ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > เสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?”

เสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?”

28 เมษายน 2015


เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดงานเสวนา “ถึงเวลา...สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ในหัวข้อ“อันตรายของแร่ใยหิน สารทดแทน และสถานการณ์ในระดับสากล” ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดงานเสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ในหัวข้อ“อันตรายของแร่ใยหิน สารทดแทน และสถานการณ์ในระดับสากล” ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส

นักวิชาการยืนยันไครโซไทล์อันตราย โดยองค์การอนามัยโลกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์กลุ่มร้ายแรงที่สุดแล้ว อีกทั้งปัจจุบันยังมีสารทดแทนและวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้วทุกประเภท โดยเฉพาะสารทดแทนกลุ่มปิโตรเลียมที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ด้านมาตรการความปลอดภัย ช่างก่อสร้าง ช่างรื้อถอน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ภาครัฐยังเข้าไม่ถึง จำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแร่ใยหินฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศโดยรอบ ด้านภาคประชาสังคมย้ำรัฐบาลยกเลิกแร่ใยหินทันที พร้อมเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากผลักดันนโยบายสู่รัฐบาลมาเป็นการทำงานในพื้นที่ ซึ่งประสบความสำเร็จสูงมากและพร้อมขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ปี 2554 มีมติเรื่อง “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” แต่จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า โดยมีวิทยากรดังนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล, นายไพบูลย์ ช่วงทอง, นายวิญญู วานิชศิริโรจน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติวร ชูสง, นางสาวสุวดี ทวีสุข, นายยุทธศักดิ์ เอี่ยมชีรางกูร, นายธนชัย ฟูเฟื่อง, นางสาวแววดาว เขียวเกษม และนางสมบุญ สีคำดอกแค ดำเนินรายการโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี นักจัดรายการวิทยุของสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแบ่งการเสวนาเป็น 3 หัวข้อ คือ “อันตรายของแร่ใยหิน สารทดแทน และสถานการณ์ในระดับสากล”, “ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย” และ “ประสบการณ์การขับเคลื่อนเพื่อจัดการปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย”

ยกเลิกแร่ใยหินต้องทำทันที ระบุมีสารทดแทนแล้วทุกผลิตภัณฑ์

ศาสตราจารย์นายแพทย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แร่ใยหินที่ยังใช้อยู่ในประเทศไทยคือไครโซไทล์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชั้น 1 หรือสารก่อมะเร็งกลุ่มร้ายแรงที่สุดนั่นเอง ไม่ใช่สารก่อมะเร็งกลุ่มรองอย่างในอดีตอีกแล้ว นอกจากจะก่อมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดซึ่งมีความจำเพาะกับแร่ใยหินมาก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งกล่องเสียงแล้ว ยังมีผลกระทบอื่นๆ ต่อสุขภาพ เช่น โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินหรือแอสเบสโตซิส เกิดจุดหรือก้อนในปอด โรคเยื่อหุ้มปอดผิดปกติ อาทิ มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดหนา เนื้องอกในเยื่อหุ้มปอด

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แร่ใยหินอันตราย เป็นหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่องค์กรระดับโลกยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) คณะกรรมาธิการอาชีวอนามัยสากล (ICOH) ฯลฯ ซึ่งสำหรับวงการแพทย์และนักวิชาการด้านสุขภาพของไทยได้ทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศมานานแล้วในการตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินและพยายามผลักดันให้ยกเลิกการใช้

“ควรแบนแร่ใยหินไครโซไทล์ เพราะอันตรายต่อสุขภาพ โดย WHO จัดทำเอกสารล่าสุดในปี 2557 ยืนยันแล้วว่าไครโซไทล์เป็นอันตราย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ตอบโต้กับกลุ่มตรงข้ามที่มักอ้างเสมอว่าไครโซไทล์ไม่อันตรายหรืออันตรายน้อย ทั้งนี้ในประชาชนทั่วไปต้องระวังการรื้อถอนอาคารที่มีวัสดุแร่ใยหินไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย อีกทั้งต้องพัฒนาระบบการแพทย์ ทั้งด้านการวินิจฉัยโรค การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง” ศ. นพ.พรชัยกล่าว

อีกทั้งยังกล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศไทยยังพบผู้ป่วยไม่มาก เนื่องจากระบบวินิจฉัยโรคของไทยยังสู้ระบบการวินิจฉัยของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้วไม่ได้ “เมื่อประเทศที่พัฒนาแล้วยกเลิกการใช้แร่ใยหินหลังจากที่พบข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าไครโซไทล์อันตรายมากมาย ดังนั้นกลุ่มที่สนับสนุนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยมีข้อมูลอะไรมาบอกว่ายังต้องใช้แร่ใยหินอยู่ ถ้ามีก็ขอให้เอามาบอกกัน”

ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล    ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส

ศ. นพ.พรชัยกล่าวต่อว่า ประเทศที่เจริญแล้วจะมีกราฟที่แสดงช่วงเวลาการใช้แร่ใยหินสูงสุด และ 30 ปีต่อมาจะพบว่ามีผู้ป่วยจากแร่ใยหินสูงสุดเช่นกัน ซึ่งกราฟทั้งสองนี้มีนัยสำคัญที่สอดคล้องกันด้วย สำหรับประเทศไทยปัจจุบันเริ่มพบผู้ป่วยเหตุแร่ใยหินแล้ว แต่พบไม่มากเพราะระบบการเฝ้าระวัง การแพทย์ และเทคโนโลยีของไทยยังไม่ดีพอ แม้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งพยายามเรียนรู้และรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลใดต้องการลงทุนเพราะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ กับภาครัฐได้ หรือการวินิจฉัยปอดจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อขณะมีชีวิตอยู่ในขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งญาติคนไข้และคนไข้ก็ไม่ต้องการเจ็บเพิ่ม

“วัสดุทดแทนมีความแข็งแรงพิสูจน์แล้วจากต่างประเทศ และข้ออ้างที่ว่าถ้ายกเลิกแร่ใยหินแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระเบื้องแร่ใยหินที่ใช้อยู่เดิมรวมมูลค่าหลายล้านบาท เช่น กรณีรื้อคอกหมูนั้น เป็นข้ออ้างที่เกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ว่าประกาศแบนแล้วต้องทิ้งวัสดุแร่ใยหินทันที เพียงแต่หากวัสดุเก่าหมดอายุการใช้งานแล้วต้องรื้อถอนอย่างปลอดภัย ส่งไปกำจัดที่สำหรับขยะอันตราย และเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง วันนี้ประเทศไทยไม่ต้องรอพิสูจน์ใดแล้วเพื่อยกเลิกแร่ใยหิน” ศ. นพ.พรชัยกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ ช่วงทอง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเลยเวลาที่สังคมไทยไร้แร่ใยหินมานานแล้ว เพราะตามมติคณะรัฐมนตรีต้องไร้แร่ใยหินตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่ยอมเลิกใช้แร่ใยหิน และยื้อเวลายกเลิกมาโดยตลอดเพราะเป็นช่วงเวลาทำเงินทำทองของผู้ประกอบการบนความเดือดร้อนของคนอื่น

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ข้อมูลหรือโฆษณาที่กล่าวว่า “ไครโซไทล์ไม่อันตราย” นั้นเป็นคำโกหก เพราะ WHO บอกชัดเจนว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดมาโต้แย้งข้อเท็จจริงนี้ของ WHO ได้ แต่กลุ่มที่ยังสนับสนุนแร่ใยหินจะใช้ข้อมูลเก่ามาอ้างอิง

สำหรับไครโซไทล์มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ เช่น กระเบื้องหลังคาลอนคู่ ลอนเดี่ยว แต่ปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหินทั้งหมดแล้ว ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี ค้นพบว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งและเริ่มยกเลิกใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2523 โดยภาคอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้างเริ่มไม่ใช่แร่ใยหินโดยรัฐบาลมีข้อตกลงกับผู้ผลิตว่าจะไม่ผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินสู่ตลาด จนกระทั่งปี 2535 จึงสั่งห้ามผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหิน ซึ่งช่วงเวลา 12 ปีนั้นรัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและหาสารทดแทนในการผลิตใหม่ทั้งหมด

“เยอรมนีใช้เวลาถึง 12 ปีกว่าจะยกเลิกแร่ใยหินได้ เพราะเขาเริ่มต้นเองตั้งแต่ 0 ในขณะที่ประเทศไทยสามารถยกเลิกได้ทันที เพราะมีต่างประเทศให้ดูเป็นตัวอย่างจำนวนมาก แต่ที่ประเทศไทยยังไม่ยกเลิกใช้แร่ใยหินนั้นเพราะความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการ” นายไพบูลย์กล่าว

เช่นเดียวกับในกลุ่มประเทศยุโรป (EU) ที่เริ่มยกเลิกใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ 2548 และปัจจุบันแร่ใยหินเป็นสินค้าต้องห้ามของยุโรปด้วย ซึ่งต่อไปอาจจะทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหาและติดแบล็กลิสต์ของ EU ได้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเทรนด์การยกเลิกแร่ใยหินที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้บ่งบอกว่า ประเทศไทยไม่มีเทรนด์อื่นแล้วนอกจากต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เยอรมนีผลิตสินค้าทดแทนผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน คือ ซีเมนต์จากเส้นใย เช่น กระเบื้องลอนมุงหลังคา กระเบื้องแผนเรียบ แผ่นฝ้ากั้นผนัง ท่อระบายน้ำ ท่อระบายอากาศ ซึ่งตลอด 25 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามีคุณภาพไม่ด้อยกว่าสินค้าแร่ใยหิน และทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง เช่น พายุ หิมะตก ได้ดีกว่า ส่วนด้านราคาก็ไม่มีปัญหา ผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อได้

“ราคาสินค้าทดแทนแร่ใยหินจะเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5-10 ในช่วงแรกๆ แต่เมื่อยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วทั้งระบบราคาสินค้าจะถูกลงและไม่เป็นปัญหาต่อผู้บริโภค” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับสารทดแทนนายไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหินแล้วครบทุกชนิด ซึ่งมีทั้งสารธรรมชาติและโพลีเมอร์ที่ได้จากปิโตรเลียม ซึ่งในกลุ่มของผ้าเบรกและวัสดุก่อสร้างนั้นประเทศไทยสามารถผลิตสารทดแทนได้เองจากปิโตรเลียม เช่น ไวนิล ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนถูกลงกว่าการนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศเช่นปัจจุบัน

“แร่ใยหินยกเลิกวันนี้ได้ และจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในประเทศ เพราะประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยมากขึ้น ผู้ประกอบการก็พูดได้เต็มปากว่าผลิตสินค้าปลอดแร่ใยหิน และการยกเลิกใช้แร่ใยหินไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเจ๊ง เพราะการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 วันหนึ่งจะถึงจุดคุ้มทุน” นายไพบูลย์กล่าวและว่า สินค้าปลอดแร่ใยหินจะเป็นสินค้าฮาลาลที่ทำให้ชาวมุสลิมเลือกใช้สินค้าได้สะดวกใจขึ้น เพราะตามหลักศาสนาอิสลามแล้วห้ามใช้สินค้าที่จะก่ออันตรายต่อชีวิต อีกทั้งสังคมอาจต้องให้ความรู้กับวัดต่างๆ ถึงอันตรายของแร่ใยหิน เนื่องจากบ่อยครั้งที่มีผู้บริจาคสินค้ามีแร่ใยหินให้กับวัด ทั้งนี้ในอนาคตหากผู้บริโภครวมตัวกันก็สามารถฟ้องผู้ประกอบการที่ยังใช้แร่ใยหินได้ เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศ

วิญญู วานิชศิริโรจน์ กรรมการบริหาร สมาคมสถาปนิกสยาม ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
วิญญู วานิชศิริโรจน์ กรรมการบริหาร สมาคมสถาปนิกสยาม ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส

ด้านนายวิญญู วานิชศิริโรจน์ ผู้แทนสภาสถาปนิก กล่าวว่า เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ยังเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์ก็สอนเรื่องวัสดุแร่ใยหินมาตลอด นักศึกษาต่างก็ทราบว่าแร่ใยหินเป็นอันตราย หลายคนก็ตระหนักถึงและให้ความสำคัญ แต่เมื่อเรียนจบมาทำงานจริงๆ ก็พบว่า ในตลาดวัสดุก่อสร้างสถาปนิกมีทางเลือกน้อยมากที่จะไม่ใช้แร่ใยหิน โดยสินค้าในสมัยนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กระเบื้องซีเมนต์ซึ่งมีแร่ใยหินและกระเบื้องคอมแพคซึ่งก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ไม่ได้ ดังนั้นอาคารส่วนใหญ่จึงต้องใช้วัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหิน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะสถาปนิกก็ตระหนักเรื่องแร่ใยหินอยู่เสมอ และพยายามถามพนักงานขายบริษัทต่างๆ ว่าจะผลิตสินค้าปลอดแร่ใยหินหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน แต่ประมาณปี 2529 ประเทศไทยก็เริ่มมีสินค้าปลอดแร่ใยหินชนิดแรก คือ กระเบื้องยาง ของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งจะผลิตสินค้าทั้งที่มีแร่ใยหินและไม่มีแร่ใยหินเพื่อให้ลูกค้าเลือก ซึ่งปรากฏว่าลูกค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะสถาปนิกเลือกใช้ที่ปลอดแร่ใยหิน จึงทำให้บริษัทผลิตกระเบื้องยางอื่นๆ ต้องปรับตัวเลิกใช้แร่ใยหินเช่นกัน จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักแล้วว่ากระเบื้องยางจะปลอดแร่ใยหิน

ส่วนกระเบื้องลอนคู่ที่ใช้มุงหลังคานั้นต่อสู้กันทางตลาดมาอย่างยาวนานมาก แต่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่และบริษัทส่วนใหญ่ยังคงใช้แร่ใยหินอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทรายเล็กที่เริ่มผลิตกระเบื้องไร้แร่ใยหินบ้าง แต่มีจุดที่น่าสนใจคือ การโฆษณาว่าสินค้านี้ไม่มีแร่ใยหินนั้นกลับมีขนาดเล็กมากๆ ในพื้นที่โฆษณา

“ถ้าตลาดมีทางเลือกให้ไม่ต้องใช้แร่ใยหิน สถาปนิกก็เลือกไม่ใช้แร่ใยหิน ซึ่งการผลักดันต้องอาศัยพลังผู้บริโภคอย่างมากเพื่อให้รัฐบาลและผู้ประกอบการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งนี้ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีตคงไม่เพียงพอแล้ว เพราะปัจจุบันมีสื่อมากมายให้ประชาชนเลือกเสพ” นายวิญญูกล่าว

แร่ใยหินพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและหากรื้อถอนต้องระวังการฟุ้งกระจาย

เสวนาถึงเวลา..สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?  ในหัวข้อ “ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย”             ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
เสวนาถึงเวลา..สังคมไทยไร้แร่ใยหิน? ในหัวข้อ “ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย”
ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส

ในช่วงที่ 2 ของการเสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ในหัวข้อ“ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติวร ชูสง ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการศึกษาการตรวจหาแร่ใยหินอากาศ พบว่า แร่ใยหินพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศทั่วๆ ไปในเมือง อากาศรอบๆ เหมืองแร่ใยหิน อากาศบนท้องถนนซึ่งอาจมีแร่ใยหินหลุดมาจากผ้าเบรก อากาศระหว่างการทุบอาคารที่รื้อวัสดุที่มีแร่ใยหินออกไปหมดแล้ว ฯลฯ โดยที่จำนวนเส้นใยของแร่ใยหินที่พบนั้นอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าค่ามาตรฐานก็ได้

นอกจากนี้ ในประเทศออสเตรเลียยังได้จัดประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสแร่ใยหินออกเป็น 5 ระดับตามสัดส่วนการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินจากมากไปหาน้อย คือ ผู้ที่ทำงานในเหมืองหรือโรงงานที่ใช้วัสดุแร่ใยหิน ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานตกแต่งหรือปรับปรุงบ้านบางส่วน ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั่วไป

ผศ. ดร.ฐิติวร กล่าวต่อว่า จากการวิจัยยังพบว่าหลายๆ ประเทศมีการทำคู่มือการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัยให้กับผู้รับเหมาและช่างก่อสร้างในประเทศเพื่อรองรับการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ในขณะที่ประเทศยังไม่มีคู่มือดังกล่าว ดังนั้นจึงทำโครงการกำหนดมาตรการควบคุมและขั้นตอนการรื้อถอนซ่อมแซมอาคารที่มีแร่ใยหิน เพื่อศึกษามาตรการที่จำเป็นเบื้องต้นและผลิตเป็นคู่มือให้กับช่างก่อสร้างนำไปปฏิบัติตาม

“หลักการสำคัญของการรื้อถอนวัสดุที่มีแร่ใยหินคือ ระวังการแตกหักโดยเฉพาะบริเวณมุมของแผ่นกระเบื้องหรือฝ้าเพดานระหว่างการถอนน็อตหรือตะปู เพราะจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศ ดังนั้นจึงต้องพรมน้ำที่ตัวปูหรือน็อตก่อนการถอนด้วย หลังจากนั้นให้นำวัสดุไปกำจัดตามวิธีการกำจัดขยะอันตรายที่ถูกต้อง” ผศ. ดร.ฐิติวร กล่าว

ปัจจุบันทีมผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือเสร็จเรียบร้อยแล้วในชื่อ “การรื้อวัสดุที่มีแร่ใยหิน” ซึ่งได้เผยแพร่สู่ช่างก่อสร้างและสาธารณชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาช่างรื้อถอนหรือผู้รับเหมาก่อสร้างมีความพร้อมที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัย แต่มีอุปสรรคสำคัญคือ ไม่มีข้อมูลว่าต้องรื้อถอนอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งจากคู่มือดังกล่าวจะต้องทบทวนวรรณกรรมเพิ่มเติมและวิจัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายขนาดการรื้อถอนให้ครอบคลุมอาคารในทุกประเภท

เลิกใช้แร่ใยหินอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นางสาวสุวดี ทวีสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยแรงงาน สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องแร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2549 และทำงานมาโดยตลอด แต่ที่ยังไม่สามารถยกเลิกในปัจจุบันเพราะติดอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องประกาศให้ไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เสียก่อน แต่มติของทุกฝ่ายในขณะนี้คือจะไม่ใช้แร่ใยหิน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีว่าจะยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีอันตรายก็ยังจำเป็นต้องบังคับใช้อยู่ เนื่องจากหลังจากประกาศยกเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์แร่ใยหินบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในสังคม

“แร่ใยหินจะยกเลิกหรือไม่ ทุกฝ่ายต้องเอาความจริงมาพูดให้สังคมรับทราบว่า แม้จะยกเลิกใช้แร่ใยหินแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหลังคาบ้านทันที ยังสามารถใช้ได้แต่หากรื้อถอนต้องระวังการฟุ้งกระจาย อย่าสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าถ้ายกเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว ทุกคนต้องเปลี่ยนหลังคาที่มีแร่ใยหินทั้งหมดในทันที ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของประชาชนเช่นนี้จะกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านอยู่เสมอ” นางสาวสุวดีกล่าว

นอกจากนี้ ทางกรมแรงงานยังควบคุมความปลอดภัยจากการทำงานโดยกำหนดค่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศ กำหนดระเบียบการทำงาน การใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การฝึกอบรมพนักงานของนายจ้างโดยเฉพาะช่างก่อสร้าง ซึ่งจะให้คู่มือ “การรื้อวัสดุที่มีแร่ใยหิน” แก่นายจ้างเพื่อใช้เป็นแนวทางไปอบรมช่างก่อสร้าง ทั้งนี้ คู่มือดังกล่าวเป็นเพียงวิธีปฏิบัติง่ายๆ ที่คนไทยสามารถทำได้ ซึ่งสำหรับบริษัทข้ามชาติจะต้องมีมาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้น

สำหรับแนวทางการเฝ้าระวังโรคปอดจากการทำงานที่สัมผัสแร่ใยหินนั้น กรมแรงงานทำเฉพาะสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเสี่ยงที่เป็นช่างก่อสร้างที่เป็นผู้รับเหมารายย่อย นอกจากนี้ ประชาชนต้องป้องกันตนเองจากการสัมผัสแร่ใยหินด้วย ส่วนโรงงานที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบนั้นกรณีการผลิตกระเบื้องจะใช้ระบบเปียกจึงไม่มีปัญหาการฟุ้งกระจายมากเท่าโรงงานผลิตผ้าเบรกที่ต้องใช้ระบบแห้งในการผลิตจึงการฟุ้งกระจายสูง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสถานประกอบการระหว่างปี 2549-2551 พบว่า โรงงานผลิตผ้าเบรกประมาณร้อยละ 90 ไม่ใช่แร่ใยหินแล้ว ซึ่งผ้าเบรกแร่ใยหินที่ผลิตอยู่นั้นเป็นตลาดล่าง

นายยุทธศักดิ์ เอิ่ยมชีรางกูร ผ้าเบรก เอส ซี เอช อินดัสตรี้  ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
นายยุทธศักดิ์ เอิ่ยมชีรางกูร ผ้าเบรก เอส ซี เอช อินดัสตรี้ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส

ผ้าเบรกปลอดแร่ใยหิน เทรนด์ใหม่ของโลก

ด้านนายยุทธศักดิ์ เอี่ยมชีรางกูร ผู้แทนบริษัท เอส ซี เอช อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ผลิตผ้าเบรกปลอดแร่ใยหิน กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 โดยนำเข้าผ้าเบรกมาจากต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นนำเข้าผ้าเบรกที่มีแร่ใยหิน ต่อมาเจ้าของบริษัทมีความคิดที่จะไม่ใช้แร่ใยหินเลยตั้งโรงงานเพื่อผลิตผ้าเบรกที่ไม่ใช้แร่ใยหินขึ้นในปี 2543 โดยเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกับประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ผ้าเบรกที่ใช้อยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน หากเป็นดิสเบรก ร้อยละ 99 จะไม่ใช้แร่ใยหินแล้ว ส่วนที่เป็นเบรกไลนิ่งส่วนใหญ่จะใช้แร่ใยหิน สำหรับกระบวนการผลิตผ้าเบรกที่เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายมากที่สุดคือการผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

สำหรับวิวัฒนาการการเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์เบรกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2513 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่พบว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง แล้วเริ่มหาสารทดแทนแร่ใยหิน เช่น เส้นใยเซรามิก เส้นใยคาร์บอน เส้นใยแก้ว Rockwool และเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ แต่ปัจจุบันไม่ใช้เส้นใยแก้วแล้วเนื่องจากมีปัญหาในการผสมรวมกับวัตถุดิบอื่นๆ และต่อมาในปี 2518 ก็กลายเป็นเทรนด์ของโลกที่ไม่ใช้แร่ใยหินผลิตผ้าเบรก ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

“สารทดแทน เช่น Rockwool ไม่เป็นพิษต่อร่างกายและสามารถย่อยสลายในร่างกายใน 45-60 วัน แต่ปัจจุบันผู้ผลิตยังคงใช้แร่ใยหิน เพราะในการผลิตผ้าเบรกมีส่วนผสมของแร่ใยหินประมาณร้อยละ 40-70 ซึ่งการปรับสูตรไปใช้สารทดแทนจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเป็นพันเท่า เพราะสารทดแทนบางชนิดแพงถึงกิโลกรัมละ 1000 บาท ในขณะที่แร่ใยหินราคากิโลกรัมละ 10 บาท” นายยุทธศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผ้าเบรกสามารถเปลี่ยนไปใช้สารอื่นแทนแร่ใยหินได้ และควรจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินเพราะผู้ประกอบการผ้าเบรกมีความพร้อม และทั่วโลกกำลังยกเลิกแร่ใยหินด้วย เช่น จีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่กำลังเตรียมผลิตดิสเบรกที่ปลอดแร่ใยหินร้อยละ 100 และผลิตเบรกไลนิ่งที่ปลอดแร่ใยหินร้อยละ 70 ทั้งนี้ภาครัฐควรสนับสนุนการยกเลิกแร่ใยหินด้วยเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภาคประชาสังคมผลักดันการยกเลิกแร่ใยหินเฉพาะพื้นที่

เสวนาถึงเวลา..สังคมไทยไร้แร่ใยหิน? ในหัวข้อ “ประสบการณ์การขับเคลื่อนเพื่อจัดการปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย” ที่มาภาพ : ยุทธศักดิ์ เอิ่ยมชีรางกูร ผ้าเบรก เอส ซี เอช อินดัสตรี้ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
เสวนาถึงเวลา..สังคมไทยไร้แร่ใยหิน? ในหัวข้อ “ประสบการณ์การขับเคลื่อนเพื่อจัดการปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย” ที่มาภาพ : ยุทธศักดิ์ เอิ่ยมชีรางกูร ผ้าเบรก เอส ซี เอช อินดัสตรี้ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส

นายธนชัย ฟูเฟื่อง หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ทำงานเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ คคส. มาโดยตลอด และพบว่าแร่ใยหินเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคยังไม่รับรู้ ซึ่งชาวเชียงรายถือเป็นพื้นที่กลุ่มเสี่ยงด้วย ดังนั้นจึงเริ่มต้นทำงานขยายผลไปทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย เพื่อทำให้เป็นจังหวัดที่ปลอดแร่ใยหิน

อีกทั้งยังกล่าวว่า การทำงานเริ่มแรกคือเสนอแผนงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หลังจากผู้ว่าฯ เห็นชอบก็ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกอำเภอของเชียงรายรวม 18 แห่ง และเลือกพื้นที่นำร่องของแต่ละอำเภอโดยคัดเลือกเทศบาลตำบลที่เหมาะสมมากที่สุด

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เมื่อได้พื้นที่ต้นแบบแล้ว จึงลงพื้นที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหินกับประชาชนในท้องที่ ทั้งเรื่องวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน อันตราย และวิธีการรื้อถอนที่ปลอดภัย หลังจากนั้นจะให้แต่ละชุมชนหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอันตรายจากแร่ใยหินในพื้นที่ของตนเองอย่างไร แล้วทางทีมงานก็จะสนับสนุนแนวความคิดนั้นเพื่อการปฏิบัติจริง

“ผลสำเร็จของพื้นที่นำร่องแต่ละแห่งคือ การออกประกาศเทศบาลตำบล เรื่อง กำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งเริ่มประกาศใช้ในปี 2556 ปัจจุบันมีแล้วรวม 18 ตำบล ซึ่งประกาศนี้จะกำหนดให้ผู้ที่ต้อการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินต้องมาแจ้งการรื้อถอนกับเทศบาล หลังจากนั้นทางเทศบาลจะต้องติดป้ายเตือนว่าเป็นเขตอันตรายกำลังรื้อวัสดุแร่ใยหิน ด้านช่างรื้อถอน ต่อเติม ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานด้วย” นายธนชัยกล่าว

ทั้งนี้ แร่ใยหินเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ซึ่งหน่วยงานต้องออกมาพูดอย่างจริงจังและมีคำสั่งอย่างต่อเนื่อง ด้าน อปท. ต้องสร้างความร่วมมือกับคนในพื้นที่อย่างจริงจังด้วย

ด้านนางสาวแววดาว เขียวเกษม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ เป็นสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2552 และทำงานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ และมีสมัชชาผู้บริโภคที่ผลักดันมติเข้าสู่สมัชชาสุขภาพในปี 2553 ที่มีมติเรื่องมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยทำข้อตกลงร่วมกับ คคส. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รณรงค์ให้ผู้บริโภคตระนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน

สำหรับการขับเคลื่อนมติเรื่องแร่ใยหินที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือติดตามไปยังนายกรัฐมนตรีของทุกรัฐบาลเพื่อตอกย้ำถึงอันตรายของแร่ใยหินที่รัฐบาลควรยกเลิกทันที แต่การขับเคลื่อนด้วยวิธีก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ทางมูลนิธิจึงปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการผลักดันมาเรื่อยๆ เป็นช่วงๆ โดยยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และล่าสุดได้หันมาทำงานรณรงค์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ในกรุงเทพฯ แบ่งพื้นที่การทำงานเป็น 6 ส่วน เริ่มจากลงพื้นที่พูดคุยในชุมชน เพื่อสำรวจและให้ความรู้ว่าวัสดุที่มีแร่ใยหินอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดบ้าง แร่ใยหินมีอันตรายอย่างไร และประชาชนมีวิธีป้องกันตัวเองรับสัมผัสแร่ใยหินอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า 4 จาก 6 พื้นที่สำรวจมีผู้ป่วยมะเร็งที่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งมีทั้งช่างก่อสร้าง ช่างตัดกระเบื้อง วิศวกร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองขณะทำงาน และทำงานสัมผัสแร่ใยหินมานานกว่า 10 ปี รวมถึงขอความร่วมมือกับร้านค้าวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ไม่จำหน่ายวัสดุที่มีแร่ใยหิน” นางสาวแววดาวกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การรณรงค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จมาก และได้ผลดีกว่าการขับเคลื่อนด้วยวิธีการอื่นๆ เพราะรัฐบาลมีเงื่อนไขทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งชี้ชัดว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ผู้บริโภคสู้ด้วยนโยบายไม่ไหว

“เราเสนอนายกรัฐมนตรีตลอดมาว่าแร่ใยหินต้องยกเลิกทันที แต่ผ่านมา 5 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ถึงแม้ว่านายกฯ จะเป็นเพื่อนกับรัสเซีย แต่การแลกเปลี่ยนต่างๆ ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย และอยากให้สั่งยกเลิกทันทีโดยใช้มาตรา 44 และรณรงค์ให้ประชาชนไม่ใช้แร่ใยหินต่อไปในอนาคต” นางสาวแววดาวกล่าว

สำหรับนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาเครือข่ายฯ คือการรวมตัวกันของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการทำงาน รวมถึงรับเรื่องราวร้องทุกข์จากแรงงานด้วย เพื่อช่วยเหลือคนจนด้วยกัน และในฐานะที่ตัวเองก็เป็นผู้ป่วยจากการทำงานเช่นกันด้วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ต่อมาเมื่อรับทราบเรื่องแร่ใยหินก็ได้ประชาสัมพันธ์ความรู้ไปสู่แรงงาน เช่น ผ่านการอบรมให้กับเครือข่าย เช่น กทม.-นนทบุรี ปทุมธานี-รังสิต อยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพราะการอ่านเอกสารด้วยตัวเองนั้นเข้าใจยากมาก

นอกจากนี้ในปี 2537 ได้ผลักดันให้เกิดคลินิกโรคจากการทำงานซึ่งปัจจุบันมีกว่า 80 แห่ง เพื่อตรวจรักษาแรงงานที่ป่วยจากการทำงาน ซึ่งในขณะนั้นขาดทั้งแพทย์และคลินิกทำให้ไม่มีข้อมูลแรงงานที่ป่วยจากการทำงาน และตรวจไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรค จะตรวจทราบเฉพาะอาการของโรคเท่านั้น

ต่อมาในปี 2554 จึงได้เข้าร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทยหรือทีแบน (T-BAN) ในการทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการทำงานของภาครัฐในการยกเลิกแร่ใยหิน เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้ติดตามการประชุมของ สธ. เพื่อหาข้อสรุปว่าแร่ใยหินอันตรายหรือไม่ โดยติดตามและกดดันอยู่ถึง 2 ปี สธ. จัดประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง ในที่สุด สธ. ก็มีมติว่าแร่ใยหินอันตราย หลังจากนั้นจึงนำมติ สธ. ไปแสดงต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ดำเนินการยกเลิกแร่ใยหิน แต่กลับได้รับคำตอบว่าส่งแผนงานยกเลิกแร่ใยหินไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

“ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า รอมติของ สธ. ก่อนจึงจะเสนอแผนยกเลิกแร่ใยหินไปยัง ครม. แต่เมื่อ สธ. มีมติแล้วกลับบอกว่าเสนอแผนไปยัง ครม. แล้วโดยที่ไม่รอมติ สธ. เลย นั่นก็คือแผนเสนอยกเลิกแร่ใยหินเดิมที่ทำขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั่นเอง” นางสมบุญกล่าว

นางสมบุญกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนใจดี แต่ไม่ยอมใช้อำนาจที่มีพิจารณาแล้วสั่งการเองว่ากระทรวงต่างๆ ต้องทำอะไรบ้าง กลับบอกให้กระทรวงต่างๆ ไปคุยกันเอง ซึ่งแต่ละกระทรวงต่างมีผลประโยชน์ต่อกัน ดังนั้น การรายงานข้อเท็จจริงไปยังนายกฯ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนจนสร้างความเข้าใจผิด จึงอยากให้ฝากสื่อส่งข้อมูลที่ถูกต้องไปถึงนายกฯ เพื่อให้แก้ปัญหาคนจน ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินทันที และจัดตั้งกองทุนผู้ป่วยโรคจากการทำงานด้วย

เสวนา"ถึงเวลา...สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?“ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
เสวนา”ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?“ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส