ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > มติ กนง. 5:2 ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติด เหลือ 1.5% – สัญญาณเศรษฐกิจอ่อนแรง จากเงินเฟ้อสู่เงินฝืด – สวนทางผลงาน 6 เดือนรัฐบาล

มติ กนง. 5:2 ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติด เหลือ 1.5% – สัญญาณเศรษฐกิจอ่อนแรง จากเงินเฟ้อสู่เงินฝืด – สวนทางผลงาน 6 เดือนรัฐบาล

29 เมษายน 2015


นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงหลังการประชุมว่า คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.5% ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกันจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ จากองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยคนของ ธปท. 3 ตำแหน่ง แสดงว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้มีคนของ ธปท. ลงมติให้ปรับลดด้วย

“การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เรามีการประมาณการณ์ตัวเลขไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มเข้ามาให้กรรมการดูจากเครื่องชี้ทั้งไตรมาส ซึ่งกรรมการเห็นว่าเศรษฐกิจอ่อนแรงลงและแรงส่งต่อไปข้างหน้าก็อ่อนแรงลงด้วย ดังนั้นกรรมการเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรผ่อนคลายเพิ่มเติมจากที่ทำมา ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลเร่งเบิกจ่ายได้ความเร็วแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็คาดว่าจะสร้างความมั่นใจ ดึงนักลงทุนใหม่ๆ ได้มากขึ้น” นายเมธีกล่าว

นายเมธีกล่าวต่อไปว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดจากการประชุมครั้งที่แล้ว แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกได้ โดยการบริโภคภาคเอกชนยังชะลอตัวจากปัญหารายได้เกษตรกรที่ยังตกต่ำและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยหลัก ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบการปรับโครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพื่อผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าในข่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศคู่ค้าลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากไทยลง รวมไปถึงยังมีปัญหาโครงสร้างการผลิตภายในของประเทศไทยที่ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ภาคการส่งออกที่ชะลอลงอาจจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่ลดลง ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

“ภาพทางเศรษฐกิจก็คงมีการฟื้นตัวแต่คงไม่ได้เร็วเหมือนที่เราคาดในช่วงที่ผ่านมา คงเป็นแบบนั้นมากกว่า แล้วก็เรื่องของการที่จะคาดหวังว่าส่งออกจะฟื้นเร็วก็คงลำบากมากขึ้น เพราะว่ามันไม่ได้เฉพาะเรื่องของต่างประเทศที่เศรษฐกิจมันไม่ฟื้น ถึงฟื้นแล้วก็อาจจะไม่มาซื้อเท่าเดิม เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนโครงสร้าง เป้าหมายที่สำคัญคือการพยุงเศรษฐกิจในประเทศ อาจไม่ได้เน้นเรื่องค่าเงินเป็นเรื่องแรก แต่ว่าถ้ามีผลที่ดีด้วยเราก็ยินดี” นายเมธีกล่าว

ด้านภาวะเงินเฟ้อปัจจุบัน นายเมธีกล่าวว่า แรงกดดันเงินเฟ้อยังลดต่ำลงสอดคล้องกับอุปสงค์ภายในประเทศที่มีน้อยกว่าที่คาด โดยปัจจุบันเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของราคาสินค้ากระจายตัวออกไปนอกเหนือจากสินค้ากลุ่มน้ำมัน แต่โดยรวมยังไม่เข้าเงื่อนไขของภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางเสถียรภาพการเงินโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งที่แล้ว แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่กรรมการส่วนใหญ่มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่มีความเร่งด่วนและจำเป็นมากกว่า

นายเมธีกล่าวถึงทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอีกว่า จะต้องรอติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบ โดยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 10 มิถุนายน 2558 จะมีตัวเลขที่น่าสนใจออกมาอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นผลการประชุมเฟด, ตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาสแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเมษายน ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน ธปท. เองยังมีพื้นที่นโยบายเหลือให้สามารถดำเนินการในระยะต่อไปได้

สวนทางสภาพัฒน์-หม่อมอุ๋ยเชื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 สภาพัฒน์ได้ออกมาแถลงผลงานรอบ 6 เดือน ว่าในส่วนของภาวะ “เศรษฐกิจปัจจุบัน” ฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งเคยถึงขั้นหดตัว -0.5% ในโตรมาสแรกของปี 2557 โดยไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะเติบโตได้ 3% โดยยืนยันว่าเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่อง จาก 5 เครื่อง ฟื้นตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 1) สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและเพิ่มการบริโภคภาคเอกชน 2) มีการสร้างความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ สร้างการลงทุนของเอกชน 3) การท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ 4) การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ได้เริ่มทยอยเข้ามารับการพิจารณาเห็นชอบ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงไม่ฟื้นตัว มีสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเป็นหลัก

สอดคล้องกับฟากของรัฐบาล จากการแถลงผลงาน 6 เดือนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2558 มีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การลงทุนภาครัฐขยายตัว 5% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4% และถ้าดูตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมจะพบว่าการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกภาคบริการขยายตัว 15% ขณะที่ภาคการส่งออกไตรมาสแรกของปี 2558 ติดลบ 4% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

“ข้อสังเกตคือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 ตัว การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคส่งออกติดลบ 4% ถือเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ หากภาคส่งออกไม่ติดลบ เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัว 4% ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ดังนั้น ถ้าจะดูเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเท่าไหร่ต้องดูที่ภาคส่งออกเป็นสำคัญ หากภาคส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น จากติดลบ 4% ในไตรมาสแรก มาเป็นขยายตัว 0% คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 4% แน่นอน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว