ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” คนไทยมีจิตสำนึก คิดเป็น อย่าปล่อยให้ไทยเป็นคนป่วยของเอเชียที่รักษาไม่ได้

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” คนไทยมีจิตสำนึก คิดเป็น อย่าปล่อยให้ไทยเป็นคนป่วยของเอเชียที่รักษาไม่ได้

7 มีนาคม 2015


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดงาน AEC Business Forum ภายใต้หัวข้อ “2015: The Year of AEC” จัดโดย ธนาคารกรุงเทพ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 โดยกล่าวว่ากลุ่มประเทศอาเซียนบวกกับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งมีภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศที่ใหญ่ อาเซียนจะเป็นตัวถ่วงดุลและสร้างจุดสมดุลที่ดี

ด้วยความสัมพันธ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ จะทำให้อาเซียนทั้งอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลางที่ทุกคนสนใจทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุน ไม่เฉพาะการลงทุนจากเพื่อนบ้านอาเซียน อันนั้นเรื่องเล็กมาก แต่จะเป็นจุดศูนย์กลางของการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายทั่วโลก

ในโลกขณะนี้ หลายภูมิภาคอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมีปัญหา เอเชียกำลังเติบโต ประเทศเหล่านี้กำลังเข้าสู่เออีซี เพื่อใช้ประโยชน์จากเออีซีเชื่อมโยงกับเอฟทีเอ เป็นฐานที่สำคัญในการผลิตและการส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาเซียนซึ่งเคยมีความสำคัญ จะยิ่งทวีความสำคัญและมีพลังอย่างสูงในบทบาทเศรษฐกิจและการเมืองของโลกแน่นอน

ประเด็นสำคัญคือว่า ถ้าเออีซีมีความสำคัญเช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด แต่ละประเทศในเออีซีไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน ประเทศที่ถูกมองว่าสำคัญ มีความพร้อมที่สุด ประเทศนั้นจะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนในอนาคตข้างหน้า

แน่นอนที่สุด ไม่มีใครปฏิเสธ ในแง่สถานที่ตั้ง ประเทศไทยเหมาะที่สุด หากเทียบคู่แข่งที่สำคัญ สิงคโปร์มีเทคโนโลยีชั้นสูง มีบริการชั้นสูง แต่เขาไม่มีสิ่งที่ประเทศไทยมี หรืออินโดนีเซียเป็นประเทศที่เติบโตเร็วมาก มีทรัพยากรมหาศาล มีแรงงานมหาศาล แต่เรายังมีหลายสิ่งที่ยังเหนือกว่าอินโดนีเซียพอสมควร ลักษณะเช่นนี้ หลายคนมองว่าเราสบายแล้ว เราเป็นศูนย์กลาง แต่ในโลกข้างหน้ามีอีกหลายปัจจัยที่จะชี้ว่าประเทศไทยของคุณดีจริงที่เขาจะมาลงทุนและทำการค้าด้วย

ประการที่หนึ่ง การเมืองต้องมีเสถียรภาพ หากมีปัญหาทุกคนจะหนีคุณไปหมด 10 ปีเต็มที่เราถูกตราหน้าว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย มันน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับเมืองไทยที่มีจิตสำนึกและคิดเป็น ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่พยายามปฏิรูป ต้นปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องช่วยประคับประคอง ลดทิฐิมานะส่วนตน บางอย่างอาจจะไม่ได้เต็มที่ แต่ต้องเสียสละบางอย่าง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เดินไปข้างหน้าได้ อย่างน้อยต้องพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเราดูแลตัวเองได้ มีเสถียรภาพ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง เพียงแต่ว่าหลายสิ่งหลายอย่างเราต้องอดทน อดกลั้น แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ไปแก้ภายหลังได้ หากผ่านจุดนี้ไปได้ ให้เมืองไทยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพพอสมควร

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ประการที่สอง ในโลกสมัยนี้ ใครจะไปลงทุนที่ไหนก็แล้วแต่ มีดัชนีตัวหนึ่งที่เรียกว่า competitiveness Index ของ world economic forum ซึ่งมี 12 เสาหลัก ตั้งแต่เรื่องสถาบันไปถึงเรื่องเทคโนโลยี ทุกปีมีการประเมินว่าประเทศไหนน่าลงทุนและทำการค้ามากที่สุด โจทย์อันนี้เหมือนข้อสอบที่แจกล่วงหน้า ทุกประเทศถูกประเมิน ประเทศที่เด่นดังในสิ่งเหล่านี้ก็จะมีคนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นๆ

“ผมอยากให้ดูตัวอย่างของมาเลเซีย แต่เดิมนั้นมาเลเซียนั้นเป็นประเทศเล็กๆ สู้เราไม่ได้ แต่รัฐบาลของเขานั้นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีหน่วยงานที่มาดูแลพิเศษ มีการแจกจ่าย มีการบ้านให้ทุกกระทรวง ให้ดูแล เพื่อแก้ไขจุดอ่อนในแต่ละเสาหลัก ใครมีจุดอ่อนเรื่องการศึกษา เรื่อง business process เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ไปแก้ไข มีศูนย์รวม ที่สำคัญกว่านั้น เขาจะประชุมร่วมกับภาคเอกชน เพราะคนตอบคำถามเหล่านี้คือภาคเอกชน ชี้แจงว่าเราทำอะไรไปบ้างกับคนที่ยังไม่เข้าใจ เวลาตอบคำถามเหล่านี้ คะแนนมันก็สูงขึ้น”

ผมเสนอเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถเชิงการค้าคราวที่ผ่านมา บอกว่าถ้าสภาพัฒน์เป็นหลักใหญ่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ติดตาม ต่อเนื่อง และมีการสื่อความที่ดีพอกับองค์กรที่เข้ามาจัดอันดับเรา ก็จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ แต่ประเทศไทยเรานั้นวนเวียนอยู่ในช่วงอันดับ 30-40 นี้มา 10 ปีแล้ว มาเลเซีย ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ระดับที่ 20 อย่างรวดเร็ว ขณะนี้อินโดนีเซีย อับดับขึ้นมาหายใจรดต้นคอเรา เป็นต้น

อันนี้คือโจทย์เลข ที่ทุกคนได้รับล่วงหน้าทุกประเทศ มันอยู่ที่ว่าเรามีความสำนึกหรือความสำคัญแค่ไหน และเราเอาจริงกับมันแค่ไหนเพราะอิทธิพลมันสูงอย่างยิ่ง สิงคโปร์มาทุกวันนี้ได้นั้นอันดับเขาไม่เคยเกินหนึ่งในห้าในทุกด้าน เพราะฉะนั้น สิ่งนี้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถเริ่มเอาไปเพื่อเป็นการบ้าน หวังอย่างยิ่งว่าคงจะเข้าใจและซีเรียสกับมัน เพราะอันนี้คือหัวใจ

ปัจจัยข้อที่สาม ทำยังไงที่ประเทศไทยจะไปได้ประโยชน์สูงสุด ผมอยากยกตัวอย่าง เป็นนิยายที่เป็นความจริง ตอนที่จีนจะเปิดประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิง เดินทางมาสิงคโปร์ มาเมืองไทย มาดูว่าทำไมประเทศเหล่านี้พัฒนาไปเร็ว ประเทศเขาทำไมจน พอได้ตัวอย่างจากสิงคโปร์ จากไทย และอีกบางประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิง กลับไปประเทศจีน บอกว่าประเทศเราจน เราทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว คนก็บอกว่าให้ดูอย่างเซินเจิ้น แถบนั้นเป็นแถบหมู่บ้านชาวประมง คนก็หนีว่ายน้ำข้ามไปฮ่องกง เพราะฝั่งนั้นเจริญกว่า กินดีอยู่ดีมากกว่า

สิ่งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจก็คือว่า วิธีการป้องกันไม่ให้คนว่ายน้ำหนีไปนั้น คือการสร้างความเจริญให้เซินเจิ้นเทียบเท่าฮ่องกง ทีมงานเขาก็เสนอว่า ถ้าจะให้เจริญแบบนั้น คุณต้องเป็นระบบที่เปิด พัฒนาระบบเปิด ขีดวงให้เป็นเขตอุตสาหกรรมแบบใหม่ เอื้ออำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีแรงจูงใจทุกอย่าง เรื่องภาษี เรื่องกฎระเบียบที่เคยล่าช้า ให้เซินเจิ้นรายงานตรงต่อรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อย่นเวลาการทำธุรกิจให้มันเร็วขึ้น

มีคนถามว่า ถ้าอย่างนั้น ไม่กลายเป็นระบบเสรีนิยมเหรอ เติ้ง เสี่ยวผิง ตอบเขาว่า แล้วยังไงล่ะ แล้วเป็นอะไรไป ทำไมจะเสรีนิยมไม่ได้ ความเด็ดขาดของเติ้ง เสี่ยวผิง นำไปสู่การเชิญชวนให้นักธุรกิจฮ่องกงกลุ่มแรกๆ ยกขบวนเข้ามาลงทุนในเซินเจิ้น ไปเชิญชวนต่างประเทศให้มาลงทุนในเซินเจิ้น โดยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหลายๆ อย่าง มีคนถามเติ้ง เสี่ยวผิง เรื่องทุนจดทะเบียนจะเอายังไง เติ้ง เสี่ยวผิง บอกว่าเรื่องทุนทะเบียนไม่จำเป็นที่จะให้จีนนั้นถือหุ้นใหญ่ จีนเป็นประเทศที่จน ถ้าคุณเปิดเมืองหลายๆ เมือง คุณจะเอาเงินที่ไหนมาลงทุน

แต่สิ่งสำคัญที่เขาบอกชาวต่างประเทศก็คือว่า การร่วมลงทุนกันนั้นมันก็คือการแต่งงาน ถ้าแต่งงานมันก็ต้องมีลูก ลูกจะถือสัญชาติไหนก็แล้วแต่ ไม่สนใจ แต่สนใจอย่างเดียวว่าให้คนจีนนั้นมีงานทำ ให้นักศึกษาที่ถูกขับไล่ไปอยู่ในป่ากลับเข้ามาทำงานในเขตเมืองใหญ่ จากแนวคิดนี้นำไปสู่การพัฒนาเซินเจิ้นทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ และเริ่มขยายแนว เปิดเมืองท่า 14 แห่งในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ไล่มาตั้งแต่เทียนสิน ชิงเต่า เซี่ยงไฮ้ ลงมา

สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือว่า ในการที่คุณจะทำให้ประเทศของคุณนั้นมีจุดดึงดูดที่สำคัญ คุณต้องคิดนอกกรอบ และกล้าที่จะคิดสิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะทำให้ประเทศคุณนั้นน่าสนใจ อย่าลืมว่าในอาเซียน 4 ประเทศนั้น ทุกคนมีคู่แข่งทั้งสิ้น ทุกคนมีความเฉลียวฉลาดทั้งสิ้น

ในวันนั้นผมได้แนะนำคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ของท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่าเรามีอาวุธอยู่อาวุธหนึ่งที่เราจะทำได้ ข้อที่หนึ่ง เรากำลังจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เศรษฐกิจพิเศษอันนี้ที่สภาพัฒน์เดิมทีจะมีประมาณ 5 แห่ง ในสมัยก่อนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในสมัยรัฐบาลท่านนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ เมืองไทยก้าวสู่จุดพุ่งทะยานเพราะว่าการสร้างนิคมมาบตาพุดที่ระยอง เราต้องใช้จังหวะนี้ทำเรื่องเศรษฐกิจพิเศษให้จริงจัง คิดนอกกรอบ

ขั้นที่ 1 คือมี border trade เพื่อเอื้ออำนวยการค้าชายแดน

ขั้นที่ 2 ใครจะมาลงทุนประเทศคุณ เขาต้องการความสามารถเชิงแข่งขัน ฉะนั้นคุณต้องทำระบบคลัสเตอร์พิเศษขึ้นมาให้ได้ กลุ่มจังหวัดไหนจะเป็นคลัสเตอร์เรื่องเกษตรแปรรูป กลุ่มจังหวัดไหนเป็นคลัสเตอร์เรื่องท่องเที่ยว ต้องทำให้ชัดเจน

ขั้นที่ 3 ผมเพิ่งกลับมาจากเมืองจีนที่เซี่ยงไฮ้ ได้ผ่านไปดู economic free zone แบบ free trade ของเขา ที่ยกฮ่องกงมาทำที่เซี่ยงไฮ้ เอื้ออำนวยทั้งเรื่องภาษี บริษัทจัดหาจากต่างประเทศ สาธารณูปโภคทุกอย่าง และดึงบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาที่เซี่ยงไฮ้ เป็นบริษัทระดับ 150 บริษัทของฟอร์จูน มีบริษัทในเมืองจีนและบริษัทอื่นๆ เกือบ 20,000 บริษัท มาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ที่ economic free zone

ฉะนั้นลักษณะ 3 แบบนี้ที่จะฉีกออกเป็นวงว่า นี่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมพิเศษ ทำแบบดั้งเดิม เหมือนกับคุณมีเพชรแต่ไม่รู้จักเจียระไน แต่ถ้าคุณหยิบสิ่งเหล่านี้มาเจียระไน คิดว่าบริเวณไหนมี border trade บริเวณไหนจะทำเป็นคลัสเตอร์ บริเวณไหนจะทำเป็น free trade zone วางแผนสร้างสิ่งจูงใจ สิ่งจูงใจสมัยนี้ไม่ใช่ภาษีบีโอไอ สิ่งจูงใจสมัยนี้คือที่ดิน แรงงาน ประโยชน์อื่นที่คุณจะได้ ที่เขาจะเข้ามา

คุณต้องคิด คิดเสร็จแล้วคุณก็จะหาคอนเซปต์ที่คุณจะโรดโชว์ไปดึงบริษัทต่างประเทศให้มาลงที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ให้จงได้ ลองนึกภาพดู ประเทศไหนในโลกนี้จะโง่พอที่จะพลาดโอกาสอย่างนี้ ถ้าคุณทำการบ้านอย่างดี โรดโชว์ คุณทำข่าวออกไปต่างประเทศ ดึงคนเข้ามาลงทุนในสิ่งเหล่านี้ ข่าวเล็กๆ น้อยๆ ข่าวซึ่งไม่เป็นสาระ ข่าวที่ตีกัน ทะเลาะกัน มันจะหายไปจากจอภาพข่าวเศรษฐกิจของเมืองไทยหรือของโลกนี้

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ของ พล.อ. ประวิตร ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาคุยด้วยกัน และพยายามกำหนดคอนเซปต์ที่เป็นรูปร่างชัดเจน พูดง่ายๆ ว่าสามารถมีผลในทางปฏิบัติ ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลก่อน อันนี้คือสิ่งที่จะช่วยเมืองไทยมากในการที่จะสร้างความสามารถที่จะแข่งกับสิงคโปร์

ประการที่ 4 ประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางอาเซียน แต่เราจะเป็นศูนย์กลางได้จริงๆ นั้นมันต้องมีการเชื่อมโยงจุดเชื่อมต่อ ถ้าคุณอยู่ตรงกลาง แล้วคุณไม่มีจุดเชื่อมต่อคุณจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการเชื่อมโยงอาเซียน ฉะนั้น ในการทำรถไฟในความเร็วเท่าไหร่ก็ตาม คุณต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าคุณจะเชื่อมอะไร ถ้าคุณจะเชื่อมมุกดาหาร จากเวียดนามมามุกดาหาร จากลาวมามุกดาหาร ทำมาที่แม่สอดทะลุพม่าแล้วไปอินเดีย คุณไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่าเป็นเส้นอีสต์เวสต์คอริดอร์ (east-west corridor) คุณต้องทำแล้ว แล้วมันยังทำให้พัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง จากตะวันออกไปตะวันตก การสร้างเส้นทางคมนาคมอื่นๆ ท่าเรือ สนามบิน

ผมได้มีโอกาสคุยกับ โทนี่ เฟอร์นานเดส เจ้าของ Airasia บอกว่าเมืองไทยนั้นพร้อมที่จะเป็นฮับเรื่องของการบินในอาเซียน แต่ต้องหาทางปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ แรงจูงใจ คือให้เราเป็นฮับที่สำคัญ เพราะประเทศไหนในอาเซียนที่จะได้เปรียบเท่าไทย ที่เชื่อม ได้ทั้ง 4 ด้านเลยทีเดียว อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่า ถ้าเรายังจะทะเลาะกันเราจะเสียใจไปจนวันตาย

ประเด็นสุดท้าย ต้องรู้จักเล่นบทพระเอกของอาเซียน เราเคยเล่นบทผู้นำอาเซียนมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน สิงคโปร์เชิญเราบอกว่าให้เราเต้นแทงโก้ก่อน ประเทศอื่นมาเต้นที่หลัง ให้ไทยนำแทงโก้ สิงคโปร์จะตาม วันนี้เราไม่เต้นแทงโก้เรายังถูกหลายๆ อย่างทำให้เราไม่สามารถเล่นบทเด่นในเวทีโลกได้ ทั้งนี้เราต้องหาโอกาส ใช้นโยบายต่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นโยบายต่างประเทศนั้นมีจุดแข็ง ไทยมีมาแต่โบราณ จริงๆ แล้วมีเวทีอีกหลายเวทีที่เราเล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นจุดศูนย์กลางของจีเอ็มเอส อาเซียนบวก 6 และอื่นๆ

เราต้องรู้จักเล่น คิดเชิงก้าวหน้า เชิงสร้างสรรค์ คิดบทที่จะเล่น เพราะทางจิตวิทยานั้น ประเทศที่ทุกคนจะมองและเห็นว่าสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศนี้มีอนาคตแน่นอน และเขาจะมา

นี่คือภาพที่ผมอยากจะให้เมืองไทยนั้น เดินตามแนวอย่างนี้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าประเทศไม่ได้แข่งขัน หลายส่วนนั้นเอกชนเป็นผู้แข่งขัน ถ้าเออีซีเปลี่ยน แปลว่าอะไร เออีซีเปลี่ยนถึงประเทศเตรียมพร้อมทุกอย่าง แต่ถ้าธุรกิจของเราไม่พร้อม เราก็จะแพ้เออีซี หมายถึงการเปลี่ยน competitive landscape ไม่ว่าลูกค้า ไม่ว่าคู่แข่ง ไม่ว่าโลจิสติกส์ ไม่ว่าซัพพลายเชน วิธีการสื่อสารต่างๆ นานา มันเปลี่ยนหมด

สิ่งสำคัญก็คือว่าเราต้องตระหนักในสิ่งเหล่านี้ และเราต้องกำหนดยุทธวิธีของเราใหม่เพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง บริษัทใหญ่ไม่มีปัญหา ผมเชื่อว่าเขาพร้อมแล้วเขาทำมาแล้วหลายปี กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มสยามซีเมนต์ และอื่นๆ ลุกไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่นในอาเซียน เพื่อให้สามารถติดต่อเรื่องซัพพลายเชนให้มันมีต้นทุนต่ำสุด มีความแตกต่างสูงสุด ที่จะแข่งขันในระดับภูมิภาค

แต่ความเป็นจริงก็คือว่า มากกว่า 90% ของบริษัทไทยเป็นเอสเอ็มอีที่มีคนอยู่ประมาณแค่ 10 กว่าคน เงินทุนจำกัด ความรู้น้อย จะให้เขาเปลี่ยน landscape ไปสู้ ไปแข่ง ทำไมคุณไม่เปลี่ยนล่ะ พูดง่ายแต่ทำยาก บริษัทกำลังดิ้นรนจะตายไม่ตายแหล่ เกิดเออีซีขึ้นมาแล้ว บอกว่าคุณพร้อมรึยัง คุณไปสู้นะ …เป็นไปได้ยาก

เรื่องเออีซีนั้น ต้องถือเป็น national agenda

ข้อที่ 1 การที่บริษัทซึ่งเป็นบริษัทเล็กและกลาง ที่สำคัญคือไม่เคยมี explorer ไม่เคยก้าวไปสู่การลำเลียงธุรกิจระดับประเทศ การตัดสินใจเข้าไปสู่สิ่งธุรกิจเหล่านั้นเป็นการตัดสินใจที่เขารู้สึกว่าเสี่ยงมาก เขาไม่กล้า เขากลัว กลัวยิ่งขึ้นเมื่อได้ยินว่าเวียดนามจะเข้ามา อินโดนีเซียจะเข้ามา มาเลเซียจะเข้ามา ถ้าคุณจะทำให้เขาตระหนักในสิ่งเรานี้ คุณจะต้องไปเปลี่ยนความคิดของเขา วิธีคิดของเขา การมองธุรกิจของเขา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่บอกแล้วจะเป็นเลย คุณต้องมีแคมเปญระดับชาติ ให้ทุก SME รู้ว่าเออีซีมันมีนัยยะอย่างไร แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไร

ข้อที่ 2 สมมุติเขารู้แล้วว่าเออีซีเกิดอะไรขึ้นและเขาพึงทำอะไร จู่ๆ จะให้เขาพลิกซ้ายขวา เป็นไปไม่ได้ ผมอยากยกตัวอย่างของญี่ปุ่นให้ฟัง สมัยที่ผมเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา ผมทำเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่น เป็นหนังสือ เรียกว่าง่ายๆ 3 ทหารเสือของเขาสำคัญมาก เจโทรเป็นองค์กรคล้ายๆ กับกระทรวงพาณิชย์ แต่ของเขาทำเฉพาะเรื่องการโปรโมท การออกต่างประเทศ ของญี่ปุ่น เจโทรจะกระตุ้นเอสเอ็มอีซึ่งไม่กล้าออกนอกประเทศ

 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

20 ปีที่แล้ว เจโทรเชิญผมไปบรรยายที่ญี่ปุ่น ไปชักชวนให้เอสเอ็มอีเขาเข้ามาประเทศไทย ว่าการเข้ามาประเทศไทยนั้นมันดียังไง หน้าที่เจโทรนั้นเขาให้ข้อมูลข่าวสาร คุณมีโอกาสแสดงตัวกับต่างประเทศ ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง และตามมาให้บริการถึงในประเทศเราเลย นั่นคือเจโทร

ข้อที่ 2 ทหารเสือที่ 2 ไม่ใช่ใครเลย ธนาคาร ญี่ปุ่นเวลาไปต่างประเทศ ธนาคารของเขาไปก่อน ให้ข้อมูลข่าวสาร ดูแล ให้คำปรึกษาให้สินเชื่อให้เงินกู้ ตัวนี้นี่แหละบวกกับเจโทรทำให้เอสเอ็มอีซึ่งจริงๆ แล้วมันคือบ้านนอกของญี่ปุ่น ผมไปเห็นมาแล้ว ทำไหมย้อมสีธรรมดา อยากจะมา อาเซียนใครจะกล้า เจโทรพาเขามาแล้วก็ดูแลเขา ธนาคารเขาดูแล

สิ่งที่ธนาคารกรุงเทพทำขณะนี้ถูกต้องที่สุด อนาคตข้างหน้าอย่างน้อยๆ 5 ปี โครงสร้างภายในแบงก์ ต้องปรับเปลี่ยนแน่นอน เอสเอ็มอีไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่อไป และก็ดูว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือเปล่า ไม่ใช่ นั่นมันอดีต สิ่งสำคัญก็คือว่า คุณจะทำยังไงให้เอสเอ็มอีเหล่านี้มาพึ่งธนาคารกรุงเทพ พาเขาไป ฉะนั้น งานประเภทพัฒนาในแบงก์ถือว่าสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ไม่แพ้สินเชื่อเลย ถ้าคุณไม่ทำแบงก์อื่นทำแน่นอน แล้วเขาจะแย่งเอสเอ็มอีไปหมด แล้วเอสเอ็มอีเหล่านี้จะกลายเป็นบริษัทใหญ่ในข้างหน้า คุณจะเสียมาร์เก็ตแชร์แน่นอน

ทหารเสือตัวที่ 3 networking บริษัทเล็กญี่ปุ่นมันเกาะเกี่ยวบริษัทใหญ่ ผูกกันไปใหญ่ไปไหนเราตามไป เราต้องพยายามทำให้เอสเอ็มอีของเรา ขณะนี้บริษัทใหญ่เขาเริ่มแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ เซ็นทรัลเขาจะไปตั้งห้างสรรพสินค้าในอาเซียน เขาก็อยากจะมีเอสเอ็มอีของเขา ผูกกับเขาในอาเซียน ช่วยเขาสร้างแบรนด์เพื่อที่จะแข่ง อาเซียนนั้นมีสินค้าแต่บางทีไม่มีแบรนด์ การผูกติดเอสเอ็มอีกับ networking ของบริษัทใหญ่ ให้บริษัทเล็กเข้ามาช่วยและพัฒนาทักษะเป็นสิ่งที่จำเป็น ก็ทำให้เอสเอ็มอีนั้นสามารถไปสู่ต่างประเทศ และค่อยๆ เรียนรู้ตามลำดับ

3 ทหารเสือนี้ จริงๆ แล้วประเทศไทยมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเจนซี่ของราชการ เพียงแต่ที่ผ่านมานั้นเราต่างคนต่างทำ เราทำก็จริงแต่ความเข้มของการทำมีน้อยเกินไป มันช้าเกินไป

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในวงของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่มี พล.อ. ประวิตรเป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีทุกฝ่ายเข้ามา จดรายการมาว่าปัญหาคืออะไร หน่วยราชการเฉพาะ มีแพคเกจอะไรได้บ้างที่จะมาช่วยเอกชน เอสเอ็มอีเข้าไปสู่ตลาดของอาเซียนได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่มาเลเซีย ดอกเบี้ยเอสเอ็มอี 3% กว่า ดอกเบี้ยเอสเอ็มอีไทย 7% กว่า แล้วอย่างนี้จะแข่งอย่างไร แล้วประเด็นเหล่านี้ หยิบยกขึ้นมาและจะเป็นการทำสรุปและส่งให้ประธาน นี่คือสิ่งที่เราควรจะทำ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่ารัฐบาลจะช่วยอย่างไร มันอยู่ที่เอกชนต่างหาก คุณต้องช่วยตัวเองด้วย ไม่ว่าเล็ก เริ่มศึกษา เริ่มปรับปรุงคุณภาพ เพราะโลกสมัยนี้นั้นหลายสิ่งหลายอย่างคนตัวเล็กสู้ได้ไม่แพ้คนตัวใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อีคอมเมิร์ซเข้ามา

ผมไปฮ่องกงมา ค่าเช่าที่แพงมาก บริษัทไปตั้งอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งบนตึก ผมก็ขึ้นไปที่ห้องนั้น ไปดูสินค้า ลูกค้ามาอย่างไม่ขาดตอน ผมก็ถามเขา เขาบอกว่าเขาจัดการผ่านอีคอมเมิร์ช ไม่ต้องมีต้นทุนมากมายนัก รัฐบาลฮ่องกงท้องถิ่นของเขาเรียกประชุมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชทั้งหมดมาคุย บอกว่าเขามีนโยบายอย่างไร อีคอมเมิร์ชเรียกกรมไปรษณีย์ ต่อจากนี้ไปคุณต้องเปลี่ยนหน้าที่ของกรมไปรษณีย์ ไม่ใช่แค่ส่งจดหมาย เพราะสมัยนี้ เวลาที่คุณค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ช เวลาจัดส่งสินค้าเขาจัดส่งที่ 7-Eleven บอกว่าสาขาไหนก็จะมีไปรษณีย์ไปจัดส่ง เมืองไทยถ้าจะช่วยเอสเอ็มอีต้องก้าวไปถึงจุดนั้น

สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในวิสัยที่เราทำได้ทั้งสิ้น เรามีหมดแล้ว…

ท้ายที่สุดก่อนที่จะจบ ผมอยากจะบอกว่า วิธีที่เราจะได้ประโยชน์สูงสุด คืออย่ามองเฉพาะเอสเอ็มอีระดับนี้ คุณจะต้องสร้าง mass smart SME ให้เกิดขึ้น เอสเอ็มอีใหม่ๆ ทางด้านบริการ ทางด้าน tax base แล้วเอาคนเหล่านี้ ทำให้เขาค้าขายได้ง่าย ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้าให้เร็ว ไม่มีเงินกู้ให้เงินกู้เขา .เพื่อให้เขาสามารถค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ชไปสู่อาเซียน เป็นกองทัพ

ตอนที่ไปฮ่องกงผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ผมเข้าใจว่าเป็น China Daily เขาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กวางตุ้ง เป็นหนึ่งในสี่แห่งที่เขากำลังทำโครงการนำร่องสำหรับเมืองจีนในการเปลี่ยนเอสเอ็มอีของเขาทั้งหมด เขาเลิกปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บริษัทที่มีการจดทะเบียน เงินทุนทะเบียนเท่ากับศูนย์ เขาให้จดทะเบียนการค้าได้ เอกสารอย่างอื่นตามมา จดทะเบียนก่อน เวลาไปจดทะเบียน เอสเอ็มอีซึ่งไม่เคยรู้เรื่อง รัฐบาลท้องถิ่นตั้งบริษัทกลางขึ้นมา เป็นคนรับเอกสารทั้งหมดจากเอสเอ็มอีแล้วจัดการจดทะเบียนให้กับเอสเอ็มอี เวลาจะปล่อยสินเชื่อ เด็กนักเรียนไม่มีเงิน แต่ถ้าคุณมีใบสิทธิบัตร คุณเอาใบนี้ไปที่แบงก์ เขาให้เงินกู้เลย ผมจำไม่ได้ว่าเป็นสินค้าอะไร เขาบอกไม่น่าเชื่อเลยว่าจะได้รับเงินสินเชื่อล้านกว่าหยวน โดยที่เขามีแค่สิทธิบัตรใบเดียว เขายังไม่มีออฟฟิศเลย แต่มันเป็นสิ่งที่ทำมาแล้วจริงๆ ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว เขากำลังขยายสิ่งเหล่านี้ไปทั่วประเทศของเขา แปลว่าอะไร ในไม่ช้า ประเทศจีนนั้นจะมีกองทัพผู้ประกอบการที่เป็น smart SME ใช้ข้อมูลข่าวสาร ค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ช รู้จักใช้แบรนด์ให้เป็นประโยชน์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษา

เราทำได้หรือไม่ ทำได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เอสเอ็มอีมีสินค้า ก็เหมือนกวางตุ้ง มีผู้ผลิตส่วนหญ่เป็น OEM คุณสามารถจะใช้รัฐบาลก็ได้ แบงก์ก็ได้ บริษัทใหญ่ก็ได้ คุณทำอีคอมเมิร์ช ทำแพลตฟอร์ม หรือระดมให้เกิดกระแสเข้ามา ค่อยๆ สร้างแบรนด์ของเขาขึ้นมา ค้าขายในอาเซียน อย่างประเทศไทย มีไทยซีเล็คท์ มีอะไรที่มาโปรโมทยี่ห้อไทยแลนด์อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้สร้างกระแสขึ้นมาในอาเซียน สินค้าไทยถึงจะมีอยู่ในจีน โดยเฉพาะเรื่องอาหาร สินค้าไทยเหนือกว่าสินค้าอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในอินโดจีน เราเหนือกว่าเขาอยู่แล้ว เราทำสิ่งเหล่านี้ได้แน่นอน มันเริ่มได้ รัฐบาลถ้าช้า เอกชนทำเลย ธนาคารกรุงเทพทำไมไม่ทำ อันนี้เป็นคำถาม หรืออาจจะทำแล้ว

สิ่งเหล่านี้ที่ผมจะบอกก็คือว่า ก่อนจะมาบรรยาย ผมพูดหลายครั้งแล้วเกี่ยวกับเออีซีแล้วก็พูดมานานแล้ว แต่ระดับการปฏิบัติมันกระชับ มันเดินลำบากมากเลย เพราะทุกคนยังไม่ซีเรียสกับมัน อันนี้ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว ประเทศอื่นเหมือนกัน ผมนั่งดูในเว็บไซต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม วนกันน่าดู เออีซีเกิดแล้ว ผมบอกได้เลย เอสเอ็มอีทุกประเทศกลัวทั้งนั้น เพราะกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ถามว่ามีทางเลือกไหม คุณไม่มีทางเลือก เราได้เปรียบอยู่แล้ว สินค้าเรา การทำธุรกิจของเราเหนือกว่าเออีซีหลายประเทศทีเดียว เราไม่มีจุดเสียเปรียบเลย ถ้าเราเริ่มวันนี้ยังมีเวลาที่จะแข่งได้แบบสบายๆ

ฉะนั้นเราต้องเริ่ม ถือโอกาสของคุณ ธนาคารกรุงเทพอีกครั้งหนึ่ง ที่จัดงานในวันนี้ขึ้นมา และหวังอย่างยิ่งว่า ธนาคารกรุงเทพจะเป็นเสาหลักให้กับเอสเอ็มอีไทยในอนาคตข้างหน้า เพื่อให้มีที่พึ่งทั้งการเงิน การจัดการ และอื่นๆ ที่จะตามมา