ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดพฤติกรรมติดตามสื่อรัฐบาล คสช. “ประยุทธ์” อ่าน นสพ. วันละ 10 ฉบับ – “มติชน” ได้รับความนิยมสูงสุด

เปิดพฤติกรรมติดตามสื่อรัฐบาล คสช. “ประยุทธ์” อ่าน นสพ. วันละ 10 ฉบับ – “มติชน” ได้รับความนิยมสูงสุด

1 เมษายน 2015


 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะชู "จดหมายข่าวเพื่อประชาชน" สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล ที่มาภาพ : http://www.khaosodenglish.com/detail.php?newsid=1425994126&section=00
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะชู “จดหมายข่าวเพื่อประชาชน” สื่อสิ่งพิมพ์ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล ที่มาภาพ: http://www.khaosodenglish.com/detail.php?newsid=1425994126&section=00

อาการหงุดหงิดของ “บิ๊กตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่แสดงออกผ่านการให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 นอกเหนือไปจากกรณี “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ ยังรวมไปถึงกรณีของ “คอลัมนิสต์บางคน-หนังสือพิมพ์บางฉบับ” ที่ถูก พล.อ. ประยุทธ์กล่าวตำหนิชนิดลงรายละเอียดทีละราย ก่อนจะขู่ว่าพร้อมจะใช้คำสั่ง คสช.ปิดสื่อที่นำเสนอข่าวให้เกิดความแตกแยก

ความจริงท่าทีเช่นนี้ของท่านผู้นำไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ หากย้อนไปดูข่าวเก่าๆ ก็จะเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นายพลอารมณ์ร้อนคนนี้ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่ออยู่เป็นระยะ อาทิ

– ขอให้ยกเลิกการใช้คำพาดหัวว่า “คุย-โว-ฟุ้ง-ปัด-ตีปี๊บ-ฮึ่ม” เพราะเป็นความหมายเชิงลบ ไม่สร้างสรรค์ (4 พฤศจิกายน 2557)

– ขอร้องสื่อ ทั้งเจ้าของ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ สื่อมวลชน พิธีกรรายการ ให้เข้าใจสถานการณ์การเมือง หากใช้เสรีภาพไม่มีขอบเขต อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี (21 พฤศจิกายน 2557)

– บอกสื่อเองก็ต้องปฏิรูป หนังสือพิมพ์บางฉบับอ่านแล้วโมโห บ้าหรือไง ใครมาก็ด่าหมด คราวนี้ตนจะปิดจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะมีกฎอัยการศึก มีมาตรา 44 ไว้ทำไม (25 ธันวาคม 2557)

– ตำหนิช่างภาพหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า จิตใจต่ำ กรณีถ่ายภาพขณะกำลังชูบางนิ้วที่อาจดูไม่เหมาะสม (29 มกราคม 2558)

– พูดบนเวทีสัมมนาว่า อยากชกหน้านักข่าว ที่ถามว่ารัฐบาลมีผลงานอะไร (6 มีนาคม 2558)

ฯลฯ

ที่มาภาพ : http://news.voicetv.co.th/thailand/31632.html
ที่มาภาพ: http://news.voicetv.co.th/thailand/31632.html

น่าสังเกตว่า สื่อที่ถูก พล.อ. ประยุทธ์อ้างถึง มักจะเป็นสื่อดั้งเดิมอย่าง “หนังสือพิมพ์” ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากรู้ถึงพฤติกรรมการมอนิเตอร์ข่าวสารของบุคคลสำคัญในรัฐบาลชุดนี้ ที่ยังคงติดตามข่าวสารผ่าน “หนังสือพิมพ์” เป็นหนึ่งในช่องทางหลัก

ต้อนรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 6 เมษายน 2558

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเปิดเผย “พฤติกรรมการอ่าน” หนังสือพิมพ์รายวัน-นิตยสารข่าว ของบุคคลสำคัญในทำเนียบรัฐบาล ทั้งที่นั่งทำงานอยู่ในตึกไทยคู่ฟ้า (นายกฯ เลขาธิการนายกฯ และคณะทำงาน) – ตึกบัญชาการ (รองนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯ รองเลขาธิการนายกฯ และข้าราชการการเมืองอื่นๆ) – ตึกนารีสโมสร (โฆษกประจำสำนักนายกฯ และสำนักโฆษก)

ที่จากการตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล มีการสั่งซื้อสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน-นิตยสารข่าว โดยใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาให้กับบุคคลสำคัญในทำเนียบรัฐบาลอ่าน ตลอดปีงบประมาณ 2558 (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ใช้งบประมาณ 4.9 แสนบาท, 2.2 แสนบาท และ 2 แสนบาท

แบ่งเป็นการจัดซื้อหนังสือพิมพ์ 16 หัว ได้แก่ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, โพสต์ทูเดย์, ข่าวสด, ผู้จัดการรายวัน (เอเอสทีวีผู้จัดการ), กรุงเทพธุรกิจ, บางกอกโพสต์, คมชัดลึก, ไทยโพสต์, สยามรัฐ, เดอะเนชั่น, ประชาชาติธุรกิจ, บ้านเมือง, ฐานเศรษฐกิจ และแนวหน้า

และนิตยสารข่าวอีก 8 หัว ได้แก่ มติชนสุดสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, บางกอกทูเดย์, Time, The Economist และ Asian Wall Street Journal

รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 47,656 ฉบับ !

“บิ๊กตู่” อ่าน นสพ. วันละ 10 ฉบับ-โฆษกรัฐบาลตามสื่อมากสุด

เมื่อสแกนพฤติกรรมการอ่านรายบุคคลจะพบว่า

ทุกเช้า เจ้าหน้าที่ของทำเนียบจะนำหนังสือพิมพ์รายวันไปวางไว้บนโต๊ะทำงานของ พล.อ. ประยุทธ์ รวม 10 ฉบับ ขณะที่ปลายสัปดาห์ นิตยสารข่าวอีก 3 ฉบับ อย่าง “มติชนสุดสัปดาห์” “เนชั่นสุดสัปดาห์” และ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” จะถูกนำมาวางควบคู่กัน

“บิ๊กอ๋อ” พล.อ. วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คนรู้ใจของ พล.อ. ประยุทธ์ นอกจากอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรายวัน 10 ฉบับ ยังติดตามข่าวสารโลกผ่าน “นิตยสารไทม์” และ “ดิอีโคโลมิสต์”

“หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ นอกจากอ่านหนังสือพิมพ์วันละ 9 ฉบับ นิตยสารข่าวสัปดาห์ละ 3 ฉบับ ยังอัปเดตข่าวเศรษฐกิจทุกวันผ่าน “โพสต์ทูเดย์-กรุงเทพธุรกิจ”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อดีตคอลัมนิสต์ของ “มติชน-เดลินิวส์” แม้จะวางปากกาไปนานแล้ว แต่ยังติดตามหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับนี้อยู่ รวมถึงหนังสือพิมพ์อื่นๆ อีก 6 ฉบับ ปลายสัปดาห์ยังต้องอ่านนิตยสารข่าว มติชนสุดสัปดาห์ กับเนชั่นสุดสัปดาห์

ด้าน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรองข่าวสารบ้านเมืองผ่านหนังสือพิมพ์วันละ 10 ฉบับ ทั้งหนังสือพิมพ์การเมืองและเศรษฐกิจ

แต่คนที่ต้องติดตามข่าวสารมากที่สุด ตามภาระหน้าที่ หนีไม่พ้น “หมอยงยุทธ” ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สั่งซื้อนิตยสารมาอ่านถึงวันละ 16 ฉบับ และนิตยสารข่าวอีก 5 ฉบับ เรียกว่าไม่มีทางพลาดข่าวสารสำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นแน่

(ดูรายละเอียด ใครอ่านหนังสือพิมพ์-นิตยสารข่าวอะไร)

ครม.ประยุทธ์อ่านนสพ.อะไร

บิ๊กทำเนียบ สั่งซื้อ “มติชน” มาอ่าน สูงสุด

ที่น่าสนใจ หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช. กลับไม่ใช่หนังสือพิมพ์หัวสีมียอดขายอันดับหนึ่งของประเทศ อย่าง “ไทยรัฐ” แต่เป็น “มติชน”

วัดจากจำนวนการสั่งซื้อ อันดับหนึ่ง มติชน จำนวน 5,775 ฉบับ ตามมาด้วย ไทยรัฐ จำนวน 5,731 ฉบับ และ เดลินิวส์ จำนวน 5,040 ฉบับ

แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จะเพิ่งกล่าวถึงมติชนว่า “ไหน เครือมติชนอยู่ไหน ไปดู เขียนให้ดี อย่าเขียนให้มันเข้าข้างฝ่ายโน้นให้มากนักนะ ผมจะบอกให้ รัฐบาลที่แล้วมติชนน่ะ ขายกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด คุณไปรื้อดู กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ซื้อเฉพาะมติชน ทำให้ฉบับอื่นขายกันไม่ออก”

แต่จากยอดการสั่งซื้อ “มติชน” กลับเป็นหนังสือพิมพ์เบอร์หนึ่งของคนในทำเนียบ หากรวมหนังสือพิมพ์ในเครือเดียวกัน อย่าง “ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ” ก็จะมียอดสั่งซื้อรวมกันเกือบ 10,000 ฉบับ!

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้น ก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของพฤติกรรมการติดตามข้อมูลข่าวสารของบุคคลสำคัญในรัฐบาล ผ่านสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ ยังไม่รวมถึงการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ ไปจนถึงโซเชียลมีเดีย

“บิ๊กป๊อก” พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์เป็นคนที่มีความจำดีมาก และติดตามข่าวสารทางด้านสื่อมวลชนทุกแขนง ทุกฉบับ และทุกรูปแบบ รวมไปถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งด้านบวกและลบ

“ท่านนายกฯ มักจะดูโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วมักจะไลน์หรือโทรมาหาผมเสมอเพื่อถามความคืบหน้างาน ผมก็เคยถามไปว่า ดูทำไมมีแต่คนด่า ตัวท่านนายกฯ เองตอบว่า ไม่ฟังแล้วจะรู้ว่าเขาด่าได้อย่างไร” พล.อ. อนุพงษ์กล่าว

 จากยอดสั่งซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลชุดนี้เกือบ 5 หมื่นฉบับ หนังสือพิมพ์ "มติชน" ถือเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุด
จากยอดสั่งซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลชุดนี้เกือบ 5 หมื่นฉบับ หนังสือพิมพ์ “มติชน” ถือเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ด้วยพฤติกรรมการติดตามข่าวสารผ่านสื่อหลายชนิด หลากแขนง และจดจำ ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่เป็นคนโผงผาง อารมณ์ร้อน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน หากในอนาคตจะได้เห็นภาพ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมากล่าวตำหนิสื่อใดสื่อหนึ่ง หรือฉบับใดอย่างหนึ่งอีก

ยิ่งตัวบิ๊กตู่ มีแนวคิดว่า “สื่อมีหน้าที่ดูแลบ้าน ให้เจ้าของบ้าน ไม่ใช่มาเล่นงานเจ้าของบ้าน” ขณะที่สื่อจำนวนไม่น้อยยังถือหลักการพื้นฐานในการทำงาน คือ ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ

สื่อกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้ จึงน่าจะเป็น “ลิ้นกับฟัน” ไปอีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่ชายชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่บนเก้าอี้ประมุขแห่งตึกไทยคู่ฟ้า

ป้ายคำ :