ThaiPublica > เกาะกระแส > กระทรวงเกษตรฯ-ธ.ก.ส. ปลดภาระแทงหนี้สูญให้เกษตรกรรายย่อย 4,000 ล้านบาท ที่เหลือปรับโครงสร้าง-ยืดเวลา 5,000 ล้าน

กระทรวงเกษตรฯ-ธ.ก.ส. ปลดภาระแทงหนี้สูญให้เกษตรกรรายย่อย 4,000 ล้านบาท ที่เหลือปรับโครงสร้าง-ยืดเวลา 5,000 ล้าน

31 มีนาคม 2015


นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและภาคครัวเรือน

นายปีติพงศ์กล่าวว่า หลังจากที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องราคาสินค้า ภัยแล้ง และข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในช่วงต่อไปจะให้ความสำคัญกับ 5 นโยบาย คือ 1. ภาระหนี้ทั้งในภาคเกษตรและภาคครัวเรือน 2. การปรับโครงสร้าง สินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ 3. การสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ 4. เป็นเรื่องการใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวพันกับ IUU และ 5. การออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือรายได้สวัสดิการให้กับเกษตรกร

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนั้น นายปีติพงศ์ระบุว่า กระทรวงการคลังดูแลปัญหาเรื่องหนี้ที่อยู่กับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับกระทรวงเกษตรฯ จะมุ่งแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ที่เกิดขึ้นกับส่วนราชการ ที่มีกองทุนอยู่หลายกองทุน และมีจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท

ด้านนายวิสุทธิ์กล่าวถึงมติ ครม. ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบของ ธ.ก.ส. ว่า จากข้อมูลเกษตรกร ณ 31 มกราคม 2558 มีลูกค้าประมาณ 3.52 ล้านราย มีจำนวนหนี้สิน 766,000 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยหนี้ต่อรายประมาณ 217,000 บาท โดยมีลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ 9.24% ของลูกค้าทั้งหมด และคิดเป็นเงินประมาณ 10.03% ของจำนวนหนี้สินทั้งหมด

“หนี้ดังกล่าวปัญหาสะสมมาตั้งแต่อดีต รัฐบาลชุดนี้จึงต้องการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จ โดยสืบเนื่องจากราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบการปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่หนี้สินก็เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” นายวิสุทธิ์กล่าว

สำหรับโครงการที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการแบ่งเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1) การปลดหนี้ 2) ปรับโครงสร้างหนี้ และ 3) การขยายเวลาการชำระหนี้ โดยในส่วนของการปลดภาระหนี้ เกษตรกรจะต้องมีคุณสมบัติคือ ไม่มีศักยภาพและมีเหตุที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในชีวิต เช่น กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ การเจ็บป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ตามปกติ ตามรายงานของ ธ.ก.ส. มีจำนวนเกษตรกรในกลุ่มดังกล่าว ประมาณ 280,000 ราย จำนวนหนี้สินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะดำเนินการปลดหนี้ให้กับคนกลุ่มนี้ทั้งหมด

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

กลุ่มที่ 2 การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเกษตรที่มีศักยภาพค่อนข้างต่ำ แต่ยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้หนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยสุจริตและมีความจำเป็น โดยมีจำนวนเกษตรกรในกลุ่มนี้ประมาณ 340,000 ราย จำนวนหนี้สิน 480,000 ล้านบาท สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดมาตรการผ่อนปรนให้ โดยใน 3 ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น แต่ให้ชำระดอกเบี้ยตามปกติ เมื่อครบ 3 ปี หากยังไม่สามารถชำระได้หมดสามารถขอขยายเวลาชำระหนี้ได้แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกลุ่มนี้ด้วย โดยให้สินเชื่อใหม่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 15,000 ล้านบาท

และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ โดยอาจเกิดปัญหาจากการงดทำนาปรังหรือราคายางตกต่ำ โดยเกษตรกรกลุ่มนี้มีประมาณ 450,000 ราย หนี้สินประมาณ 64,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จะขยายระยะเวลาชำระหนี้สินให้ตามศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยแต่ละราย งดเบี้ยปรับ แต่ยังคงคิดดอกเบี้ยตามอัตราปกติ รวมไปถึงให้สินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย มีวงเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559

นายปีติพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า วงเงินที่จะดำเนินการในส่วนของกระทรวงเกษตรเป็นการปลดหนี้ไปเลย เนื่องจากเป็นหนี้ค้างชำระมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับข้อกำหนดการปลดหนี้ให้เข้าใจตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการสำรวจเป็นกรณีเร่งด่วน พบว่ารายได้จากภาคเกษตรลดลง ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่เมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว ณ วันที่ 7 มีนาคม รายได้ของเกษตรกรต่อครัวเรือนลดลงประมาณ 600 บาท

“สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ เกรงคือหนี้สะสมทั้งหลาย เพราะไม่มีใครเคยปลดหนี้เหล่านี้เลย ทายาทเกษตรกรก็ต้องแบกภาระ อย่างน้อยที่สุดจำนวนหนี้ที่เกษตรกรติดค้างกระทรวงเกษตรฯ และ ธ.ก.ส. รวมกันอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท ที่จะยกหนี้ไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขให้ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้คนที่จะเริ่มชีวิตใหม่ลำบากหนัก”

นอกจากนี้ นายนายวิสุทธิ์กล่าวต่อไปว่า มาตรการดังกล่าว ทั้งการปลดหนี้หรือขยายเวลาชำระหนี้ให้กับเกษตรกร รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาบ่มเพาะนิสัยให้เป็นหนี้ แต่กรณีที่เข้ามาช่วยเหลือเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นโดยสุจริต โดยความจำเป็น และโดยสภาพการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งรัฐบาลระมัดระวังในเรื่องของวินัยการคลัง และมาตรการในการดูแล ฟื้นฟูให้ความรู้ บ่มเพาะเกษตรกรให้สามารถมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ต่อไป