ThaiPublica > เกาะกระแส > นักเศรษฐศาสตร์ วินิจฉัยอาการประเทศไทยเข้าข่าย “คนป่วยแห่งเอเชีย” แถมมีโรคแทรกซ้อน และให้ยาผิดมาตลอด

นักเศรษฐศาสตร์ วินิจฉัยอาการประเทศไทยเข้าข่าย “คนป่วยแห่งเอเชีย” แถมมีโรคแทรกซ้อน และให้ยาผิดมาตลอด

30 มีนาคม 2015


เสวนาไทยพับลิก้าครั้งที่ 1 ประเทสไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” โดยมีวิทยากรนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา,ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbooks ดำเนินรายการ

อาการประเทศไทย “แก่ก่อนรวย-หย่อนสมรรถภาพ-สายตาสั้น”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า เหตุที่ไทยถูกขนานนามให้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” รายใหม่ ต่อจากจีนและฟิลิปปินส์ เพราะเศรษฐกิจของไทยนับแต่หลังเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ก็ไม่เคยโตแบบปกติอีกเลย เห็นได้จากขณะที่เพื่อนบ้านโตเฉลี่ย 5% แต่ไทยโตเฉลี่ยแค่ 3% ก็ยากแล้ว ขณะที่รายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของไทยที่เคยดีกว่าเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันกลับถูกบางประเทศแซงไปแล้ว หากเปรียบระบบเศรษฐกิจไทยเหมือนเครื่องจักร เมื่อใส่วัตถุดิบเข้าไปแล้วออกมาเป็นผลผลิต ไทยมีปัญหาทั้งในส่วนของวัตถุดิบ คือ คุณภาพแรงงาน และตัวเครื่องจักรที่มี productivity น้อยเกินไป

โรคที่ต้องเจอ มีทั้ง 1. “แก่ก่อนรวย” ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น คนเกษียณมากกว่าเด็กที่กำลังโต เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน 2. “หย่อนสมรรถภาพ” ประชากรวัยทำงานมีคุณภาพลดลง ทรัพยากรที่ใส่ไปต้องใช้ในการดูแลคนแก่และเด็กก็มากขึ้นเรื่อยๆ และ 3. “สายตาสั้น” คือรู้ว่าจะไปยังไง แต่เลือกไปทางที่ใกล้กว่าไว้ก่อน แทนที่จะเป็นทางที่ถูกต้อง เหมือนกินยาเพื่อประคับประคอง แต่ไม่ได้รักษาต้นเหตุของโรค

“ความเสี่ยงคือเราจะอยู่ในสภาวะแก่ จน ไม่มีคนดูแล ต้องคอยดูคนอื่นวิ่งแซงไปเรื่อยๆ แม้เราจะไม่ได้เจอวิกฤติแบบอยู่ดีๆ ประเทศก็แตก แต่เรากำลังเข้าสู่สภาวะที่โตช้าๆ จนกลายเป็นบอนไซ”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับวิธีแก้ปัญหา มีทั้ง 1. เพิ่มประสิทธิภาพระบบเศรษฐกิจ 2. เพิ่มคุณภาพแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา 3. ส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทและศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ทุกวันนี้ที่คนไม่ innovate เพราะรู้ว่าซื้อได้ แล้ว innovation มาก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่า ซื้อเอาดีกว่า และ 4. ต้องส่งเสริมให้เกิดการวิจัยมากขึ้น

แนะใช้มาตกรภาษี ดึงเอกชนลงทุน เลิก wait and see

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ไทยป่วยมานานแล้ว และป่วยสะสม ถ้าย้อนไปเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตแค่ 30% เทียบกับมาเลเซีย 50% อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ 60% เวียดนาม 70% และหากย้อนไป 20 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันเราด้อยลงหมด ที่เห็นได้ชัดคือเวียดนามเคยเป็นประเทศที่ไม่อยู่ในสายตาของต่างชาติเลย แต่ปัจจุบันไล่มาเกือบใกล้ไทยแล้ว ทั้งที่ขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่ามาก ไม่ต้องพูดถึงประเทศที่พัฒนากว่าอย่างมาเลเซีย ซึ่งมีงบวิจัยและพัฒนาสูงมาก

จริงๆ อาการป่วยมีหลายด้าน บางด้านร้ายกว่าเศรษฐกิจเสียอีก เช่น ด้านสังคมหรือด้านสิ่งแวดล้อม นักวิเคราะห์ก็เหมือนหมอ เวลาเจอโรคก็อยากย้อนไปดูถึงต้นตอ เพราะหากไม่รู้ต้นเหตุก็แก้ปัญหาไม่ได้ เดิมไทยอาจจะมีแค่โรคเดียว แต่มีอาการแทรกซ้อน แล้วหมอก็ให้ยาผิดมาทุกยุคทุกสมัย 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายที่ออกมาเพื่อรักษาสุขภาพจริงๆ มีอะไรบ้าง คำตอบคือน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นประชานิยม ลด แลก แจก แถม ไม่ว่าจะเช็คช่วยชาติ รถยนต์คันแรก จำนำข้าว ฯลฯ ซึ่งไม่ได้รักษาอาการของโรค

“บ้านเราจริงๆ ภูมิป้องกันโรคต่างๆ มันมีอยู่ โอกาสจะเจอวิกฤติค่าเงินวิกฤติเศรษฐกิจมันต่ำมาก ปัญหาคือมันเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนอาจจะตายไปที่สุด”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจขณะนี้ดับเกือบหมด ที่ยังมีช่องทางอยู่บ้างคือการลงทุนของภาคเอกชน เป็นกระสุนอยู่ในแม็กที่ยังพอยิงได้ ไปดูภาคเอกชนในแต่ละ sector หลายคนยัง wait and see จะทำอย่างไรให้เลิก wait and see สิ่งที่ทำได้ดีและเร็วก็คือมาตรการทางภาษี

หนุนลดขนาดรัฐ – ชงรื้อใหญ่ กม. จำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระยะหลังเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3% จนเรียกกันว่าเป็น new normal ความปกติแบบใหม่ คือไม่ห่วย แต่ก็ต่ำกว่าทรัพยากรที่เรามี ทุกรัฐบาลเมื่อเข้ามาก็ต้องมีนโยบายที่ตอบความต้องการของสังคม หลายอย่างจึงเป็นประชานิยม แต่ในฐานะนักการเมือง เราก็ต้องหาวิธีทำเพื่อตอบโจทย์ระยะสั้น และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยปัญหาที่ตนเห็นว่าท้าทายประเทศเราเวลานี้ คือ 1. การศึกษา 2. การทำการเกษตร ที่อายุเฉลี่ยของเกษตรกรสูงขึ้นเรื่อยๆ และ 3. สังคมผู้สูงอายุ

หลายปีที่ผ่านมา นักธุรกิจเราไม่ได้แข่งกันด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการเท่าที่ควร แต่เป็นการแย่งชิงความได้เปรียบด้านอื่น ผู้ใหญ่ของบ้านเรานิยมเข้าเรียนหลักสูตรโน้นนั้นนี้ เพราะต้องการจะมี “เส้น” สร้างความรู้จักกับผู้ที่จะเป็นใหญ่เป็นโตในอนาคต นี่คือปัญหา ตนเพิ่งไปดูงานบริษัท Huawei ที่เมืองจีน เดิมทีคิดว่าเป็นบริษัทขายของถูก ด้อยคุณภาพ แต่พอไปดูกลับเปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง เขามีพนักงานทั่วโลก 1.7 แสนคน โดยมีพนักงานที่ทำวิจัยล้วนๆ 8 หมื่นคน หรือเกือบครึ่ง ใช้งบวิจัย 1 ล้านล้านบาท น่าทึ่งมาก วันนี้เขากำลังกำหนดมาตรฐาน 5G คืออะไร ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนมีการกระจายหุ้นเหมือนบริษัททั่วไป

“ถ้าเราจะฝ่าอุปสรรคเราไปได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐและราชการ ลดขนาดของรัฐในทางเศรษฐกิจลง โดยเฉพาะขนาดของรัฐวิสาหกิจ ผมจึงสนับสนุนการตั้ง Super Holding และต้องมีเส้นทางคู่ขนานที่ภาคเอกชนเดินไปกันเอง จะรอให้ภาครัฐปฏิรูปคงจะไม่ทัน”

นายกรณ์ยังกล่าวว่า นอกจากมาตรการเรื่องภาษี อีกเรื่องที่ตนคิดมานาน คือการรื้อกฎหมายจำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ ที่ใช้มาหลายสิบปีแล้ว เพราะการปกป้องจะมีไม่กี่คนได้ประโยชน์ แต่การแข่งขันจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ถ้าเปลี่ยนมุมคิดใหม่น่าจะสร้างความกระปี้กระเปร่าให้คนเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ชงวิธีแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น – ยาว

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไม่ใช่คนป่วย แต่เป็น “คนแก่ที่อ่อนแอ” เหตุที่เป็น “คนแก่” เพราะ 1. ระบบเศรษฐกิจไทยหมดแรงจะทำงานต่อ สิ่งที่ใส่กับสิ่งที่ได้เท่ากัน 2. เราไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงได้เต็มที่ และ 3. เราเป็นสังคมชราภาพ มีคนทำงานน้อยลง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ “อ่อนแอ” เพราะภูมิคุ้มกันเราค่อนข้างต่ำ เครื่องยนต์เศรษฐกิจก็ดับไปหลายเครื่อง

“การแก้ปัญหาระยะสั้น คือ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินเห็นแล้วจากการลดดอกเบี้ย แต่นโยบายการคลังยังไม่เห็น ยังทำอยู่แบบเดิม คือเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งไม่เคยทำได้จริง ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น ผมเดาใจว่าที่ผู้มีอำนาจยังไม่ใช่นโยบายการคลัง ทั้งที่ใช้ได้ เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นประชานิยม”

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่ผ่านมาเราต้องการอุตสาหกรรมที่เป็นเรือธงของประเทศ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เราต้องการคนเก่งในทุกๆ ที่ จะต้องมีสถาบันที่ส่งเสริมคนเก่ง โดยจะต้องส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและลดการบิดเบือนในตลาด ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ จะทำให้คนแก่ของเรายกเครื่องเป็นคนหนุ่มได้” ดร.สมประวิณกล่าว

New Sick Man of Asia_TFF by thaipublica