ThaiPublica > คอลัมน์ > โรคซึมเศร้า: ปัญหาใหญ่ที่คนไทยมักลืม

โรคซึมเศร้า: ปัญหาใหญ่ที่คนไทยมักลืม

14 เมษายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

สมมุติว่าคุณเจออุบัติเหตที่ทำให้เเขนของคุณต้องขาดไปข้างหนึ่งเเลัวเพื่อนสนิทของคุณพูดกับคุณว่า “เออ รู้ว่าเเขนขาด ก็พยายามอย่าไปคิดถึงมันสิ เดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นเอง” คุณว่าคุณจะรู้สึกยังไง เเล้วถ้าสมมุติว่าคุณเป็นไข้หวัดใหญ่เเล้วเเฟนของคุณบอกกับคุณว่า “อืม เธอเคยลองพยายามไม่ให้ตัวเองเป็นไข้หว้ดดูไหม” คุณว่าคุณจะยังคบกับเเฟนคุณอยู่ไหม เเล้วถ้าสมมุติว่าคุณตรวจพบว่าคุณเป็นมะเร็งขั้นที่สุดท้ายเเล้วพ่อเเม่ของคุณพูดกับคุณว่า “คิดไปเองหรือเปล่าว่าตัวเองเป็นมะเร็งน่ะ” คุณว่าคุณจะรู้สึกยังไงกับพ่อเเม่ของคุณ

มันคงจะเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อเป็นอย่างมากถ้าคุณเคยเจอกระทำอย่างนั้นจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่ที่เรารู้จักมักจะให้ความดูเเลเอาใจใส่อย่างเป็นพิเศษกับการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ physicall illness ของคนที่เขารัก

เเล้วทำไมคนเราส่วนใหญ่ถึงกระทำกับคนที่เป็นโรคจิตซึมเศร้า หรือ depression อย่างที่ผมกล่าวเอาไว้ในเบื้องต้นล่ะ

ไอ้คนโรคจิต!

เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็กๆผมได้มีโอกาสดูหนังของพี่เบิร์ดธงไชยเรื่อง “หลังคาเเดง” ซึ่งในเรื่องนี้พี่เบิร์ดของเราได้รับบทเเสดงเป็นคนโรคจิตที่กำลังรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา(ซึ่งมีหลังคาที่มีสีเเดงเเละก็เป็นที่มาของชื่อหนัง) ผมจำเนื้อเรื่องไม่ค่อยจะได้ เเต่ที่ผมจำได้ดีเลยก็คือความรู้สึกที่ออกไปทาง stigmatisation (ถ้าเเปลเป็นภาษาไทยก็คงจะเป็นความรู้สึกเชิงรังเกียจ) ที่ผมเริ่มจะมีกับคำว่า“โรคจิต”

จนกระทั่งผมโตขึ้นมาหน่อยผมจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ว่ากระเเสที่ทำให้คนไทยหลายคน รวมทั้งตัวผมด้วย มีความรู้สีกรังเกลียดกับคำว่า
“โรคจิต”นั้นที่จริงมีมาตั้งนานเเล้ว โดยเฉพาะเวลาที่สังคมของเราใช้คำว่า”โรคจิต”ในการเรียกคนที่มีความประพฤติที่ออกไปทางเเนวอนาจารทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าคนที่เป็นโรคจิตนั้นเป็นคนที่สังคมไม่ต้องการ เเละก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตทั้งหลายไม่พยายามเเสดงตัวออกมาเพื่อที่ให้ตัวเองได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากจิตเเพทย์

ในความเป็นจริงเเล้วนั้นปัญหาสุขภาพจิตของคนเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมากเเต่มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายสาธารณะซักเท่าไหร่ สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือสังคมไทยเรานั้นยังมีความเข้าใจตัวเเปรเเละที่มาของโรคจิตอยู่น้อยมาก เวลาที่คนเราส่วนใหญ่คิดถึงโรคจิตเรามักจะคิดถึงคนที่ไม่ค่อยเต็ม หรือคนที่มีพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจ เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนั้น คนที่มีปัญหาสุขภาพทางจิตส่วนใหญ่เป็นคนไข้ของโรคซึมเศร้า (depression) ซึ่งอัตราของคนที่เป็นโรคนี้ในสังคมปัจจุบันนั้นที่จริงเเล้วสูงมาก (ในสหรัฐอเมริกาอัตราของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าขนาดหนัก (major depression) นั้นสูงถึง 6.7% ของคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในประเทศทุกคน หรือประมาณ 15 ล้านคน เเต่ตัวเลขตัวนี้เป็นตัวเลขของคนที่ได้รับการวินิจฉัยจากเเพทย์เเล้วพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า ผมว่าตัวเลขจะใหญ่กว่านี้เยอะถ้าเรารวมคนที่ไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากเเพทย์) ซึ่งการที่เราต่างก็มีความเข้าใจในโรคซึมเศร้าน้อยมากทำให้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนที่เป็นโรคนี้นั้น”เเกล้งเศร้า”บ้าง “ต้องการความเห็นใจ”บ้าง หรือไม่ก็ “บีบน้ำตา”บ้าง ซึ่งก็ยิ่งทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่อยากออกตัวออกมาว่าตัวเองต้องการการรักษาอย่างถูกต้อง

ทำไมโรคซึมเศร้าถึงเป็นปัญหา

ถ้าพูดกันตามสถิติเเล้ว จากการวิจัยในอเมริกาเเละประเทศยุโรปทั้งหลาย

(1) คนที่เป็นโรคซึมมีโอกาสที่จะตายจากหัวใจวายสูงกว่าคนที่ไม่เป็นโรคนี้ถึงสี่เท่าด้วยกัน
(2) สองในสามของคนที่ฆ่าตัวตายมีประวัติของการเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
(3) โอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงที่สุดตอนที่คนเราอายุประมาณสี่สิบต้นๆ
(4) โรคซึมเศร้าเป็นที่มาของการพัฒนาของโรคชนิดอื่นๆอีกหลายประเภท ซึ่งต่างก็มีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจ
(5) ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าผู้ชายถึงสองเท่า

เเละที่สำคัญที่สุด

(6) ไม่เคยมีคนที่เป็นโรคซึมเศร้าคนไหนที่สามารถรักษาตัวเองให้หายจากโรคนี้ได้จากการเเค่บอกกับตัวเองว่า”หายเป็นสิ”

ผมว่าถึงเวลาเเล้วที่สังคมไทยเราควรที่จะเริ่มให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้า รวมไปจนถึงโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตอีกหลายๆโรคอย่างเช่น social anxiety disorder เเละ bipolar disorder อย่างน้อยที่สุดพวกเราควรจะร่วมมือกันไม่สร้างกระเเสความรังเกียจกับคำว่า”โรคจิต”ในสังคมของเราเเละพยายามสร้างความเข้าใจที่มาที่ไปของโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้น

ค้นพบข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้เเละอยากจะรู้ว่าปกติเเล้วเราวัดสุขภาพจิตกันยังไง ผมอยากให้คุณผู้อ่านทำเเบบสอบถามข้างล่างนี้ดูนะครับ

ผมขอให้คุณผู้อ่านลองตอบคำถาม 12 คำถามดังต่อไปนี้ดูนะครับ

ใน 4 อาทิตย์ที่ผ่านมาคุณว่า

a) คุณมีสมาธิในการดำเนินชีวิตประจำวัน
1.มากกว่าปกติ
2.เหมือนปกติ
3.น้อยกว่าปกติเล็กน้อย
4.น้อยกว่าปกติมาก

b) คุณนอนได้น้อยเพราะกังวลกับเรื่องบางอย่าง
1.ไม่เลย
2ไม่มากหรือน้อยกว่าปกติ
3.บ่อยครั้งกว่าปกตินิดหน่อย
4.บ่อยครั้งกว่าปกติมาก

c) คุณรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน
1.มากกว่าปกติ
2.เหมือนปกติ
3.น้อยกว่าปกติเล็กน้อย
4.กว่าปกติมาก

d) คุณรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถที่จะตัดสินใจกับหลายๆเรื่องได้
1.มากกว่าปกติ
2.เหมือนปกติ
3.น้อยกว่าปกติเล็กน้อย
4.น้อยกว่าปกติมาก

e) คุณรู้สึกว่าตัวเองเครียดอยู่ตลอดเวลา
1.ไม่เลย
2.ไม่มากหรือน้อยกว่าปกติ
3.มากกว่าปกตินิดหน่อย
4.มากกว่าปกติมาก

f) คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถที่จะเเก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้
1.เลย
2.ไม่มากหรือน้อยกว่าปกติ
3.มากกว่าปกตินิดหน่อย
4.มากกว่าปกติมาก

g) คุณรู้สึกว่าตัวเองสามารถเพลิดเพลินกับชีวิตประจำวันได้
มากกว่าปกติ
เหมือนปกติ
น้อยกว่าปกติเล็กน้อย
น้อยกว่าปกติมาก

h) คุณรู้สึกว่าตัวเองสามารถที่จะเผชิญกับปัญหาในชีวิตประจำวันได้
1.มากกว่าปกติ
2.เหมือนปกติ
3.น้อยกว่าปกติเล็กน้อย
4.น้อยกว่าปกติมาก

i) คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข
1.ไม่เลย
2.ไม่มากหรือน้อยกว่าปกติ
3.มากกว่าปกตินิดหน่อย
4.มากกว่าปกติมาก

j) คุณรู้สึกหมดความมั่นใจในตัวเอง
ไม่เลย
ไม่มากหรือน้อยกว่าปกติ
มากกว่าปกตินิดหน่อย
มากกว่าปกติมาก

k) คุณรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีคุณค่าเลย
1.ไม่เลย
2.ไม่มากหรือน้อยกว่าปกติ
3.มากกว่าปกตินิดหน่อย
4.มากกว่าปกติมาก

l) คุณรู้สึกมีความสุขกับชีวิตของคุณ
1.มากกว่าปกติ
2.เหมือนปกติ
3.น้อยกว่าปกติเล็กน้อย
4.น้อยกว่าปกติมาก

ในเเต่ละคำถามถ้าคุณผู้อ่านตอบข้อ 3 หรือ 4 ให้คุณผู้อ่านให้คะเเนนตัวเองในข้อนั้นเป็น 1 นะครับ หลังจากนั้นให้คุณผู้อ่านลองบวกคะเเนนจากเเต่ละข้อด้วยกัน โดยคะเเนนสูงที่สุดก็คือ 12 (สุขภาพจิตเเย่ที่สุด) เเละต่ำที่สุดก็คือ 0 (สุขภาพจิตดีที่สุด)

โดยเฉลี่ยเเลัวคะเเนนจากการบวกคำตอบพวกนี้สำหรับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปในประเทศอังกฤษอยู่ที่ประมาณ 2.96 เเละมีค่ามัธยฐาน (median) อยู่ที่ 0 ถ้าคุณผู้อ่านมีคะเเนนจาก 10 ขึ้นไปผมเเนะนำให้ท่านหาทางปรึกษาจิตเเพทย์โดยเร็วที่สุดนะครับ ง่ายๆเลยก็คือติดต่อหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง facebook ของสมาคมจิตเเพทย์ของประเทศไทยดูนะครับ