ThaiPublica > คนในข่าว > “วินัย สวัสดิวร” เลขาสปสช.แจงปมขัดแย้ง ให้เงินหน่วยบริการอื่น 252 ล้านระบุไม่ใช่เหตุให้รพ.ขาดทุน – พร้อมเปิดเผยข้อมูลการจัด”ซื้อยา-อุปกรณ์”

“วินัย สวัสดิวร” เลขาสปสช.แจงปมขัดแย้ง ให้เงินหน่วยบริการอื่น 252 ล้านระบุไม่ใช่เหตุให้รพ.ขาดทุน – พร้อมเปิดเผยข้อมูลการจัด”ซื้อยา-อุปกรณ์”

2 มีนาคม 2015


ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แม้จะยุติไปเงียบๆหลังจากที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้รับคำสั่งจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้มีจัดการปมความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงปมความขัดแย้งกับสำงานสปสช.ด้วยนั้น ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ทั้งสองฝ่ายก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าปมความขัดแย้งของสำนักงานสปสช.กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาไประดับหนึ่ง(อ่านเพิ่มเติม) แต่ก็ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ต่อเรื่องนี้นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ไทยพับลิก้า : ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสปสช. กับหน่วยบริการฯในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีการบริหารจัดการเงินเหมาจ่ายรายหัวจนหน่วยบริการไม่ส่งข้อมูลให้ สปสช. อยากทราบว่าก่อนหน้าที่จะมาจุดแตกหักดังกล่าวมีการพูดคุยกันหรือไม่

ปัญหามันเกิดระหว่าง 2 หน่วยงาน คือ สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุข ถามว่ากระบวนในการแก้ปัญหา เราก็ใช้กระบวนการเจรจา เวลาเราจะจัดสรรระบบงบประมาณ เราก็มีคณะกรรมการในการจัดการ มีกระบวนในการเจรจาระหว่าง สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุข

กลไกในการบริหารกองทุนไม่ใช่อำนาจของเลขาธิการสปสช. เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ในการบริหารกองทุนแต่ละปี เมื่อได้งบประมาณมา เราก็ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการว่าจะบริการจัดการอย่างไร จะแบ่งเงินอย่างไร สมมติว่ากติกาในการจัดสรรในปี 2559 จะต้องเสร็จก่อน 1 ตุลาคม 2558

ขณะนี้เรากำลังทำ “ขาขึ้น” ขอรัฐบาลว่าปี 2559 (ดูรายละเอียดงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2559)รัฐบาลจะจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวให้เราเท่าไหร่ จริงๆ เราก็พอจะรู้ตัวเลข ประมาณสักเดือน มีนาคม – เมษายน พอเรารู้ตัวเลขคร่าวๆ เราก็จะเตรียมทำการบริหารจัดการ “ขาลง” จะมีกลไกสำคัญคือคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ซึ่งมี อาจารย์คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน แล้วก็มีตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข มีท่านปลัดกระทรวง ส่วนใหญ่จะให้ท่านรองปลัดมาเป็นคนในคณะกรรมการ มีตัวแทนของโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน มานั่งคุยกันว่าจะบริหารจัดการกันอย่างไร คุยกันหลายรอบว่าจะแบ่งเงินอย่างไร หักเงินเดือนกันอย่างไร ทำอย่างนี้ทุกปีเป็นกระบวนการปกติตั้งแต่เริ่มตั้งสำนักงาน

สุดท้ายแล้วกติกาในการจัดสรร มันก็ออกมาในรูปแบบของประกาศของคณะกรรมการ จัดทำมาเป็นคู่มือบริหารกองทุน ในปี 2558 คู่มือมีทั้งหมด 4 เล่ม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปลายปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่มีรัฐประหารในเดือน พฤษภาคม มาถึงกันยายนเริ่มมีรัฐบาล กลไกทางการเมืองก็ว่าไป แต่กลไกการจัดการของเราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เราก็เตรียมจะทำประกาศ ซึ่งกลไกทั้งหมดก็มีกระทรวงอยู่ในระบบ ผมยืนยันว่ามีตัวแทนของปลัดกระทรวง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ในการจัดทำ เพราะว่ามันเป็นเหมือนกับงานปกติของระบบการจัดการ

ในปี 2558 นี้ ตอนก่อนจะมีประกาศ กระทรวงสาธารณสุขก็มีเสนอเรื่องอยากให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อนุกรรมการทางการเงินก็ไม่ได้ว่าอะไร มีการเชิญมาประชุมเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ทางตัวแทนกระทรวงไม่ได้มาเสนอ ผมก็เลยเรียนกับรัฐมนตรีว่าเนื่องจากเราต้องเริ่มใช้ 1 ตุลาคม รายละเอียดในการดำเนินการจริงๆ จะโยงให้เห็นว่าทำไมถึงมีประเด็นปัญหา

เมื่อมีประกาศออกมาซึ่งต้องใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ก็มีข้อเสนอของกระทรวงในการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ ตอนเสนอมติบอร์ดผมยังบอกท่านรัฐมนตรีเลยว่า ไม่เป็นไร เนื่องจากมันรอเวลาไม่ได้ ก็เขียนในมติบอร์ดว่าให้เวลาสำหรับในการทำข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการกองทุน 2 เดือน เรามีมติปลายเดือนกันยายน 2557 ฉะนั้นในการปรชุมบอร์ดเดือนธันวาคมต้องมีข้อเสนอ

แต่ระหว่างนั้นถ้าหากติดตามข่าวก็รู้ว่ามีปัญหา สุดท้ายกระบวนการก็ไม่เสร็จ เดินหน้าเลยมาถึงปัจจุบัน สุดท้ายประชุมครั้งล่าสุดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ก็มีมติออกมา

คำถามว่าทำไมมีการไม่ส่งข้อมูล เรามีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลขาดทุน เราก็ตั้งกรรมการ มีอาจารย์ยุทธ เป็นประธาน แล้วมันก็เดินหน้าไปไม่ได้เพราะทางกระทรวงฯ ไม่ส่งผู้แทน แล้วผมก็นึกไม่ออกว่าผมจะทำอย่างไรในการแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า : ปัญหาใหญ่ที่หน่วยบริการร้องเรียน จริงๆแล้วสปสช.รู้สึกว่ามันใช่ปัญหาหรือไม่

เขาร้องว่าอย่างไรล่ะ ถ้าร้องว่าโรงพยาบาลขาดทุน เนี่ย… ผมว่าไม่คิดว่าเป็นปัญหา

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่ร้องเรื่องโรงพยาบาลขาดทุน เพราะนั่นเป็นปลายเหตุของการใช้เงินเหมาจ่ายรายหัว แต่ร้องเรื่องการบริหารจัดการเงิน ว่าคนที่เป็นผู้ซื้อบริการจะซื้ออะไรจากหน่วยบริการ อาจจะไม่ชัดเจน และเงินที่ให้ไป ไม่ได้ลงไปที่หน่วยบริการครบตามเงินเหมาจ่ายรายหัว

ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะมันเป็นกระบวนการที่มีตัวแทนจากทั้งหมด มีทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปอยู่ในตรงนั้น เวลาจะบริหารกองทุน มีเอกสารรายละเอียดขนาดนี้ (เอกสาร 4 เล่ม) ทั้งหมดนี้คือรายละเอียด ถ้าอันนี้ไม่บอกว่าจะทำอย่างไรกับเงิน ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ทั้งหมดนี้บอกว่าจะจ่ายเงินกองไหนเท่าไหร่อย่างไร ไปอย่างไร อะไร เราทำทุกปี นี่ปี 2558 ถ้าบอกว่าไม่รู้ว่าทำอย่างไร แล้วผมจะทำอย่างไรล่ะ

คู่มือ 2558_1

ไทยพับลิก้า : เงินเหมาจ่ายรายหัวของสปสช. เอาไปใช้จ่ายผิดประเภท เช่น งบในการทำงานวิจัย ที่ให้หน่วยต่างๆ มันใช่หน่วยบริการที่อยู่ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพหรือไม่ เป็นการใช้เงินผิดประเภทอย่างที่หน่วยบริการร้องเรียนหรือไม่

มักจะมีคนพูดว่าเงินกองทุนไม่สามารถส่งให้อะไรที่ไม่ใช่หน่วยบริการได้ อันนี้ขอแย้งว่า”ไม่จริง” เพราะว่ากฎหมาย มาตรา 38 ของ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เขียนชัดเจน และมาตรา 47 แต่ไม่เป็นไร นั่นอาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

จริงๆ แล้ว วัตถุประสงค์กองทุนมีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข

[หมวด 4 หลักกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 38 ให้จัดตั้งกองทุนหนึ่งในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ]

คำว่า “สนับสนุน และส่งเสริม” มันทำให้กว้างขึ้นในการจัดการ อย่างไรก็ตาม ถ้าไปดูมาตรา 47…

ไทยพับลิก้า : มาตรา 38 เขาพูดถึง“หน่วยบริการ”

ถ้ามันไม่มีคำว่า “สนับสนุน และส่งเสริม” นะ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ผมจะไม่เถียงอะไรมาก ในมาตรานี้ wording มันทำให้เกิดการตีความ จะเชื่อผมไม่เชื่อผมก็แล้วแต่นะ ถ้าคุณขีดคำว่า “สนับสนุน และส่งเสริม” นะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ผมจะไม่เถียง

คือคำว่า “ส่งเสริม สนับสนุน”หน่วยบริการ มันมีหลายอย่าง ผมถึงบอกว่าผมไม่ได้เถียงเรื่อง“หน่วยบริการ” แต่การส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยบริการมีหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราจัดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เราให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ สมัยก่อนเราไม่เคยฉีดวัคซีนผู้ใหญ่ เนื่องจากการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่มีโอกาสแพ้สูง ผลข้างเคียงมาก เราได้เงินส่วนหนึ่งในการทำ เพื่อให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ ไม่มีอันตราย เราใช้เงินมอบให้กรมควบคุมโรคจัดอบรมข้อระวังในการฉีดวรรคซีนไข้หวัดใหญ่คืออะไร นี่คือการสนับสนุนให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการใช่หรือไม่ เพราะว่าหน่วยบริการต้องมีความรู้ในการฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดใหม่ แล้วเอาเงินกองทุนนี่แหละให้กรมควบคุมโรค จัดอบรมเจ้าหน้าที่ พยาบาล ที่ทำหน้าที่ในการฉีดวัคซีน ว่าต้องระวังอะไรบ้าง

ไทยพับลิก้า : ทำไมการทำงานของหน่วยราชการไม่ประสานกัน เพราะเงินที่เอาไปรณรงค์เป็นเงินเหมาจ่ายรายหัว แต่ละหน่วยงานก็มีงบอยู่

ถ้ามันง่ายอย่างนั้นก็ดี กรมควบคุมโรคเขาก็เตรียมการของบแต่ละปี มันง่ายแบบนั้นก็ดี แต่มันไม่เป็นแบบนั้นหรอกครับ

ตอนที่เราทำเรื่องไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เราให้สิทธิ พอเราไปของบประมาณเมื่อปี 2551 สำหรับการดูแลผู้ป่วยไตวาย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยได้สิทธิ เมื่อได้เงินมา การที่ประชาชนจะไปใช้สิทธิ หน่วยบริการต้องสามารถให้บริการได้ ตอนนั้นระบบการล้างไตทางช่องท้อง มีหน่วยบริการอยู่ 20 แห่ง กระจุกอยู่ในกทม. เป็นโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ ขณะนี้มีหน่วยบริการอยู่ประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ เพราะว่าคนไข้ไตวายอยู่ทั่วประเทศ

ตอนนั้นเราก็เอาเงินกองทุนไปให้โรงพยาบาลจุฬาฯ จัดอบรมพยาบาลไตวายให้รู้จักวิธีการในการดูแลผู้ป่วย ไม่อย่างนั้นจะเข้าถึงบริการได้อย่างไร ประชาชนจะเข้าไปใช้บริการได้อย่างไรในเมื่อหน่วยบริการไม่มีศักยภาพในการจัดการ นี่คือการส่งเสริมและสนับสนุนของหน่วยบริการให้สามารถจัดบริการให้กับประชาชนได้

ผมคิดว่าถ้าเรานึกภาพว่า อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นส่วนสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ผ่านหน่วยบริการ ถ้าไม่ใช้วิธีการอย่างนี้ แล้วผมจะทำอย่างไร?

ไทยพับลิก้า : แต่บางอันไม่ใช่เป็นหน่วยบริการ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และหน่วยงานอื่นๆ

ดูมาตรา 47 (หมวด 4 หลักกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545) เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับบุคคลในพื้นที่ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ให้คณะกรรมการสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้องค์กรดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน

ผมให้เงินท้องถิ่นมันผิดตรงไหน อย่างนี้ชัดไหมครับ

ไทยพับลิก้า : แล้วองค์กรเครือข่ายเอดส์

เวลาจะให้เขาเข้าถึงบริการ ไม่ว่าจะองค์กรอะไรก็ตาม ผมถึงบอกว่ามันอยู่ที่ว่าเราจะตีความว่าอย่างไร ผมตีความว่า “สนับสนุน และส่งเสริม” ที่ยกตัวอย่าง ระบบกฎหมายไม่ได้บังคับ และบอกให้เราจ่ายให้หน่วยบริการโดยตรง ถ้าพูดอย่างนั้น กองทุนไม่ควรจะมีคำว่า “สนับสนุน และส่งเสริม” นี่คือความหมายที่ผมตีความ ซึ่งผมยกตัวอย่างกรม คร. (กรมควบคุมโรค) หรือกรมอะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะให้พูดว่ากลไกเหล่านั้น เป็นกลไกที่สนับสนุนให้การเข้าถึงบริการ หรือการให้คณะแพทย์จุฬาฯ ซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการ อบรมพยาบาลให้มีความสามารถในการฟอกเลือด บริการล้างไต การอบรมเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังในการฉีดวัคซีน เราไม่ได้ส่งเงินให้หน่วยบริการโดยตรง เราส่งเงินให้หน่วยที่มีศักยภาพในการที่จะทำ ในการจัดการ

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ในมาตรา 18 (8) [สนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่ตามมาตรา 47] และใน (9) สนับสนุนและกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร… เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการด้วย

ทั้งหมดถ้าดูเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกัน เป็นเจตนารมณ์ของการที่จะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการระบบ ยิ่งถ้าไปดูองค์ประกอบของกรรมการแล้วอยู่ในหมวด2 มาตรา 13…

หากตีความการให้เงินที่สนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรเอกชน อปท. อบต.ได้ ผมว่าประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอก ประเด็นมีบางคนว่าเราใช้เงินจนโรงพยาบาลขาดทุน โถ… เงินที่เราจ่ายให้กับหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยบริการ เนี่ย ส่วนใหญ่คือจ่ายให้กระทรวงสาธารณสุขเสียด้วย สำนักงานปลัด กรมทั้งหลาย กรมอนามัย กรมควบคุมโรค นั่นแหละ

ผมอยากให้ดูข้อมูลตรงนี้ว่า เงินปีหนึ่งเรามีประมาณ 120,000 ล้านบาท ในปี 2555 เราจัดสรรเงินให้กับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ 271 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมต่างๆ 225 ล้านบาท เป็นหน่วยนอกสังกัด จริงๆ เงิน 200 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับเงินแสนล้าน 1% ของแสนล้าน คือ 1,000 ล้านบาท ตัวเงินตรงนี้มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลขาดทุนหรือไม่ โดยสามัญสำนึกมันไม่ได้มีผลกระทบอย่างนั้นหรอก

แต่ถามว่า มันเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้งหมดไหม อย่างที่ผมเรียนว่าการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เป็นหัวใจสำคัญของระบบ อย่างที่ผมบอกว่าการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เป็นสิ่งสำคัญของระบบ การสร้างหลักประกันเพื่อต้องให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ป้องกันประชาชนยากจนล้มละลายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย นี่คือวิชั่นของระบบ

เวลาประชาชนจะเข้าถึงบริการ ไม่ใช่เราส่งเงินทั้งหมดไปที่หน่วยบริการแล้วมันจะเกิดการให้บริการ เช่น ปัจจุบันเรารู้เลยว่าบางครั้ง การบริการ มันเกิดขึ้นนอกหน่วยบริการมากมาย เช่น คนไข้ติดบ้านติดเตียง คนไข้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่หลายคนต้องตายที่บ้าน ขณะนี้กรมบัญชีกลาง ไม่ได้ออกแบบให้เวลาจ่ายเงิน เมื่อไปบริการนอกหน่วยบริการ เป็นปัญหา เช่น คนไข้เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต ทุกวันนี้ ถ้าเกิดเราบอกว่าระบบจ่ายเงินได้เฉพาะตรงนั้น การไปใช้ในชุมชน พื้นที่ ในการจัดระบบ จะเป็นอุปสรรคด้วย

และลองคิดดูว่าเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุมาก ข้างหน้าจะมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โรคเรื้อรังมากขึ้น มะเร็งระยะสุดท้าย หลายคนไม่อยากตายที่โรงพยาบาล อยากไปตายที่บ้าน การบริการเอาเจ้าหน้าที่ไปช่วยดู ทิศทางแบบนี้เป็นทิศทางหลักของประเทศ สังคมไม่ควรจะยึดติดกับเรื่องนี้ ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการจริงหรือไม่ อะไรที่เราไปใช้ในสิ่งที่ไม่ควรไปใช้มากกว่า

ผมยังยึดมั่นอยู่ว่าเรามีหน้าที่ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ อะไรก็ตาม การขยายบริการแล้วต้องอบรม เจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริการ หรือว่า ทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญ

นพ.วินัย สวัสดิวร
นพ.วินัย สวัสดิวร

ไทยพับลิก้า : จริงๆ แล้วบทบาทของสปสช. ในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ บทบาทเรื่องการทำให้ประชาชนเข้าถึงเป็นบทบาทของใคร กระทรวงสาธารณสุข หรือใครอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องที่ต้องมาทำ แม้ว่าเงิน 252 ล้านบาท คุณหมอมองว่ามันน้อย อาจจะไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนดีขึ้น แต่หลายโรงพยาบาลที่ต้องการเงิน 5-10 ล้าน เงินจำนวน 252 ล้าน มันก็ทำให้เขารอดพ้นจากภาวะวิกฤตได้ เงินส่วนนี้ถ้าไปถึงโรงพยาบาลจะดีกว่าหรือไม่ ที่จะมาทำเรื่องของการเข้าถึงบริการ ที่หน่วยงานอื่นสามารถทำแทนได้

ผมคิดอย่างนี้ครับ การเข้าถึงบริการเป็นหน้าที่ผมหรือไม่ สำหรับผมนี่เป็นหน้าที่หลักเลยนะ ผมยังรู้สึกเลยว่าประกันสังคมไม่ได้ทำหน้าที่ในการทำให้คนประกันสังคมเข้าถึงบริการ เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมที่จะต้องทำหน้าที่ให้คน 10 ล้านคน ที่เขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการซื้อบริการ ยกตัวอย่าง คุณมีรถ มีประกันรถยนต์ สมมติว่ารถชน รถพัง หาอู่ซ่อมไมได้ คือ เข้าไม่ถึงบริการ หรืออู่ซ่อมไม่ดี คุณจะด่าอู่ หรือโรงพยาบาล หรือจะด่าประกันภัย คุณจะด่าใคร

ไทยพับลิก้า : ทั้งสองส่วน เขาต้องทำงานประสานกัน

ถ้างั้นถามว่าคุณอาจจะคิดว่าบริษัทประกันภัยนี้ไม่สนใจลูกค้าเลย ย้ายบริษัทดีกว่า หากเราเทียบอย่างนั้น อู่ก็คล้ายโรงพยาบาล ถ้าซ่อมไม่ดี เราก็โวยวายอู่ หรือขอเปลี่ยนอู่ หรือโวยบริษัทประกันว่าทำไมคุณไม่กำกับอู่ให้ดีๆ นี่คือ 2 วิธีในการจัดการ

ถ้าเราคิดอย่างนั้น หมายความว่าบริษัทประกันซึ่งสปสช. คล้ายๆอย่างนั้น เป็นตัวแทนรัฐบาล รัฐบาลก็จ่ายเบี้ยประกันแทนประชาชน ผมเป็นบริษัทประกันในการหาบริการ พยายามทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ โดยแบบนั้นผมถือว่าเป็นหน้าที่ของผม แล้วผมรับเงินรัฐบาลมา อย่างเช่น ผมขอเงินไต ผมก็บอกกับทางรัฐบาลว่า มีคนไข้ไตที่รอการฟอกเลือดล้างไตอยู่ 50,000 คน ผมจะรับเงินมา แล้วจัดให้คน 50,000 คน ที่เป็นไตวายเรื้อรังเข้าถึงบริการ แล้วก็ต้องรายงานด้วยว่าทำอย่างไร ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของผมเลย ว่าต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ

ไทยพับลิก้า : บทบาทของประกันกับ สปสช. จริงๆ แล้วมันก็ใกล้เคียงกัน บริษัทประกันเขาก็เลือกในการที่จะซื้อจากหน่วยบริการใด เพราะฉะนั้นสปสช. ก็น่าจะเลือกซื้อหน่วยบริการได้ ในหลักการ ใช่หรือไม่

โดยหลักการทั่วไป ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นประกันทั่วไปมีหลายบริษัท อู่มีหลายเจ้า เผอิญในระบบสาธารณสุข ระบบสุขภาพที่เป็นของรัฐ ประกันมีบริษัทเดียว คือ ผม(สปสช.) ประชาชน 48 ล้านคนก็เลือกบริษัทประกันไม่ได้ เพราะรัฐบาล โรงพยาบาลในอมก๋อยก็มีอยู่โรงพยาบาลเดียว อู่มีอยู่อู่เดียว เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่า monopsony (ตลาดที่มีผู้ซื้อคนเดียว) ขบวนการทำงานมันถึงออกแบบให้ทำงานร่วมกัน เจรจาตกลงกัน

แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 ส่วน คือ สปสช. และกระทรวงก็เป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ทำตามนโยบายรัฐบาล เวลาคนไข้ไตวายเข้าไม่ถึงบริการ คนไข้ควรจะด่าสปสช. หรือกระทรวง ก็ควรจะด่าผม ผมยอมรับได้ ว่าเป็นความบกพร่องของผม ถ้าผมอธิบายว่าทำไมผมทำไม่ได้ หรือมีปัญหาอุปสรรคอะไร กติกาทำไมเป็นแบบนั้น ผมยินดีอธิบาย แต่ผมไม่ปฏิเสธว่า นั่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของผม แล้วก็มีหน่วยที่จะทำอย่างนั้นด้วย

ไทยพับลิก้า : จะถามต่อในหมวด 3(บริการกรณีเฉพาะ) และ 4(บริการสร้างเสริมและป้องกันการเข้าถึงบริการตามกลุ่มวัย) เพื่อให้สปสช. ซื้ออุปกรณ์เอง ซื้อยาเอง วงเงิน 10,000 กว่าล้าน แล้วเงื่อนไขของคนเป็นไตจริงๆ แล้ว เขามีสิทธิเลือกไหม่าจะรักษาแบบไหน แต่เขาถูกบังคับให้เลือก

ถ้าจะมีปัญหาอะไร ผมยอมรับว่านั่นเป็นดีไซน์ การตัดสินใจ ผมไม่ปฏิเสธ ผมยอมรับว่านั่นเป็นความรับผิดชอบของผม ในการที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เพราะฉะนั้นเมื่อผมทำหน้าที่อย่างนั้น แน่นอนผมมีเงินที่รัฐบาลให้มาจำกัด ผมต้องพยายามทำทุกอย่างที่จะทำให้เงินของผมมีคุณค่ามากที่สุด การซื้อหรือการอะไร ถ้ามันทำให้ได้ของดี ราคาถูก แล้วประชาชนเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น ผมถือว่าเป็นหน้าที่

ผมยกตัวอย่างเช่น ที่เราซื้อสเต็นท์ (Stent: ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด) ก่อนหน้าที่เราจะมาจัดการ สมัยก่อนเราจ่ายเป็นเงิน ราคาเส้นละ 85,000 บาท ทุกวันนี้เราซื้อได้ในราคา(แบบเดียวกัน)ประมาณเส้นละ 12,000 – 15,000 บาท ลดไปเส้นละ 70,000 บาท ในขณะที่ปีหนึ่งใช้ไป 30,000 กว่าเส้น

ในเมื่อมีเงินจำกัด ผมต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ถ้าจะพูดว่าผมทำแล้วมีปัญหาอะไรก็ว่ามาดีกว่า แต่ผมควรจะทำหรือไม่ ผมยังคิดว่าผมควรจะทำ ถ้าผมทำแล้วมีทุจริต มีใต้โต๊ะ มีนอกมีใน คุณบอกมาเลย

ไทยพับลิก้า : อันนี้จะตรวจสอบได้อย่างไร

ผมซื้อผ่านองค์การเภสัช องค์การเภสัช ไม่มีทางที่จะมาให้ใต้โต๊ะผม เป็นไปไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาสตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) เขาก็ตรวจสอบพบว่าองค์การเภสัชมีการจ่ายเงินคืนกลับมาแล้วเอาเงินไปเที่ยวต่างประเทศ

ขออภัย เงินที่องค์การเภสัชให้ทุกโรงพยาบาล เขาเรียกว่าเป็นเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ จริงๆ เรื่องทักท้วงจากสตง. ผมไม่มีปัญหา เพราะเราได้ทำรายงานชี้แจง สตง. ไปนานมาแล้วด้วย หากมีปัญหามันคงไม่จบ แต่มันจบไปแล้ว

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าซื้อสินค้าได้ราคาถูก ประเด็นตรงนี้มีการท้วงติงจากคนไข้ว่าไม่ได้มีคุณภาพจริง แม้กระทั่งน้ำยาล้างไตที่มีปัญหา หรือบางคนที่เป็นหมอก็ไม่ได้ใช้สเต็นท์ที่สปสช. ซื้อ แม้กระทั่งกรรมการของ สปสช.(บางคน) เองก็ไม่ใช้

ผมไม่ได้มีปัญหาว่ามันจะ satisfied (ทำให้ทุกคนพอใจ)หรอกนะ ผมพูดจริงๆ มันทำไม่ได้ แล้วก็… มันเป็นไปไม่ได้เพราะหมอมีหลากหลาย จริงๆสิ่งที่เราซื้อ สปสช. ไม่ได้ทำเอง โดยเชิญสมาคมมัณฑนากรโรคหัวใจ ใครเป็นนายกสมาคม เราก็เชิญ มาดูกระบวนการทั้งหมดเลยว่าจะเป็นอย่างไร สปสช. ไม่ได้มีองค์ความรู้ เราให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำ ไปถามนายกสมาคมด้วยว่าการทำเรื่องนี้ สมาคมรับรู้รับทราบหรือไม่ ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น เรื่องไตก็เชิญทั้งสมาคม มูลนิธิโรคไตมา เพราะว่าเราไม่ใช่ experte (ผู้เชี่ยวชาญ) ในเรื่องนั้น

ที่เราใช้เงิน ค่าใช้จ่ายแพงๆ มี 2 ส่วน คือ โรคหัวใจ กับกระดูก ที่ใช้อุปกรณ์มาก เราก็เชิญทั้งทางสมาคมโรคกระดูกมาช่วยเราคิดช่วยเราทำว่าจะเป็นอย่างไร ผมยืนยันได้เลยว่า เราไม่ซื้อเอกชนโดยตรง เพราะเดี๋ยวจะหาว่ามี…เพราะเอกชนมันง่ายในการที่จะ… แต่องค์การเภสัชทำไม่ได้ในระบบของเขา หรือให้องค์การเภสัชร่วมรู้เห็นในการเจรจาต่อรอง เพราะว่าเราต้องการความโปร่งใสในการจัดการ

โดยแนวคิด ผมมีหน้าที่ในการพยายามทำให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะว่าเรารู้ว่าเราได้เงินมาจากรัฐบาลน้อย เมื่อเทียบกับระบบข้าราชการ ระบบอะไรก็แล้วแต่เราได้น้อย เรามีหน้าที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นมันเกิดประโยชน์สูงสุด

ไทยพับลิก้า : แต่เงินค่าหัวต่อหัวของ สปสช. จริงๆ แล้ว ก็สูงกว่าของประกันสังคมด้วยซ้ำไป ในเมื่อสปสช.เป็นคนซื้อบริการ ถ้าให้เงินหน่วยบริการไปแล้ว หน่วยบริการต้องบริหารจัดการเงินของเขาเอง นั่นเป็นสิทธิของเขา ที่สปสช.บอกว่าเงินมันน้อย ต้องมาบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด บทบาทนี้ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการที่ต้องดูแลเงินของเขาเอง ในการที่จะให้บริการอย่างไรให้ลูกค้าใช้บริการของเขา

จริงๆ โดยส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น เรื่องการที่เรามาจัดการ จะสังเกตว่า ….สมมติว่าเรื่อง stent มันประหยัดเงินได้เยอะ คุณสามารถซื้อstent เองก็ได้ เราจะจ่ายเงินคืนให้เส้นละหมื่น… เขาจะซื้อในราคาที่สปสช.ซื้อไม่ได้ รับรองได้ เราคิดว่าถ้าเมื่อไหร่สินค้าที่เราซื้อ จนราคามันคงที่ เราจะเปลี่ยนวิธีการจ่ายแบบส่งเงินไปให้เลย เพราะไม่อยากจะไปนั่น…แต่หลายอันยังทำไมได้ ถ้าเกิดว่าเราทำให้ตลาดมันคงที่ระดับหนึ่งและไม่สามารถต่อรองราคาลงไปได้ไม่มากแล้ว เราจะไม่เป็นคนซื้อ หลายเรื่องยกตัวอย่าง น้ำยาล้างไต ประเด็นคือว่า เรากำหนดว่าต้องส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน เพราะว่ามันหนัก 240 กิโลกรัม ซึ่งสวัสดิการข้าราชการ คนไข้ต้องแบกไปเอง ราคาจากเดิมที่มันถุงละเกือบ 200 บาท เหลือ 100 กว่าบาท

จริงๆ ผมคิดอย่างนี้… ในการเจรจาต่อรอง เราเชิญชวนพวกแพทย์ที่อยู่ในสมาคมโรคไตมาร่วมในการเจรจากับเรา ในการจัดการเรื่องประสิทธิภาพการใช้เงิน หน่วยบริการเขาก็มีกลไกของเขา ถ้าพูดถึงมูลค่ายาทั้งหมดในประเทศ มันเป็นแสนล้าน ถ้าสมมติว่ามูลค่าที่เราซื้อ ที่เราทำทุกวันนี้ เทียบกับยาทั้งหมด ผมเชื่อว่าไม่ถึง 10%

นพ.วินัย สวัสดิวร

ไทยพับลิก้า : ไม่ถึง 10% แต่เป็นมูลค่าเป็น 10,000 ล้านบาท การที่สปสช. ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าหน่วยบริการไม่มีประสิทธิภาพในการจัดซื้อของเขาเองหรือไม่

ไม่ใช่ เพราะว่าการต่อรองระดับที่ใหญ่ มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่ามาก

ไทยพับลิก้า : ทำไมไม่ปล่อยให้เขาไปจัดการกันเอง ในเมื่อเขาสามารถที่จะรวมกลุ่มกันไปซื้อเองก็ได้ เพราะโรงพยาบาลต่างๆ ก็อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

เขาก็ทำได้ ไม่ได้ห้าม มีอีกมากมายที่เขาจะทำ เขาอยากจะลองทำอะไรก็ได้ที่เขาทำได้ เรามีรายการซื้อน้อยมาก ขณะนี้กระทรวงกำลังพยายามทำอยู่ ผมเชื่อว่าถ้ากระทรวงทำได้ดี และมีตัวอย่างให้เห็น ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไรในการจัดการ

ไทยพับลิก้า : หากทำได้ ต่อไปสปสช. จะไม่ทำแล้ว

ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าลืมว่า ที่เราทำไม่ใช่เฉพาะดูแลสเต็นท์ จริงๆ แล้ว สเต็นท์ คนใช้เป็นคนนอกกระทรวงเสียมาก เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์ทำ เพราะเป็นโรคยากๆ เอกชนที่อยู่ในระบบของเราด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่ากระทรวงฯ อยากจะเอาในส่วนของกระทรวงฯ ไปซื้อเอง ผมยินดี สมมติว่าสเต็นท์ 10,000 เส้น เป็นของกระทรวงทำฯ สักกี่เส้น ที่เหลือเป็นของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ จริงๆ แล้ว ถ้าเกิดจะมีปัญหาน่าจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเขาใช้มากกว่ากระทรวงฯ มาก โรงเรียนแพทย์ศิริราช รามาฯ จุฬาฯ พระมงกุฎฯ ทั้งหลายซึ่งเป็นศูนย์กลางใหญ่ๆ ซึ่งโรงพยาบาลพวกนั้นน่าจะโวยวายมากกว่า แต่ไม่ใช่ โดยธรรมชาติคนที่เข้ามาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาคม เขาก็มาจากคนที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เขาก็รู้ว่า เราทำอย่างนี้

ไทยพับลิก้า : ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องยา ขอให้เปิดเผยชัดเจนได้หรือไม่ ว่าซื้อยา อุปกรณ์อะไรบ้าง จากที่บริษัทอะไร มูลค่าแต่ละปีเท่าไหร่ ขอย้อนหลัง 5 ปีได้หรือไม่

ได้ครับ ไม่เป็นปัญหา ข้อมูลเราไม่ได้ปิดบัง ทั้งหมดเราซื้อผ่านองค์การเภสัช ผมจะให้ข้อมูลทั้งราคาที่เราประหยัดได้ เพราะว่านั่นคือส่วนที่ผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ จริงๆ แล้วการรวมซื้อ ผมเห็นเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งถ้ากระทรวงฯ เขาจะทำในส่วนที่เขาจะทำ ก็ดี ไม่เห็นมีปัญหา

แต่ระบบสำนักงานสปสช. เนื่องจากว่าเราไม่ได้ให้หน่วยบริการเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ข้างหน้าเราไปคิดเรื่องของยามะเร็ง คนไข้มะเร็งส่วนใหญ่ไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์ พวกโรคยากๆ เราไม่ได้ไปเอายาหวัดมาทำ ตอนนั้นนโยบายผมบอกว่าถ้าเกิดเราประหยัดเงินไม่ถึง 100 ล้าน อย่าไปทำ เพราะว่าไม่มีประโยชน์ พอเรา manipulate (จัดการ) ตลาดไประดับหนึ่งแล้วเราก็พอ เพราะว่าเราต้องการทำเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมันต้องสมดุลกับคนใช้แน่นอน

ในระบบการแพทย์มันไม่ง่าย ที่จะอยู่ดีๆ ไปบังคับให้เขาใช้ ผมรับประกันได้ สิ่งที่เราทำ เราไม่มีทางทำเอง หมอหัวใจ ไม่ง่าย เราโดนโวยวายพอสมควร หรือยาซีแอล (CL) เช่น ยา Clopidogrel ที่เราทำ เวลาเราจ่ายยาหลังจากนี้เราก็ซื้อยาซีแอล เราไม่ได้ให้โรงพยาบาลซื้อ เราซื้อเม็ดละ 1 บาทกว่า ขณะที่บริษัทราคาเม็ดละ 70 บาท ปีหนึ่งไม่รู้ว่าใช้กี่ล้านเม็ด

หรือยากำพร้า พวกพิษงู ยาสำหรับขับตะกั่ว ยาแก้พิษจากหน่อไม้ดอง เราก็เลยซื้อวัคซีนไว้ตรงกลาง เพราะว่าวัคซีนนี้โรงพยาบาลไหนก็ไม่อยากซื้อสต็อกไว้หรอก เพราะซื้อไว้แล้วอาจจะไม่ได้ใช้ก็ได้ พวกนี้เราก็ซื้อจากตรงกลาง ให้องค์การเภสัชให้รพ.รามาเป็นคนสต็อก แล้วก็จัดระบบในการจัดการ

อย่างพิษงู ใครจะสต็อก เก็บไว้แล้วหมดอายุไป ราคาแพง ต้นทุนเก็บรักษาอีก ใครจะเก็บ ถ้าไม่จัดระบบในการจัดการแล้วเข้าไม่ถึงบริการจะทำอย่างไร ฉะนั้นการซื้อตรงกลางไม่ใช่เป็นปัญหาของระบบ จะทำอย่างไรให้ได้ของดีมีประโยชน์ อย่าไปต่อต้านในการซื้อเลย

ไทยพับลิก้า : ไม่มีใครต่อต้าน แต่ต้องการความโปร่งใส

โอเค ใครอยากเห็นกระบวนการ ผมยินดี อยากดูอะไรก็ได้ เวลาเจรจาอยากจะ observe (สังเกตการณ์) ผมจะเชิญมาด้วย

ไทยพับลิก้า : การจัดซื้อของสปสช. มีการคุยกับกระทรวงสาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

สมัยก่อน ยกตัวอย่างวัคซีน กรมควบคุมโรคเขาก็ซื้อ เขาไม่ได้ปล่อยให้โรงพยาบาลซื้อหรอก วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เขาก็ซื้อที่ส่วนกลางกันทั้งนั้น ยารักษาวัณโรค เขาก็ซื้อที่กรมควบคุมโรค

ไทยพับลิก้า : ทำไมฐานข้อมูลระบบสาธารณสุขไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถเห็นว่าภาพรวมสาธารณสุขทั้งหมดของประเทศว่าจุดไหนต้องการอะไร อย่างไร ทั้งที่ทำมานาน หากมีข้อมูลที่เพียงพอมันสามารถประหยัดได้มากมาย

จริงๆ เคยเสนอต่อสาธารณะแต่ว่าพอเสนอไปมันก็ผ่านไป ไม่มีคนสนใจ ข้อมูลพวกนี้เคยเสนอต่อสาธารณะ

ไทยพับลิก้า : ต้องทำระบบฐานข้อมูล และต้องเปิดเผยได้ ประชาชนเอาไปใช้ได้

ประเด็นเรื่องการซื้อยา ผมคิดว่าเราไม่ได้พูดว่าไม่ควรจะทำ หลายเรื่องที่มันต้องทำ อย่าง ยากำพร้า ยาแก้พิษต่างๆ ที่มันต้องมี สอง อะไรที่มันทำแล้วเกิดประโยชน์ ประชาชนเข้าถึงบริการ

สมมติว่า สปสช.ทำให้ราคามันลงได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว แล้วมันลงไปกว่านี้ไม่ได้ และหน่วยบริการสามารถหาซื้อได้ในระบบ ผมคิดว่าสปสช.ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม อย่างสเต็นท์ หากเราดูแล้วว่าราคาคงไม่ลงไปกว่านี้แล้ว เช่น ราคาประมาณ 10,000 กว่าบาท ข้างหน้าใครจะซื้ออะไรก็ได้เรายินดี จ่ายเป็นเงินก็ได้ ไม่เป็นไร ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร

ไทยพับลิก้า : ขอถามเรื่องงานวิจัย ทำไม สปสช. ต้องจ้างทำวิจัย

เวลาเรามีคำถาม ยกตัวอย่างเช่น โรคไต มันควรจะปล่อยให้อิสระ หรือควรรักษาแบบใด อันนี้ควรจะเป็นคำถามเชิงวิจัยว่าอันไหนคุ้มค่าได้ประโยชน์มากกว่า สมมติว่าเรามีคำถามแบบนี้ แล้วเราอยากหาคำตอบเราจะทำอย่างไร

ไทยพับลิก้า : อย่างบทบาทสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขหรือสวรส. ได้งบประมาณของรัฐบาล ทำไมไม่ร่วมมือกัน ว่าเราอยากรู้เรื่องนี้ ให้เขาทำวิจัยให้

สมมติเราตั้งคำถาม แล้วเขาบอกเขามี priority (เรื่องสำคัญ) ของเขา ผมไม่รู้หรอกนะ โดยหลักการมันน่าจะ…เขาไม่สามารถจะทำได้ทุกเรื่อง สวรส. เราจ้าง สวรส. ทำวิจัย มันไม่น่าจะผิด สมมติว่าเขามีเงินเขาก็ควรจะทำ แต่เขาอาจจะมีเรื่องของเขา

อีกอันหนึ่งที่เราคิดว่าเราควรจะให้การสนับสนุน หรือเมื่อสปสช.มีคำถามอะไร อาจจะไม่จ้างสวรส. แต่ไปจ้างมหาวิทยาลัย จ้างใครก็ได้ที่มีศักยภาพในการทำวิจัย ในการที่จะหาคำตอบให้เรา

สมมติว่าโจทย์มันมีอยู่ว่าเราควรจะให้สิทธิประชาชนในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ คำตอบพวกนี้มันต้องมีการทำวิจัย ถ้าเกิดผมให้เงินแล้ว บอกคุณไปช่วยทำงานวิจัยนี้หน่อย มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ยินดีสนับสนุน แบบนี้ผมควรจะทำไหม

ไทยพับลิก้า: ในเมื่องบฯอันนี้เป็นงบเหมาจ่ายค่าหัว คุณหมอในฐานะเลขาสปสช.ต้องคุยกับกระทรวงฯ หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในเมื่อสปสช.มีเงินเหมาจ่ายรายหัวแค่นี้ ต้องส่งเงินนี้ให้ถึงมือประชาชน

ผมรู้แล้ว โจทย์อาจจะไม่ชัด ผมไม่ควรใช้เงินเหมาจ่ายรายหัว เงินสำนักงานสปสช.ผมมี(เงินค่าบริหารจัดการได้ 1%ของเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวแต่ละปี ซึ่งประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท) เพราะฉะนั้นคำถามไม่ใช่ว่าผมควรจะจ้างทำวิจัยหรือไม่ ผมควรจะจ้างทำวิจัยถูกไหม โดยใช้เงินสำนักงานสปสช.

ไทยพับลิก้า : ที่จริงมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานวิจัยอยู่ และสปสช. กับกระทรวงสาธารณสุขอยู่ใกล้ชิดกัน ทำไมไม่คุยกันว่าปัญหาคืออะไร ทำให้ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาบริหารเหมือนไม่ได้บริหาร

เวลาเราพูดถึงปัญหา 2 หน่วยงาน เวลาเราขอไป เขาจะทำหรือไม่ทำ ผมไปสั่งเขาไม่ได้ คนละหน่วยงาน

กลับมาที่เรื่องงานวิจัย หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกับ สปสช. ต้องทำงานร่วมกัน แต่ว่าต่างฝ่ายต่างมีกลไกการบริหารจัดการของตัวเอง ดีที่สุดคือ 2 หน่วยงาน เข้าอกเข้าใจกัน แล้วก็ร่วมไม้ร่วมมือในการจัดการ แต่ว่าในเมื่อ 2 ส่วนทะเลาะกัน มันไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งทำให้เลิกทะเลาะ มันต้องทั้ง 2 ส่วน พร้อมที่จะมาคุยกัน นั่นก็เป็นหลักการทั่วไปถูกไหม ผมก็ยินดี

ทุกวันนี้กลไกของสปสช. เป็นกลไกเปิด ที่มีโครงสร้างที่มีการมีส่วนร่วม อย่างผม เลขาธิการ สปสช. ถ้าเทียบกับปลัดกระทรวง authority (อำนาจหน้าที่) คนละเรื่อง เลขาธิการทำตามภายใต้บอร์ด ปลัดกระทรวงไม่มีบอร์ด กติกาของผมถูกดีไซน์มาแบบนี้ คนมากมายไปหมด มีปากเสียงเต็มไปหมด

ฉะนั้นเวลาพูดถึงองค์กร 2 องค์กรในการจัดการ ยกตัวอย่างเช่นกติกาในการจัดสรรเงินซึ่งกระทรวงฯ บอกว่าเป็นปัญหา ในเชิงระบบผมก็บอกว่าผมไม่ใช่คนตัดสินใจทั้งหมด การตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการ เพราะฉะนั้นกลไกที่มีผ่านนู่นผ่านนี่เป็นกลไกที่ถูกดีไซน์ออกแบบมาเป็นอย่างนั้น