะรักษาสิทธิ์ของผู้บริโภคด้านความปลอดภัย ดังนั้น บริบทงานที่ทำก็คือ การปกป้องประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ต่อมาจึงเสนอเป็นนโยบายระดับชาติผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพราะรู้ว่าต้องเสนอ ครม. เนื่องจากแค่นักวิชาการกับภาคประชาสังคมไม่เพียงพอที่จะทำการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยสำเร็จได้ ซึ่งในปี 2554 มติดังกล่าวก็ผ่าน ครม. แต่ดูเหมือนว่ารัฐจะไม่ให้ความสำคัญกับมติดังกล่าว” รศ. ดร.วิทยากล่าว

หนังสือแจ้งเตือนถึง ดร.วิทยา

การที่ รศ. ดร.วิทยา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการยกเลิกแร่ใยหินในประเทศไทยและสื่อสารสู่สาธารณะเกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน ทำให้ได้รับหนังสือแจ้งเตือนถึง 4 ครั้ง ให้หยุดการสื่อสารดังกล่าวเนื่องจากสื่อสารในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงและไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องแร่ใยหิน

ครั้งแรก เป็นหนังสือแจ้งเตือนถึงคณะบดีเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยไม่ส่งชื่อผู้ส่ง แจ้งเตือนว่า สิ่งที่ รศ. ดร.วิทยา กระทำทั้งหมดนั้นได้เก็บหลักฐานไว้หมดแล้ว และให้ รศ. ดร.วิทยาหยุดการกระทำดังกล่าว

ครั้งที่ 2 ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ส่งหนังสือแจ้งเตือนถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า รศ. ดร.วิทยา ไม่มีความรู้เรื่องแร่ใยหินแล้วสื่อสารสู่สาธารณะโดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยควบคุมดูแลด้วย

ครั้งที่ 3 บริษัททนายความในต่างประเทศมีหนังสือแจ้งมายัง รศ. ดร.วิทยา ว่าให้หยุดการให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแร่ใยหิน มิฉะนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

และครั้งที่ 4 ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ส่งหนังสือแจ้งเตือนเกี่ยวกับการให้ข้อมูลผิดๆ ของ รศ. ดร.วิทยา ไปยังฝ่ายการเมือง

จากจดหมายแจ้งเตือนทั้ง 4 ครั้ง รศ. ดร.วิทยา กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคาม ขมขู่ ซึ่งได้คุยปรึกษาหารือกับเพื่อนเช่นกัน แต่โดยส่วนตัวแล้วใครจะฟ้องร้องอะไรก็เรื่องของเขา ซึ่งตนเองก็ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและให้ข้อมูลต่อไป จะให้เขาหยุดฟ้องก็ไม่ได้แต่จะให้ไปยั่วโมโหเขาก็ไม่ทำ สิ่งที่ทำคือเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ ด้วยเห็นว่าความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ

ตัวอย่าง จดหมายเตือนจากบริษัทฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททนายความถึง รศ. ดร.วิทยา เมื่อปี 2555