ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 12): เชียงรายนำร่องเลิกใช้แร่ใยหินโดยไม่รอนโยบายรัฐ

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 12): เชียงรายนำร่องเลิกใช้แร่ใยหินโดยไม่รอนโยบายรัฐ

24 เมษายน 2015


ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงรายชี้แร่ใยหินเป็นอันตรายใกล้ตัวที่ผู้บริโภคไม่เคยรู้ จึงทำโครงการ “ความร่วมมือเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากแร่ใยหินอันส่งผลต่อสุขภาพ” เพื่อสื่อสารความรู้สู่บริโภค ในพื้นที่นำร่องของแต่ละอำเภอในเชียงรายรวม 18 แห่ง ปัจจุบันทุกพื้นที่มี “ประกาศเทศบาลฯ เรื่อง กำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน” แล้ว พร้อมขยายผลของโครงการสู่พื้นที่ปลอดแร่ใยหินต้นแบบในอำเภอเมืองเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง

นายธนชัย ฟูเฟื่อง หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นอันตรายที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ดังนั้น ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงรายจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยให้กับตนเองได้ ผ่านสมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ก่อตั้งในปี 2553 ซึ่งเป็นนิติบุคคลภายใต้ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงรายที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547

“ปี 2555 มีโอกาสเข้าฝึกอบรมเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ทำให้รับทราบและเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์แร่ใยหินที่ใช้ในท้องตลาดโดยเฉพาะกระเบื้องมุงหลังคาและผ้าเบรก ซึ่งความจริงแล้วเรื่องแร่ใยหินไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ได้สื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภค” นายธนชัยกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า หลังจากอบรมเรื่องแร่ใยหินชัดเจนดีแล้ว จึงสานต่อโดยโครงการ “ความร่วมมือเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากแร่ใยหินอันส่งผลต่อสุขภาพ” เพื่อคุ้มครองประชาชนด้านสุขภาพให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากแร่ใยหิน เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฉนวนกันความร้อน ท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอด

การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องแร่ใยหินของเทศบาลตำบลแม่ยาว จ.เชียงราย
การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องแร่ใยหินของเทศบาลตำบลแม่ยาว จ.เชียงราย

สำหรับจังหวัดเชียงรายประกอบด้วย 18 อำเภอ 124 ตำบล ซึ่งทางโครงการกำหนดพื้นที่เขตเทศบาลฯ นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของอำเภอๆ ละ 1 แห่ง รวมแล้วมีเทศบาลฯ นำร่องทั้งหมด 18 แห่ง โดยแต่ละอำเภอจะมีคณะทำงาน 1-2 คนเพื่อประสานการทำงานในพื้นที่ อย่างไรก็ตามคณะทำงานดังกล่าวเป็นเหมือนอาสาสมัครซึ่งไม่มีค่าตอบแทนประจำ มีเพียงค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมและค่าเดินทางเป็นครั้งคราวเท่านั้น

นายธนชัยกล่าวต่อว่า การทำงานในพื้นที่นำร่องได้รับความร่วมมืออย่างดีจากท้องถิ่นทั้งจากข้าราชการ ผู้ประกอบการที่ค้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่หิน และประชาชน ในการพัฒนาพื้นที่นำร่องแต่ละที่ให้กลายเป็นโมเดลของอำเภอนั้นๆ นอกจากนี้ ทางศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคเชียงรายยังประสานงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย ในการทำจดหมายขอความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีฯ ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

“การขับเคลื่อนสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินในพื้นที่เทศบาลนำร่องนั้น เริ่มจากการสื่อสารด้านสุขภาพผ่านการอบรมเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ช่างก่อสร้าง ช่างรื้อถอน ผู้บริโภค ผู้นำชุมชน ฯลฯ รู้และเข้าใจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินต่อสุขภาพและการป้องกันการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหิน แล้วค่อยเริ่มพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้วางแผนจัดการเพื่อเลิกใช้แร่ใยหินในพื้นที่ตนเอง โดยการอบรวมแต่ละครั้ง จะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมฟังอย่างน้อย 20 คนในแต่ละพื้นที่” นายธนชัยกล่าว

หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงรายกล่าวต่อว่า หลังจากที่แต่ละพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจมากพอแล้ว ก็นำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขปัญหาแร่ใยหินในพื้นที่ของตัวเอง โดยวางแผนร่วมงานกันในทุกระดับตั้งแต่นายกเทศมนตรี ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ประชาชน

ด้านการสื่อสารข้อมูลของแร่ใยหินสู่ผู้บริโภค แต่ละพื้นที่ก็จะมีวิธีการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการแจกแผ่นพับ การรณรงค์ผ่านประชาคมสัญจร คือ นายกเทศมนตรีฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ถึงชุมชนต่างๆ การให้ข้อมูลแก่ชุมชนผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือนิติกรที่ลงพื้นที่พบชุมชนอยู่แล้วก็เพิ่มข้อมูลเรื่องใยหินให้กับชาวบ้านทราบด้วย

“การยกเลิกแร่ใยหินจะสำเร็จได้อย่างยั่งยืนมีวิธีการ 2 ขั้นตอนหลัก คือ 1. แบนแร่ใยหิน 2. รื้อถอน ดัดแปลงอาคารสิ่งปลูกสร้างให้ใช้วัสดุปลอดแร่ใยหิน ซึ่งในเชิงพื้นที่มีเป้าหมายสูงสุดคือประกาศเป็นเทศบัญญัติยกเลิกการใช้แร่ใยหิน” หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงรายกล่าว

ออกประกาศเทศบาลคุมการก่อสร้างและรื้อถอน

ประกาศเทศบาลตำบลแม่ยาวเรื่องกำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่นำร่องทั้ง 18 แห่งยังไม่สามารถประกาศยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นเทศบัญญัติได้ เนื่องจากอุปสรรค 2 ข้อ คือ 1. ขัดแย้งกับกฎหมายผังเมือง และ 2. ความล่าช้าของเทศบัญญัติที่ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาเทศบาลอย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการประกาศใช้ตามกฎหมาย

ดังนั้น เทศบาลฯ นำร่องทั้ง 18 แห่ง จึงพิจารณาออกเป็น “ประกาศเทศบาลฯ เรื่อง กำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน” เนื่องสามารถประกาศใช้ได้ทันทีโดยคำสั่งของ นายกเทศมนตรี โดยอ้างพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ท้องถิ่นไม่สามารถประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินในพื้นที่ได้หากรัฐบาลยังไม่กำหนดเป็นกฎหมาย

“ปัจจุบันพื้นที่นำร่องทั้ง 18 แห่งออกประกาศเทศบาลฯ ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินในลักษณะเดียวกันครบทั้ง 18 แห่งแล้ว โดยเริ่มประกาศใช้ประมาณเดือนตุลาคม 2557 หลังที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ร่วมมือกันวางแผนมาตั้งแต่ปี 2556 ส่วนแผนงานต่อไปในอนาคตคือ พัฒนาโครงการจากพื้นที่นำร่องมาทำพื้นที่ปลอดแร่ใยหินในอำเมืองเชียงรายครอบคลุมทั้ง 18 ตำบล รวมถึงขยายผลจากพื้นที่นำร่องสู่จังหวัดใกล้เคียง” นายธนชัยกล่าว

ทั้งนี้ ข้อกำหนดในประกาศเทศบาลฯ แต่ละแห่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่จะมีข้อกำหนดหลัก ดังนี้ 1. ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารภายในพื้นที่ ณ สำนักงานเทศบาลฯ ส่วนงานโยธาธิการ

2. เทศบาลฯ ให้ข้อมูล ชี้แจง และให้คำแนะนำต่อผู้ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร เกี่ยวกับอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหิน เช่น การป้องกันการฟุ้งกระจายขณะรื้อถอน วิธีปิดคลุมสถานที่ การฉีดพรมน้ำระหว่างรื้อถอน การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

การติดป้ายประกาศการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินของเทศบาลตำบลแม่ยาว จ.เชียงราย
การติดป้ายประกาศการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินของเทศบาลตำบลแม่ยาว จ.เชียงราย

3. เทศบาลฯ ต้องจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ปิดบริเวณสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร เช่น ป้ายไวนิลระบุว่าเป็นเขตอันตราย หรือมีเครื่องหมายอันตรายปิดประกาศอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหินได้

นายธนชัยกล่าวอีกว่า ในการทำงานที่ผ่านมา เทศบาลบางแห่งได้รายงานผลการดำเนินการมายังศูนย์ฯ ซึ่งพบว่า ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามและให้ความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะการสื่อสารสาธารณลงสู่ชุมชนที่ครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกคน เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านกระจายข่าวไปสู่ลูกบ้านได้ทั่วถึง และมีความเข้าใจเรื่องแร่ใยหินเป็นอย่างดี จนสามารถถ่ายทอดความรู้และแนะนำลูกบ้านในการจัดการวัสดุที่มีแร่ใยหินได้

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ในด้านผู้ประกอบการก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแร่ใยหินมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเลิกขายผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินได้อย่างเด็ดขาด เพราะผู้บริโภคบางคนมีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อวัสดุปลอดแร่ใยหินที่มีราคาสูงกว่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะแนะนำผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีแร่ใยหินหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยการแนะนำผู้บริโภคตามความเป็นจริง อีกทั้งพบว่า ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินมากขึ้นประมาณร้อยละ 60

“ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการสนใจผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหินมากขึ้น ลดการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินลง ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการและการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหินของผู้ผลิตด้วยที่จัดอบรมตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วย” นายธนชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคของโครงการก็มี เช่น อาคารบางแห่งก่อสร้าง รื้อถอน ดัดแปลง โดยไม่มาขออนุญาต เนื่องจากเจ้าของอาคารไม่มีเลขที่บ้าน หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลได้ไม่ทั่วถึง

สำหรับอุปสรรคอื่นๆ ในการทำงานนั้น นายธนชัยกล่าวว่า มีบ้างในช่วงแรกของโครงการ เช่น เจ้าหน้าที่ราชการไม่ร่วมมือด้วย เพราะโครงการนี้สร้างภาระงานเพิ่มขึ้นให้แก่เขา แต่หลังจากที่เข้าใจว่าเป็นการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็มีทัศนคติต่อโครงการดีขึ้น ส่วนด้านผู้ประกอบการบางกลุ่มก็ต่อต้านในช่วงแรกเช่นกัน เนื่องจากเข้าใจว่าโครงการจะทำให้ธุรกิจชะลอตัว สินค้าไม่ออก แต่ภายหลังก็เข้าใจว่า ในอนาคต การยกเลิกใช้แร่ใยหินจะเกิดขึ้นแน่นอน และผู้ผลิตก็ต้องค่อยๆ ลดการใช้แร่ใยหิน เพราะฉะนั้น การเตรียมพร้อมและค่อยๆ ปรับตัวก่อนจะได้เปรียบกว่า