ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวบ้านหนองแหนยื่นฟ้อง กรอ. – คพ. เรียกค่าเสียหาย 2.73 ล้านบาท กรณีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

ชาวบ้านหนองแหนยื่นฟ้อง กรอ. – คพ. เรียกค่าเสียหาย 2.73 ล้านบาท กรณีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

18 มีนาคม 2015


ชาวบ้านตำบลหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรารวม 39 คน ยื่นฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต่อศาลปกครองระยอง เนื่องจากละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ในการจัดการแก้ไขฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรมลงสู่น้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หนองแหน พร้อมเรียกค่าเสียหายรายละ 7 หมื่นบาท รวมมูลค่า 2.73 ล้านบาท

จากกรณีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ตำบลหนองแหนในพื้นที่ส่วนบุคคล เป็นบ่อดินจำนวนหลายแห่ง รวมถึงการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมรวมกับบ่อขยะชุมชนตั้งแต่ ปี 2555 ทำให้การปนเปื้อนมลพิษกระจายทั่วพื้นที่ตำบลหนองแหน ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบวัดการปนเปื้อนมลพิษในปัจจุบันยังคงพบว่ามีการปนเปื้อนมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐาน

ชาวบ้านหนองแหนร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557
ชาวบ้านหนองแหนร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยื่นฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ชาวบ้านตำบลหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ทั้งการควบคุมการขนส่งและการประกอบกิจการรับจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม และการฟื้นฟูขจัดมลพิษในแหล่งน้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อมตำบลหนองแหนที่ปนเปื้อนมลพิษจากการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอุตสาหกรรมในบ่อดินลูกรัง และการรั่วไหลจากพื้นที่ตั้งโรงงานรับจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2555

โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 39 คน ในฐานะตัวแทนชุมชนหนองแหนจึงยื่นฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษา 2 เรื่อง คือ 1. ให้ กรอ. และ คพ. ร่วมกันฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และระบบนิเวศในพื้นที่ตำบลหนองแหนและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ให้กลับคืนสู่สภาพที่ปลอดภัยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนชุมชนตำบลหนองแหน และขอให้เรียกเอาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อขจัดการปนเปื้อนมลพิษดังกล่าวคืนจากเอกชนผู้ก่อมลพิษด้วย

และ 2. ให้ กรอ. และ คพ. ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 39 คน รายละ 70,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,730,000 บาท เหตุละเมิดสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิที่จะดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต

ชาวบ้านหนองแหนร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง
ชาวบ้านหนองแหนร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง

จากการยื่นฟ้องดังกล่าว ศาลปกครองระยองได้ลงรับคำฟ้องนี้ไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.8/2558 โดยจะนำเสนอต่อตุลาการเพื่อมีคำสั่งในเรื่องการรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มลพิษที่ปนเปื้อนในพื้นที่ตำบลหนองแหนที่สำคัญคือ สารฟีนอล ซึ่งเป็นสารอันตรายจากอุตสาหกรรม มีฤทธิ์ทำลายตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ โดยช่วงปี 2556-2557 พบว่ามีสารฟีนอลสูงเกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำและมีการแพร่กระจายไปในหลายหมู่บ้านในตำบลหนองแหน และทำให้ชุมชนเดือดร้อนเสียหายเพราะไม่สามารถอุปโภคบริโภคน้ำจากบ่อน้ำตื้นซึ่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดหลักของทุกครัวเรือนในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยตามปกติมากว่า 2 ปีแล้ว อีกทั้งยังมีผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่นเหม็น ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย พืชผลการเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสุกรเสียหาย

“การฟ้องร้องครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างบรรทัดฐานที่ดีในสังคมไทยเกี่ยวกับการรับรองคุ้มครองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมของประชาชน รวมถึงระบบกลไกการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมและการกำกับควบคุมอุตสาหกรรมรับกำจัดกากของเสียอันตรายด้วย” นายสุรชัยกล่าว

ผลตรวจการปนเปื้อนที่ใช้อ้างในคำฟ้องคดีปกครองหนองแหน และผลการตรวจวัดการปนเปื้อนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของประชาชนกลุ่ม “เรารักษ์หนองแหน” ได้ดำเนินการตรวจสอบชนิดและปริมาณสารอันตรายที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลหนองแหนจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม พบสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสายยาว สารประกอบฟีนอลและอนุพันธ์ และสารกลุ่มอัลดีไฮด์ เป็นต้น จากการเก็บและตรวจวัดตัวอย่างน้ำจากบ่อที่ใช้ทำเป็นประปาหมู่บ้าน บ่อน้ำตื้นของชาวบ้านสำหรับการอุปโภคบริโภค คลองตาดน้อย และพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ใกล้กับสถานประกอบการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2556

ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2556 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้นของประชาชนรวมทั้งบ่อที่ใช้ในการเลี้ยงหมู (ความลึกประมาณ 10 เมตร) จำนวน 15 บ่อ บ่อน้ำใช้ของโรงเรียนหนองแหน 2 บ่อ บ่อสังเกตการณ์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 12 บ่อ และตัวอย่างน้ำจากลำรางสาธารณะใกล้สถานประกอบการรับกำจัดของเสีย 2 แห่ง จำนวน 4 ตัวอย่าง และตัวอย่างดินอีก 5 จุด พบสารอันตราย 3 กลุ่มสำคัญ คือ สารกลุ่มพาธาเลท (Phthalate) สารบิสฟีนอลเอ (Bis Phenol A) และสารกลุ่มฟีนอล (Phenol)

กลุ่มพาธาเลท เช่น Di (2-ethylhexyl) phthalate พบในตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้นของชาวบ้านหมู่ที่ 7 ซึ่งอยู่ใกล้สถานประกอบการรับกำจัดของเสีย บ่อน้ำในโรงเรียนบ้านหนองแหน และน้ำจากลำรางสาธารณะที่อยู่ใกล้สถานประกอบการรับกำจัดของเสีย โดยพบค่าการปนเปื้อนสูงสุด 85 ไมโครกรัมต่อลิตร (ppb) ในขณะที่ค่าสูงสุดที่รับได้ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของอเมริกา คือ 6 ppb

โดยสารกลุ่มพาธาเลทเป็นสารที่ใช้เป็นพลาสติไซเซอร์ (Plasticizers) คอืสารที่ใส่ในผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อลดจุดหลอมที่ทำให้เกิดการไหล (flexing temperature) ของพลาสติก ทำให้เม็ดพลาสติกมีความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่มขึ้น สารพาธาเลทเป็นสารที่มีผลต่อการสืบพันธุ์ ตับ รวมทั้งเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง และมีรายงานวิจัยต่างประเทศพบว่าสารพาธาเลทมีผลต่อการสร้างกระดูกของหนูที่กำลังเจริญเติบโต จำนวนหนูที่มีชีวิตรอดหลังคลอดลดลง

สำหรับสารกลุ่มบิสฟีนอลเอ ตรวจพบในตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้นของชาวบ้านหมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 12 จำนวน 3 บ่อ บ่อน้ำในโรงเรียนบ้านหนองแหน และน้ำจากลำรางสาธารณะที่อยู่ใกล้สถานประกอบการรับกำจัดของเสีย โดยพบค่าการปนเปื้อนสูงสุด 53 ppb ทั้งๆ ที่สารบิสฟีนอลเอเป็นสารอันตรายที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมและไม่ควรตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

สารบิสฟีนอลเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกของอาหาร จากการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่า สารบิสฟีนอลเอเป็นสารที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ ฮอร์โมน การพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์และเด็กทารก

กลุ่มฟีนอลประกอบด้วย Phenol, 2-Nitrophenol, 2,4,6-trichlorophenol และ Pentachlorophenol ในตัวอย่างน้ำจากน้ำบ่อตื้นของชาวบ้านและบ่อน้ำตื้นสำหรับการเลี้ยงหมูในหมู่ที่ 7 หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 12 จำนวน 7 บ่อ บ่อน้ำในโรงเรียนหนองแหน และบ่อสังเกตการณ์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่อยู่ใกล้กับบ่อ 15 ไร่ ซึ่ง กรอ. ให้เอกชนทำการบำบัดและได้รับรองผลการบำบัดให้แล้ว พบว่ามีการปนเปื้อนสารกลุ่มฟีนอลมากกว่า 1 ชนิด โดยในส่วนของบ่อสังเกตการณ์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่อยู่ใกล้กับบ่อ 15 ไร่ ตรวจพบสารฟีนอลชนิด Pentachlorophenol ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในปริมาณ 3.3 ppb (ค่ามาตรฐานน้ำใต้ดินที่กำหนดไว้ 1 ppb )

โดยสารกลุ่มฟีนอลที่เป็นสารประกอบฟีนอลสังเคราะห์ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นสารทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ฟอกหนัง ผลิตยา เป็นต้น โดยสารประกอบฟีนอลจะส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ความบกพร่องทางประสาท มีผลต่อตับและไต ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ทำให้หัวใจล้มเหลว มีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนและระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในตัวอย่างชั้นดินใกล้สถานประกอบการรับกำจัดของเสียทั้ง 2 แห่ง ก็พบว่าดินมีการปนเปื้อนสารกลุ่มพาธาเลทและบิสฟีนอลเอด้วย ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่สารอันตรายดังกล่าวจะถูกชะและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินได้หากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

ผลตรวจวิเคราะห์น้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

หนองแหน1

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจตรวจสอบการปนเปื้อนโดยเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในพื้นที่หนองแหน ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2555 จนถึงมีนาคม 2557 พบว่าสารฟีนอลปนเปื้อนในน้ำบาดาล บ่อน้ำตื้น และน้ำผิวดิน เกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO, 1958) ซึ่งกำหนดปริมาณสารฟีนอลที่ยอมรับได้ต้องไม่เกิน 0.001 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังภาพ

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการตรวจสอบตัวอย่างน้ำในรายละเอียดเฉพาะแต่ละจุดเก็บตัวอย่าง พบว่ามีผลตัวอย่างน้ำหลายจุดที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนสารฟีนอลเกินค่ามาตรฐานในระดับสูงและมีแนวโน้มระดับการปนเปื้อนแบบเพิ่มขึ้น-ลดลงสลับกันในแต่ละช่วงเวลาที่ทำการเก็บตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำฝน (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

หนองแหน