ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพากรดัดหลัง “คณะบุคคล” หนีภาษี บังคับจ่าย 2 เด้ง กฎใหม่ป่วนตลาดการเงิน แบงก์แนะลูกค้า ”ปิดบัญชีเงินฝากร่วม”

สรรพากรดัดหลัง “คณะบุคคล” หนีภาษี บังคับจ่าย 2 เด้ง กฎใหม่ป่วนตลาดการเงิน แบงก์แนะลูกค้า ”ปิดบัญชีเงินฝากร่วม”

10 เมษายน 2015


ปัญหากลุ่มอาชีพอิสระ อาศัยช่องว่างของประมวลรัษฎากรจัดตั้งคณะบุคคล 100,000 แห่งขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานกระจายเงินได้ หลบเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย เปรียบเสมือนหนามยอกอกกรมสรรพากรมานาน อาทิ กรณีแพทย์บางรายมีชื่อติดอยู่ในคณะบุคคลถึง 400 แห่ง นอกจากไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังได้ภาษีคืนด้วย ขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเปิดคณะบุคคลนับ 1,000 แห่ง สร้างหลักฐานปลอม หรือที่เรียกว่า “รายจ่ายเทียม” ส่งให้บริษัทก่อสร้างลงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช่จ่าย กรณีจ่าย “เงินใต้โต๊ะ” ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรการภาษีแก้ปัญหาคณ

เมื่อปลายปี 2557 กรมสรรพากรนำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 39 พ.ศ. 2557 ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนกระทั่งร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 การปรับปรุงแก้ไขประมวลรัษฎากรครั้งนี้มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

1. เพิ่มนิยามคำว่า “คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล” ในประมวลรัษฎากร หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงกระทำการร่วมกัน อันไม่ใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ (หสม.)

2. ยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีส่วนแบ่งกำไร ตามมาตรา 42(14) แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญของปฏิบัติการปิดตำนานคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ส่งผลทำให้หุ้นส่วนหรือผู้ที่ถือหุ้นในคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญจ่ายภาษี 2 เด้ง กล่าวคือ หลังจากคณะบุคคลเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเรียบร้อยแล้ว นำเงินส่วนที่เหลือจัดสรรให้หุ้นส่วน (ส่วนแบ่งกำไร) ผู้รับเงินส่วนแบ่งกำไร ถือเป็นเงินได้ ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย ทั้งๆ ที่เงินจำนวนนี้เคยเสียภาษีมาแล้ว ยกเว้นคณะบุคคลมีเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ก) (ข) (ช) และมาตรา 40(8) อาทิ จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผล หุ้นส่วนที่รับเงินส่วนแบ่งกำไรประเภทนี้ ยังคงมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินส่วนแบ่งกำไรจากดอกเบี้ย เงินปันผล มารวมคำนวณภาษีหรือไม่ก็ได้

การจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน

หลัง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 39 มีผลบังคับใช้ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.149/2558 วันที่ 20 มกราคม 2558 เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล ปรากฏว่ามาตรการชุดนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระทยอยแจ้งยกเลิกคณะบุคคลแล้ว ยังทำให้ตลาดการเงินเกิดอาการปั่นป่วน เนื่องจากนิยามของคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.149/2558 ครอบคลุมถึงกรณีการเปิดบัญชีเงินฝาก, บัญชีซื้อ-ขายหุ้นที่ใช้ชื่อร่วมกัน และกรณีการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

ล่าสุดนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทยเตรียมออกหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ให้ชี้แจงหรือแนะนำผู้ฝากเงินที่เปิดบัญชีร่วมกันปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรเกี่ยวกับการเสียภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญ หากลูกค้ายืนยันจะใช้บัญชีเงินฝากร่วมกัน ก็ต้องไปติดต่อกรมสรรพากร เพื่อขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และจดทะเบียนในนามห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลให้ถูกต้อง (ลป.10) และต้องทำบัญชีแสดงรายได้และรายจ่าย ณ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี และต้องนำมายื่นต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปีด้วย หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งกรมสรรพากรฉบับนี้มีโทษปรับ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกค้าไม่ต้องการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน ขอให้ไปติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชี เพื่อขอปิดบัญชี และเปิดบัญชีใหม่ โดยใช้ชื่อเจ้าของบัญชีเพียงรายเดียว

หลักการภาษีที่ดี

ถึงแม้กรมสรรพากรเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ซึ่งถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว ไม่ต้องนำรายได้ส่วนนี้มายื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกก็ได้ เพื่อลดการเสียภาษีซ้ำซ้อน หากผู้ฝากเงินและนักเล่นหุ้นที่ยืนยันจะใช้บัญชีรวมกัน ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ป.149/2558 ให้ถูกต้อง แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการแก้ปัญหากลุ่มอาชีพอิสระตั้งคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ขัดแย้งกับหลักการของภาษีที่ดี ตั้งแต่เรื่องของความเป็นธรรม มีการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ขาดความชัดเจน แน่นอน แก้ปัญหาคณะบุคคลที่หลบเลี่ยงภาษี แต่ส่งกระทบผู้ฝากเงินที่สุจริต และยังเข้าข่ายลิดรอนสิทธิ์ บังคับให้ต้องปิดบัญชีเงินฝาก หรือสร้างภาระความยุ่งยากให้กับผู้ฝากเงินโดยสุจริตต้องไปจดทะเบียนเป็นคณะบุคคล และยื่นบัญชีราย-รับรายจ่าย กับกรมสรรพากร ล่าสุดนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้อธิบดีกรมสรรพากร ทบทวนคำสั่งกรมสรรพากร