ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สาลินี วังตาล” ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ รีแบรนดิ้งสลัดภาพธนาคารสีเทาๆ ไม่โปร่งใส หนุนคนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของกิจการ

“สาลินี วังตาล” ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ รีแบรนดิ้งสลัดภาพธนาคารสีเทาๆ ไม่โปร่งใส หนุนคนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของกิจการ

16 มีนาคม 2015


จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมองว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศก้าวย่างไปสู่ความยั่งยืน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2558 ลงวันที่ 9 มกราคม 2558 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการสอดคล้องรองรับกับยุทธศาสตร์ของ คสช. ทั้ง 9 ด้าน และเป็นแนวทางในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืน โดยนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติ

หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ต้องติดตามคือนโยบายสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดัน ส่งเสริม และลดอุปสรรคอย่างเร่งด่วน

ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้เห็นสถาบันการเงินภาครัฐได้ออกแคมเปญรับทันที เห็นได้จากโฆษณาธนาคารกรุงไทย “สินเชื่อ sSME กรุงไทยเอาใจไซส์เล็ก”

นางสาลินี วังตาล(กลาง)ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวหนังสั้นนักสู้เอสเอ็มอี 7 เรื่อง
นางสาลินี วังตาล (กลาง) ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวหนังสั้นนักสู้เอสเอ็มอี 7 เรื่อง

และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้เปิดตัวโครงการ “นักสู้ เอสเอ็มอี” โดยทำเป็นหนังสั้น 7 เรื่องจริงของนักสู้เอสเอ็มอีที่เคยล้มแต่ไม่เคยยอมแพ้ นับเป็นการปฏิรูปและการเริ่มต้นรีแบรนดิ้งภาพลักษณ์ของแบงก์เอสเอ็มอีเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา

นางสาลินี วังตาล อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ ที่เข้ามาลุยเพื่อพลิกฟื้นธนาคารแห่งนี้อย่างเต็มกำลัง กล่าวถึงการรีแบรนดิ้งในครั้งนี้ว่า ตอนที่เข้ามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ช่วงนั้นพยายามที่จะฟื้นฟูกิจการธนาคาร คือการลดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลให้ได้มากที่สุด และขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้ เพื่อทำให้ธนาคารมีดอกเบี้ยรับมากขึ้น หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ภายใน เช่น ระบบการปล่อยกู้ ที่คานกันที่รักษาดูแลไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป ทำอย่างไรที่จะให้บริการลูกค้าได้รวดเร็ว ต้องมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ เอาคนจากเดิมที่นั่งที่สำนักงานใหญ่ออกไปต่างจังหวัดเพื่ออำนวยสินเชื่อ ซึ่งการปรับปรุงเหล่านี้ใช้เวลา 6 เดือน มาวันนี้คิดว่าได้ปรับปรุงแก้ไขไปเยอะแล้ว ธนาคารเริ่มมีกำไรและเชื่อว่ากำไรจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราตั้งเป้าว่าต้องกำไรให้ได้ประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 40,000 ล้านบาท

“เมื่อเราปรับปรุงระบบทำงาน ก็อยากจะรีแบรนด์ธนาคาร เดิมทีเป็นธนาคารสีเทาๆ คนไม่ค่อยเข้าใจว่าทำอะไร อาจจะไม่ค่อยโปร่งใสเท่าไหร่ ก็ทำให้กระฉับกระเฉงขึ้น และพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้รัฐบาล และยุทธศาสตร์การรีแบรนด์ เราจะไม่ทำงานคนเดียว เราเอาเครือข่ายและภาคีองค์กรที่เราลงนามไว้มาเขย่าใหม่ เพื่อทำงานร่วมกัน อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี กรมการพัฒนาชุมชน สมาคม หอการค้า สมาพันธ์ และกลไกเกี่ยวกับเอสเอ็มอี มีการหารือกันประมาณ 40 เครือข่าย”

นางสาลินีกล่าวต่อว่า ตอนนี้กิจการเอสเอ็มอีของไทยมีประมาณกว่า 30% ของจีดีพีของประเทศ นอกจากนั้นเอสเอ็มอีจ้างงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ มองแล้วอาจนึกว่าตัวเลขนี้สูง แต่จริงๆ แล้วไม่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างเพื่อนบ้าน กิจการเอสเอ็มอีในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างน้อยๆ ต้อง 60-70% ของจีดีพี เราก็อยากขับเคลื่อนประเทศเราให้ไปทิศทางนั้น เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้พื้นฐานของประเทศมันแน่น ไม่อย่างนั้นทุกคนจะเป็นลูกจ้างของธุรกิจขนาดใหญ่กันหมด หากแต่ละคนที่เรียนจบต้องการทำกิจการของตัวเอง ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจของเรามันแน่น และมันจะเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงมากกว่าที่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการรีแบรนด์ อยากให้คนมองเห็นธนาคารแบบไหน นางสาลินีกล่าวว่า “ก็อยากให้มองธนาคารในภาพพจน์ใหม่ ว่าเราพ้นจากยุคเดิมที่มีภาพแดนสนธยา และก้าวเข้ามาสู่ยุคการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ฉับไว แต่ในขณะเดียวกัน ที่เราเน้นมากๆ คือเราพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและประคับประคองเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อยให้เดินต่อไปให้ได้ ส่วนการเข้าถึงไม่ยากอยู่แล้ว ติดต่อมาที่ call center 1357 หรือติดต่อมาที่สาขา หรือเว็บไซต์ เพราะการให้บริการให้กู้ยืมของธนาคารเวลานี้ เราปรับปรุงขึ้นมาก เราไม่ได้เรียกเอาเอกสารมากมายเกินความจำเป็น และขณะเดียวกันเราพยายามทำเรื่องให้เร็ว”

นอกจากนี้ ธนาคารถูกตั้งมาเพื่อการสนับสนุนเอสเอ็มอีอยู่แล้ว หลายครั้งถูกมองว่ามีขนาดเล็ก ไม่มีนัยยะต่อเศรษฐกิจ แต่อยากให้มองดูจำนวนลูกค้า ขณะนี้มีประมาณ 80,000 ราย และเชื่อว่าสิ้นปี 2558 จะขยายเกิน 1 แสนราย ซึ่งจำนวนรายเหล่านี้เกือบจะทั้งหมดเป็นกิจการฐานรากของระบบเศรษฐกิจไทย จริงๆ คนเหล่านี้ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับโอกาส เขาอยากทำธุรกิจ เขาก็ไม่ได้เงิน บางทีการทำกิจการ เขาต้องการข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ เขาหาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็เป็นอีกจุดที่ธนาคารพยายามเข้าไปช่วยเหลือ เราทำเรื่องพวกนี้เอง โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาหอการค้า สมาคมเอสเอ็มอี กรมพัฒนาชุมชน เพราะธนาคารมีเป้าหมายที่จะปล่อยกู้ให้ธุรกิจโอทอป และกิจการวิสาหกิจในเขตต่างจังหวัดด้วย

“อย่างไอเดียของ ดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ที่ต้องสานต่อ คือการพาเอสเอ็มอีออกไปค้าขายเออีซีให้ได้ บางทีเรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับเอสเอ็มอีในไทยกับเออีซีจะแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งไม่สนใจไม่รู้เรื่อง เป็นพวกดั้งเดิม จำนวนใหญ่มาก และพวกหนึ่งหัวก้าวหน้า รู้ อยากไปค้าขายแต่มีข้อติดขัด ไม่มีทุน และการจะไปแบบนั้นจะต้องมีข้อมูล ต้องมีการติดต่อประสานในหลายเรื่องหลายราว ซึ่งตรงจุดนี้ธนาคารเอสเอ็มอีพยายามมากๆ ที่จะร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอี สสว. พยายามแก้จุดตรงนี้ให้ได้” นางสาลินีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของข้อมูลเอสเอ็มอีมีกระจัดกระจายทั่วๆ ไปอยู่ในหน่วยงานที่ทำเรื่องเออีซี กระทรวงพาณิชย์ก็มี กระทรวงต่างประเทศก็มี กระทรวงอุตสาหกรรมก็มี กระจาย ไม่มีเจ้าภาพหลัก และการจัดหาข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานเหล่านี้ เขาได้คำนึงถึงกิจการเอสเอ็มอีหรือเปล่า เรื่องนี้ในที่สุดแล้วจะต้องมีการขับเคลื่อนในลักษณะที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่าปัจจุบัน กำลังพยายามทำกันอยู่ ซึ่งการออกไปเออีซีก็ต้องทำคู่กันไป เพราะยังไงเศรษฐกิจเออีซีจะโตเร็วกว่าเรา หากเราขายในไทยไม่ค่อยได้ก็ต้องไปขายในประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ แต่ตอนนี้การให้การสนับสนุนยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

นักสู้เอสเอ็มอีแบงก์
นักสู้เอสเอ็มอีแบงก์

เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดตัวภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี”ย้ำบทบาทธนาคารเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย

เอสเอ็มอีแบงก์ จัดทำโครงการภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี” นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ฟันฝ่าปัญหาวิกฤติก่อนก้าวสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจ ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้น 7 เรื่อง พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมโหวตหาสุดยอด “นักสู้ เอสเอ็มอี” แห่งปี ชิงรางวัลทองคำมูลค่า 100,000 บาท ดึงดาราหัวใจนักสู้ น้อย โพธิ์งาม มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของธนาคาร ตอกย้ำบทบาทเอ็มอีแบงก์เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ที่พร้อมยืนอยู่เคียงข้างเอสเอ็มอีไทย ทุกสถานการณ์ และเป็นกลไกขับเคลื่อนเอสเอ็มอีฐานรากในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2558 นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ และ นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมแถลงข่าวเปิดงานเปิดตัวโครงการภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี” โดยมีผู้ประกอบการเอสเอสเอ็มอีลูกค้าธนาคาร หัวใจนักสู้ ที่ฟันฝ่ามรสุมธุรกิจ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้ให้ความช่วยเหลือ ทั้งด้านเงินทุน คำปรึกษาแนะนำ และส่งเสริมพัฒนาในด้านต่าง ๆ จนก้าวผ่านวิกฤต และเติบโตได้อย่างมั่นคง

โครงการภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี” นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเอสเอ็มอี ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้น 7 เรื่อง พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมโหวตหาสุดยอด “นักสู้ เอสเอ็มอี” แห่งปี ชิงรางวัลทองคำมูลค่า 100,000 บาท โครงการนี้จัดขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มองหาโอกาสทางธุรกิจ และเป็นการสะท้อนบทบาทของ เอสเอ็มอีแบงก์ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยและโอท็อป ทั้งในด้านเงินทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาองค์ความรู้ ช่วยส่งเสริมการตลาด หาช่องทางการจัดจำหน่าย และร่วมลงทุน รวมถึงมีนโยบายที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถพัฒนาทักษะเชิงธุรกิจของลูกค้า ให้มีความแข็งแรงและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศไทยต่อไป

ภายในงาน ยังได้เชิญดาราหัวใจนักสู้ “น้อย โพธิ์งาม” แบรนด์แอมบาสเดอร์ของธนาคาร มาร่วมเปิดใจถึงการทำธุรกิจที่เคยล้มลุกคลุกคลาน และทำอย่างไรถึงก้าวข้ามอุปสรรคมาได้จนถึงทุกวันนี้ และพบกับนักแสดงสาวมากความสามารถ เมย์ พิชญ์นาฏ สาขากร เจ้าของร้านอาหารเกาหลี The Red Sun ที่กำลังได้รับความนิยม และเครื่องประดับ Thee ที่มาร่วมเผยเคล็ดลับความสำเร็จในการทำธุรกิจ

รายละเอียดการร่วมสนุกกับโครงการภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี”
– ชมภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี” ทั้ง 7 เรื่องผ่านทาง https://www.youtube.com/watch?v=3Ol2cov128M
– วิธีการร่วมสนุก : ร่วมโหวตและคอมเม้นต์ภาพยนตร์สั้นเรื่องที่ชื่นชอบ ผ่าน 2 ช่องทาง
o ทาง Facebookบอกเหตุผลที่ชื่นชอบ และลงท้ายด้วย #smefighter
ใน
o ส่งเอสเอ็มเอส พิมพ์ smefighter# แล้วตามด้วยหมายเลขคลิปที่ชอบ และเหตุผลที่ชื่นชอบ ส่ง SMS มาที่หมายเลข 4155575
– เริ่มโหวตตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 9 มิถุนายน 2558
– รางวัล
o เจ้าของเรื่องราวภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี” ที่ได้รับผลโหวตสูงสุด จะได้รับประกาศนียบัตร “ที่สุดนักสู้ SME ประจำปี”
o ผู้โหวตภาพยนตร์สั้น “นักสู้ เอสเอ็มอี” เรื่องที่ชนะ ลุ้นชิงรางวัลทองคำมูลค่า 100,000 บาท