ThaiPublica > เกาะกระแส > “หม่อมอุ๋ย”เตรียมล้างขาดทุนจำนำข้าว โอนหนี้เป็นภาระคลัง 7 แสนล้าน – จัดงบฯคืนธ.ก.ส. สั่ง สบน.ทยอยออกพันธบัตร

“หม่อมอุ๋ย”เตรียมล้างขาดทุนจำนำข้าว โอนหนี้เป็นภาระคลัง 7 แสนล้าน – จัดงบฯคืนธ.ก.ส. สั่ง สบน.ทยอยออกพันธบัตร

10 เมษายน 2015


เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แถลงผลประกอบการปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2556 – 31 มีนาคม 2557) พร้อมกับเปิดตัวโครงการปลดหนี้เกษตรกรอย่างเป็นทางการ

นายลักษณ์กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อเกษตรทั้งสิ้น 1,089,764 ล้านบาท รับฝากเงิน 1,233,956 ล้านบาท มีรายได้รวม 74,647 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,000 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 3.4% ส่วนปี 2558 ตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่ 76,700 ล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการเกษตร, สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชน, สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน, สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน และสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทานผ่านสหกรณ์การเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้ารับฝากเงินเพิ่ม 65,000 ล้านบาท ดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3.5% และคาดว่าปี 2558 มีกำไรสุทธิ 10,500 ล้านบาท

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แถลงผลประกอบการปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2556–31 มีนาคม 2557) พร้อมกับเปิดตัวโครงการปลดหนี้เกษตรกร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แถลงผลประกอบการปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2556–31 มีนาคม 2557) พร้อมกับเปิดตัวโครงการปลดหนี้เกษตรกร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558

จัดงบฯคืนธ.ก.ส.4.7 หมื่นล้าน – สั่ง สบน.ออกพันธบัตร 7 แสนล้าน โอนหนี้จำนำข้าว

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงแนวทางการบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว นายลักษณ์กล่าวถึงหนี้ก้อนนี้ว่า ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกตนเข้าไปหารือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการแทรกแซงราคาผลิตผลทางเกษตรทั้งหมด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1. โครงการชดเชยรายได้เกษตรกรของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จ่ายชดเชยรายได้ให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คิดเป็นวงเงิน 39,000 ล้านบาท จ่ายให้ชาวสวนยางพาราอีก 7,000 ล้านบาท รวมเงินชดเชยค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส. แล้วคิดเป็นวงเงินประมาณ 47,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ต้องการทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการรักษาวินัยการคลัง โดยจะให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ มาเคลียร์หนี้ส่วนนี้ให้หมดภายในปีงบประมาณถัดไป ซึ่งขณะนี้ตนก็ได้รับการยืนยันจากนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ว่าในปีงบประมาณ 2559 จะตั้งบฯ มาเคลียร์หนี้ส่วนนี้ให้ทั้งหมด

ส่วนที่ 2 คือความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในอดีต ซึ่งตามนโยบายของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้ใช้ตัวเลขความเสียหายของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปิดบัญชีล่าสุดมียอดขาดทุนสุทธิ 700,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้จำนำข้าว 500,000 ล้านบาท และที่เหลือ 200,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินไปก่อน

นายลักษณ์กล่าวว่า แนวทางในการบริหารจัดการหนี้ 700,000 ล้านบาท ตามแนวคิดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คงต้องออกกฎหมายพิเศษโอนหนี้ทั้งหมดมาเป็นภาระของรัฐบาล (Fiscalization) คล้ายกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในอดีต (FIDF) ช่วงแรกโอนภาระหนี้มาให้กระทรวงการคลัง ต่อมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โอนหนี้ก้อนนี้กลับไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์นำชำระหนี้ให้ ธปท.

“วิธีการล้างหนี้จำนำข้าว ตามแนวคิดของหม่อมอุ๋ย หลังจากทราบยอดความเสียหายอย่างชัดเจน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็ทยอยออกพันธบัตรรัฐบาล หรือ Government Investment Bond อายุประมาณ 10-30 ปี ระดมเงินจากตลาดการเงินมาชดเชยความเสียหายของโครงการรับจำนำที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละฤดูการผลิต โดย สบน. ทำหน้าที่วางแผนการออกพันธบัตรและอายุให้สอดคล้องกับโครงสร้างหนี้จำนำข้าว อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ออก BACC Saving Bond อายุ 5 ปี และ 10 ปี วงเงิน 1 แสนล้านบาท แปลงหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว ในอนาคตก็จะขยายเป็น 20-30 ปี” นายลักษณ์กล่าว

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า ความเสียหายจากโครงการแทรกแซงราคาผลิตผลทางการเกษตร ในปีบัญชี 2557 ธ.ก.ส. ลงบันทึกในบัญชีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลประมาณ 240,000 ล้านบาท เป็นโครงการรับจำนำข้าวในส่วนที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินออกไปก่อน 200,000 ล้านบาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธรตรวจสอบมติ ครม. และเอกสารต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ระบุว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ในระหว่างที่ ธ.ก.ส. ยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล กรณี ธ.ก.ส. มีภาระดอกเบี้ยจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์กู้เงินจากประชาชน ทางสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยค่าดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.

วางกรอบวินัยการคลัง รับมือประชานิยมในอนาคต

ส่วนเรื่องการดำเนินโครงการประชานิยมในอนาคต ประเด็นนี้นายลักษณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง กำหนดคำนิยามให้ชัดเจน เพื่อแยกโครงการสินเชื่อนโยบายรัฐออกจากการดำเนินงานตามปกติของธนาคาร ยกตัวอย่าง โครงการใดที่ธนาคารไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด ตันละ 15,000 บาท กรณีนี้ หากรัฐบาลยืนยัน ธนาคารต้องปฏิบัติตามนโยบาย รัฐบาลต้องปิดความเสี่ยงทั้งหมดให้ ธ.ก.ส. ก่อน ธนาคารถึงจะดำเนินการได้ ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ถือเป็นโครงการนโยบายรัฐ กระทรวงการคลังให้ ธ.ก.ส. ลงบันทึกในบัญชีบริการสาธารณะ (Public Service Account: PSA) หากมีความเสียหายเกิดขึ้นรัฐบาลรับผิดชอบหนี้ทั้งหมด ในทางตรงข้าม หากรัฐบาลสั่งให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้กับสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำเงินไปปล่อยกู้ต่อให้สมาชิกรวบรวมผลผลิตหรือแปรรูปสินค้าทางการเกษตร โดยมาตรการดังกล่าวถูกนำไปรวบอยู่ในแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กรณีนี้ถือเป็นสินเชื่อปกติของธนาคาร ไม่ใช้สินเชื่อนโยบายรัฐ

นายลักษณ์ วจนานวัช

กรณีนี้จะไปสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. …. ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นำเสนอ ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า

กฎหมายฉบับนี้คล้ายกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก แต่จะนำมาบังคับใช้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีหลักการที่สำคัญๆ คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องหักยอดเงินฝากนำเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยคำนวณจากฐานเงินฝากที่ระดมจากประชาชน แต่ไม่นับเงินฝากที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนำมาฝากไว้กับธนาคาร ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มียอดเงินฝากอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินฝากที่ระดมจากประชาชนประมาณ 8 แสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังกำหนดอัตราเงินนำส่งกองทุนฯ ที่ 0.1 % ของยอดเงินฝาก ธ.ก.ส. ต้องนำเงินส่งกองทุนฯ 800 ล้านบาทต่อปี หากกำหนดอัตรา 0.2% ก็นำส่ง 1,600 ล้านบาท เพื่อเป็นรายได้ของกองทุนฯ

ทั้งนี้ เงินที่กองทุนฯ ระดมมาได้จะนำมาใช้จ่ายภายใต้วัตถุประสงค์ดังนี้ 1. นำมาใช้ในการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องจัดแผนงานส่งให้กระทรวงการคลังอนุมัติ 2. สนับสนุนการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐ เพื่อลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ยกตัวอย่าง ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อสหกรณ์การเกษตรเพื่อรวบรวมผลผลิต ปกติคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี แต่นโยบายรัฐบาลต้องการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมดังกล่าว โดยคิดดอกเบี้ยสหกรณ์ฯ แค่ 2% ส่วนที่เหลือ 3% ก็จะนำเงินจากกองทุนฯ มาจ่ายชดเชยดอกเบี้ย ซึ่งกองทุนจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองทำเรื่องขออนุมัติ ครม. แต่ถ้าไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ก็อาจจะใช้ช่องทางเดิม คือ ขอรับการจัดสรรค่าชดเชยดอกเบี้ยจากสำนักงบประมาณก็ได้

ต่อกรณีที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีนโยบายให้ ธ.ก.ส. และออมสินปล่อยเงินกู้ต่อยอดกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองวงเงิน 40,000 ล้านบาทนั้น นายลักษณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้มีการอนุมัติเงินกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านไปบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ขอให้ ธ.ก.ส. และออมสินพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา ซึ่งตนคิดว่าดอกเบี้ยกู้ 5% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม เรื่องดอกเบี้ยไม่น่าจะเป็นปัญหา ประเด็นน่าจะอยู่ที่สภาพคล่องของกองทุนหมู่บ้านเองมากกว่า ซึ่งในการพิจารณาปล่อยกู้ต่อยอด ธนาคารคงต้องดูฐานะการเงินของกองทุนเป็นสำคัญ หากมีการทำสัจจะออมทรัพย์และมีเงินออมจากสมาชิกบ้างจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

จากผลการทำวิจัยกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการทำสัจจะออมทรัพย์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีเงินฝากระดับหนึ่งแล้วยกฐานะขึ้นเป็นกองทุนหมู่บ้าน แสดงให้เห็นว่ากองทุนแห่งนั้นมีวินัยด้านการเงินดีเยี่ยม แต่ในบางครั้งกองทุนหมู่บ้านประเภทนี้ ต้องการแหล่งเงินจากภายนอกมาเสริมสภาพคล่อง หรือใช้เป็นทุนหมุนเวียนขยายกิจการ กรณีนี้ ธ.ก.ส. ยินดีที่จะให้การสนับสนุนสินเชื่อ แต่ถ้าไม่มีอะไรมาให้พิจารณาเลย คงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ

กันสำรองเต็ม 100 รับมือสหกรณ์ฯ 3 ราย ฝากเงินเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ส่วนสินเชื่อผ่านสหกรณ์การเกษตร นายลักษณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ปล่อยกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ไป 21 แห่ง มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 50,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีสหกรณ์การเกษตร 3 แห่ง นำเงินไปฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยธนาคารได้ปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์การเกษตรทั้ง 3 แห่งวงเงินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จับตาอย่างใกล้ชิด และตั้งสำรองหนี้ 100% แล้ว

“ส่วนเรื่องการปฏิรูประบบการกำกับดูแลสหกรณ์ หากเป็นสหกรณ์ที่มีขนาดเล็ก อาจจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกรมตรวจบัญชีตรวจบัญชีสหกรณ์ดูแลต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นสหกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ 10,000-20,000 ล้านบาท ขนาดใกล้เคียงกับแบงก์ ก็ควรจะโอนไปให้ ธปท. กำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันนี้แบงก์รัฐทั้งหมดก็ถูกโอนไปให้ ธปท. กำกับดูแลทั้งหมดแล้ว” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว