ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนาโต๊ะกลม ถกประเด็นปัญหาข้าวโพด-หมอกควัน-ทางออก ชูระบบ GAP คุมพื้นที่ปลูก พร้อมแบนข้าวโพดนอกระบบ

เสวนาโต๊ะกลม ถกประเด็นปัญหาข้าวโพด-หมอกควัน-ทางออก ชูระบบ GAP คุมพื้นที่ปลูก พร้อมแบนข้าวโพดนอกระบบ

15 เมษายน 2015


ปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาซ้ำซากที่ต้องพูดกันทุกปี มีงานวิจัยที่ระบุชุดเจนว่าส่วนหนึ่งมาจากการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงที่ต้องทำการเผาตอซัง เผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จากข้อมูลดังกล่าวภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่รับผิดชอบในส่วนของการผลิตอาหารสัตว์ได้แถลงข่าว และลงบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไปจนถึงการจัดงานเสวนาโดยภาคประชาชน

เสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “ความจริงเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับทางออกเพื่อประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต
เสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “ความจริงเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับทางออกเพื่อประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “ความจริงเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับทางออกเพื่อประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการปลูกข้าวโพดอย่างยั่งยืน

สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นถือเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของไทย มีมูลค่าทางการตลาดมหาศาลหากนับรวมทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร เนื่องจากข้าวโพดส่วนนี้จะถูกนำมาใช้เลี้ยงสัตว์อาหารที่คนไทยบริโภคในทุกมื้อ รวมถึงเนื้อสัตว์ที่นำมาแปรรูปหรือส่งออกต่างประเทศ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ หมอกควันที่เกิดจากการทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่สูง ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยในการไถกลบเข้าไม่ถึง เกษตรกรจึงอาศัยไม้ขีดก้านเดียวในการปรับพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูก สร้างหมอกควันซึ่งเป็นมลภาวะแก่สภาพแวดล้อม และปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลพวงตามมาอีกหลายประการ

ความจริงเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีพื้นที่ปลูกอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7 ล้านไร่ มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรประมาณ 400,000 ครัวเรือน โดยเนื้อที่ปลูกและผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2547 และที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประมาณการไว้ในปี 2558-2559 แต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.9%

ผลผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านตัน/ปี ซึ่งการใช้ข้าวโพดเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคปศุสัตว์ โดยผลผลิตเกือบ 100% จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

ทั้งนี้ นายพาโชค พงษ์พานิช จากสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ได้กล่าวถึงความความสำคัญของข้าวโพดต่อเศรษฐกิจประเทศไทยตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปลูกข้าวโพดนั้นมีมูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านบาท/ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์มูลค่าดังกล่าวนั้น เป็นผลผลิตที่มีมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท/ปี

เนื้อที่ปลูก ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี

และผลผลิตดังกล่าว ที่จะผ่านผู้รวบรวมทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้นมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ส่งออกหรือบริโภคคิดเป็นมูลค่าอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท

“เห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำที่มีการนำเข้าเมล็ด ไปถึงเกษตรกรนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 15 เท่า เมื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มูลค่าเพิ่มเป็น 20 เท่า และออกมาเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรส่วนหนึ่ง”

เนื่องจากเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของอุตสาหกรรม และมีเกษตรกรรายย่อยที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 400,000 ครัวเรือน เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นการหาทางออกจึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งตัวเกษตรกรเอง ตัวภาคเอกชนและภาครัฐ ในการร่วมมือกันให้การปลูกข้าวโพดของไทยได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับโดยสากลประเทศ จะทำให้ไม่มีปัญหาในการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ในอนาคต

ข้าวโพด ป่าไม้ ไฟป่า และปัญหาหมอกควัน

ปัญหาความเชื่อมโยงของการปลูกข้าวโพด การรุกพื้นที่ป่า การเกิดไฟป่า และปัญหาหมอกควัน มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร บุคคลจาก 3 ภาคส่วนทั้งเกษตรกรในพื้นที่ ภาครัฐ และนักวิชาการข้อมูลส่วนนี้ จะช่วยให้เห็นความเชื่อโยงชัดเจนขึ้น

นายวิเชียร จุ่งร่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกเล่าถึงสถิติเกี่ยวกับการเกิดหมอกควันในอดีตถึงปัจจุบัน เขตพื้นที่หลักที่เกิดไฟป่า และสาเหตุของการเกิดไฟป่า โดยระบุว่า ข้อมูลในปี 2558 ปัญหาหมอกควันที่เกิดเมื่อขึ้นเทียบกับปี 2557 ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นสูงกว่า มีความรุนแรงกว่า โดยความเข้มข้นของฝุ่นละอองอยู่ที่อยู่ที่ 381 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปี 2557 อยู่ที่ 324 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

และหากนับจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานแม้ในปี 2558 ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์จะมีจำนวนวันที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานน้อยกว่าปี 2557 แต่จากการคาดการณ์ของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเมื่อถึงสิ้นเดือนเมษายนจำนวนวันจะขยับขึ้นมาใกล้เคียงกัน ซึ่งผลกระทบจากฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ในปี 2557 มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจำนวนประมาณ 900,000 ราย และส่งผลต่อการเส้นทางการบินด้วยเช่นกัน

สัดส่วนจุดความร้อนสะสมแยกรายพื้นที่

เรื่องของหมอกควันสามารถแบ่งสาเหตุหลักได้ 2 ประการ คือ สาเหตุที่ “ควบคุมได้” และ “ควบคุมไม่ได้” กรณีที่ควบคุมได้คือ กรณีที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ คือ “การเผา” และปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผามาจาก 3 ส่วน ได้แก่ การเผาเพื่อหาสัตว์ ล่าสัตว์ สำหรับหาของป่า การเผาเพื่อทำการเกษตร และหมอกควันข้ามแดน

ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ นำไปสู่ปัญหาหมอกควันในภูมิภาคต่างๆ นั้นต้องอาศัยปัจจัยร่วมหลายประการ ทั้งลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ทําให้หมอกควันสะสม สภาพอุตุนิยมวิทยา คือ ฤดูหนาว อากาศเย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่งทําให้หมอกควันไม่แพร่กระจาย ฝุ่นละอองแขวนลอยได้นาน ซึ่งในช่วงเวลาปลายเดือนมกราคม จนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่สภาพต่างๆ เอื้ออำนวยให้เกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควันได้ หากเลยช่วงเวลานี้ไปแม้มีการเผาปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากปัจจัยไม่ครบถ้วน

สำหรับภาพรวมของ 9 จังหวัด ที่ผ่านมาในปี 2556 และ 2557 จุดฮอตสปอตส่วนใหญ่ กว่า 50% อยู่ในพื้นที่ป่าสวงน และในการนับจุดฮอตสปอตสะสมในปี 2558 จะพบบริเวณเขตป่าสงวน และป่าอนุรักษ์อยู่ที่ 43% ประมาณ 3,000 จุด ส่วนพื้นที่การเกษตร 14% ประมาณ 1,000 จุด

จึงเกิดเป็นคำถามว่าปัญหาเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเหตุไฟป่าที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน และค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานนั้น พื้นที่จุดฮอตสปอตอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนมีประมาณ 80% แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับชาวบ้าน

นายวิเชียรระบุว่าภาพจากสไลด์ เป็นจุดความร้อนที่เกิดขึ้นใน อ.สะเมิง โดยจะพบจุดดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์ แต่เมื่อขยายภาพให้ชัดเจนขึ้นทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่าในเขตพื้นที่นั้นได้กลายสภาพเป็นพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เกษตรในป่าไปแล้ว ก็คือ พูดง่ายๆ ว่ามีการบุกรุกเข้าไปตั้งถิ่นฐาน หรือปลูกพืชต่างๆ

ตัวอย่าง hotspot ในพื้นที่ป่าสงวนฯ

ตัวอย่าง hotspot ในพื้นที่ป่าสงวนฯ ภาพถ่ายดาวเทียม

“สิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องยอมรับจากข้อมูลเมื่อสักครู่ก็คือ 1/3 ของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูง เพราะว่าเราเคยไปคุยกับประชาชนในเขตภาคเหนือว่า หากไม่เผาป่าแก้ได้หรือไม่ ก็มี 20 คำตอบที่บอกว่าได้ แต่สุดท้ายนั้นคำตอบทั้งหมดก็บอกว่าต้องใช้เงินทุนในการจะทำให้ได้ บอกว่าไปไถกลบ ชาวบ้านก็ถามว่าค่ารถไถใครจะออก เนื่องจากการเผา ลงทุนเพียงไม้ขีดก้านเดียว จึงเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน เราก็ต้องยอมรับว่าการทำเกษตรในพื้นที่สูงโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ซึ่งต้นเหตุของปัญหาก็คือเมื่อมีการบุกรุกก็ไม่กล้าปลูกพืชชนิดอื่น เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ เพราะผิดกฎหมาย ไม่กล้าลงพืชยืนต้นเพราะจะถูกจับ ข้าวโพดจึงเป็นพืชที่มีอายุสั้นที่สุด จึงง่ายที่สุดในการเพาะปลูก”

นายสมชัย มาตรเทียน รองอธิบดีกรมป่าไม้ เล่าให้ฟัง ว่า ในอดีตประเทศไทยมีป่าไม้ 320 ล้านไร่ จากข้อมูลล่าสุดประเทศไทยเหลือป่าอยู่เพียง 102 ล้านไร่ หรือประมาณ 30% เฉลี่ยป่าหายไปประมาณ 1 ล้านไร่/ปี

“ปัญหามันเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับว่าในอดีตไทยต้องการพัฒนาประเทศเยอะ ก็ต้องใช้พื้นที่ป่าเยอะในการปลูกพืช โดยสาระสำคัญปัจจุบันไฟป่าก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำลายป่าค่อนข้างเยอะ รวมไปถึงการบุกรุกทำลายของชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกิน”

เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ป่าที่เหลืออยู่ทั้งหมดนั้น ที่ไหนที่สำคัญ ป่าสมบูรณ์นั้นจะมีการสงวนหวงห้ามไว้ ก็มีการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามอย่างเด็ดขาด การบุกรุกในพื้นที่นี้ค่อนข้างน้อย แต่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 1,221 แห่ง ไม่ใช่เขตหวงห้ามเด็ดขาด จะมีประชาชนอยู่

ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าที่เรียกว่า “ป่าเสื่อมโทรม” หรือป่าที่ชาวบ้านเข้าไปอยู่ประมาณ 26.68 ล้านไร่ ในจำนวนนี้กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ได้ประมาณ 8.6 ล้านไร่

“เมื่อมีการอนุญาตให้ชาวบ้านขึ้นทะเบียน เขาจึงสามารถอยู่ทำกินได้ แต่ห้ามรุกใหม่ ต้องทำกินในพื้นที่เดิมเท่านั้น หลังจากขึ้นทะเบียนปี 2541 ด้วยสาเหตุอะไรผมคงไม่โทษใคร แต่ป่านอกจาก 8.6 ล้านไร่ที่หายไป จนถึงวันนี้มีการบุกรุกเพิ่มไปอีก 11.73 ล้านไร่ ตัวเลขมหาศาลมาก จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ป่าสวนนั้นแทบทุกตารางนิ้วมีประชาชนเข้าไปอยู่หมด ประเด็นก็คือว่าประชาชนที่อยู่ในป่าจะบอกว่าเป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน”

รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวต่อไปว่า ตนไม่ได้บอกว่าพืชเกษตรเฉพาะข้าวโพดที่เป็นปัญหา เนื่องจากมีพืชอื่นในภาคอื่นอีกจำนวนมาก เพียงแต่ข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกง่าย ซึ่งกรมป่าไม้พบว่าพืชเกษตรที่เป็นข้าวโพดอยู่ในเขตป่าของกรมป่าไม้คือป่าสงวนประมาณ 2.5 ล้านไร่ โดยประเด็นปัญหาอยู่ที่การจัดการทางเศรษฐกิจ หรือการจัดการผลผลิตข้าวโพด

เนื่องจากประเด็นคือการเผาในพืชเกษตรไม่ได้จบเพียงในพื้นที่เกษตร เพราะเมื่อมีการเผาไฟก็ลุกลามเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์และเขตอุทยาน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเข้าถึง และควบคุมได้

รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความจริงเกี่ยวกับวิธีเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแรงจูงใจของเกษตรกร โดยบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงที่ตนได้พบเมื่อครั้งเป็นปรึกษาของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในปี 2555-2556

โดยได้รับคำสั่งให้ไปดูปัญหาเชิงสังคมในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ ได้ข้อมูลคล้ายๆ กับที่ที่ได้กล่าวไปแล้ว คือหมอกควันทั้งหมดมักเกิดจากที่สูง หรือที่ภูเขา จากการเผา และธรรมชาติอื่นๆ

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ นักเรียนใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นลูกชาวเขาทั้งหมด และอยู่โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนประจำ จากการสัมภาษณ์เรื่องของอาชีพ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำการเกษตร หลังจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนนี้เด็กๆ ก็แทบไม่มีโอกาสเรียนต่อ

โดยเด็กกว่า 60% ตอบว่าเวลาว่างในช่วงปิดเทอมคือ “กลับบ้านไปเผาป่า” พอมาตรวจสอบข้อมูลโดยใช้ดาวเทียมจากทาง GISTDA ปรากฏว่าในช่วงการเกิดหมอกควัน การเผาป่า หรือการเกิดไฟป่ามักจะเกิดในช่วงเดือน กุมภาพันธ์–เมษายน ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆ กลับบ้านและใช้แรงงานตัวเองในการจัดเตรียมพื้นที่ให้พ่อแม่เพื่อรอน้ำฝน เพราะการปลูกพืชต่างๆ บนภูเขานั้นเป็นพืชไร่น้ำฝน ต้องรอน้ำฝนสำหรับการเพาะปลูก

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“ถามว่าหนูไม่ได้เรียนมาหรือ ที่โรงเรียนไม่ได้สอนหรือ เขาบอกว่า ‘เรียน รู้ สอน แต่ถ้าหนูไม่ทำในช่วงปิดเทอม พอเปิดเทอมพ่อแม่หาแรงงานไม่ได้เลย’ จึงต้องใช้แรงงานของลูกในการเตรียมพื้นที่ให้ และถามว่าหากพ่อแม่ไม่ปลูกพืชไร่ ไม่ปลูกข้าวโพด แกตอบว่า ‘หนูไม่มีค่าเทอม เพราะปีหนึ่งพ่อแม่มีรายได้แค่ครั้งเดียว’ ถัดมาแกตอบว่า ‘ถ้าหนูเก็บใบไม้ขายได้ทุกใบ หนูก็จะไม่เผาต้นไม้หรอก แล้วหนูก็รวยแน่นอน’”

นั่นแปลว่าบนภูเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีแหล่งน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝน เดินทางไม่สะดวก หากปลูกพืชอื่น คำถามคือ หาเป็นผักหรือไม้ผล กว่าจะลงมาถึงข้างล่างก็คงทำได้อย่างเดียวคือ “แยม”

“นี่เป็นข้อมูลด้านหนึ่งว่าถ้าเราจะมองเรื่องหมอกควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟป่าหรือหมอกควันที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ อาจจะต้องมองเชิงหลายมิติ หากใช้มิติเดียว เด็กๆ บนภูเขามีปัญหาแน่” รศ.ดร.อำไพวรรณกล่าว

ด้านนายสถาพร สมศักดิ์ อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชน จ.น่าน คนท้องถิ่นที่คลุกคลีกับวงจรการทำไร่ข้าวโพดของชาวบ้านใน จ.น่าน กล่าวถึงปัญหาที่เกิดโดยย้อนกลับไปในช่วงปี 2536 ถึงการใช้กฎหมายต่างๆ ของรัฐในช่วงนั้นยังไม่มีความเข้มแข็งพอในการที่จะรักษาป่า ชาวบ้านจึงเสนอ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่จะช่วยจัดระเบียบและดูแลการใช้ประโยชน์จากป่าของชาวบ้าน แต่เมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ ระยะหลังจึงมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น

นายสถาพรกล่าวว่าทำไมชาว จ.น่าน จึงปลูกข้าวโพดรุกพื้นที่ป่า ทั้งที่ จ.น่าน มีหมู่บ้านที่รักษาป่าชุมชนถึง 530 กว่าแห่ง ตามความเห็นของคนในพื้นที่เอง นายสถาพรมองว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือผลผลิตกับราคาที่เป็นแรงจูงใจ และการที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นผลพวงจากการใช้สารเคมี

“ในสมัยก่อนยาฆ่าหญ้าไม่มี ชาวบ้านทำไร่คนละ 10-20 ไร่ ก็เต็มที่แล้ว เมื่อสารเคมีเข้ามา ทำให้ศักยภาพในการทำการเกษตรของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เป็น 30-40 ไร่/ครัวเรือน และปัญหาความยากจนผนวกกับชาวบ้านเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ มีค่านิยมของการพยายามส่งลูกหลานเรียนให้สูง จนต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำให้รายรับกับรายจ่ายไม่สมดุล จึงต้องพึ่งพาพืชที่สามารถทำรายได้ได้ดี ใช้เวลาสั้น ทำง่าย เพียงฉีดยา ใส่ปุ๋ย และรอเก็บ สี นำออกขาย เป็นวงจร คือ ข้าวโพด ตรงนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนน่านหันมาปลูกข้าวโพด”

นายสถาพร กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่การปลูกข้าวโพด มักใช้การจ้างปลูก จ้างดายหญ้า จ้างพ่นยา ทั้งแรงงานจากต่างประเทศ และในประเทศ การเผาจึงเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยลดต้นทุน

วิธีไล่ควัน สู่เกษตรยั่งยืน

อย่างไรก็ตามในเวทีเสวนาหลายฝ่ายพยายามเสนอวิธีการแก้ไขซึ่งโดยรวมคือ ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหามีความเกี่ยวโยงกับทุกฝ่าย โดยสามารถสรุปแนวทางแก้ปัญหาจากข้อเสนอของทุกฝ่ายในวงเสวนาได้ดังนี้

1. ใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน หรือจัดทำข้อบัญญัติชุมชนทำให้เห็นความชัดเจนของรายแปลง พื้นที่ และข้อมูลที่จะนำไปสู่การทำแผนพัฒนาการจัดการแปลงเกษตรต่อไป ตลอดจนช่วยเหลือในการเฝ้าระวังไฟป่า เนื่องจากคนของภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอในการควบคุม เฝ้าระวังไฟ ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ คนที่ทำการเกษตรในป่า โดยต้องสร้างความรู้ การมีส่วนร่วม เข้าไปสนับสนุนชุมชน ทำแนวควบคุมไฟป่ารองรับไว้

2. ภาครัฐปรับการแก้ปัญหาแบบปีต่อปีเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยเริ่มจากการจัดระเบียบการเผา ควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายที่เด็ดขาดสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนบุกรุกพื้นที่ป่า

“การจัดระเบียบการเผาเท่ากับส่งเสริมให้มีการเผา แต่วิถีชีวิตบางส่วนของประชาชนต้องเผา เพราะฉะนั้นทำอย่างไรหากต้องเผา ก็จัดระเบียบซะ พูดง่ายๆ คือผลัดกันเผาแล้วไม่ให้เกิดปัญหาได้ไหม” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว

3. แก้ที่รากฐานของปัญหาด้วยการสนับสนุนเกษตรปลอดการเผา นำโดยกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้าไปแนะนำเรื่องการปลูกพืชทางเลือก หรือทำเกษตรอินทรีย์ต่างๆ แก่ชาวบ้าน ไปจนถึงสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว ในการนำไปทำพลังงานทดแทน หรือทำปุ๋ยสำหรับใช้ในแปลงเกษตรต่อไป

รศ.ดร.อำไพวรรณ กล่าวว่า การส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกอื่นๆ เช่น ชา กาแฟ และในเรื่องของการทำเกษตรที่มีคุณภาพ ยังคงต้องผ่านคำถามเรื่องพื้นที่เพาะปลูกไปให้ได้ เนื่องจากบางแห่งไม่มีน้ำเลย รวมทั้งหนทางลำบากมาก ฉะนั้นส่วนนี้อาจต้องมองเชิงสังคมด้วย ถ้าไม่ให้เขาปลูกข้าวโพด จะปลูกอะไร การสร้างป่าการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นดินต้องใช้เวลาทั้งสิ้น พืชทางเลือกมี ไม่ว่าจะชา กาแฟ และเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง แต่พืชเหล่านี้ต้องการความอุดมสมบูรณ์ ต้องการการดูแล ต้องการน้ำ และเป็นน้ำที่เป็นชลประทาน ไม่ใช่จากน้ำฟ้า

“และในเรื่องของศักยภาพพื้นที่ หากต้องการฟื้นฟูให้เขาสามารถทำกินได้อยู่กับป่าได้ต้องใช้เวลา แต่ในระหว่างที่มีการฟื้นฟูอาชีพให้เขานั้น เขาจะกินอะไร เด็กๆ จะมีเงินไปโรงเรียนไหม จะมีค่าใช้จ่ายระหว่างที่เขาเจริญเติบโตหรือไม่”

จำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2547-2557

4. พัฒนาพันธุ์ข้าวโพดนั้นให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

5. ใช้ระบบการจัดการเกษตรที่ดี (GAP: Good Agriculture Practice) ซึ่งขณะนี้นั้นมี มกษ. ข้าวโพดเมล็ดแห้ง 4402-2553 ตามมาตรฐานดังกล่าวข้อ 4.1 กล่าวไว้ชัดเจนว่า “ห้ามเผาซังเตรียมดิน”

ในประเด็นนี้นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์กล่าวเสริมว่า หากมาตรฐาน GAP มีการบังคับใช้ทันทีจะต้องเกิดปัญหาแน่นอน คือต้นทุนต่อหน่วยที่จะเกิดขึ้น ความรู้ในเรื่อง GAP ที่มีเกษตรกรบางรายทำได้แล้ว คนอื่นๆ จะทำได้หรือไม่ ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดอีกประมาณ 7 ล้านไร่ จึงต้องมีการช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมด้วย พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร ที่ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เนื่องจากการหนุนสินค้าเกษตร หรือเรื่องราคาผลผลิต เป็นปัญหาในทุกๆ ปี ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวในมาตรา 9 (4) ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะออกแบบว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรบ้าง โดยใน พ.ร.บ. ระบุจำนวนเงินชัดเจนเลยว่า 10% ของ GDP เกษตรคิดออกมาแล้วคิดเป็น 140,000 ทุกปี

“ผมเสนอในที่ประชุมนี้ และจะเสนอกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ด้วย ว่ามาตรฐาน มกษ. 4402-2553 ต้องเป็นมาตรฐานบังคับทันที และหากจำเป็นต้องไปถึงนายกรัฐมนตรีก็ต้องไป เริ่มจากข้าวโพดภายใน 3-5 ปีก็น่าจะครบทั้งประเทศ ฉะนั้นเรื่องการเผาซังจะไม่เกิดขึ้นอีก” นายพรศิลป์กล่าว

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า ในเวลานี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้มีมาตรฐานอันหนึ่งขึ้นมา เป็น GAP อีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ทดลองทำแล้ว เป็นมาตรฐานยั่งยืนการปลูกข้าวโพดฉบับเอกชนที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำออกมาใช้ ซึ่งมีระบุเช่นกันในข้อ 6.1 ว่าห้ามเผาซังเด็ดขาด

“ฉะนั้นผมคิดว่าต่อไปข้างหน้าจะต้องไม่เกิดการเผา และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จะต้องดีขึ้นไปด้วย ผมไม่ได้พูดแค่เผาซัง แต่รวมไปถึงการใช้ปุ๋ยใช้น้ำทุกอย่าง จึงต้องนำเสนอต่อไปว่ามาตรฐานประมาณ 200 มาตรฐานของ มกอช. จะต้องเป็นมาตรฐานบังคับให้หมด ไม่ใช่แค่ข้าวโพด ทุกอย่างจะยกระดับขึ้นทั้งหมด หากวันนี้เราไม่ยกระดับขึ้นประเทศข้างบ้านที่ปลูกข้าวโพดแข่งกับไทยอยู่ต้นทุนต่ำกว่า เอกชนอาจเบนความสนใจไปซื้อจากจุดนั้น แต่เมื่อมีการบังคับใช้มาตรฐาน มกษ. จะเป็นการควบคุมไปในตัวที่ห้ามผู้ประกอบการในการซื้อผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็คิดว่าเราจะได้นกหลายๆ ตัวในเวลาเดียวกัน”

6. เอกชนออกมาตรการในการแบนหรือกดราคาสินค้าที่ไม่ได้ทำแปลงเกษตร GAP รวมถึงให้การสนับสนุนด้านราคา เป็นแรงจูงใจแก่ผู้ทำแปลงเกษตร GAP

“เมื่อประกาศไปแล้วเวลาหนึ่ง ผมจะประกาศต่อเลยว่าผมจะไม่ซื้อข้าวโพดที่ไม่ได้ GAP” นายพรศิลป์กล่าว

ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระบุว่า ทุกวันนี้การทำการเกษตรแบบ GAP มองแล้วไม่ค่อยเป็นรูปธรรมที่ดี เพราะว่าราคายังไม่ต่างจากผลผลิตทั่วไป แต่หากมีราคามาเป็นสิ่งจูงใจว่าทำแล้วได้รับการรับรองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องปรับสถานภาพทางกฎหมายให้เสียเวลา เพียงแค่ใช้มาตรฐานทั่วไปก็สามารถทำให้เหตุการณ์ดีขึ้นได้ หากภาคเอกชนให้ความสำคัญกับตัวอย่างที่ดีที่เขาทำไว้ ซึ่งมาตรฐานบังคับนั้นทำได้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกนาน

7. เปลี่ยนนาข้าว สู่ไร่ข้าวโพด จากยุทธศาสตร์ 4 พืช ซึ่งมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมอยู่ด้วย โดยการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่นา 70 ล้านไร่ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้ลดลงไป 29 ล้านไร่ ซึ่งในส่วนนี้จะปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งข้าวโพดเป็นหนึ่งในพืชที่จะทำการสนับสนุนให้เพาะปลูก

นายบุญธรรม อร่ามศิริวัฒน์ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวเสริมว่า”พื้นที่การปลูกข้าวโพดที่ไม่เหมาะสมทั้งหมดจะถูกปรับเข้ามาให้มีการเพาะปลูกพื้นที่นา ปัจจุบันได้มีการลงมือปรับเปลี่ยนแล้ว 4 ล้านไร่”

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

8. การใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรแทนการเผา

ทั้งนี้จุลินทรีย์หลายชนิดที่มีรายงานโดยนักวิจัยไทย และนักวิจัยต่างประเทศ ที่มาเอาจุลินทรีย์ของไทยไปศึกษา พบว่ามีหลายตัวที่สามารถย่อยสลายเศษพืช ตอซังได้ แต่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้จริง และหากนำมาใช้จริงคงไม่ใช่แค่ให้เกษตรกรนั้นไปซื้อเอา เพราะจุลินทรีย์เหล่านี้ต้องการความชื้นและน้ำ ต้องดูจังหวะที่ใช้ว่าเมื่อไร และชนิดไหนที่เหมาะสมกับพืช ประกอบกับในเรื่องของระยะเวลา ถ้าขึ้นไปบนภูเขาแล้วหาน้ำไม่ได้เลย จุลินทรีย์พวกนี้ก็ไม่รอด มีเอนไซม์ที่ผลิตโดยเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่ไทยมีอยู่นั้นจะเป็นเซลลูโลส หรือเพกทิน ฯลฯ มีมากมาย แต่ประเทศไทยไม่เคยสนใจในเรื่องการใช้ประโยชน์จากเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง

9. ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน สนับสนุนท้องถิ่น โดยเฉพาะทางสหกรณ์ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และมีการรวมกลุ่มกันที่จะตัดวงจรการเผา หรือทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปลูกโดยไม่เผา และในฐานะผู้ประกอบการจะสามารถเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐ ดำเนินโครงการร่วมกัน โดยอาจจะเข้าไปรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อไม่ให้เกิดการเผาก็ต้องหาวิธีต่อไป

10. การจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ ต้องทำการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต โดยพยายามยกระดับผลผลิตต่อไร่ขึ้นมาให้ได้ และทำให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้โดยไม่มีปัญหากับราคาผลผลิตที่ผันผวนตามราคาของตลาดโลก

ในประเด็นนี้นายพาโชคกล่าวว่า ในปัจจุบันโครงสร้างการผลิตต้นฤดูฝนคือเดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน ฤดูปลูกมีถึง 70% ฤดูปลายฝน 25% ฤดูแล้งเพียง 5% แต่จากข้อมูลงานวิจัยโดยศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) จะเห็นว่าข้าวโพดจะให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงฤดูแล้ง หากไม่มีน้ำเป็นข้อจำกัด และผลผลิตในช่วงต้นฤดูฝนจะสูงกว่าช่วงปลายฝน เนื่องจากความเข้มของแสงที่ลดลง

“เพราะฉะนั้น เราทราบแล้วว่าข้าวโพดจะให้ผลผลิตสูงสุดคือฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝน หากสามารถเฉลี่ยการเพาะปลูกมาในช่วงเวลานี้ประมาณช่วงละ 30% จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาเนื่องจากได้ผลผลิตที่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ และตรงกับความต้องการของผู้ใช้”