ThaiPublica > คอลัมน์ > ออกไปในคุก: เล่าสู่กันฟังจากการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” (ตอนที่ 2)

ออกไปในคุก: เล่าสู่กันฟังจากการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” (ตอนที่ 2)

29 เมษายน 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

(อ่านตอนที่ 1 ได้ที่นี่)

ในวันที่สอง (28 กุมภาพันธ์ 2558) ของการประชุม “จากวาทกรรมยาเสพติดสู่การผลิตซ้ำ…สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก” ซึ่งจัดโดยโครงการกำลังใจ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม เป็นการพาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมแดนหญิงของเรือนจำกลางอุดรธานี เพื่อได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง ว่าเป็นอยู่อย่างไร ประสบกับปัญหาอะไร

001

เมื่อเข้าไปภายในเรือนจำกลางอุดรธานี ข้อมูลเบื้องต้นที่ว่าเรือนจำแห่งนี้มีจำนวนผู้ต้องขังชายและหญิง (ทั้งที่พิจารณาโทษเด็ดขาดแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี) รวมกันประมาณ 4,100 คน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ก็ทำให้พื้นที่ 18 ไร่เศษที่เท้าเหยียบอยู่ดูแคบไปถนัดตาจนจินตนาการไม่ออกว่าใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร

ภาพรวมแดนหญิง

แดนหญิงของเรือนจำกลางอุดรธานี คะเนด้วยสายตาแล้วน่าจะมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร แต่เป็นที่อยู่ของผู้ต้องขังหญิงประมาณ 700 คน

003

ปัญหาที่ทางเรือนจำและผู้ต้องขังต้องเผชิญก็คือ ส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังหญิงนั้นเป็นคนยากไร้ ในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดก็มีปัญหาอยู่ กล่าวคือ มีความไม่ชัดเจนในเรื่องของ “การครอบครองเพื่อจำหน่าย” ซึ่งชี้วัดจากปริมาณการครอบครอง แต่ในความเป็นจริง ดังกล่าวไปในตอนที่แล้วว่า บางกรณีเป็นการครองครองเพื่อเสพเอง แต่จำนวนครอบครองนั้นเทียบเท่าที่กฎหมายบอกว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ กรณีของโทษปรับ ยังไม่มีการจำแนกระหว่างผู้ค้ารายใหญ่กับรายย่อยที่แค่รับจ้างทำเป็นครั้งคราว เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก

นายประมูล ประเสริฐสุข ผู้บัญชาการ เรือนจำกลางอุดรธานี บอกว่า หากเปลี่ยนให้ผู้ต้องขังรายเล็กน้อยรายน้อยที่กระทำผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายไปรับโทษแบบอื่นแทนการติดคุก จะสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังหญิงลงได้ทันที 40 เปอร์เซ็นต์

อาหารการกิน

การใช้ชีวิตในแดนหญิง ในส่วนของอาหารการกินจะมี 2 แบบ แบบแรก คือการรับประทานอาหารที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้ แบบที่สอง จะเป็นการรับประทานอาหารที่ผู้ต้องขังหาซื้อเอาเอง โดยผู้ต้องขังรายหนึ่งบอกว่า ในตอนเช้า จะมีการนำอาหารสำเร็จรูปจากภายนอกเข้ามาขายในร้านสงเคราะห์ของเรือนจำ ผู้ต้องขังสามารถใช้เงินที่ตัวเองมีซื้อหามารับประทานเองได้หากไม่ต้องการับประทานอาหารที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้ (ซึ่งเท่าที่ฟังการยกตัวอย่างนั้นไม่น่ารับประทานเอามากๆ เช่น แกงเขียวหวานที่มีแต่หนังหมู ทั้งยังเป็นหนังหมูที่มีขนหมูติดอยู่) โดยการใช้จ่ายจะทำผ่านสมาร์ทการ์ด ซึ่งจะบรรจุเงินที่ผู้ต้องขังแต่ละคนมีอยู่ไว้ (เงินดังกล่าวอาจจะมาจากการที่ญาติๆ นำมาฝากไว้ให้ผ่านเรือนจำ) โดยกำหนดให้ใช้ได้วันละ 200-300 บาท (ข้อมูลส่วนนี้ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันอยู่ที่เท่าไหร่ครับ เพราะได้ยินจากผู้ต้องขังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง)

อาหารบางแบบ เช่น พวกขนมขบเคี้ยวที่ซื้อจากร้านสงเคราะห์ หรือกับข้าวที่ไม่เสียง่าย สามารถเก็บไว้รับประทานในมื้ออื่นได้ โดยจะเก็บไว้ในตะกร้าหรือกล่องส่วนตัวของตัวเอง (เก็บกองกันไว้ดังภาพที่เห็นด้านล่าง ผู้ต้องขังบอกว่าถ้าฝนตกก็เรียบร้อย เปียกหมด) แล้วนำมากินเมื่อถึงเวลาที่ทานอาหารของแต่ละวัน

004

การทำงานและการฝึกอาชีพ

เมื่อต้องเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องขังแล้ว ไม่ได้หมายความว่าชีวิตในมิติของการประกอบอาชีพจะหยุดลงเสมอไป ในเรือนจำนั้นมีการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อเป็นทุนทางสังคมในการออกไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ โดยในภาพที่นำมาให้ดูนั้นก็จะมีทั้งการฝึกการทำผม ฝึกนวด หรือเย็บปักตุ๊กตา (พ้นไปจากนี้ก็ยังมีการชงกาแฟและน้ำต่างๆ ขาย แต่ก็แบบกาแฟชงช้อนคนนะครับ ไม่ใช่เป็นเครื่องชงหรูหราแบบที่เราๆ ท่านๆ อาจจะคุ้นตาตามร้านกาแฟสวยๆ งามๆ ทั้งหลาย)

005

006

007

นอกจากนี้ ก็ยังมีการรับงานอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง เช่น รับจ้างซักเสื้อผ้า หรือรับงานเล็กๆ น้อยๆ ที่มาจากภายนอก แต่งานเหล่านี้ก็สร้างรายได้ที่ต่ำมาก เดือนหนึ่งนั้นไม่ถึง 300 บาทด้วยซ้ำไป (ผู้ต้องขังหญิงท่านหนึ่งเล่าว่า เธอรับจ้างซักรีด ทำงานวันละ 2 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ได้ค่าแรงเดือนละ 105 บาท) ตรงนี้ก็จะสอดคล้องกับข้อมูลที่เคยได้ฟังมาจากหลายๆ ที่ ว่าผู้ต้องขังนั้นก็คือแหล่งแรงงานราคาถูกแสนถูกของโลกภายนอกนั่นเอง และก็น่าตั้งคำถามต่อไปว่า การจ้างงานที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่าเท่านั้นจริงหรือไม่ ถ้าไม่ ส่วนเกินที่หายไปนั้นไปตกอยู่ที่ไหน

แต่อย่างในส่วนของการฝึกอาชีพ แม้จะรับประกันความหวังในยามพ้นโทษได้บ้าง ก็ไม่ได้แปลว่าจะสวยงามเช่นนั้นเสมอไป เพราะเอาเข้าจริง พอรู้ว่ามีประวัติต้องโทษ หลายที่ก็ไม่รับเข้าทำงาน อันนี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในระเบียบการรับคนเข้าทำงานของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็ให้ความรู้สึกที่แปลกประหลาด เหมือนออกจากคุกแล้วแต่ก็ยังไม่พ้นโทษ ราวกับความผิดทั้งหลายไม่ได้รับการชำระไปในการลงทัณฑ์ที่เกิดขึ้น

ก็แปลกดี ถ้าพ้นโทษแล้วยังราวกับว่ามีความผิดติดตัวตลอดไปแบบนี้ เราจะมีการลงโทษไปเพื่ออะไร

สุขอนามัย

ในการอาบน้ำ ที่อาบน้ำของเรือนจำกลางอุดรธานีจะอยู่กล้างแจ้ง มีอ่างน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ตามที่เห็นในภาพด้านล่าง

008

009

แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้อยู่เหมือนกัน ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บางทีน้ำก็ “ไม่มาแทงก์” (โดยที่เธอก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร) ทำให้ไม่มีน้ำดื่ม ซึ่งถ้ามีเงินก็ยังพอซื้อหาได้ แต่ถ้าไม่มีเงินก็จบ และในส่วนของการอาบน้ำ เวลามีปัญหาเช่นนั้น ก็ํใช้ได้แค่สามขัน หากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังมีประจำเดือน ก็จะเป็นปัญหาอย่างหนัก (สาวๆ ทั้งหลายรวมทั้งหนุ่มๆ หลายท่านคงเข้าใจดีว่าความสะอาดเวลามีประจำเดือนนั้นสำคัญขนาดไหน)

นอกจากนี้ เธอยังพูดถึงเรื่องของการรักษาพยาบาล เธออยากให้มีหมอฝันเข้ามา

“คือหมอฟัน อยากให้ช่วยหน่อย ตอนอยู่ข้างนอก ใครที่เล่นยา ตอนปวดฟันเสพแล้วมันจะหาย มันเหมือนพลังอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เราปวดฟัน ปวดท้อง เสพแล้วหายแล้วยังมีแรงทำงาน แต่พอมาอยู่ในนี้มันปวดตลอดเวลา ที่ได้บ้างก็คือยาพาราอย่างเดียว หมอฟันยังไม่เห็นเข้ามา หนูลงว่าปวดฟันตลอด ทุกวันนี้หนูก็กินแต่ยาพารา”

ในส่วนของการขับถ่าย เป็นที่กล่าวถึงกันว่า สุขาในเรือนจำนั้นทำเอาหลายคนแทบสติแตกในคราวแรกที่เข้ามาอยู่ ซึ่งหน้าตาของมันก็อย่างที่เห็นในภาพครับ

สุขานอกเรือนนอน
สุขานอกเรือนนอน
สุขาในเรือนนอน
สุขาในเรือนนอน

ไม่มีความเป็นส่วนตัว เต็มไปด้วยความเปิดเผย แม้มีกำแพงกั้นข้างๆ แต่ด้านหน้าเปิดโล่ง พื้นด้านหน้าที่ยกธรณีขึ้นมานั้นราวกับหวังว่าจะช่วยปิดบังส่วนสงวนที่กำลังทำกิจกรรมตามธรรมชาติ กระนั้นก็ทำให้หลายคนที่เข้ามาแรกๆ ยอมเสี่ยงอดทนจนอาจจะเจอการเรี่ยราดเพราะทำใจไม่ได้ที่จะทำธุระกับสุขาหน้าตาแบบนี้ โดยเฉพาะสุขาที่อยู่ในเรือนนอนนั้น ในทิศทางที่ทุกคนหันไปดูโทรทัศน์ พ้นเลยไปไม่ไกลก็จะเป็นที่ตั้งของสุขา เรียกได้ว่า หากคุณลุกไปทำธุระในช่วงเวลาทุกคนดูโทรทัศน์แล้วละก็ ทุกคนก็จะได้เห็นเรื่องราวของคุณไปพร้อมๆ กับเรื่องราวในโทรทัศน์ด้วย

จริงๆ ก็พอเข้าใจได้ในแง่ของความปลอดภัย แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัย ว่ามีทางจะทำให้ไม่ต้องเปิดอกเปิดใจในการขับถ่ายแก่เพื่อนร่วมแดนกันขนาดนี้หรือไม่

การนอน

ในส่วนของเรือนนอนที่อยู่ในแดนหญิง จะมีลักษณะเป็นสองชั้นเตี้ยๆ ดังภาพข้างล่าง ผู้ต้องขังหญิงทั้งหมดในแดนจะต้องนอนร่วมกันในนี้และมีสภาพอย่างในรูป

012

ผู้ต้องขังหญิงสาธิตการนอนในเรือนนอน
ผู้ต้องขังหญิงสาธิตการนอนในเรือนนอน
สภาพเท้าของผู้ต้องขังขณะนอนที่ต้องสับและเกยกันไปมาเนื่องจากมีพื้นที่ที่จำกัดมาก
สภาพเท้าของผู้ต้องขังหญิงขณะนอนที่ต้องสับและเกยกันไปมาเนื่องจากมีพื้นที่ที่จำกัดมาก

บทสรุป

จากการประชุมในวันแรก และการเข้าเยี่ยมชมเรือนจำกลางอุดรธานีในวันที่สอง พอจะสรุปปัญหาได้ 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้

1. ปัญหาในด้านของกฎหมายยาเสพติดที่มีผลต่อคนล้นคุก

  • วาทกรรมยาเสพติดทำให้ทัศนคติของสังคมต่อคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นไปในทิศทางของการ “ให้อภัยไม่ได้” (zero tolerance) ส่งผลให้สังคมไม่ตระหนักว่าการใช้กฎหมายกฎหมายที่รุนแรงตลอดเวลาที่ผ่านมาแท้จริงแล้วกำลังสร้างปัญหามากมายมากกว่าจะทำให้ปัญหาเรื่องยาเสพติดทุเลาเบาบางจนถึงขั้นหมดสิ้นไป
  • ผู้ต้องโทษในคดียาเสพติดนั้นส่วนใหญ่เป็นเพียงปลายน้ำของสายธารในกระบวนการผลิต-ขาย-ส่ง-เสพยาเสพติด และมักจะเป็นผู้ด้อยโอกาสที่หันมาเกี่ยวข้องเพราะไม่มีทางเลือกในการดำรงชีพอื่นๆ ที่ดีไปกว่านี้ จนกล่าวได้ว่าผู้ต้องโทษเหล่านี้เป็นเหยื่อในทุกมิติ และเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • ตัวกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจนและไม่ละเอียดอ่อนหลากหลายพอสำหรับคดี ดังจะเห็นจากตัวอย่างของการนำยาเสพติดข้ามราชอาณาจักรมาเพื่อเสพเองแต่กลับต้องโทษในฐานะของการนำเข้าเพื่อจำหน่าย จนมีผลเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต มีปัญหาเรื่องการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด
  • 2. ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง

    หากกล่าวให้ถึงที่สุด ปัญหาใหญ่ของการลงโทษผู้กระทำผิดในบ้านเราก็คือ การมองว่าผู้ที่กระทำผิดนั้นไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ยิ่งเป็นความผิดที่กฎหมายและสังคมเห็นว่าร้ายแรงมากเท่าไหร่ ความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำผิดก็ยิ่งได้รับการยอมรับน้อยลงเท่านั้น และจนถึงที่สุดก็คือหายไปเลย

    ทัศนคติเช่นนั้นทำให้ผู้ต้องขังต้องอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดความหลาบจำ และไม่กระทำผิดซ้ำอีก

    แต่คำถามคือ ถ้าเป็นเช่นนั้น เอาเฉพาะกรณียาเสพติดก็ได้ ทำไมไม่มีวี่แววว่าจำนวนผู้ต้องขังหรือเพียงผู้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจึงไม่หมดไป ทั้งยังเกิดเป็นปัญหาคนล้นคุกอยู่จนทุกวันนี้

    หรือจริงๆ แล้วเราควรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้เสียใหม่ กล่าวคือ ในการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการขุมขังนั้น สิทธิที่ควรจะถูกลิดรอนไปก็คืออิสระในการไปไหนมาไหนเพียงเท่านั้น เพิ่มเติมกว่านั้นก็เป็นกฎระเบียบเรื่องเวลาและความเรียบร้อยต่างๆ ภายในเรือนจำ แต่สิทธิด้านอื่นๆ ยังคงควรได้รับเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป คือสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี สามารถมีศักยภาพในการประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ หรือหากมีอาชีพให้ประกอบขณะต้องโทษ ก็ควรได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามกฎหมาย หรือยิ่งไปกว่านั้น ควรมีโครงการที่ช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถมีเงินออมเพื่อเป็นทุนรอนแก่ชีวิตในวันที่พ้นผิดหรือไม่ นอกจากนี้ หากเจ็บป่วย ก็ควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี หรืออย่างน้อยก็เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป

    อีกประการสำคัญก็คือ เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็ควรหมายความว่าการกระทำผิดนั้นได้รับการชำระล้างไปตามกฎหมายแล้ว ไม่ควรกลายเป็นเรื่องติดตัวจนเป็นผลต่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังที่จะเห็นกันว่าทุกวันนี้ผู้ที่มีประวัติต้องโทษจำคุกต้องประสบความยากลำบากในการหางาน หลายๆ ที่ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ จะไม่ยอมรับเข้าทำงานหากเคยต้องโทษเป็นคดีมาก่อน ซึ่งการมีทัศนคติจนถึงกฎระเบียบแบบนี้ได้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ ทำให้แทนที่คนจะไม่กล้าทำผิดแต่ต้นเพราะกลัวหางานทำไม่ได้ กลับกลายเป็นหากวันหนึ่งจะกลับตัวกลับใจก็ไม่มีใครให้โอกาส จนสุดท้ายหลายคนต้องกระทำผิดซ้ำ และต้องติดคุกอย่างเข้าๆ ออกๆ วนเวียนไปมา

    กล่าวง่ายๆ ก็คือ กระบวนการลงโทษในขั้นจำคุกนั้นควรเป็นการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ต้องขังสามารถออกไปดำเนินชีวิตอย่างคนปรกติได้ ต้องเป็นกระบวนการที่ช่วยเพิ่ม “ทุนชีวิต” คือให้มีศักยภาพในการใช้ชีวิตปรกติในสังคมได้ และไปเพิ่ม “ต้นทุนชีวิต” ให้สูงจนไม่คุ้มค่าหากจะกลับไปกระทำผิดอีก