ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชะตากรรม “ยิ่งลักษณ์” ในศาลฎีกาฯ คดีนักการเมือง – 13 ปียกฟ้องแค่ 4 คดี – ตัดสินเร็วสุด 73 วัน

ชะตากรรม “ยิ่งลักษณ์” ในศาลฎีกาฯ คดีนักการเมือง – 13 ปียกฟ้องแค่ 4 คดี – ตัดสินเร็วสุด 73 วัน

22 มีนาคม 2015


หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับ (20 มี.ค.2558) หยิบกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ขึ้นเป็นข่าวพาดหัว

หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะไปปรากฎตัวต่อศาลในคดีที่ถูกอัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 หรือไม่

เพราะแม้ “นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง” ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยืนยันว่า อดีตนายกฯหญิงจะไปที่ศาลในวันนั้นแน่

ขณะที่ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า พร้อมนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

แต่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังไม่ไว้วางใจ พร้อมวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ “น้องสาวอาจเลือกเดินตามรอยพี่ชาย” ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เลือกหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ

ถ้า”ยิ่งลักษณ์” ไม่มาศาล

ตามกฎหมาย บังคับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “ต้อง” มาปรากฎตัวต่อศาลฎีกาฯ 2 ครั้ง คือ ในวันพิจารณาคดีครั้งแรก และในวันอ่านคำพิพากษา หากไม่มาในกรณีใดกรณีหนึ่ง จะต้องถูกออก “หมายจับ”

การไม่มาศาลใน 2 กรณีมีความแตกต่างกัน เพราะหากไม่มาในวันพิจารณาคดีครั้งแรก คดีก็จะเดินต่อไปไม่ได้เลย เพราะต้องจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว (เช่นเดียวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ 4 คดี ที่ศาลฎีกาฯ ต้องจำหน่วยไว้ชั่วคราว เพราะไม่มาศาลในวันพิจารณาคดีครั้งแรก)

แต่หากไม่มาในวันอ่านคำพิพากษา ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ภายใน 1 เดือน หลังวันอ่านคำพิพากษาครั้งแรก (เช่นคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ที่ศาลอ่านคำพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี แม้จะไม่มาศาล และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร)

สำหรับคดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้องร้องว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554) มาตรา 123/1มีอัตราโทษ จำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท มีอายุความ 15 ปี

แต่หากจำเลยหลบหนี กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่แก้ไขเมื่อปี 2554 กำหนดว่า ให้หยุดนับอายุความไปจนว่าจะติดตามตัวจำเลยกลับมาได้

ชะตากรรมอดีตนายกฯหญิง ในมือ 9 ตุลาการ

“นายธีรทัย เจริญวงศ์” เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เคยแถลงขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ ว่า หากองค์คณะมีมติประทับฟ้องไว้พิจารณา ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาครั้งแรกและส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยให้มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อ “ให้การต่อสู้คดี” ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ เนื่องจาก หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาตามนัด ศาลมีอำนาจในการ “ออกหมายจับ” และสั่งจำหน่ายคดีไว้ก่อนจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาล

ดั้งนั้น แม้สถานะปัจจุบันของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกระบุว่าเป็น “จำเลย” ในคดีจำนำข้าว แต่หากยังไม่มาแสดงตัวต่อศาล เท่ากับว่าตัวจำเลยยัง “ไม่อยู่ในอำนาจศาล” ซึ่งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์มาแสดงตัวต่อศาลในวันพิจารณาคดีนัดแรก แล้วไม่มาให้การในชั้นศาลในครั้งต่อไป คดีจะยังคงดำเนินต่อไป และศาลสามารถทำการพิจารณาคดีลับหลังได้

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 หลังวันที่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้ จะยังเหลืออีก 3 ขั้นตอน ก่อนจะถึงวันอ่านคำพิพากษา ประกอบด้วย

– วันพิจารณาครั้งแรก

เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาล ศาลจะอ่านคำฟ้องให้ฟัง ก่อนถามว่าได้กระทำผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไร คำให้การของการ-หรือไม่ให้การของจำเลยจะถูกบันทึกไว้ ก่อนจะนัดวันตรวจพยานหลักฐาน โดยต้องแจ้งคู่ความล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน

– วันตรวจพยานหลักฐาน

คู่ความต้องยื่นบัญชีพยานหลักฐานต่อศาล และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้โต้แย้ง โดยทั้งโจทก์-จำเลยต้องแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐาน ก่อนศาลนัดวันเริ่มต้นไต่สวนพยานหลักฐาน ซึ่งต้องแจ้งคู่ความล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

– วันไต่สวนพยานหลักฐาน

การไต่สวนพยานหลักฐานจะดำเนินการติดต่อไปทุกวัน และองค์คณะผู้พิพากษาจะเป็นผู้ไต่สวนพยานบุคคลเอง จนกว่าจะเสร็จสิ้นการพิจารณา โดยคู่ความมีสิทธิแถลงปิดคดีในเวลาที่กำหนด และศาลจะนัดวันอ่านคำพิพากษา ที่ต้องทำภายใน 7-14 วันนับแต่การพิจารณาเสร็จสิ้น

– วันอ่านคำพิพากษา

วันชี้ชะตา หากจำเลยไม่มาศาล ให้เลื่อนการอ่านและออกหมายจับ หลังจากนั้น 1 เดือน ไม่ว่าจะได้ตัวจำเลยหรือไม่ ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ และให้ถือว่าจำเลยได้รับฟังคำพิพากษานั้นแล้ว

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ ทั้งหมดจะดำเนินการโดยองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้มาพิจารณาคดีนี้ ซึ่งจะมีบทบาทมากกว่าการพิจารณาคดีในศาลอาญาทั่วไป เพราะศาลฎีกาฯ ใช้การพิจารณาในระบบ “ไต่สวน” ไม่ใช่ระบบ “กล่าวหา”

13 ปี ยกฟ้อง 4 คดี – พิจารณาเร็วสุด 73 วัน

ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติ (นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. หรือประธานรัฐสภา) ถูกยื่นต่อศาลฎีกาฯ ทั้งสิ้น 39 คดี  โดยศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ 27 คดี อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่ง 1 คดี และไม่รับฟ้องไว้ 11 คดี เกือบทุกคดีเป็นคดีขอให้ตั้ง “ผู้ไต่สวนอิสระ” ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติไม่รับคำร้อง หรือโอนให้หน่วยงานอื่น เช่น ป.ป.ช.ดำเนินการแทน

มีเพียงคดีที่ศาลฎีกาฯ ไม่รับฟ้องโดยตรง นั่นคือคดีที่ อสส.กล่าวว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับพวก กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งพนักงาน กกต.แก้ไขฐานข้อมูลนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2548 ได้ เพราะ “ฟ้องผิดศาล” (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สถิติคดีนักการเมืองระดับชาติ

และจาก 27 คดี ที่ศาลฎีกาฯ รับฟ้อง มีถึง 19 คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว โดยตัดสินลงโทษ 15 คดี ทั้งให้จำคุก ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง และยกฟ้องเพียง 4 คดี เพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด หรือคดีขาดอายุความ

ส่วนที่ยังไม่มีคำพิพากษามี 3 คดี อยู่ระหว่างการจำหน่ายคดีชั่วคราว เพราะจำเลยหลบหนีไม่มาศาลนับแต่วันพิจารณาคดีครั้งแรก และอีก 5 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

สำหรับระยะเวลาการพิจารณาคดีจะช้าหรือเร็ว ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ “จำนวนพยานบุคคล”

โดยในส่วนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝ่ายโจทก์ระบุว่าจะยื่นจำนวนพยานบุคคล 13 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยอยู่ระหว่างปรึกษาหารือว่าจะยื่นพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ มากน้อยเท่าใด

ใน 19 คดีที่ศาลมีคำตัดสินไปแล้ว พบว่ามี “ระยะเวลาการพิจารณาคดี” สั้น-ยาว แตกต่างกันออกไป โดยคดีที่พิจารณานานที่สุดคือ คดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ใช้เวลาการพิจารณานานถึง 778 วัน

ส่วนคดีที่พิจารณาเร็วที่สุด คือคดีจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส.นครนายก ที่ใช้เวลาเพียง 73 วันเท่านั้น เนื่องจากนายวุฒิชัยรับสารภาพ ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยคดีได้ โดยไม่ต้องเรียกพยานบุคคลมาไต่สวน (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โดยเวลาเฉลี่ยในการพิจารณคดี คือ 332 วัน

ระยะเวลาพิจารณาคดีศาลฏีกา

แม้สถิติการพิจารณาคดีในอดีต จะไม่สามารถนำมาชี้ชัดได้ว่า คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีผลสรุปออกมาในรูปแบบใด เพราะแต่ละคดีก็มีพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

แต่ก็อาจพอทำให้เห็น “แนวโน้ม” การตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติของศาลฎีกาฯ ได้บ้าง ว่ามักจะเป็นไปในทิศทางใด