ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัญหาที่ซ่อนในห่วงโซ่อาหาร ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม (ตอนที่2): รัฐแก้ประมงไม่ตรงจุด – เกษตรกรกลายเป็น “พันธะ” ที่ไร้ “สัญญา”

ปัญหาที่ซ่อนในห่วงโซ่อาหาร ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม (ตอนที่2): รัฐแก้ประมงไม่ตรงจุด – เกษตรกรกลายเป็น “พันธะ” ที่ไร้ “สัญญา”

21 เมษายน 2015


ต่อจากประเด็นที่เคยนำเสนอไปในเรื่องปัญหาหมอกควัน และการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การแก้ปัญหาหรือมายาคติ” จากเวทีเสวนาวิชาการ “ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม และอาหาร” โดยปัญหาของปลาป่นกับทะเลไทย และวงจรอุตสาหกรรมเกษตรที่ผูกโยงไปถึงการทำไร่ข้าวโพด ทั้ง 2 เรื่องต่างเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ และเป็นประเด็นเชื่อมโยงต่อมาคือปัญหาจากระบบเกษตรพันธสัญญาที่เกษตรกรในระบบดังกล่าวร้องเรียนว่าตนถูกเอาเปรียบจากเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับตน

เสวนาหมอกควัน ข้าวโพดฯ

ปัจจุบัน สถานการณ์ประมงไทยถูกกดดันให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตจากเงื่อนไขภายนอก คือ สหภาพยุโรป โดยเฉพาะข้อกำหนดในการทำประมงที่ถูกต้องอย่าง Unreported and Unregulated fishing หรือ IUU Fishing ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงหลายครั้งมากในช่วงที่ผ่านมาว่า “ตลาดข้างนอกเป็นตัวกำหนดทุนข้างใน วันนี้อียูเป็นผู้เขย่าให้เกิดการพูดถึงเรื่องประมงขึ้นมา ซึ่งปกติเป็นปัญหามาแต่เดิมอยู่แล้ว”

โดยก่อนหน้านี้กรณีที่พูดถึงเรื่องแรงงานทาสถูกโยงไปสู่สินค้าเกษตรส่งออกก็คือกุ้ง ที่เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีมูลค่าทางการตลาดหลายแสนล้านบาท โดยอาหารกุ้งรวมไปถึงอาหารสัตว์อื่นๆ มีส่วนผสมของปลาป่น ฉะนั้น ปัจจัยภายนอกจะเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ในทะเลไทยโดยปริยาย

อุตสาหกรรมปลาป่น

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกเล่าถึงปัญหาการทำประมงชายฝั่งที่เรือประมงขนาดใหญ่มีการใช้เครื่องมือในการทำประมงที่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ โดยเครื่องมือดังกล่าวเรียกได้ว่ากวาดสัตว์น้ำแทบทุกชนิดที่อยู่ในบริเวณนั้น ตั้งแต่สัตว์น้ำวัยอนุบาล จนถึงปลาใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

จากข้อมูลที่อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงพื้นที่ออกทะเลกับเรืออวนลากเพื่อไปดูและคัดแยกปลา พบว่ากว่า 60% ของปลาที่จับได้เป็นปลาเศรษฐกิจที่นำมาบริโภคได้ จะถูกคัดแยกไว้สำหรับขาย และส่วนอื่นๆ คือหอยต่างๆ และลูกปูที่ถูกกวาดปะปนมากับปะการัง ก็ถูกแยกไว้สำหรับส่งโรงงานปลาป่น

และจากงานวิจัย “การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิต” ที่ไปเก็บข้อมูลที่ จ.สงขลา พบว่า ปลาป่นมีความเชื่อมโยงกับข้าวโพดในแง่ของการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญระหว่างโปรตีนจากปลาป่นกับคาร์โบไฮเดรตของข้าวโพดในอาหารสัตว์

โดยโจทย์ต่างๆ ที่ทุกฝ่าย รวมทั้งเครือซีพีต้องช่วยกันคิด คือ ในการทำร้ายทะเลด้วยอุตสาหกรรมปลาป่นนั้น ในความเป็นจริงปลาที่ได้จากเรือประมงไม่ถึง 20% เพราะฉะนั้น ถ้าซีพีหรือเบทาโกรยอม คือหยุดซื้อลูกปลาเล็กปลาน้อยจากเรืออวนลาก อวนรุน หรือเรือปั่นไฟ จะช่วยให้สัตว์น้ำวัยอนุบาลกลายเป็นผลผลิตมูลค่ามหาศาลในอนาคต

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ประเทศอินโดนีเซียได้มีการประกาศยกเลิกการใช้เรืออวนลาก ผู้ที่เลิกจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ แต่ปัญหาของไทยอยู่ที่ระเบียบราชการสำหรับชดเชย เยียวยา

“ตามทะเบียนของกรมประมงมีเรือประมาณ 5,700 ลำ ที่ได้จดทะเบียนกับกรมประมง แต่ชาวประมงบอกผมว่ายังคงมีเรืออีกจำนวนมากกว่า 10,000 ลำ ที่เป็นเรือสวมทะเบียน เป็นเรือเถื่อน ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ค้ำคอรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์อยู่ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไปเข้ากรอบของ IUU ของสหภาพยุโรป ว่าหากใช้เรือเถื่อนหรือเรือผิดกฎหมาย EU จะไม่ให้นำสินค้าประมงเข้าสู่ยุโรป”

ปลาเป็ด ที่ถูกบีบ อัด อยู่ในเรือจนเละ (http://www.salforest.com/knowledge/trashfish-research-aug)
ปลาเป็ดที่ถูกบีบอัดอยู่ในเรือจนเละ (http://www.salforest.com/knowledge/trashfish-research-aug)

จากที่สำนักข่าวเดอะการ์เดียนออกมาเปิดโปงว่า เรือประมงไทยใช้ทั้งแรงงานทาสและปลาป่นจากเรือที่ผิดกฎหมาย เชื่อมโยงไปถึงห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและซับซ้อนของการค้าแรงงานทาสและผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกุ้งชั้นนำของโลกอย่างซีพี ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานะที่เทียบได้กับนักฟุตบอลได้ใบเหลือง ซึ่งหากได้ใบแดง อาหารทะเลที่ส่งออกถูกแบน จะกลายเป็นปัญหาที่กระทบในวงกว้าง

“ดังนั้น ประเทศไทยมีเรือเถื่อนกว่า 10,000 ลำ หากถูกจับได้ อาหารทะเลก็จะถูกแบนไม่ให้นำเข้า และคนที่จะไม่รอดคือซีพี และเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง เพราะเขาไม่ได้ให้การยกเว้นกับกุ้งเลี้ยง เพราะถึงอย่างไรกุ้งเลี้ยงก็กินอาหารที่ได้จากปลาป่น โดยวัตถุดิบนั้นได้มาอย่างผิดกฎหมาย”

เมื่อเกษตรกลายเป็น “พันธะ” ที่ไร้ “สัญญา”

นางเสาวลักษณ์ เหลืองเรณู อดีตเกษตรกรฟาร์มไก่ไข่ในระบบพันธสัญญาที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ได้บอกเล่าว่า ปัจจุบันตนมีปัญหาหนี้สินมากมายที่เกิดจากการทำเกษตรพันธสัญญา จากการที่เอกชนไม่ปฏิบัติตามสัญญา ส่งพันธุ์ไก่อายุไม่ถึงเกณฑ์มาให้ และปัญหาอื่นๆ จนทำให้ฟาร์มของตนขาดทุน นอกจากนี้ยังไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ตามกฎหมาย ทำให้ตัดสินใจเดินออกจากระบบเกษตรพันธสัญญา พร้อมแบกรับปัญหาหนี้สินไว้ลำพัง

“เราก็เจอปัญหาหลากหลายรูปแบบ ได้มีการพูดคุยกันในวงของเกษตรว่า ทำไมไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองเกษตรกรบ้าง แล้วก็เปรียบกันง่ายๆ ว่า ขนาดสุนัข หากไปทำร้ายมันยังมีกฎหมายคุ้มครอง แต่เมื่อเกษตรกรพันธสัญญาเจอปัญหา ยังไม่มีกฎหมายหรือไม่มีหน่วยงานใดออกมาเป็นแสงสว่างให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตและเลี้ยงชีพได้ด้วยอาชีพเกษตรกร”

ด้านนายอุบล อยู่ว่า จากเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมเกษตรพันธสัญญา กล่าวถึงรากเหง้าปัญหาในระบบเกษตรพันธสัญญาว่า บนเส้นทางของการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมนั้นมีสิ่งที่มารองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ และกลุ่มคนที่เป็นผู้รองรับความเปลี่ยนแปลงและความเจ็บปวดกับการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเกษตรกรรายย่อยในชนบท เพราะสิ่งที่เข้ามาเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงก็คือการใช้ทรัพยากรของส่วนรวมตั้งแต่ลูกปลาทู ลูกปลากระเบนในทะเล เพื่อไปคลุกกับข้าวโพดบดซึ่งใช้พื้นที่ป่าเขาบนดอยทางภาคเหนือ แล้วนำมาเป็นอาหารสัตว์เพื่อผลิตสินค้า เพื่อการส่งออก

นายอุบลได้กล่าวถึงปัญหาหลักประการหนึ่งของระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งก็คือการที่ระบบของบรรษัทอุตสาหกรรมมีอำนาจเหนือกลไกรัฐ และอีกปัญหาหนึ่งคือ การพัฒนากลไกที่จะดูแลความสัมพันธ์ทางการผลิต หรือ “กฎหมาย” ตามไม่ทันความซับซ้อนของการเติบโตรูปแบบดังกล่าว

“จนถึงวันนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นนายพล มีอาวุธเต็มไปหมด แต่ไม่กล้าแม้จะแตะ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2542 ทั้งๆ ที่กฎหมายที่จะบังคับใช้กับคนรวยกับผู้มีอิทธิพลไม่ได้เลยกับสังคมนี้ นี่คือภาพทางโครงสร้างที่เครือข่ายพบจากการทำงานในพื้นที่”

นอกจากนี้ ปัญหาของระบบเกษตรพันธสัญญาที่พบอีกประการหนึ่งคือ ระบบได้ทำลายโอกาสการทำมาหากินของเกษตรกรรายย่อย เข้าสู่การผลิตขนาดใหญ่ ผลที่ตามมาคือการทำลายความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหาร เกษตรกรที่เข้าไปในระบบนี้ต้องสูญเสียที่ดินเนื่องจากถูกธนาคารยึด ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มีปัญหาครอบครัวแตกแยก บางรายตัดสินใจจบชีวิต เนื่องจากต้องเผชิญกับการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างหนัก

สถานะระบบเกษตรและอาหารไทย ภาพจาก: http://www.biothai.net/infographic/18147
สถานะระบบเกษตรและอาหารไทย ภาพจาก: http://www.biothai.net/infographic/18147

เช่นกันกับนายไพสิฐ พาณิชย์กุล จากศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงขบวนการผลิตแบบเกษตรพันธสัญญาที่นำมาใช้ในระบบธุรกิจอุตสาหกรรมกลุ่มการเกษตรและอาหารว่าคือการผูกขาดระบบเกษตรแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำขององค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่ในรูปบริษัท โดยที่มีการจับมือกับกลไกสำคัญของระบบตลาดและสถาบันการเงินในการที่จะเข้ามาทำให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ในบ่วงบาศหนึ่ง

“เป็นคำถามที่ต้องนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสถาบันการเงิน ในการปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรที่บริษัทเข้าไปส่งเสริม เพียงแค่มีคำรับรองจากบริษัทว่าเป็นเกษตรกรที่เข้าโครงการของบริษัทนั้นเพียงพอหรือไม่ เรื่องของวินัยทางการเงินก็ดี หรือความสามารถทางการใช้หนี้ก็ดี ได้นำมาคิดด้วยหรือไม่ ตรงนี้จะสะท้อนถึงความมีธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน ว่ามีมากน้อยขนาดไหน เนื่องจากทราบดีว่าสิ่งที่เกษตรกรไปทำคิดในเชิงโครงการนั้นขาดทุนแน่ๆ แต่ทำไมยังปล่อยสินเชื่ออยู่”

ขณะเดียวกัน การใช้ขบวนการทางนโยบาย โดยไปทำให้รัฐมีนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายบริษัท จากความสัมพันธ์ในตัวบุคคล และผู้มีตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ซึ่งจะเป็นคำตอบอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การพูดถึงว่านโยบายของบริษัทกลายมาเป็นนโยบายของรัฐบาลได้อย่างไร

รวมไปถึงการรุกคืบเข้าไปในกลไกภาครัฐ ในการบังคับใช้กฎหมาย หลายหน่วยงานเข้าไปอิงอยู่กับงบประมาณที่บริษัทจัดให้ ส่งให้โดยทางอ้อมผ่านทางงานวิชาการ ผ่านทางการวิจัย หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ที่สำคัญก็คือไปนำผลงานที่บริษัทไปดำเนินการมาเป็นผลงานของตนเอง เพื่อสร้างผลงานให้องค์กร

นายไพสิฐกล่าวต่อไปว่า ในเรื่องเกษตรพันธสัญญาไม่ผิดกฎหมายโดยตรงในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมบริษัทในการเข้าไปในพื้นที่ การจำกัดการผลิตให้ไม่เกินศักยภาพของพื้นที่ที่รองรับได้ รวมถึงเรื่องการระงับข้อพิพาทที่เป็นธรรม

ในทางตรงกันข้าม บริษัทเองได้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการผลักดันระบบเกษตรพันธสัญญาผ่านทางระเบียบความร่วมมือของทางกรมวิชาการเกษตร และใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม หรือนำปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของบริษัทเข้าไปลงทุนดำเนินการ ก็จะใช้มาตรการทั้งทางเพ่งและอาญา โดยผ่านหน่วยงานภาครัฐไปจัดการกับผู้ที่ลุกขึ้นมาเปิดโปงต่างๆ

“โดยสรุปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีตั้งแต่กลไกตลาดที่ถูกผูกขาด นโยบายของรัฐที่ถูกแทรกแซง รวมถึงถูกฮุบไปเป็นของบริษัท ขบวนการของระบบราชการ ขบวนการทางกฎหมาย ที่ไม่ได้นำไปสู่การทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แต่ออกมาเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผลประโยชน์”

ข้อเสนอและทางออกจากวงเสวนา

ปัญหาการทำประมง

1. เอกชนที่เป็นบริษัทใหญ่มีภาพพจน์ให้ต้องรักษา จึงเกิดความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องด้วยเหตุผลด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ในที่สุดก็ทำให้เรื่องต้นทุนกำไรมาก่อนเรื่องของการรักษาสภาพแวดล้อม สิ่งที่จะกระตุ้นบริษัทเอกชนต่างๆ ได้คืออำนาจต่อรองจากผู้บริโภค เนื่องจากโลกที่แคบลง เมื่อมีการพูดถึงบริษัทในแง่ลบบ่อยครั้ง บริษัทเหล่านั้นก็พยายามหาระบบที่จะไม่ซื้อปลาจากเรือประมงที่ผิดกฎหมาย

2. ในมิติเชิงกฎหมาย ระดับนโยบาย คือ เรื่องของ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 ที่ผ่านการแก้ไขครั้งแรกในรอบ 62 ปี กำลังอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่มีการประกาศยกเลิกเครื่องมือจับปลาทั้ง 3 ชนิด เพียงแต่กฎหมายใหม่จะส่งเสริมให้ชาวประมงที่ทำเครื่องมือถูกต้องตามกฎหมายเข้มแข็งขึ้น

ในประเด็นนี้นายบรรจงเห็นว่า การที่รัฐไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาดว่าเครื่องมือการทำลายล้างต้องหยุดจะเป็นประเด็นก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าของเรืออวนรุน

3. ดังที่กล่าวไปข้างต้น หากต้องยกเลิกเครื่องมือทั้ง 3 ชนิด รัฐจะต้องทำการเยียวยาให้กับเรือทุกลำ แต่เรือประมงไทยติดปัญหาเรือเถื่อนและเรื่องสวมทะเบียน สำหรับสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังพยายามทำอยู่นั้นคือการพยายามขึ้นทะเบียนเรือประมงทุกลำ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ การแก้ปัญหาคงเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

4. พัฒนากลไกที่จะมาดูแลความสัมพันธ์ในการผลิตระหว่างเกษตรกรกับบรรษัท อาทิ การกำหนดมาตรฐานในการรับซื้อ เช่น มาตรฐานการรับซื้อปลาป่น มาตรฐานการรับซื้อข้าวโพด รวมถึงพัฒนาระบบการทำมาหากินที่จะอยู่ร่วมกับการอนุรักษ์ได้ ฉะนั้น แบบแผนการทำมาหากินเป็นสิ่งที่ต้องขบคิดควบคู่กับเรื่องความยั่งยืนของระบบนิเวศ

ชาวประมงกำลังเก็บอวนปลา
ชาวประมงกำลังเก็บอวนปลา

กรณีเกษตรพันธสัญญา

นายไพสิฐเสนอว่า ประการแรก ให้ใช้โมเดลการแก้ปัญหาแบบเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์แก้ปัญหาหมอกควัน คือใช้ขบวนการของนักศึกษา ขบวนการของคนลุกขึ้นมาจับมือกัน แล้วแถลงว่าจะไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาหมอกควัน และก็ทำได้สำเร็จ

ประการต่อมาคือ สร้างกลไกภาครัฐให้เข้ามาดูแลทั้งในเรื่องของนโยบายด้านเกษตรพันธสัญญาและกฎหมายอย่างจริงจัง โดยต้องกระจายหน่วยไปยังพื้นที่ อาจจะต้องโยงไปถึงเรื่องการจัดการการกระจายอำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกในระดับพื้นที่คอยตรวจสอบ และให้ความคุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธสัญญา ว่าบริษัทได้ทำตามสัญญาหรือไม่

อีกส่วนหนึ่ง คือกลไกในการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในระดับของเกษตรกรด้วยกันเองที่ต้องยกระดับหรือข้ามพ้นความกลัวต่อบริษัทเอกชนไปให้ได้ โดยต้องจัดเป็นวาระพิเศษของกระบวนการยุติธรรมในการดูแลคนเฉพาะกลุ่ม เช่น เกษตรกร แรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มคนที่ขาดการดูแลต่างๆ นี้

“ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมไม่ผูกติดเพียงแค่ตัวหนังสือหรือตัวอักษรแต่ไปถึงเรื่องความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ระบบกฎหมายของหลายประเทศปรับตัวอย่างมาก แต่ระบบของไทยยังคงผูกติดกับตัวหนังสือว่ากฎหมายให้อำนาจไม่ให้อำนาจ” นายไพสิฐกล่าว

สำหรับหม่อมหลวงคมสัน วรวุฒิ นักวิชาการชำนาญการจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรพันธสัญญา ติดปัญหาจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่คุ้มครองเฉพาะนายจ้างลูกจ้าง แต่กลุ่มเกษตรพันธสัญญาไม่อยู่ในข่ายของการเป็นนายจ้างลูกจ้าง

ทั้งนี้ได้มีการพูดคุยกันเพื่อหาแนวทาง พบ พ.ร.บ.ฉบับหนึ่ง ที่อาจเป็นช่องทางที่จะมาคุ้มครองเกษตรกรพันธสัญญา คือ พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ได้มีการกำหนดว่า การที่ผู้จ้างงานในอุตสาหกรรมที่มอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านทำเพื่อประกอบผลิตนอกสถานที่ของผู้จ้างงาน หรืองานอื่นตามประกาศกฎกระทรวง หากมีการศึกษาเพิ่มเติมแล้วพบว่าเกษตรพันธสัญญาเข้าข่ายกรณีดังกล่าว ก็อาจมีการออกกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองกลุ่มเกษตรกรพันธสัญญาได้

“ในส่วนนี้ ทางองค์กรได้ทำโครงการสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องเกษตรพันธสัญญา โดยนำงานวิจัยหรืองานศึกษาต่างๆ ของเกษตรพันธสัญญามาสังเคราะห์ดู ว่าจะสามารถคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้หรือไม่ แล้วจะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองกลุ่มเกษตรกรพันธสัญญาต่อไป เมื่อมีการทำผลงานวิจัยออกมาโดยภาครัฐจะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองได้มากขึ้น”

ด้านนายมงคล วุฒิธนากุล นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย กล่าวจากประสบการณ์ที่ตนเคยช่วยทางกระทรวงยุติธรรมศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญา และปัญหาการทำประมง ว่าในปัจจุบันมีกฎหมายรองรับและสามารถใช้ได้ทันที โดยยกตัวอย่างข้อบังคับในระดับต่ำที่สุด กรณีของกระทรวงเกษตรฯ ได้เคยออกประกาศฉบับหนึ่งที่มีใจความว่า ปลาทุกตัวที่จับในแหล่งน้ำประเทศไทยก่อนจะจับต้องแจ้งกับกระทรวงเกษตรฯ 3 วันล่วงหน้า แล้วกระทรวงจะออกใบรับรองให้ หากไม่มีใบรับรอง โรงงานห้องเย็นทุกแห่งในประเทศไทยห้ามซื้อ

ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปลาป่นในจ.สงขลา จากงานวิจัยของป่าสาละ
ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปลาป่นใน จ.สงขลา จากงานวิจัยของป่าสาละ

ทั้งนี้หากรัฐออกมาตรการบังคับโดยทันที ปัญหาที่จะตามมาคือ วัตถุดิบขาดแคลน ตามด้วยคนงานในโรงงานตกงาน ผลิตอาหารไม่ได้ ต้องนำเข้า ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง คำถามต่อไป คือ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่จะอยู่อย่างไร

ในฐานะผู้มีอำนาจรัฐ หากประชาชนประท้วงกันไม่มีที่ทำกิน มีคนตกงาน ท่านก็อยู่ในตำแหน่งไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากปัญหาเหล่านี้เป็นห่วงโซ่ที่ต่อเนื่องกัน หากหลุดอันหนึ่งแล้วขาดไปหมด ฉะนั้น ปัญหาเรื่องนี้ ต้องคำนึงไว้ว่าผลกระทบเป็นปัจจัยต่อเนื่องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดผลกระทบเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากร

“ถามว่าใช้มาตรการทางกฎหมายได้ไหม ได้ แต่ผลกระทบนั้นมีเยอะมาก เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงเกิดการชั่งน้ำหนักกันในแง่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ โดยท่านในฐานะผู้มีอำนาจรัฐจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างห้ามไปเลย เพราะต้องการคุ้มครอง ไม่สนใจเรื่องจีดีพี ไม่สนใจเรื่องภาษี รวมถึงไม่สนใจเรื่องความมั่นคงของชาติ”

ขณะที่ข้อเสนอที่ว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ทุกคนต้องคิดแบบเดียวกัน ทุกคนต้องได้ข้อมูล นายมงคลมองว่าข้อสรุปดังกล่าวกำลังเป็นการเสนอให้ทุกคนเป็น Super Citizen คือทุกคนมีองค์ความรู้หรือสามัญสำนึกในระดับสูง ซึ่งข้อเสนอที่ว่านักศึกษาสามารถผลักดันได้นั้นใช้ไม่ได้กับนักศึกษาในปัจจุบัน ไม่มีการขับเคลื่อนเช่นในอดีตสมัยปี 2516 หรือ 2519 แล้วประชาชนส่วนใหญ่จะไปไหวไหม

“การรวมกลุ่มกันตั้งสหกรณ์ มีมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 7 แต่ทุกวันนี้สหกรณ์เครดิตแห่งหนึ่งก็มีปัญหาเรื่องฉ้อโกงเงิน แม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังโดนด้วย แล้วจะนับประสาอะไรกับชาวบ้านทั่วไป นี่เป็นประเด็นที่ 2 ซึ่งขับเคลื่อนยาก”

ดังนั้น เมื่อมองในด้านผู้ประกอบการ จากทฤษฎีปลาใหญ่กินปลาเล็ก ฉะนั้น ปลาใหญ่ก็จะมีวิธีการทั้งปวงในการล่อหลอกให้ได้กินปลาเล็ก โดยบริษัทเอกชนทุกแห่งก็เหมือนกับปลาใหญ่ตัวหนึ่ง ต้องใช้สัญชาตญาณเอาตัวรอด เพื่อให้อยู่ได้

“ควรมองในสภาพความเป็นจริง ที่ไม่ว่าอย่างไรเอกชนต้องเอาตัวรอดก่อน เรื่องสภาพแวดล้อมไปแก้กันทีหลัง เรื่องชาวบ้านก็เป็นเรื่องชาวบ้านไม่เกี่ยวกับเขา หากบริษัทเอกชนสามารถบุกรุกป่าได้โดยไม่โดนดำเนินคดีเขาคงทำเอง แต่เนื่องจากภาพพจน์ในส่วนนี้สำคัญ สัญชาตญาณเอาตัวรอดจึงไม่กล้าเอามาใช้ โดยนายมงคลเห็นว่า ในส่วนนี้เป็นส่วนที่สามารถผลักดันได้ให้ขยายความรุนแรงมากขึ้น สรุปก็คือเรื่องกฎหมายเป็นไปได้ แต่ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงด้วยว่าเกิดผลอะไรขึ้น” นายมงคลกล่าว