ThaiPublica > คอลัมน์ > ตื่นสายเถิดชาวไทย

ตื่นสายเถิดชาวไทย

21 มีนาคม 2015


ยรรยง บุญ-หลง
[email protected]

ตื่นสายเถิดชาวไทย

ในปัจจุบัน เรามักจะพบเห็นสถาปนิก-นักเคลื่อนไหวผู้ออกแบบอาคาร Green Building ที่ได้รับรางวัลรักโลกจำนวนมาก

เราพบเห็นนักเคลื่อนไหวที่อาบน้ำเพียงแค่ 5 ขัน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (และกลิ่นตัว) เราพบเห็นเอ็นจีโอที่กินแต่ผักเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้พลังงานอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์

แต่เราก็ยังไม่พบเห็นนักเคลื่อนไหวผู้ใดที่จะยอมเสียสละร่างกายและจิตใจเพื่อการนอนตื่นสายอย่างเคร่งครัดทุกวัน!

สิ่งหนึ่งที่นักอนุรักษ์มักจะมองข้ามอยู่เสมอก็คือ การตื่นนอนไปทำงานพร้อมๆ กัน เป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

มนุษย์ยุคใหม่ยังคงติดนิสัยตื่นนอนพร้อมๆ กันในตอนเช้า เฉกเช่นในยุคบุกเบิกเกษตรกรรม ที่ต้องตื่นนอนพร้อมกับแสงอรุณ แต่การลุกขึ้นมาทำการเกษตรพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานเช่นเดียวกับในยุคอุตสาหกรรม เพราะพลังงานที่ใช้ในการเกษตรเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งได้มาฟรีๆ อยู่แล้ว

เราทราบดีว่า หลังจากที่มนุษย์ได้ริเริ่มทยอยเข้าไปทำงานใช้ชีวิตในเมืองเพื่อตอบสนองการผลิตในภาคอุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือโรงงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือไฟฟ้าจากการหุงต้มน้ำร้อน (โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์)

หากมองในแง่นี้แล้ว การที่มนุษย์ต้องใช้ไฟฟ้าพร้อมๆ กันในตอนกลางวันนั้น ก็หมายความว่าขนาด (หรือจำนวน) ของโรงงานไฟฟ้าจะต้องมีกำลังผลิตพอที่จะตอบสนองความต้องการในช่วงเวลานั้นได้ แม้ว่ามันจะเป็นเสี้ยวเวลาเพียงสั้นๆ (Peak Demand) ก็ตาม

ในประเทศหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จะต้องมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงของวัน ช่วงเวลาที่ทุกคนเคลื่อนพลไปทำงานพร้อมกัน และเคลื่อนพลออกจากงานพร้อมๆ กัน

ตื่นสายเถิดชาวไทย รูปที่2

การคำนวณขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าของเมืองๆ หนึ่ง ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการเลือกซื้อกางเกงยีนส์ เราจะต้องซื้อกางเกงที่มีไซส์ใหญ่พอรองรับปริมาตรของกระเพาะอาหารที่จะขยายใหญ่ขึ้นหลังจากอาหารมื้อหนักได้ เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้ว กางเกงก็อาจจะปริขาดจากการยืดตัวของหน้าท้อง (นักวิชาการบางกลุ่มจึงนิยมกินอาหารเบาๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อความสมดุลของร่างกายและไซส์กางเกง)

การต้องซื้อกางเกงไซส์ใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ (Peak Demand) หลังอาหาร จึงเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติโดยใช่เหตุ

ตืนสายเถิดชาวไทยรูปที่3

ในโลกปัจจุบัน กราฟของการใช้ไฟฟ้าในเมืองใหญ่ มักจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายภูเขา คือจะมียอดเขา Peak Demand อยู่ในช่วงเวลากลางวัน เวลาที่จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แสงไฟ และพลังงาน ในการผลิตอุตสาหกรรม และในออฟฟิศ มากที่สุด

แน่นอน อุตสหกรรมหนักบางชนิดจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากพร้อมๆ กัน แต่อุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอีกหลายประเภท (อย่างเช่นในย่านพัฒน์พงศ์ของกรุงเทพฯ) ก็ไม่จำเป็นต้องทำในเวลากลางวันเสมอไป

ตื่นสายเถิดชาวไทย รูปที่4

ในช่วงวิกฤติพลังงานเมื่อปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศให้อุตสาหกรรมในเมืองเซี่ยงไฮ้จำนวนหลายร้อยแห่งไปทำงานในเวลากลางคืน

ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นมาตรการที่สามารถลด Peak Demand ได้อย่างเฉียบขาดที่สุด ทางรัฐบาลตระหนักดีว่าประเทศจีนมีจำนวนโรงงานไฟฟ้าที่จำกัด และไม่อาจสร้างเพิ่มให้ท่วงทันการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจได้

สำหรับประเทศจีนแล้ว การทำงานในเวลากลางคืนไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในบรรดาคณะปฎิวัติผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีผู้หลับนอนในเวลาเช้าหลายท่านอย่างเช่น ประธานเหมา เจ๋อตุง และ นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ผู้ทำงานจนถึงเวลาตีห้า แล้วจึงเข้านอน

ตื่นสายเถิดชาวไทย รูป 5

การที่มนุษย์จะต้องเร่งรีบออกไปทำงานพร้อมกันนั้น อาจจะเป็นสิ่งหลงยุคที่ยังไม่ได้ถูกคัดสรรออกไปจากความชินชา

ในประเทศเดนมาร์ก มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า B-Society พวกเขามองว่าลักษณะทางชีวภาพและ Biological Clock ของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนตื่นเช้า-นอนเร็ว บางคนตื่นสาย-นอนดึก

พวกเขาสังเกตว่า หากบังคับให้คนชอบนอนเร็วทำงานในช่วงดึก คนเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้เลย ในขณะเดียวกันหากเอาคนที่มีลักษณะนอนดึก-ตื่นสายมาทำงานตอนเช้า พวกเขาก็จะไม่สามารถทำงานได้เช่นกัน

บริษัทระดับโลกอย่าง Google และ Apple จะให้พนักงานเลือกมาทำงานเวลาไหนก็ได้ เพียงแต่จะต้องมีผลงานแสดงให้เห็นเท่านั้นว่าได้ทำงานอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่พนักงานบริษัทสามารถบริหารจัดการกันเองได้

แผ่นกระดาษที่ Steve Wozniak กำลังถืออยู่ในมือ มีมูลค่ามากกว่านิคมอุตสาหกรรม ในหลายประเทศรวมกัน
แผ่นกระดาษที่ Steve Wozniak กำลังถืออยู่ในมือ มีมูลค่ามากกว่านิคมอุตสาหกรรม
ในหลายประเทศรวมกัน

ประเทศที่ขยันตื่นเช้ามาทำอุตสาหกรรมส่งออก (ค่าแรงต่ำ) แม้จะผลิตคอมพิวเตอร์ออกมาได้ 1,000,000 เครื่อง ก็ยังมีมูลค่าสู้เศษกระดาษ “อัลกอรึทึม” แผ่นเดียวของนักเลงคอมฯ ผู้นอนดึก-ตื่นบ่ายไม่ได้

ในยุคปัจจุบัน เรากำลังพบว่า “มูลค่าความคิด” ของพลเมืองนั้นมีค่ามากกว่ามูลค่าของค่าเช่าห้าง ค่าเช่าโรงแรม หรือจำนวนสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด

จึงเป็นคำถามว่า ทางภาครัฐจะจัดโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือให้พลเมืองและเยาวชนสร้างมูลค่าทางความคิดขึ้นมาได้อย่างไร (ทำไมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมจึงต้องไปตั้งอยู่กลางทุ่งรังสิตที่ระบบขนส่งมวลชนเข้าไม่ถึง ในขณะที่ห้างหรูสามารถตั้งอยู่ติดรถไฟฟ้าได้ทุกสถานี!)

แสดงว่าเรากำลังตีมูลค่าของเมืองตามระบบเก่า ที่มีมูลค่าของอัตราค่าเช่าและมูลค่าสินค้าเป็นตัวตั้ง

Time of Use รูป 7

ทางภาครัฐอาจจะทำนโยบาย TOU (Time of Use) ให้ถี่ขึ้นเป็นอัตราต่อชั่วโมง ล้อไปตามกราฟของการใช้ไฟฟ้าจริง แทนที่จะมีเพียงสองอัตราแบบ On Peak และ Off Peak ทั้งนี้เพื่อตัดพื้นที่ “แรเงา” (มีหน่วยเป็น price/kW) ส่วนเกินที่ไม่ได้อิงกับ demand จริงๆ ในช่วงเวลานั้นๆ ออกไป

การทำ TOU เป็นรายชั่วโมงจะสามารถจูงใจบริษัทที่เล็งเห็นความยืดหยุ่นทางเวลาเป็นกำไร

บริษัทรถไฟฟ้าอาจจะสามารถจ่ายค่าไฟถูกลงในชั่วโมงไม่เร่งด่วน (ทางรถไฟฟ้าก็สามารถมีอัตราตั๋วถูกในชั่วโมงไม่เร่งด่วนได้) …. บริษัทออกแบบสถาปัตย์ฯ อาจจะเริ่มงานเวลาสองทุ่มถึงตีสี่ยกเว้นวันที่มีประชุมกับลูกค้า … บริษัทหนังสือพิมพ์อาจจะหันมาเปิดเครื่องพิมพ์ตอนตีสาม (แทนที่จะพิมพ์ตอนเที่ยง) … นิติบุคคลคอนโดฯ และโรงแรมทั่วประเทศอาจจะหันมาเปิดเครื่องซัก-อบผ้ากันหลังเที่ยงคืน แทนที่จะเปิดเครื่องตอนบ่ายสอง… ฯลฯ

ถ้ามีคนใช้ TOU รายชั่วโมงที่กระจายตัวมากขึ้น demand กราฟตัวใหม่ก็จะมีลักษณะที่ราบลงได้ โดยจะมี peak ต่ำลงโดยรวม ซึ่งหมายความว่าจำนวนโรงงานไฟฟ้าที่จะต้องเปิดพร้อมๆ กันในวันหนึ่ง ก็จะน้อยลงได้ด้วย

การที่พนักงานมาทำงานในเวลา 09.00 น. พร้อมๆ กันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะสามารถสื่อสารกันได้ในเวลานั้นเสมอไป หากเราลองโทรศัพท์ติดต่อลูกค้าหรือเพื่อนคนใดคนหนึ่งในเวลาเช้าวันจันทร์ เราจะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ยากลำบากมากที่จะเข้าถึงตัวเขาได้ทันที เราอาจจะไม่สามารถติดต่อเขาผ่านทางโทรศัพท์ได้เลยในวันนั้น

ในขณะเดียวกัน ถ้าเราลองส่ง Chat สั้นๆ ไปให้เขาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เราจะพบว่า เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เราก็จะได้คำตอบจากเพื่อนของเรา ดังนั้น การมาทำงานในเวลาที่เหลื่อมกันบ้างจึงไม่ใช่สิ่งที่มีผลต่อการสื่อสารในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในธุรกิจที่เน้นการ “คิด” มากกว่าการผลิตสินค้าส่งออก

การสื่อสารส่วนใหญ่ในบริษัทยุคใหม่ก็จะทำโดยใช้การส่งข้อความทางอีเมลหรือ text message แต่ถ้าเป็นเรื่องด่วนมาก ก็จะมีการใช้โทรศัพท์ติดต่อ

บริษัท Nielsen ผู้นำในการวิจัยข้อมูลสำหรับผู้บริโภค ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้โทรศัพท์ของมนุษย์ได้ลดลงอย่างน่าตกใจช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่นิยมทำธุรกิจด้วยการส่งข้อความทางมือถือ (อีเมลและ chat) มากกว่าการโทรศัพท์พูดคุย เพราะการโทรศัพท์นั้นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงตัวได้ทันที ต้องถามอยู่เสมอว่า “ว่างคุยไหมครับ”

ถ้าเขาไม่ว่าง เราก็อาจจะต้องรออีกครึ่งชั่วโมง (ตามมารยาท) เพื่อจะโทรกลับไปคุยอีกที ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะว่างคุย 5 นาทีหลังจากนั้นก็ได้

การส่งข้อความ Line หรือ Chat จากมือถือจึงเป็นการสื่อสารที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้โทรศัพท์ (เรื่องประเภทนี้เด็กวัยรุ่นและนักล่า “กิ๊ก” จะเข้าใจดีกว่านักธุรกิจรุ่นเก่า)

ตื่นสายเถิดชาวไทย รูป 8

การตื่นและการนอนของผู้คนในสังคมเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการเผาผลาญทรัพยากรและพลังงานจำนวนมหาศาล

การตื่นนอนไม่ใช่เรื่องเดิมๆ ที่ควรกระทำไปตามประเพณีโบราณ แต่ควรมีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าระบบการตื่นเช้า (ขยัน) ไปทำงานพร้อมๆ นั้นมันมีรากฐานมาจากที่ใดกันแน่

การตื่นนอนไม่ใช่ Art แต่เป็น Science

อีกไม่นาน เราอาจจะได้เห็นนักเคลื่อนไหวสายพันธุ์ใหม่ ผู้เสียสละตื่นสายเพื่ออนุรักษ์พลังงานและปกป้องทรัพยากรของโลกก็ได้ อีกไม่นาน เราอาจจะต้องยืนตัวตรง เพื่อทำพิธีติดเหรียญเกียรติยศให้นักเขียน (หัวราน้ำ) ผู้ตื่นนอนมาพร้อมกับแสงแดดยามเย็นก็ได้ … อย่างน้อยที่สุด คนอย่างเขาก็ได้มีส่วนลด Peak Demand ของการใช้พลังงานในเมืองไปได้มาก