ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” แจงงบปี’59 จัดทำแบบขาดดุล บนฐานจีดีพีโต 3.7- 4.7% รายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท รายรับ2.33 ล้านล้านบาท – สนช.โหวตผ่านฉลุย

“ประยุทธ์” แจงงบปี’59 จัดทำแบบขาดดุล บนฐานจีดีพีโต 3.7- 4.7% รายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท รายรับ2.33 ล้านล้านบาท – สนช.โหวตผ่านฉลุย

21 พฤษภาคม 2015


“ประยุทธ์” แจง งบประมาณปี’59 รายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท รายรับ 2.33 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท สนช.ใช้เวลาอภิปราย 8 ชั่วโมงเต็ม ก่อนโหวตผ่านฉลุย 186:0 เสียง

580521prayuth
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะชี้แจงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ต่อที่ประชุม สนช.

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 28/2558 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ในวาระที่ 1

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตอนหนึ่งว่า ต้องขอบคุณทุกคน สนช. ทุกคน ทุกครั้งที่มีการประชุม สนช. ตนก็จะเปิดโทรทัศน์ดูตลอด ก็เห็นถึงความตั้งใจของทุกคน เราต้องร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ และสร้างอนาคตใหม่ของประเทศไทยให้ได้ ทั้งนี้ หลังการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ คือ ตั้งงบประมาณปี 2559 ไม่เกิน 2.72ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น 2.70 ล้านล้านบาท และชดใช้เงินคงคลัง 13,536 ล้านบาท

“ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2559 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2557 และปี 2558 ที่มีปัญหาพอสมควร เป็นการวางแผนให้ต่อเนื่องไป ซึ่งการใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นทุกกลุ่มทุกฝ่าย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจไทยโดยทั่วไปในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัว 3.5-4.5% ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัว 0.7% ในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ปีนี้ทำมากกว่าปีก่อนๆ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวสูงภายหลังสถานการณ์การเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การผลิตของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งที่ผ่านมามีความผิดปกติหรือไม่ เป็นดีมานด์เทียมหรือเปล่า อยากให้ทุกฝ่ายไปคิดกัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่อาจทำให้ภาคการส่งออกฟื้นตัวล่าช้า ทั้งนี้ สถานภาพทางเศรษฐกิจในปี 2558 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ระหว่าง 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าในปี 2559 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.7-4.7% นี่คือตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ เพราะมันหยุดชะงักมานานในหลายๆ เรื่อง ต้องปรับโครงสร้าง ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการต่างๆ ทั้งหมด เพื่อให้รัฐเดินหน้าไปควบคู่กับเอกชนได้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้มากขึ้น ปัจจุบันการส่งออกของไทย 70% มาจากสินค้าการเกษตร ที่ราคาน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ตามกรอบการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งโครงการต่างๆ ของรัฐก็เริ่มมีความคืบหน้าชัดเจน การลงทุนพื้นฐานด้านคมนาคมก็ได้เร่งรัดให้เร็วขึ้น การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปี 2558 ให้ได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงก็คือราคาน้ำมันที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐลดลง และหากเงินบาทแข็งค่าจะทำให้การส่งออกลดลง ส่วนสถานภาพทางเศรษฐกิจในปี 2559 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวค่อนข้างต่ำ 1.1-2.1% ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่อง(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

งบประมาณปี2559

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่ตั้งวงเงินไว้ 2.72 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าจะจัดเก็บรายได้ 2.33 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 390,000 ล้านบาท ส่วนเงินคงคลัง 180,760 ล้านบาท รัฐจะบริหารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการได้เป็นปกติ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะการปรับโครงสร้างต้องใช้เวลา

“ปัญหาคือมันจะสงบแบบนี้ได้อีกนานเท่าไร ผมถามท่านกลับไปก็แล้วกัน เพราะประชาชน นักการเมือง หรือใครก็แล้วแต่มีส่วนร่วมกันหมด จะนิ่งได้อย่างนี้ถึงเมื่อไร ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะทุกคนมุ่งหวังจะให้ผมใช้อำนาจอย่างเดียว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักคือให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ไม่ใช่หวือหวาเป็นปีๆ ไป ทุกอย่างต้องเดินไปอย่างราบรื่น โดยยึดหลัก 2 ประการ 1. น้อมนำยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 2. ดำเนินตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อที่ประชุม สนช. ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558-2564)

กระทรวงที่ได้งบมากสุดปี 2559

จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้ลงรายละเอียดงบประมาณเป็นรายยุทธศาสตร์ ซึ่งมีทั้งหมด 9 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

  1. ยุทธศาสตร์เร่งรัดวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 247,342 ล้านบาท
  2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 240,418 ล้านบาท
  3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม 222,375 ล้านบาท
  4. ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต 994,414 ล้านบาท
  5. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 71,060 ล้านบาท
  6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 27,335 ล้านบาท
  7. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 9,099 ล้านบาท
  8. ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดิน 364,645 ล้านบาท

และ 9. รายจ่ายค่าดำเนินการภาครัฐ ซึ่งเป็นงบที่เตรียมไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 543,307 ล้านบาท

โดยสรุป พล.อ. ประยุทธ์ ใช้เวลาในการชี้แจงหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ราว 2 ชั่วโมง 15 นาที

จากนั้นสมาชิก สนช. ได้ผลัดกันลุกขึ้นอภิปรายเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก่อนจะมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง 186:0 พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จำนวน 50 คน ขึ้นมาพิจารณา รวมใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 8 ชั่วโมงเศษ