ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 13) : โรงงานผลิตผ้าเบรกใช้แร่ใยหินกับความเสี่ยงทางสุขภาพ

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 13) : โรงงานผลิตผ้าเบรกใช้แร่ใยหินกับความเสี่ยงทางสุขภาพ

2 พฤษภาคม 2015


คนงานในสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินในกระบวนการผลิต ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคจากแร่ใยหิน เนื่องจากต้องสัมผัสและสูดดมฝุ่นแร่ใยหินอยู่ตลอดเวลาขณะทำงาน สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมบริษัท เคฟเท็กซ์ จำกัด ซึ่งผลิตทั้งผ้าเบรกที่ใช้และไม่ใช้แร่ใยหิน สถานประกอบการแห่งนี้มีคนงานประมาณ 30-40 คน ผลิตผ้าเบรก 3 ชนิด ได้แก่ แร่ใยหิน เมทัลลิก และนาโน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตและราคาสูงขึ้นตามลำดับ โดยโรงงานแห่งนี้เริ่มประกอบกิจการมากว่า 30 ปีแล้ว และในปัจจุบันโรงงานแจ้งว่ายังไม่พบพนักงานที่ป่วยจากแร่ใยหิน

ส่วนผสมที่มีแร่ใยหิน กำลังนำไปอัดขึ้นรูปผ้าเบรก
ส่วนผสมที่มีแร่ใยหิน กำลังนำไปอัดขึ้นรูปผ้าเบรก

ทั้งนี้กระบวนการผลิตผ้าเบรก เริ่มจากขั้นตอนการผสมวัตถุดิบ หากเป็นในอดีตจะใช้วิธีฉีกเทผสมเช่นเดียวกับการผสมปูน ซึ่งจะทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายอย่างมาก โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ที่นำเข้าถังมาจากต่างประเทศเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วซึ่งเป็นถังผสมที่มีฝาปิดมิดชิดในขณะคลุกเคล้าวัตถุดิบให้เข้ากันหลังจากที่เทวัตถุดิบต่างๆ ลงในถังแล้ว

เมื่อวัตถุดิบผสมเข้ากันดีแล้วก็เทใส่ถังใบใหญ่ ลักษณะคล้ายถังน้ำมัน ซึ่งแร่ใยหินที่ใช้ผสมเพื่อผลิตผ้าเบรกของโรงงานแห่งนี้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ แร่ใยหินเกรด 1 ซึ่งมีคุณภาพดีที่สุด โดยเนื้อผสมสูตรนี้มีสีดำ ส่วนแร่ใยหินเกรด 2 จะมีคุณภาพรองลงมาซึ่งเนื้อผสมสูตรนี้มีสีเทา และแร่ใยหินเกรด 3 จะมีเนื้อผสมสีขาว โดยใช้แร่ใยหินผสมในสัดส่วนประมาณร้อยละ 30

พนักงานกำลังเจาะรูผ้าเบรก
พนักงานกำลังเจาะรูผ้าเบรก

หลังจากนั้นก็นำวัตถุดิบที่ผสมแล้วมาขึ้นรูปทำบล็อกที่ต้องการ โดยพนักงานซึ่งใส่ผ้าปิดปาก ผ้ากันเปื้อน และถุงมือจะตักเนื้อผสมจากถังขึ้นมาชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำไปเทใส่บล็อกและกดอัดด้วยเครื่องจักรจนแน่น ก็จะได้เนื้อผสมอัดเป็นแผ่นแข็งตามที่ต้องการ ซึ่งเนื้อผสมแต่ละเกรดแต่ละถังก็จะแยกกันอัดขึ้นรูปโดยพนักงาน 1 คนที่คุมเครื่องจักรคนละ 1 เครื่อง

ต่อมาจึงนำผ้าเบรกที่ขึ้นรูปแล้วไปอบด้วยความร้อนประมาณ 300 องศาเซลเชียส จนเนื้อผสมหลอมรวมกลายเป็นแผ่นแข็งซึ่งทำให้ผ้าเบรกมีความหนาลดลงครึ่งหนึ่งจากตอนขึ้นรูป แล้วจึงนำผ้าเบรกไปเจาะรูตามรูปแบบที่กำหนด หลังจากนั้นจึงนำผ้าเบรกไปอบต่ออีก 3-4 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 180 องศาเซลเชียส

ผ้าเบรกที่เจาะรูเรียบร้อยแล้วเตรียมนำเข้าเตาอบอีกครั้ง
ผ้าเบรกที่เจาะรูเรียบร้อยแล้วเตรียมนำเข้าเตาอบอีกครั้ง

เมื่ออบผ้าเบรกได้คุณภาพตามต้องการแล้ว จึงนำมาขัดผ้าเบรกให้เรียบ โดยขั้นตอนนี้จะแยกห้องเป็นสัดส่วนชัดเจนจากขั้นตอนอื่นๆ เนื่องจากมีการฟุ้งกระจายมากที่สุด ซึ่งจะมีเครื่องขัดทั้งหมด 4 แบบ สำหรับขัดผิวหน้าผ้าเบรกที่มีความโค้งทั้งด้านใน ด้านนอก และขอบผ้าเบรกด้านกว้างทั้งสองด้าน

สุดท้ายจะมีการตรวจคุณภาพผ้าเบรกโดยดูลักษณะภายนอก เช่น แตกหัก พองบวม รวมถึงวัดคุณภาพโดยใช้ค้อนเคาะลงบนแผ่นผ้าเบรกเพื่อฟังเสียงด้วย ซึ่งต้องใช้พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบ หลังจากนั้นก็ตีตราสินค้า และบรรจุกล่องพร้อมส่งขายต่อไป

สำหรับผ้าเบรกชนิดนาโนและเมทัลลิก ซึ่งไม่ใช้แร่ใยหินนั้นก็มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับข้างต้น เพียงแต่จะใช้ส่วนผสมมากกว่าเดิมเท่าตัว คือหากใช้แร่ใยหินจะมีส่วนผสม 10 ชนิด แต่ถ้าไม่ใช้จะมีส่วนผสมเพิ่มเป็น 20 ชนิด จึงทำให้มีต้นทุนสูงกว่า รวมถึงต้องใช้ความดัน และความร้อนในการอบที่สูงกว่าผ้าเบรกที่ใช้แร่ใยหินด้วย

จากการสำรวจกระบวนการผลิตข้างต้น พบว่า คนงานทุกคนใส่ถุงมือผ้า รองเท้าผ้าใบ มีผ้ากันเปื้อน เหมือนกัน แต่ใช้ผ้าปิดปากต่างกัน โดยบางคนใช้ผ้าปิดปากแบบทั่วไปที่ใช้ป้องกันหวัดแพร่กระจาย และบางคนใช้ผ้าปิดปากอย่างดีสีเทาที่มีการกรองฝุ่น ส่วนสภาพโรงงานทั่วไปพบฝุ่นบนพื้นในปริมาณน้อยมาก ยกเว้นพื้นบริเวณเครื่องบีบอัดขึ้นรูป และห้องขัดผ้าเบรกที่มีการฟุ้งกระจาย

การเจาะรู้ผ้าเบรกตามแม่พิมพ์
การเจาะรู้ผ้าเบรกตามแม่พิมพ์

นายเชย จันมา ผู้จัดการบริษัท เคฟเท็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ราคาเป็นปัจจัยของตลาดผ้าเบรกแร่ใยหิน มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการผลิตของผู้ประกอบการ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนว่าประเทศไทยจะยกเลิกแร่ใยหินหรือไม่ ผู้ประกอบการผ้าเบรกส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้แร่ใยหินต่อไป แต่หากประเทศไทยยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินอย่างจริงจัง ธุรกิจของบริษัทไม่มีปัญหาเพราะว่าไม่มีคู่แข่งทางราคา โดยแร่ใยหินที่ใช้ในโรงงานเป็นแร่ใยหินบริสุทธิ์คุณภาพสูงซึ่งเดิมนำเข้าจากแคนาดา แต่หลังจากที่เหมืองของแคนาดาปิดลง ปัจจุบันนำเข้าจากประเทศจีนซึ่งมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท อย่างไรก็ตามนี่เป็นราคาที่สูงขึ้นมากจากเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วที่ราคาเพียงกิโลกรัม 4.50 บาท

นอกจากนี้ว่ายังกล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีข้อยุติว่าจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินหรือไม่นี้จะไม่ส่งผลให้เกิดการกักตุนแร่ใยหิน เพราะผู้ประกอบการไม่มีหลักประกันใดที่แน่นอนในอนาคต ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทน ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจและมีเงินทุนก็จะสามารถทดลองทำได้เอง แต่ผู้ประกอบที่ขาดเงินทุนคงไม่สามารถทำได้ เพราะการทดลองผลิตผ้าเบรกสูตรใหม่มีต้นทุนสูง วัตถุดิบทดแทนมีราคาแพง และรัฐบาลก็ไม่เคยแนะนำหรือชี้ชัดว่าจะให้ผู้ประกอบการใช้อะไรทดแทนแร่ใยหิน รวมถึงไม่ช่วยผู้ประกอบการเตรียมพร้อมการยกเลิกใช้แร่ใยหินด้วย ดังนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนผู้ประกอบการเรื่องการเตรียมความพร้อมและมีมาตรการยกเลิกที่ชัดเจน

สำหรับผ้าเบรกนาโนมีคุณภาพดีเทียบเท่ากับการใช้แร่ใยหิน เพียงแต่อายุการใช้งานสั้นกว่า ในขณะที่ราคาสูงกว่าประมาณร้อยละ 50 ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก โดยปัจจุบันบริษัทสามารถขายผ้าเบรกนาโนได้ประมาณร้อยละ 10 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วผ้าเบรกที่ดีต้องมีการสึกบ้างไม่ใช่ใช้จนผ้าเบรกขึ้นเงา และควรมีอายุการใช้งานไม่เกิน 8 เดือนสำหรับรถโดยสารประจำทาง และประมาณ 1 ปีของรถยนต์ทั่วไป เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

ถังดักจับฝุ่นที่เชื่อมต่อกับห้องเจียนผ้าเบรก
ถังดักจับฝุ่นที่เชื่อมต่อกับห้องเจียนผ้าเบรก

“ในส่วนของผ้าเบรกนั้น การจะยกเลิกใช้แร่ใยหินมีปัจจัยด้านราคาเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องสุขภาพดูเหมือนจะยังไม่ค่อยตระหนักกันนัก อย่างผมทำงานที่นี่มากว่า 30 ปีก็ยังไม่ป่วยหรืออาจป่วยแต่ไม่แสดงอาการก็ได้ เช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นๆ ที่พอไม่มีอาการก็ไม่รู้สึกว่าอันตราย ส่วนโรคมะเร็งปอดหลายคนเห็นว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานกับแร่ใยหินก็มีโอกาสเป็นได้ ” นายเชยกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า โรงงานมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงให้พนักงาน เช่น ใส่ผ้าปิดปาก ซึ่งชนิดของผ้าปิดปากจะแบ่งเป็น 2 ชนิดตามระดับความเสี่ยงการสัมผัสฝุ่นแร่ใยหินของพนักงาน ใส่ถุงมือและรองเท้าผ้าใบ รวมถึงมีเครื่องดูดฝุ่นภายในห้องขัดผ้าเบรกไปเก็บไว้ในถังซึ่งฝุ่นเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตซ้ำได้ และมีการทำความสะอาดโรงงานทุกวันเสาร์ ส่วนขยะอื่นๆ ในโรงงานก็จะรวบรวมไปให้เทศบาลนำไปกำจัด

นายเชยกล่าวต่อว่า การตรวจสุขภาพประจำปีพนักงาน จะประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้เข้ามาตรวจโดยการเป่าปอด ที่ผ่านมาก็พบว่าพนักงานทุกคนสุขภาพดีและไม่เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พนักงานเจ็บป่วยก็จะมีประกันสังคมและกองทุนทดแทนช่วยเหลือ

“ในอนาคต ถ้ารัฐบาลยกเลิกใช้แร่ใยหิน บริษัทเคฟเท็กซ์ก็พร้อมที่จะเลิกใช้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าตอนนี้หากนโยบายรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ถ้าบริษัทไม่ใช้แร่ใยหินก็จะขายสินค้าให้กับใครไม่ได้ด้วย ปัจจัยเรื่องราคาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแค่ราคาสูงกว่าที่อื่น 10 บาทลูกค้าก็ไม่ซื้อสินค้ากับเราแล้ว ทำให้ทุกวันนี้ผู้ประกอบการผ้าเบรกส่วนใหญ่จึงยังคงใช้แร่ใยหินต่อไปแทนที่จะเลิกใช้” นายเชยกล่าวและว่า “สำหรับลูกค้าของบริษัทเคฟเท็กซ์ร้อยละ 60-70 คือประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนลูกค้าในประเทศคือ กลุ่มรถทัวร์ รถพ่วง รถบรรทุก และกลุ่มรถเครื่องจักรก่อสร้าง”

จากการสอบถามนางอรทัย จันทมา อายุ 39 ปี พนักงานตรวจคุณภาพสินค้า บริษัท เคฟเท็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ทำงานมา 13 ปีแล้ว สุขภาพดีมาโดยตลอด ไม่เคยตรวจพบโรคผิดปกติใดๆ โดยบริษัทจะมีการตรวจสุขภาพพนักงานเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการเป่าปอด แต่ไม่มีการเอ็กซเรย์ปอด ส่วนอันตรายจากแร่ใยหินทราบว่าเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เนื่องจากศึกษาข้อมูลด้วยตนเองและบริษัทจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงาน รวมทั้งโรงงานมีมาตรการเฝ้าระวังโรคและป้องกันความเสี่ยงให้พนักงานโดยการให้ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก สวมถุงมือ และใส่รองเท้าผ้าใบ