ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์แจงผลงาน 6 เดือนละเอียดยิบ รับลูกรัฐบาล – ชี้เศรษฐกิจฟื้น ไตรมาสแรกกลับมาโต 3%

สภาพัฒน์แจงผลงาน 6 เดือนละเอียดยิบ รับลูกรัฐบาล – ชี้เศรษฐกิจฟื้น ไตรมาสแรกกลับมาโต 3%

21 เมษายน 2015


หากย้อนดูการแถลงผลงานรัฐบาล เมื่อ 17 เมษายน 2558 จะพบว่าส่วนใหญ่เน้นไปที่ผลงานภาพรวมของนโยบายต่างๆตามที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 11 นโยบาย และแทบจะไม่ได้พูดถึงในรายละเอียดด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ มาร่วมแถลง แต่รายละเอียดส่วนใหญ่กลับเป็นภาวะเศรษฐกิจและแนวนโยบายต่างๆในปัจจุบัน สร้างข้อสงสัยว่ารัฐบาลได้มีผลงานเศรษฐกิจเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆหรือไม่

อย่างไรก็ดี ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ได้ออกมารับลูกรัฐบาลแถลงตัวเลขรายละเอียดของเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละด้าน ยังคงต้องรอติดตามจากเจ้ากระทรวงโดยตรง ซึ่งจะทยอยแถลงผลงานตามมาตลอดสัปดาห์นี้

IMG_0806
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒน์

มั่นใจเศรษฐกิจฟื้น ไตรมาสแรก 3% แม้ส่งออกยังน่าห่วง

วันที่ 21 เมษายน 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงผลงานของสภาพัฒน์รอบ 6 เดือน (วันที่ 12 กันยายน 2557 – 12 มีนาคม 2558) ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าในส่วนของภาวะ “เศรษฐกิจปัจจุบัน” ฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งเคยถึงขั้นหดตัว -0.5% ในโตรมาสแรกของปี 2557 โดยไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะเติบโตได้ 3% ซึ่งจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2558

“จะเห็นว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจตอนนี้ เครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่อง จาก 5 เครื่อง กลับมาติดแล้ว หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาก็ได้แก้ไขปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอันดับแรกแก้ปัญหาหนี้ของชาวนา ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน และเพิ่มการบริโภคภาคเอกชน 2. มีการสร้างความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ สร้างการลงทุนของเอกชน อันที่ 3.คือตัวเลขการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวที่ 4. การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ได้ทยอยพิจารณาเห็นชอบ แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วน” นายอาคม กล่าว

ขณะที่การส่งออก  ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญตัวสุดท้าย ภาพรวมยังติดลบใน 2 เดือนแรก แต่ถ้าหักรายการน้ำมันและทองคำออกไปจะติดลบน้อยลง โดยมีสาเหตุหลักหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวทั้งหมด แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวดีขึ้นและทำให้การส่งออกของไทยไปในภูมิภาคนี้ไตรมาสแรกยังคงเป็นบวก แต่เศรษฐกิจยุโรปหรือญี่ปุ่นกลับยังไม่ดีนัก นอกจากนี้ ตลาดสินค้าเกษตรทั่วโลกปัจจุบันยังมีภาวะล้นตลาด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรจึงไม่จูงใจให้มีการส่งออกมากนัก

“เรื่องส่งออกของเราที่ยังติดลบ คงไม่ใช่เฉพาะตัวสินค้าของเราเอง แต่เนื่องมาจากกำลังซื้อในต่างประเทศด้วย ขณะนี้ทางคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดูเรื่องการปรับโครงสร้างสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เป็นเป้าหมายระยะยาวต่อไป นอกจากนี้ ในระยะยาวจะต้องพัฒนาคนและการศึกษา เป็นตัวชี้วัดว่าศักยภาพของประเทศจะเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนเพียงใด” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ รายงานผลงานของสภาพัฒน์ ยังระบุรายละเอียดเพิ่มเติมถึงภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอีกว่า แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆ โดย”ด้านการผลิต” ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวช้าลงตามลำดับ และกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ที่ 3.8% ในเดือนกุมภาพันธ์, “ด้านการท่องเที่ยว” จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรกขยายตัวเฉลี่ย 22.5% ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 71.9% ซึ่งเป็นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 23 เดือน อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงปรับตัวลดลงตามการลดพื้นที่เพาะปลูก สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และสถานการณ์ด้านราคาสินค้า

ด้าน “การใช้จ่าย” ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน, การลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าของการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจซึ่งเพิ่มขึ้น123.2% และ 104.8% ตามลำดับ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง แต่การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวสูงตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว

ด้าน “เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดย 2 เดือนแรกของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป -0.5% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 1.6%, การว่างงานอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาสแรก อยู่ที่ 0.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6,015 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลจากดุลการค้าและดุลบริการที่เกินดุล ตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 5.72 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 46.83% ต่อจีดีพี

1234

โชว์ผลงานเศรษฐกิจละเอียดยิบ หนากว่าผลงานรัฐบาล

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือนว่าในช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาล นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัว 5.4 %ในไตรมาสแรกของปี 2556 เป็น 0.6% ในไตรมาส 4 ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2557 ที่ -0.5% จากองค์ประกอบที่หดตัวเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายและลงทุนของเอกชน, การท่องเที่ยว, การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาครัฐ  ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ที่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่

ทั้งนี้ การหดตัวดังกล่าวมาสาเหตุหลายประการ เช่น ปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ, ประเทศต่างๆ แจ้งเตือนพลเมืองของตนให้ระวังการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย จนส่งผลต่อการท่องเที่ยว, การขาดความต่อเนื่องของการบริหารราชการ ทำให้การเบิกจ่ายต่ำสุดในรอบ 15 ปี, ความล่าช้าในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน, และการปรับตัวต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและปัญหาอุทกภัย ซึ่งทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลง หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ราคาข้าวและรายได้เกษตรกรลดลง

ต่อมาเมื่อคสช.ได้ยึดอำนาจการปกครองและจัดตั้งรัฐบาล ภาวะเศรษฐกิจก็ได้ปรัวตัวดีขึ้นตามลำดับ (ดูกราฟิกประกอบ) โดยในไตรมาส 2 ของปี 2557 การใช้จ่ายเอกชนฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก 0.2%, ไตรมาส 3 ของปี 2557 การใช้จ่ายเอกชนขยายตัวต่อเนื่องเป็น 2.2% ขณะที่การลงทุนของเอกชนกลับมาขยายตัวเช่นเดียวที่ 3.9% จากที่หดตัว -7% ในไตรมาสที่แล้ว, สุดท้ายไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 องค์ประกอบหลักเกือบทั้งหมดกลับมาขยายตัว เหลือเพียงการลงทุนภาครัฐที่ยังคงหดตัวเล็กน้อย

ทั้งนี้ การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการนโยบายหลายอย่างของรัฐบาล เช่น 1) ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ และนักท่องเที่ยว 2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ 3) แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่สำคัญ 4) ดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 5) ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวระยะยาว และ 6) เร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว

(อ่านผลงานสภาพัฒน์)

(ดูสไลด์นำเสนอผลงานสภาพัฒน์)