ThaiPublica > เกาะกระแส > ถกปัญหาการศึกษาทางเลือก โอกาสของเด็กไทยและแนวโน้มออกจากระบบ – จัดการศึกษาเอง

ถกปัญหาการศึกษาทางเลือก โอกาสของเด็กไทยและแนวโน้มออกจากระบบ – จัดการศึกษาเอง

19 เมษายน 2015


พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นช่องทางที่เปิดให้คนไทยมีโอกาสและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เอง การศึกษาทางเลือก แม้จะมีกฏหมายรองรับมา 16 ปีแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสพฐ.ในฐานะผู้ออกกรอบระเบียบการปฏิบัติกลับเขียนด้วยภาษาที่กำกวม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานตีความไม่ตรงกัน รวมทั้งความเข้าใจของข้าราชการสำนักงานเขตพื้นที่ต่อการศึกษาทางเลือก จนบัดนี้ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้ผู้จัดการศึกษาทางเลือกประสบปัญหาในหลายๆด้าน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกได้เข้าหารือกับสพฐ.โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมในประเด็นการจัดการศึกษาของกลุ่มการศึกษาทางเลือก ที่มีอุปสรรค ข้อติดขัดสำคัญในเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้แก่ บ้านเรียนและศูนย์การเรียน

การประชุมหารือสภาการศึกษาทางเลือกกับสพฐ.

รศ.ประภาภัทรกล่าวว่า การศึกษาทางเลือกตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้หลายรูปแบบ แล้วแต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความต้องการที่แตกต่างกันให้ลูกหลาน ตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม และการเรียนในรูปแบบนี้สามารถเทียบเท่ามาตรฐานโดยวิธีการที่แตกต่างกัน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุให้ สพฐ. ดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงทำให้เป็นหน้าที่ของ สพฐ. ในการที่จะต้องดูแผนการศึกษา ประเมินผลการศึกษา

“จึงเป็นความยากลำบากของ สพฐ.เป็นข้อจำกัดของ สพฐ. เพราะเขามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขเพื่อปลดล็อกเรื่องนี้ ให้ สพฐ. ส่วนการศึกษาทางเลือกควรมีหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญมาดูแลเฉพาะ วันนี้ที่มาหารือกันเพื่อให้การศึกษาทางเลือกมาบอกข้อติดขัด และด้วยสถานการณ์ความจำเป็นในขณะนี้ ที่ประชาชนคนไทยมีความสนใจที่จะจัดการศึกษาที่หลากหลายจากความต้องการจัดการศึกษาดังกล่าว จึงเป็นปัญหาที่ต้องมาหารือกันทั้งฝ่ายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ต้องเอื้อเฟื้อให้ทุกคนที่ต้องการจัดการศึกษาเองได้ โดยผู้จัดการศึกษาทางเลือกก็ต้องรับผิดชอบและพิสูจน์ผลการจัดการศึกษานั้นให้เห็นผลชัดเจนเช่นกัน” รศ.ประภาภัทรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมตัวแทนจากศูนย์การเรียนและบ้านเรียนจากหลายๆ แห่งที่ประสบปัญหาในการจัดการศึกษาทางเลือกได้นำเสนอข้อเท็จจริงของปัญหาในหลายๆ ประเด็น อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่ตีความกฎหมาย กฎกระทรวงที่ไม่สอดคล้องกันกับบ้านเรียน/ศูนย์การเรียน รวมทั้งทัศนคติของกลุ่มศึกษานิเทศน์ การพิจารณาแผนการเรียน ความไม่วางใจครอบครัว การไม่ยอมรับว่าระบบโรงเรียนในเขตตนเองมีปัญหา ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการขอจัดอนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียน/บ้านเรียน เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการพิจารณาอนุญาต นัดหมายผู้จัดการศึกษาทางเลือกหลายครั้ง ทำให้ครอบครัว/ผู้จัดการศึกษาทางเลือกเสียเวลาในการประสานงานติดตามด้วยวาจาและทำหนังสือ เป็นต้น(อ่านรายละเอียดข้อสรุปปัญหาของบ้านเรียน/ศูนย์การเรียน)

นายสรายุทธ ส่งเสริมสวัสดิ์ หนึ่งในผู้จัดการเรียนการสอนแบบบ้านเรียน โดยมีลูกชาย “นายอรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์” ซึ่งล่าสุดเป็นแชมป์สนุกเกอร์เยาวชนเอเชีย เล่าว่าตนเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับความกดดันจากการจัดการศึกษาทางเลือกให้ลูก ไปขออนุญาตทางเขตการศึกษาก็ไม่ยอมเซ็นอนุญาตให้ ซึ่งตนจัดการศึกษาแบบนี้เพื่อสร้างความสามารถพิเศษให้ลูก

“คุณต้องเปิดโอกาสให้มีทางเลือกให้เขาจัดการศึกษาทางเลือกเอง เพื่อสร้างความสามารถพิเศษให้กับเด็ก เพราะผมจะให้ลูกเป็นนักสนุกเกอร์อาชีพ กระทรวงศึกษามีคนมาสอนได้เหมือนผมไหม ผมต้องการให้ สพฐ. เห็นว่าถ้า สพฐ. จัดการเรียนแบบนี้ไม่ได้ ก็ให้พ่อแม่จัด แม้ว่าพ่อแม่อาจจะจัดไม่ได้ทุกคน แต่พ่อแม่บางคนจัดได้ อย่าเพิ่งดูถูกครอบครัวในการจัดการเรียนการสอน ผมต้องการให้รู้ ครอบครัวมีศักยภาพ ไม่ต้องเอาระเบียบโน่นนี่มาจับว่าคุณทำไม่ได้”นายสรายุทธกล่าว

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้ให้ความเห็นในเรื่องแผนการเรียน เกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง และการประเมินผลที่มีความกำกวม โดยต้องแปลงผลการเรียนของการศึกษาทางเลือกให้เป็นตามแผนกระทรวงศึกษา เขตการศึกษามักจะอ่านและแปรผลที่แตกต่าง ซึ่งในเรื่องมีความเห็นตรงกันว่าจำเป็นจะต้องมีความยืดหยุ่นตามความรู้ตามกลุ่มประสบการณ์ที่แตกต่างกันของเด็ก

อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยและได้มีการเสนอทางออกร่วมกันว่า จะต้องจัดทำหลักปฏิบัติ แบบฟอร์ม หลักสูตร เกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง ชุดการวัดประเมินผล ให้ชัดเจน กฎเกณฑ์การปฏิบัติข้อใดปฏิบัติได้ ไม่ได้ พร้อมข้อเสนอแนะ โดยนัดประชุมเพื่อจัดทำเรื่องเหล่านี้ในวันที่ 30 เมษายน 2558 (อ่านเพิ่มเติมข้อเสนอสภาการศึกษาทางเลือก)

ส่วนนายนิติศักดิ์ โตนิติ ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน บ้านแม่ลามาน้อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมหลังการประชุมว่า เรื่องการขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียน ที่นี่เป็นชุมชนกะเหรี่ยง อยู่ชายแดนไทย-พม่า ในตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่มีความต้องการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต เป็นความต้องการที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ต้องการเรียนเกี่ยวกับพ่อแม่หรือเกี่ยวกับผู้รู้ในชุมชน

ที่ผ่านมาประมาณ 9 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม 2557 ถึงกุมภาพันธ์ 2558 เรื่องการขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน ในรายละเอียดการขออนุญาตจัดตั้งก็มีความไม่เข้าใจเรื่องของหลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง ซึ่งจุดนั้นไปอยู่ที่การจัดการศึกษาโดยกลุ่มประสบการณ์ เป็นองค์ความรู้ที่เป็นวิถีชีวิตภูมิปัญญาของชุมชนในการถ่ายทอดหรือว่าจัดการศึกษาให้กับเด็กผู้เรียนในชุมชน ตรงนี้เป็นความยากลำบากที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในเขตพื้นที่การศึกษา ขาดความเข้าใจในการปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง จะมีข้อจำกัดที่เป็นรายละเอียดในการออกแบบ การจัด และการประเมิน ที่จะให้ผู้รู้ ผู้จัด ผู้ปกครอง ในชุมชนมามีบทบาทในการมีส่วนร่วม ข้อจำกัดนี้น่าจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในหลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง แล้วก็กระจายความเข้าใจนี้ไปสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตการจัดตั้งศูนย์การเรียนนี้เป็นเบื้องต้น

นายนิติศักดิ์ โตนิติ
นายนิติศักดิ์ โตนิติ

นอกจากนี้ ตัวล็อกสำคัญที่ทำให้หลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางไม่สามารถขยับไปสู่การทำงานอย่างมีความเข้าใจและร่วมกันคือเรื่องใบ ปพ. หรือใบแสดงผลการเรียน ซึ่งยังไม่มีรูปธรรมในการออกใบ ปพ. ให้กลุ่มประสบการณ์ซึ่งมีหลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางมาแล้ว นี่ก็เป็นข้อจำกัดซึ่งการประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปว่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้ให้ชัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน น่าจะเป็นความหวังทางออกอันนี้

“การจัดการศึกษาทางเลือกที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนมีจัดแล้วทำไมเด็กไม่ไปเรียนในโรงเรียน นี่ก็เป็นความเข้าใจหรือความเห็นที่แตกต่างกันว่า เขาต้องการการศึกษาทางเลือกเพราะว่าต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตซึ่งโรงเรียนปกติไม่ได้มีจัดไว้ หรือถ้ามีไว้ก็อาจจะมีหลักสูตรท้องถิ่นบางเรื่องแต่ว่าเน้นหลัก 8 สาระวิชา ซึ่งเด็กอาจจะไปเรียนแต่ยังไม่ตอบโจย์ แต่การศึกษาทางเลือกนี่เป็นความต้องการของตัวเด็กด้วย ผู้ปกครองด้วย ซึ่งเขาเริ่มเห็นว่าการจัดการศึกษาที่ผ่านมาเด็กเรียนแล้วกลับมาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เด็กกลับมาบ้านเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือดูแลงานในวิถีชีวิตประจำวันไม่ได้ ไม่รู้เรื่องพิธีกรรมในการทำไร่ มันเป็นรายละเอียดของชีวิตที่เป็นห่วงว่าลูกโตมาแล้วจะดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างไร นี่เป็นความกังวลใจที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือว่าผู้รู้ที่เขายังมีองค์ความรู้ที่เข้มแข็งอยู่ มีความกังวล เมื่อพบว่ามีโอกาสในการการจัดการศึกษาโดยองค์กรชุมชนในศูนย์การเรียนจึงมีการเสนอขึ้นมา แต่ว่าไม่ใช่ 100% ของชุมชนที่เห็นด้วยนะครับ เพราะว่าทัศนคติวิธีคิดแบบสมัยใหม่ก็ครอบเอาไว้แล้วว่า การเรียนในโรงเรียนต้องมีครู มีสถานที่ชัดเจน แต่พอจัดแบบนี้ก็จะเป็นบางกลุ่มที่เห็นออกมาร่วม”

นายนิติศักดิ์กล่าวต่อว่า”ผมคิดว่าตรงนี้เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องเคารพสิทธิ หรือเคารพความต้องการของผู้ปกครอง หรือความต้องการขององค์กรชุมชนแม้ว่าจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ ก็มีการคุยกันในชุมชนเหมือนกันว่าถ้าชุมชนต้องการโรงเรียนแบบมีครูก็อาจต้องไปคุยกับเขตเพื่อให้ขยายห้องเรียนอะไรออกมา ในกรณีชุมชนไม่มีโรงเรียนไม่มีสถานศึกษา แต่ถ้ากลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเรียนรู้วิถีชีวิต ก็ต้องเคารพสิทธิของกลุ่ม อันนี้ก็มีการคุยกัน แม้แต่เขตพื้นที่ก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของแต่ละกลุ่ม ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่ามีโรงเรียนอยู่แล้วทำไมต้องมาจัดการศึกษาอีก ซึ่งถ้ามีแล้วทำดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจัด แต่ว่าเมื่อมีแล้วแต่ยังไม่ตอบความต้องการ วันนี้เราต้องเข้ามาจัดการศึกษา ต้องมีทางเลือกที่หลากหลายและตอบความต้องการของผู้เรียนให้ได้ชัดเจน แท้จริง โดยเฉพาะการเรียนรู้บนฐานของประสบการณ์ ซึ่งมีผลออกมามากมายแล้วว่า เวลาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแบบนี้ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้รู้ หรือว่าสมาชิกในชุมชน มีผลต่อการขับเคลื่อนชุมชนไปด้วย”

นายนิติศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเราเพิ่งได้รับอนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนเพียง 2 เดือน แต่การเรียนที่หญ้าแพรกสาละวิน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน นั้นเรียนตามวิถีชีวิต เพราะฉะนั้น เราไม่ได้เปิดเทอมเดือนพฤษภาคม แต่เปิดเดือนมีนาคม สอดคล้องกับวิถีชีวิตเรื่องการผลิตของชุมชน นี่ก็มันมีรายละเอียดของการปรึกษาและพูดคุยกัน

ณ วันนี้เอง เมื่อมีตัวอย่างการจัดตั้งในระดับประถมได้ กลุ่มหนึ่งก็มีข้อเสนอต่อว่าอยากให้มีระดับมัธยมด้วย เราก็กำลังมาขอยื่นจัดตั้งระดับมัธยมศึกษากับทาง สพม.34 (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34) เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนนะครับ ก็เป็นไปตามกรอบเพราะเขาเห็นว่าการศึกษาเป็นโอกาสในการสร้างบุคลากรในชุมชนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง ของครอบครัว ของชุมชนได้ แต่ต้องยอมรับว่าสังคมไม่ได้คิดแบบนี้ 100% ทั้งชุมชน แต่มีกลุ่มก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่อยู่แนวชายแดนคิดแบบนี้

“ผมคิดว่าเรื่องนี้คือเรื่องความมั่นคง ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในการมีชีวิต ความมั่นคงในการมีส่วนร่วม ดูแลและจัดการตัวเอง อย่าไปคิดว่าอยู่ชายแดนแล้วในประเด็นแบบนี้เป็นการดึงเด็กบ้าง เป็นการไปพูดเรื่องความมั่นคงหรือไม่มั่นคงบ้าง อันนี้อาจจะเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน”

นายนิติศักดิ์กล่าวย้ำว่า ถ้ามีการจัดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ก็ยังเชื่อว่าการจัดการเรียนรู้บนฐานวิถีชีวิตชุมชนหรือว่าเอาชีวิตมาเป็นตัวตั้งในการเรียนรู้ จะเป็นโอกาสในการพัฒนาไม่ใช่เฉพาะเด็กผู้เรียน ผู้จัด ผู้รู้ หรือแม้แต่สมาชิกในชุมชนถ้าอยู่บนชุมชนที่เป็นชนบทห่างไกล นี่จะเป็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยเฉพาะคุณภาพของจิตใจอันเป็นฐานภายในของการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

“เราเห็นมาด้วยผลเชิงประจักษ์ เด็กมีวินัย แบ่งงานกันทำ ดูแลช่วยเหลือกัน 9 เดือนที่ผ่านมา ช่วงแรกที่เริ่มจัดการเรียนรู้แบบนี้ก็มีทะเลาะกันบ้าง แต่ว่าภาพรวมคือต้องช่วยกันสร้างคุณภาพ เด็กก็รับรู้ถึงการขับเคลื่อนงานทั้งหมด เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย แม้แต่เรื่องการขอจัดตั้งเด็กก็เข้ามามีส่วนเรียนรู้ มีการประชุมผู้ปกครองทุกอาทิตย์เพื่อติดตามความคืบหน้าที่ช่วยกันทำคุณภาพ ผมคิดว่านี่เป็นโอกาส แม้แต่กระบวนการจัดตั้งอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดใจและเข้ามามีส่วนร่วมในส่วนนี้ด้วย ที่ผ่านมา 9 เดือนที่จัดตั้งใช้งบประมาณ 2 แสนบาท อันนี้เป็นเงินที่ได้รับจากการระดมทุนจากผู้ปกครอง ไม่มีส่วนที่ภาครัฐสนับสนุนช่วยเหลือเลย แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่คือการมีส่วนร่วมที่จะเข้ามาช่วยกันทำคุณภาพให้เกิด แล้วเมื่อเกิดจุดใดจุดหนึ่ง ผมว่าคือโอกาสการเรียนรู้ของจุดอื่นๆ ซึ่งมีอีก 10 จุดที่อยากจะทำให้เกิดแบบนี้ขึ้น ตอนนี้ก็ได้ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยในภาคเหนือขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาบนฐานวิถีชีวิตชุมชม จะมีนักศึกษามาเรียนรู้กับผู้จัดซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชน แล้วไปพัฒนาการเรียนรู้ให้ประโยชน์กับเด็ก เกิดการเติบโตของชุมชนในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ถ้ามีความคืบหน้าอย่างไรก็จะสื่อสารกับสังคมต่อไป”(ดูวิดิโอ)

การศึกษาทางเลือก ความหวังการปฏิรูปการศึกษา

รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการศึกษาทางเลือกมีมานานแล้ว เพราะมีผู้จัดการศึกษาที่มีความต้องการที่หลากหลายเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และในสังคมไทยตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงสูง แล้วเราต้องการบุคลากรหรือคนในชาติที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เยอะมาก อย่างวันนี้ก็มีพ่อที่ฝึกลูกเป็นนักสนุกเกอร์มืออาชีพระดับเอเชีย (น้องซันนี่ นายอรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ เด็กบ้านเรียน) ซึ่งถ้าถามว่าฝึกในโรงเรียนทั่วไปได้ไหม ไม่ได้ นักเรียนในระบบปกติก็ไม่มีเวลาที่จะฝึกเป็นมืออาชีพอย่างนี้

“เพราะฉะนั้น สังคมยังต้องการบุคลากรที่มีความสามารถสูง มีประสิทธิภาพ มีสมรรถนะในด้านต่างๆ เยอะมาก การศึกษาทางเลือกจึงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว มนุษย์เราไม่อยู่เฉยหรอก ก็พยายามที่จะเรียนรู้และเติบโตเต็มศักยภาพของตัวเองให้ได้ ฉุดไม่อยู่หรอก จะเอาระบบการศึกษาแบบชนิดมาตรฐานเดียวไปบังคับให้คนเรียนอยู่อย่างนั้นเนี่ย ในคนทั้งหมด 9 ล้านคน หรือทั้งประเทศ 70 ล้านคน เป็นไปไม่ได้ ก็เหมือนที่ท่านนายกฯ ว่า one size never fit all”

ส่วนในแง่ปัญหาของการศึกษาทางเลือก ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเวลาเกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลายขึ้นก็จะต้องมีมาตรฐาน ซึ่งการดูแลมาตรฐานเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องทั้งทำในแง่สนับสนุนและกำกับมาตรฐาน เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ กฎระเบียบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการประสานงาน หรือว่าบริการให้เกิดการจัดการศึกษาในทำนองนี้ได้ แล้วรับประกันเรื่องคุณภาพได้

“ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำให้มีกลไกที่จะมาจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่ลงตัว ก็ต้องทำอีกสักพักหนึ่งกว่าจะลงตัว การประชุมวันนี้ก็ไปได้สัก 80% ครั้งหน้านัดกันสิ้นเดือนนี้ก็น่าจะครบถ้วน ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วย แล้วก็เป็นการเรียกว่าตั้งต้นที่เราจะมีกลไกใหม่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้การจัดการศึกษามีความเป็นไปได้มากขึ้น ให้การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในลักษณะต่างๆ ความหลากหลายเป็นไปได้มากขึ้น ก็จะมีกลไกใหม่เกิดขึ้นในอนาคต”

“ก็เป็นความหวังในการปฏิรูปการศึกษาเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เป็นแนวหนึ่งทีเดียวที่สำคัญ เพราะเราพูดถึงการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา กระจายบทบาทการเป็นผู้จัดการศึกษา การแยกบทบาทของผู้กำกับนโยบายออกจากบทบาทของผู้จัด ไม่ใช่คนเดียวกัน อันนี้สำคัญ อีกหน่อยกระทรวงศึกษาอาจจะไม่ต้องไปเป็นผู้จัดเสียเอง สถานศึกษามีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อันนี้ก็สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”