ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะโลก ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่13) : กรุงนิวเดลีเลวร้ายยิ่งกว่ากรุงปักกิ่ง

มลภาวะโลก ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่13) : กรุงนิวเดลีเลวร้ายยิ่งกว่ากรุงปักกิ่ง

9 มีนาคม 2015


อิสรนันท์

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับตามองแดนมังกรจีนเป็นตาเดียวว่าเป็นประเทศที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศมากที่สุด โดยหลงลืมไปว่ารัฐบาลปักกิ่งได้เพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหานี้ จนทำให้ขณะนี้ประเทศที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่จีนแต่เป็นแดนภารตะอินเดียที่แซงหน้าเงียบๆ มาหลายปีแล้ว กลายเป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงที่สุดในประเทศนี้จากผลของการเผาฟืนและชีวมวล การหุงต้มในครัวเรือน การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่เจือปน และควันเสียจากรถยนต์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ที่มีการเผาหญ้าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ ทำให้เกิดหมอกควันพิษปกคลุมไปทั่ว

เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารเศรษฐกิจและการเมืองรายสัปดาห์ของอินเดียได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยล่าสุดขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยมลภาวะในอากาศ พบว่าเมืองในแดนภารตะ 13 เมือง มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยเมืองที่มีปัญหามลภาวะมากที่สุดในโลก 20 เมือง ผลการศึกษาชิ้นนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของกลุ่มกรีนพีชที่ได้ข้อสรุปว่านครนิวเดลี เมืองใหญ่อันดับ 5 ของโลก เป็นเมืองที่มีมลภาวะในอากาศสูงที่สุดในประเทศและสูงที่สุดในโลก มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือค่าพีเอ็ม 2.5 สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองถึง 15 เท่า หรือมีมลภาวะในอากาศสูงกว่ามลภาวะในอากาศในกรุงปักกิ่งถึง 45 เปอร์เซ็นต์จากขณะนี้ที่กรุงปักกิ่งมีค่าพีเอ็ม 2.5 สูงกว่ามาตรฐานอยู่แล้วถึง 10 เท่า และมากกว่าระดับมาตรฐานที่รัฐบาลนิวเดลีกำหนดไว้ 4 เท่า

นักวิทยาศาสตร์อินเดียยืนยันว่า ขณะนี้กรุงนิวเดลีกำลังเผชิญกับมลภาวะทางอากาศที่เลวร้ายยิ่งกว่ากรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวซึ่งมักจะมีหมอกหนาปกคลุมทั่วทั้งเมืองหลวง ผสมผสานกับฝุ่นจากรัฐหรยานา ปัญจาบ และอุตตรประเทศ และการเผาผลาญเชื้อเพลิงในเขตชนบท ทำให้ขณะนี้ท้องฟ้าในนิวเดลีมืดมัวไม่แจ่มใส โดยตัวการใหญ่ของปัญหาหมอกควันพิษมาจากขบวนรถบรรทุกที่แข่งกันปล่อยควันพิษผสมผสานกับการหุงต้มในบ้าน ผลตามมาก็คือทำให้อายุเฉลี่ยของชาวภารตะกว่าครึ่งหนึ่งหรือราว 660 ล้านคน สั้นลง 3.2 ปี นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยด้วยโรคปอดและโรคทางเดินหายใจมากขึ้น ผลการศึกษาทางการแพทย์พบว่าจำนวนผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจและผลข้างเคียงจากมลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้นเกือบ 150 เปอร์เซ็นต์ หรือเฉลี่ยแล้ว 25 รายต่อวัน เทียบกับอดีตที่เฉลี่ยแค่วันละ 10 ราย โดยเฉพาะในเด็กซึ่งนับวันยิ่งตกเป็นเหยื่อมากขึ้นจากมลภาวะทางอากาศทั้งในบ้านและนอกบ้าน

ที่มาภาพ : http://static01.nyt.com/images/2012/12/27/world/delhi/delhi-videoLarge.jpg
ที่มาภาพ : http://static01.nyt.com/images/2012/12/27/world/delhi/delhi-videoLarge.jpg

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาเมื่อปี 2556 พบว่าชาวอินเดียป่วยเป็นโรคปอดมากกว่าชาวยุโรปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลพวงจากการสูดดมหมอกควันพิษอยู่ตลอดเวลา เทียบกับผลการศึกษาของโกลบัล เบอร์เดน ออฟ ดีซีส เมื่อปี 2553 พบว่าหมอกควันพิษนี้เป็นเพชฌฆาตหมายเลข 5 ที่คร่าชีวิตชาวเมืองภารตะถึงปีละ 1.6 ล้านคน และอีก 620,000 รายต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะในอากาศ

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือแฟชั่นการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเล็กๆ ระหว่างหายใจได้ระบาดจากจีนมาที่นิวเดลีแล้ว ขณะที่บริษัทต่างๆ ก็เริ่มติดตั้งระบบเครื่องกรองอากาศในสำนักงาน เลียนแบบสถานเอกอัครราชทูตของหลายประเทศที่เริ่มนำร่องระบบนี้ก่อนแล้วกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้มีอันจะกินชาวภารตะ

อีฟ เดอ บัวร์ อดีตหัวหน้าคณะเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ เตือนว่าอินเดียควรจะเร่งแก้ไขปัญหานี้เพื่อไม่ให้ประสบชะตากรรมแบบเดียวกับจีน จนมีผลกระทบมากถึง 1 ใน 10 ของจีดีพี ด้วยการเร่งหามาตรการ “ทำความสะอาดหมอกควันพิษ” ครั้งใหญ่ แม้ว่าผู้นำอินเดียได้ลงมือทำแล้วด้วยการรณรงค์โครงการลดหมอกควันพิษ และโครงการ “ขอลมหายใจให้เดลี” มีการตั้งเครื่องตรวจวัดหมอกควันพิษหลายพันตัว แต่ถูกโจมตีว่าการรณรงค์ทั้งของรัฐบาลกลางและของคณะกรรมการควบคุมมลภาวะแห่งชาติในนิวเดลีช้ายิ่งเรือเกลือ แม้กระทั่งเรื่องการจำกัดปริมาณรถบรรทุกหรือตรวจควันดำของรถบรรทุก กระทั่งศาลสูงสุดต้องมีคำสั่งให้คุมเข้มในเรื่องมาตรฐานของอากาศด้วยการลดควันเสียลง รวมไปถึงการแนะนำผู้ขับขี่รถยนต์ให้ช่วยกันตรวจสภาพของรถยนต์

ตรงกันข้ามกับรัฐบาลในรัฐใหญ่น้อยที่มีความตื่นตัวมากกว่ามาก โดยเฉพาะรัฐที่เป็นเขตอุตสาหกรรม 3 รัฐใหญ่ ได้แก่ รัฐคุชราต มหาราษฎร์ และทมิฬนาดู ซึ่งกระตือรือร้นจะแก้ไขปัญหานี้ ถึงขนาดอวดว่ากำลังรณรงค์จะเปิดตลาด “มลภาวะที่สามารถซื้อขายได้’ แห่งแรกในโลก ซึ่งก็คือ “ระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการซื้อขาย “โควตาในการปล่อยมลพิษ” โดยมีเป้าหมายหลักก็เพื่อลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อมด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ดังกรณีของโรงงานทอผ้า 300 แห่งในเมืองสุรัต รัฐคุชราต ซึ่งปรกติจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก็ประกาศว่าจะเป็นแห่งแรกที่จะซื้อขายใบอนุญาต รวมไปถึงจะติดตั้งเครื่องควบคุมการปล่อยควันพิษจากโรงงานต่างๆ พร้อมกันนี้โรงงานใหญ่น้อยยังพร้อมให้ความร่วมมือ อาทิ ทำความสะอาดอุปกรณ์เพื่อให้สามารถเผาไหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดผ่านการปลุกจิตสำนึกของประชาชนและผู้ประกอบการ กลับตาลปัตรกับแดนมังกรที่เสียเวลาไปกับการพยายามขุดค้นไปที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กระทั่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมต่างๆ อาทิ ห้ามปรุงอาหารปิ้งย่าง ห้ามเผากระดาษในพิธีกงเต็ก อันเป็นพิธีกรรมที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับ อีกประเพณีหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือการเดินทางกลับบ้านเกิดไปฉลองวันตรุษจีนพร้อมกับครอบครัวใหญ่

ดังกรณีที่วารสารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศศาสตร์ ฉบับเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาของสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสำนักวิชาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ที่พบว่าการพร้อมใจกันเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันหยุดเทศกาลตรุษจีนอาจเป็นปัจจัยสำคัญอีกอีกปัจจัยที่ทำให้สภาพภูมิอากาศในเมืองใหญ่ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอุณหภูมิจะลดต่ำลง จนทำให้เมืองนั้นหนาวเย็นมากขึ้น

ศาสตราจารย์จัง จิงหย่ง ประจำศูนย์วิจัยระบบมรสุมของสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ ให้ความเห็นว่าผลการวิเคราะห์บันทึกข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาของรัฐบาลระหว่างปี 2535-2549 ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ได้พบการลดลงอย่างผิดปกติของอุณหภูมิในเขตเมืองฮาร์บิน เมืองใหญ่สุดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และเมืองใหญ่อีกหลายเมืองรวมถึงกรุงปักกิ่ง ในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ห้วงที่เมืองเหล่านั้นแทบจะกลายเป็นเมืองร้างไปชั่วขณะระหว่างที่ชาวเมืองต่างหลั่งไหลเดินทางออกจากเขตเมืองกลับไปยังชนบทด้วยพาหนะต่างๆ รวมแล้วกว่า 3 พันล้านเที่ยว ทำให้ค่าของ “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” (ยูเอชไอ) หรือค่าอุณหภูมิจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ ลดลงในอัตราเฉลี่ยถึง 1.14 องศาเซลเซียส หรือกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางคืน

ผลการศึกษายังพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามช่วงเวลาและภูมิภาค โดยจะเห็นชัดเจนในตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน และเห็นได้ชัดเจนตามเมืองใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศมากกว่าเมืองใหญ่ทางภาคใต้ คาดว่าการที่เมืองใหญ่แทบกลายเป็นเมืองร้างมีส่วนช่วยคลายความร้อนของเมืองใหญ่ลง อันเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในอาคารที่พักอาศัยลดลง ยวดยานพาหนะวิ่งแล่นบนท้องถนนน้อยลงและเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมได้หยุดสายพานการผลิตชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์จังผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ได้สรุปผลการวิจัยครั้งนี้โดยยอมรับว่าครั้งนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกที่มีการวิจัยว่าการเดินทางกลับภูมิลำเนาครั้งใหญ่ในช่วงตรุษจีนของทุกปีอาจมีผลต่ออุณหภูมิในเมืองนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เชื่อถือได้ทางวิทยาศาสตร์ คาดว่าในช่วงแรกของการทดลองซ้ำตามหลักวิทยาศาสตร์จะมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากซีกโลกตะวันตกแม้จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาครั้งใหญ่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่ทิศทางการเดินทางกลับกระจัดกระจายจนยากจะหาข้อสรุปที่เชื่อถือได้

กระนั้น คณะนักวิจัยก็ยังไม่สิ้นหวัง พร้อมกับตั้งข้อสันนิษฐานไว้ล่วงหน้าว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันสืบเนื่องมาจากการเดินทางย้ายถิ่น อาจทวีมากขึ้นในอนาคตข้างหน้าตามการขยับขยายอย่างรวดเร็วของถนนหนทาง สายการบิน และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาคอันกว้างใหญ่ไพศาล

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์www.mep.gov.cn ของกระทรวงปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งจีนชี้ว่า จากการติดตามคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆ 74 เมืองทั่วประเทศ เมื่อปีที่แล้ว พบว่ามี 8 เมือง ประสบความสำเร็จในการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 2.5 และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เพิ่มโอโซนในอากาศ จนได้มาตรฐานระดับชาติ ได้แก่ เมืองเสิ่นเจิ้น ฮุ่ยโจว และจูไห่ ในมณฑลกวางตุ้ง เมืองฝูโจวในมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน และคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน เทียบกับปี 2556 ที่มีเมืองเพียง 3 เมืองที่มีคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน ได้แก่ เมืองไหโข่ว เมืองเอกของมณฑลไหหลำ เมืองลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต และเมืองตากอากาศชายทะเลโจวซัน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BBCThai
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BBCThai

ในปีเดียวกันนั้น ได้มีการจัดลำดับเมืองที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด 10 เมือง ปรากฏว่าในจำนวนนี้ มี 7 เมือง ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหนักในมณฑลเหอเป่ย ที่อยู่ติดกับกรุงปักกิ่ง อันเป็นเป้าหมายแรกของรัฐบาลที่จะลงมือแก้ปัญหาหมอกควันพิษ สำหรับเมืองในเหอเป่ยที่ติดอันดับอากาศยอดแย่ อาทิ เมืองเป่าติ่ง ซิงไท่ สือเจียจ้วง ถังซัน หันตัน และเหิงสุ่ย ขณะที่ 90 เปอร์เซ็นต์ของเมืองใหญ่น้อยก็ประสบความล้มเหลวในการรักษาคุณภาพอากาศ แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งทำสงครามลดมลภาวะในอากาศขนานใหญ่ ทั้งเร่งขจัดหมอกควัน ลดการบริโภคถ่านหิน และคุมเข้มกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน

ด้านวารสารการแพทย์ “แลนด์เซ็ต” ของอังกฤษได้รายงานผลการศึกษาของโกลบอล เบอร์เดน ออฟ ดีซีส ว่ามีลูกหลานมังกรมากถึง 1.2 ล้านคน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเมื่อปี 2553 อันเป็นผลจากมลภาวะในอากาศ รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่าราว 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวจีนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าพีเอ็ม 2.5 มากกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง

รายงานชิ้นนี้ที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้วยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า มลภาวะจากการเผาถ่านหินทำให้ชาวจีนทั่วประเทศราว 670,000 ราย เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานเพิ่มเติมว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะในอากาศราว 7 ล้านคน ทั่วทุกส่วนบนโลกใบนี้เมื่อปี 2555 ในจำนวนนี้เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ มีถิ่นฐานอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก

ภัยมืดหรือผลกระทบทางอ้อมจากมลภาวะในอากาศในแดนมังกรยิ่งได้รับการตอกย้ำเมื่อผลการสำรวจประจำปีครั้งที่ 17 ว่าด้วยบรรยากาศการทำธุรกิจในจีนจัดทำโดยหอการค้าอเมริกันในกรุงปักกิ่งพบว่า 53 เปอร์เซ็นต์ของ 477 บริษัทอเมริกันที่เป็นสมาชิกหอการค้าอเมริกันในจีน 1,012 บริษัท ยอมรับว่าประสบปัญหาในการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงให้มาทำงานหรือประจำการในเมืองที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ เทียบกับ 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว และ 34 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2556 นับเป็นครั้งแรกของการสำรวจที่ตัวเลขนี้แตะระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เทียบกับ 83 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่าอุปสรรคการทำธุรกิจมาจากการเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ต อีกเกือบครึ่งหนึ่งมองว่าบรรยากาศความเป็นมิตรของชาวจีนต่อนักธุรกิจชาวต่างชาติเริ่มน้อยลง

แต่มหันตภัยที่ร้ายแรงกว่านั้นเนื่องจากเป็นภัยมืดที่น้อยคนจะรู้จักก็คือมหันตภัยจากมลภาวะทางอากาศซึ่งขณะนี้ได้ปกคลุมพื้นที่ต่างๆ เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผืนแผ่นดินทั่วประเทศ ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตรที่อาจถูกทำลายย่อยยับแบบเดียวกับพิษจากรังสีนิวเคลียร์

นางเหอ ตงเสียน ผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยทรัพยากรน้ำและวิศวกรรมพลเรือน แห่งมหาวิทยาเกษตรศาสตร์จีน ได้เผยผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ว่า หมอกควันพิษในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิมีผลกระทบต่อต้นไม้และพืชผลหรือไม่และมากน้อยเพียงใด แล้วพบผลที่น่าตกใจว่าหมอกควันพิษนี้ทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชลดลงฮวบฮาบ ถ้าหากปล่อยให้ปรากฏการณ์นี้ขยายวงออกไป ก็จะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อภาคการเกษตร เพราะจะดันให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น

จากการทดลองพบว่าเมล็ดพันธุ์มะเขือและพริก ซึ่งปกตินั้นใช้เวลาราว 20 วันในการเจริญเติบโตเต็มที่ภายใต้แสงสังเคราะห์ในห้องทดลอง กลับต้องใช้เวลามากกว่า 60 วันกว่าจะเติบโตภายในเรือนกระจกที่ตั้งอยู่ที่เขตฉังผิงในกรุงปักกิ่ง เชื่อว่าเป็นผลมาจากสารพิษจากอากาศและเยื่อบางที่จับผิวของเรือนกระจก ทำให้ปริมาณแสงที่ต้นพืชจะได้รับลดลงครึ่งหนึ่งจนส่งผลต่อการสังเคราะห์แสง ทำให้เมล็ดพืชทั้งหมดในเรือนกระจกที่ทำการทดลอง อ่อนแอหรือป่วยลง “โชคดีที่พืชก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้” นางเหอเผยพร้อมกับเสริมว่าคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชที่ตกต่ำลงนี้จะทำให้ผลผลิตการเกษตรของประเทศลดลง

ดังนั้น ถ้าสภาพอากาศที่เป็นหมอกควันพิษยังดำรงอยู่เช่นนี้ ก็จะเป็นผลร้ายต่อวงจรอาหารของจีน คล้ายกับ “ฤดูหนาวแห่งนิวเคลียร์” หรือสภาพอากาศหนาวเย็นหลังสงครามนิวเคลียร์

จากข้อมูลของรัฐบาลชี้ว่า เมื่อปี 2556 จีนได้นำเข้าสินค้าประเภทอาหารมากเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 70 ล้านตัน ขณะที่อัตราการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารลดลงถึงระดับที่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อยว่า เกษตรกรที่ปลูกพืชในเรือนกระจกมีพื้นที่รวมกันมากกว่าสี่ล้านเฮกเตอร์และเป็นผู้ผลิตผักสดป้อนตลาดในประเทศ จะตกเป็นเหยื่อรายแรกๆ ของวิกฤติในภาคการเกษตรที่สืบเนื่องจากหมอกควันพิษ

ต่อกรณีนี้ เกา ถังกุย ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเป่ยจิง สือ หนง ซีด บริษัทเมล็ดพันธุ์พืชในปักกิ่ง ยอมรับว่าหมอกควันพิษได้ทำลายพืชผลในฟาร์มของตัวเองจนเสียหายยับเยินอย่างเห็นได้ชัดเจน พืชผักเน่าเสียและเติบโตอย่างเชื่องช้า “ทุกคนในบริษัท ทั้งเกษตรกร ชาวนา และฝ่ายขาย ต่างกลัดกลุ้มในเรื่องนี้มาก” และต่างพยายามหาทางออก อาทิ ทดลองติดตั้งแสงเทียม ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก หรือหันไปเพิ่มการใช้ฮอร์โมนพืชเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตดังที่ฟาร์มหลายๆ แห่งได้ทดลองทำกันอยู่

ดร.ฟู่ ชิวซื่อ นักวิจัยแห่งสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน ให้ความเห็นว่า ทางออกเหล่านี้ยังไม่ใช้ทางออกที่แท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการใช้แสงเทียม “แม้กระทั่งแสงเทียมที่ดีที่สุดก็สู้แสงธรรมชาติไม่ได้แม้แต่น้อย”