ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจการนำเข้าอาวุธของไทย 8 ปี เกือบ 7 หมื่นล้าน – 10 ปีงบกลาโหมจาก 8 หมื่นล้าน พุ่ง 2 แสนล้าน

สำรวจการนำเข้าอาวุธของไทย 8 ปี เกือบ 7 หมื่นล้าน – 10 ปีงบกลาโหมจาก 8 หมื่นล้าน พุ่ง 2 แสนล้าน

21 เมษายน 2015


ไอเอชเอส (IHS) บริษัทวิจัยด้านการตลาด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงาน “การค้าอาวุธทั่วโลก” (Global Defense Trade Report) ซึ่งทำการวิจัยใน 65 ประเทศทั่วโลก วิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าในปี 2557 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการทหารของโลกสูงขึ้นจากเดิมมูลค่า 56.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 64.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากความต้องการด้านอากาศยานทหารและความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียแปซิฟิก

ในรายงานของไอเอชเอส ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าอินเดียขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง จีนอยู่ในอันดับที่สาม โดยเมื่อปี 2556 จีนอยู่ที่อันดับห้า ในรายงานยังบอกอีกว่าเมื่อปีที่แล้วการซื้อขายอาวุธเพิ่มขึ้นกว่า 13% โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากความต้องการอาวุธที่สูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อเครื่องบินรบ รวมทั้งความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นแชมป์ผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่สุดในโลก ตามด้วยรัสเซีย และฝรั่งเศส

คำโปรยกลาโหม_2

สถานการณ์การค้าอาวุธโลก

ในปี 2557 ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นลูกค้าอาวุธที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มากกว่ายุโรปตะวันตก ตัวเลขการนำเข้าอาวุธของซาอุดิอาระเบีย คิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกอาวุธทั้งหมดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ได้ไต่ขึ้นมาเป็นดาวดวงใหม่ของเอเชียแปซิฟิกในการส่งออก ในขณะที่ยอดส่งออกของรัสเซียกลับเริ่มลดลง และซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย สวีเดน และไนจีเรีย ได้กลายเป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของอังกฤษ

จากการที่ซาอุดีอาระเบียได้ขึ้นแท่นผู้นำเข้าอาวุธแทนอินเดียนั้น ผู้เชี่ยวชาญของไอเอชเอสระบุว่า ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังจะไม่ลดลงในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะในระหว่างปี 2556-2557 ตัวเลขการนำเข้าเพิ่มขึ้น 54% และจะเพิ่มขึ้น 52% หรือมูลค่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 นี้ นอกจากนี้ หากดูภาพรวมทั้งหมดของภูมิภาคตะวันออกกลาง ตัวเลขการนำเข้าอาจพุ่งถึง 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกสิบปีที่จะถึงนี้

จีน-เกาหลีใต้ ขึ้นแท่นดาวเด่นค้าอาวุธในเอเชีย

นอกจากการสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ของภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว ในรายงานของไอเอชเอสระบุว่า ในภูมิภาคตะวันออกกลางยังมีการนำเข้าอาวุธจากอังกฤษถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากรัสเซีย 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากฝรั่งเศส 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากเยอรมัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทผลิตอาวุธสงครามที่ส่งออกมากสุด

เมื่อหันมามองในภูมิภาคเอเชีย จีนและเกาหลีใต้กำลังเป็นดาวเด่นในเรื่องค้าอาวุธ ในปี 2557 จีนได้กระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของการนำเข้าอาวุธ โดยเฉพาะด้านการบินทหารและอวกาศ และมีการทำนายว่าจีนจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เกาหลีใต้จะกลายเป็นผู้ส่งออกอาวุธหน้าใหม่ไฟแรงของภูมิภาคภายใน 10 ปีนี้ เนื่องจากมีตัวเลขการทำสัญญาค้าอาวุธไปแล้วกว่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ารัสเซียจะมีอนาคตสดใสด้านการค้าอาวุธ แต่ในปี 2557 พบตัวเลขการค้าล่าสุดว่า รัสเซียส่งออก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 9% เท่านั้นจากปี 2556 แน่นอนว่าจีนเป็นลูกค้าหลักของรัสเซียซึ่งมีมูลค่าสั่งซื้อถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วยอินเดีย 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวเนซุเอลาและเวียดนามประเทศละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี หลังจากมีความเติบโตทางการค้าอาวุธหลายปี ขณะนี้รัสเซียกำลังพบกับช่วงเวลาที่ท้าทาย การตกลงของการส่งออกในปี 2558 ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางการเมืองส่งผลให้เกิดการแซงก์ชัน มากไปกว่านั้น จากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อลูกค้าหลักของรัสเซียอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่าน ซึ่งปัญหานี้รวมถึงการที่จีนพึ่งพาเทคโนโลยีรัสเซียน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย

ยอดนำเข้าอาวุธของไทย 8 ปี เกือบ 7 หมื่นล้าน ปืน-กระสุน นำโด่ง

จากภาพรวมสถานการณ์การค้าอาวุธโลกข้างต้น ถึงแม้ว่าจะพบความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งร้อนระอุขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่มีผลกระทบเกี่ยวข้องต่อไทยมากนัก ทว่าสะท้อนทิศทางของการกระจุกตัวของอาวุธได้เป็นอย่างดี ในมุมกลับกัน ตัวเลขการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธของไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สะท้อนนัยสำคัญของมูลค่าการนำเข้าที่อาจสอดคล้องกับงบประมาณด้านความมั่นคงทางการทหาร

Print

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รวบรวมรายการการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธที่ไทยนำเข้าประกอบไปด้วย 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก สินค้าประเภทอาวุธและกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของของดังกล่าว (Arms Ammunition) กลุ่มที่สอง ผลิตภัณฑ์จำพวกระเบิด พลุไฟ (Explosive Pyrotechnic Product) และกลุ่มสุดท้าย สินค้าประเภทรถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่นๆ

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศุลกากร พบว่าในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550-2557 ไทยนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธและกระสุนจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิสราเอล และจีน มากที่สุด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าการนำเข้าสินค้าประเภทระเบิด พลุไฟ รถถัง และยานหุ้มเกราะอื่นๆ นอกจากนี้ ในปี 2554-2555 พบว่ายอดรวมการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธของไทยพุ่งสูงที่สุด และค่อยๆ ลดน้อยลงในปี 2556-2557(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การนำเข้าอาวุธ

ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธและกระสุนสูงที่สุดในปี 2554 มูลค่า 8 พันกว่าล้านบาท นำเข้าสินค้าประเภทระเบิด พลุไฟ สูงสุดในปี 2556 มูลค่า 1,800 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าประเภทรถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่นๆ สูงสุดในปี 2555 มูลค่ากว่า 3,300 ล้านบาท หากพิจารณาตัวเลขโดยรวม พบว่าไทยนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธทั้ง 3 ประเภท รวมกันมูลค่า 65,000 ล้านบาท ในระยะ 8 ปี

รายละเอียดการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธ

กลุ่มแรก สินค้าประเภทอาวุธและกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของสินค้าดังกล่าว รวม 8 ปี มูลค่า 43,960.23 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่อยู่ในหมวดนี้ ได้แก่ อาวุธที่ใช้ในทางทหาร ปืนลูกโม่ ปืนพก ปืนใหญ่ เฮาวิทเซอร์ ปืนครก เครื่องยิงจรวด เครื่องพ่นไฟ เครื่องยิงลูกระเบิด รวมทั้งท่อยิงตอร์ปิโดและเครื่องยิงที่คล้ายกัน ปืนลูกซอง ปืนเล็กยาวที่ใช้ในการกีฬา ปืนแก๊ป ปืนพลุสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อใช้ยิงพลุสัญญาณเท่านั้น ปืนพกและปืนลูกโม่สำหรับใช้ยิงกระสุนหลอก ปืนพกยิงเข็มฉีดยา ปืนยิงส่งสายเชือก

รวมถึง ระเบิด ระเบิดมือ ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด ขีปนาวุธ ลูกปืน กระสุนปืนอื่นๆ จรวด ลูกปราย หมอนลูกปืน กระสุนปืนลม ลูกปืนอื่นๆ และกระบี่ ดาบ ดาบปลายปืน ทวนและอาวุธที่คล้ายกัน

กลุ่มที่สอง ผลิตภัณฑ์จำพวกระเบิด พลุไฟ รวม 8 ปี มูลค่า 10,801.76 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่อยู่ในหมวดนี้ ได้แก่ ดินขับ สายชนวนจุดระเบิด ชนวนระเบิด แก๊ปก้นกระสุนปืน หรือแก๊ปหัวชนวนระเบิด เชื้อจุดระเบิด เชื้อปะทุไฟฟ้า สำหรับจุดระเบิด สายชนวนจุดระเบิดกึ่งสำเร็จรูป แก๊ปแบบอีลีเมนเต็ด ซิกแนลทูป ดอกไม้เพลิง พลุสัญญาณ พลุสัญญาณตัดฝน พลุสัญญาณตัดหมอก และของจำพวกดอกไม้เพลิงอื่นๆ เครื่องอุปกรณ์ให้สัญญาณขอความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังมีอาวุธยุทธภัณฑ์จำลองจำพวกดอกไม้เพลิง และแก๊ปก้นกระสุนปืนสำหรับของเล่น ไม้ขีดไฟ เฟอร์โรซีเรียมและแอลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่นๆ รวมทั้งของทำจากวัตถุที่สันดาป เชื้อเพลิงเหลวหรือเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซเหลวบรรจุในภาชนะชนิด ใช้บรรจุหรือเติมไฟแช็กหรือเครื่องขีดไฟที่คล้ายกัน และมีความจุไม่เกิน 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร เชื้อเพลิงแข็งหรือกึ่งแข็ง แอลกอฮอล์ที่ทำเป็นของแข็ง และเชื้อเพลิงปรุงแต่งที่คล้ายกัน หินเหล็กไฟสำหรับเครื่องขีดไฟ เฟอร์โรซีเรียมอื่นๆ แอลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่นๆ คบเพลิงเรซิน เชื้อไฟ และสิ่งที่คล้ายกัน

กลุ่มสุดท้าย รถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่นๆ ที่ขับด้วยมอเตอร์ จะติดตั้งอาวุธด้วยหรือไม่ก็ตาม และส่วนประกอบของยานดังกล่าว รวม 8 ปี มูลค่า 10,244.50 ล้านบาท

งบกระทรวงกลาโหม 10 ปี จาก 8 หมื่นล้าน พุ่ง 2 แสนล้าน ทัพบกแชมป์

ในรายงานของดิอีโคโนมิสต์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นับเป็น 8 เดือนหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร ระบุว่า กว่าทศวรรษที่ผ่านมา การทะเลาะกันของนักการเมืองกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของการเมืองไทยไปแล้ว และระบุอีกว่า นายพลราว 1,600 คน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งมีอำนาจเหนือพื้นที่ทางการเมือง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนในการลงเลือกตั้งได้ ทว่ากลับไล่บี้ศัตรูทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหารในปี 2549 และในปี 2557 ในการเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรมของประเทศ นั่นเท่ากับว่าการให้ความสำคัญของงบประมาณด้านการทหารจึงอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยตลอดมานั่นเอง

สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับมูลค่าการนำเข้าอาวุธของไทยโดยรวมในช่วงปี 2554-2555 พุ่งสูงที่สุด และค่อยๆ ลดน้อยลงในปี 2556-2557 นอกจากนี้ยังพบว่า ในบรรดาเหล่าทัพทั้ง 3 เหล่านั้น กองทัพบกนับเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงมาก โดยมีความแตกต่างของงบประมาณสูงกว่ากองทัพเรือและกองทัพอากาศอย่างเห็นได้ชัด

10ปีงบประมาณกลาโหม

งบประมาณกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้เว็บไซต์ดีพเซ้าท์วอชท์ ชี้ถึงความสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้กองทัพไทยยังคงต้องรักษาอำนาจและความมั่นคงทางอาวุธไว้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งอย่างโดดเด่นในปี 2547 และยืนระยะอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง (protracted conflict) ที่กัดกินสังคมในชายแดนใต้มานานหลายปี

การใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีกับบรรดาอาเซียน ไทยสูงกว่าลาว อินโดฯ ฟิลิปปินส์

หากเทียบค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของบรรดาประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553-2556 โดยข้อมูลของธนาคารโลกหรือ World Bank พบว่า อัตราค่าใช้จ่ายทางทหารต่อจีดีพีของไทย ตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2549 งบทหารของไทยยังพุ่งไม่หยุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยกเว้นกัมพูชาที่มีการพุ่งสูงขึ้นชัดเจนที่สุด ขณะที่ประเทศอื่นคงที่ ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยค่าใช้จ่ายทางการทหารของไทยอยู่อันดับที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน สูงกว่าลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในขณะที่สิงคโปร์ครองแชมป์อันดับหนึ่ง ส่วนเมียนมาร์ไม่มีรายงานตัวเลข

Screen Shot 2558-04-12 at 1.47.42 AM
กราฟแสดงค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553-2556 http://data.worldbank.org/indicator/MS.MIL.XPND.GD.ZS/countries/TH-BN-VN-PH-KH?display=default

ค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของประเทศในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2553-2556

    1. สิงคโปร์ 3.4, 3.3, 3.3 และ 3.3
    2. บรูไน 3.2, 2.5, 2.4 และ 2.6
    3. เวียดนาม 2.3, 2.0, 2.2 และ 2.2
    4. กัมพูชา 1.6, 1.6, 1.5 และ 1.6
    5. มาเลเซีย 1.6, 1.7, 1.5 และ 1.5
    6. ไทย 1.5, 1.6, 1.5 และ 1.5
    7. ฟิลิปปินส์ 1.2, 1.2, 1.2 และ 1.3
    8. อินโดนีเซีย 0.7, 0.7, 0.9 และ 0.9
    9. ลาวอยู่ที่ 0.2, 0.2, 0.2 ส่วนในปี 2556 ไม่มีรายงาน