ThaiPublica > เกาะกระแส > จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต: ทักษะการคิดแบบผู้เชี่ยวชาญ และการสื่อสารที่ซับซ้อน (ตอนที่ 1)

จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต: ทักษะการคิดแบบผู้เชี่ยวชาญ และการสื่อสารที่ซับซ้อน (ตอนที่ 1)

29 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนา “Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21

ในงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ “จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” โดยมีวิทยากร ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21, นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต, นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู้อนาคต ดำเนินรายการโดยดร.อริสรา กำธรเจริญ

samsung

พิธีกร: เรียนถามอาจารย์วรพจน์ เรื่องของแนวความคิดทักษะในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสำคัญๆ อะไรบ้าง หลังจากที่ได้ยินเรื่องของทักษะในศตวรรษที่ 21 มาพอสมควรแล้ว รวมทั้งในต่างประเทศมีการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้อย่างไรบ้าง

วรพจน์: แนวคิดที่กำลังขับเคลื่อนการศึกษาทุกวันนี้หน้าตาเป็นอย่างไรในต่างประเทศ ส่วนเรื่องปัญหาการศึกษาไทยคงไม่พูดซ้ำ เพราะอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พูดไปเยอะแล้ว

ขอเริ่มจากความท้าทายก่อนว่าทำไมเราถึงต้องมาคุยกันเรื่องการศึกษา 4 ความท้าทายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ อันดับแรก คือ โลกได้เข้าสู่สังคมที่เรียกว่า “สังคมความรู้” (Knowledge Based Society) หรือบางคนเรียกว่า “สังคมที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ความรู้” (Post Industrial Society) ผู้นำที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนจะเป็นกลุ่มที่ใช้ความรู้มากขึ้น

ประเด็นนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ประเทศไทยได้ชัดเจน เพราะว่าประเทศไทยส่วนหนึ่งก็คือ เราติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน และไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆได้ ถ้าไปดูผลิตภาพภาคการบริการก็มีเพียงครึ่งเดียวของภาคการผลิตโดยเปรียบเทียบ

ส่วนที่สอง คือ เรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาทำงานซ้ำซากจำเจแทน ที่เมืองนอกนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า skill biased technological change เป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน คือถ้าคุณมีทักษะบางอย่างจะได้รับงานที่ดีขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทนในงานที่ซ้ำซาก

ล่าสุดมีแนวโน้มใหม่ เช่น พวกร้านแมคโดนัลด์ จะเอาพนักงานออกหมดแล้ว แล้วก็ใช้เครื่องจักรทำแทน เพราะฉะนั้น เราต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่ใช้เครื่องจักรทำแทนไม่ได้ เช่น การคิดอย่างซับซ้อน การสื่อสารที่ซับซ้อนมากขึ้น

ส่วนที่สาม คือ โครงสร้างองค์กรมีลักษณะเป็นแนวราบมากขึ้น มีลักษณะที่ distribute มากขึ้น เนื่องจากว่าการสื่อสารช่วยให้เราสามารถทำงานแนวราบได้มากขึ้น บริษัทหนึ่งที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ (ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21) คือบริษัท Apple ทางซีอีโอบอกว่าจะเลิกจ้างพนักงานคนไหนก็ตามที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เพราะว่าลักษณะโครงสร้างองค์กรเป็นแนวราบมากขึ้น

ส่วนที่สี่ คือ ตลาดแรงงานมีการเชื่อมกันมากชึ้น มีการแข่งขันระดับโลกมากขึ้น สมัยที่สตีฟ จอบส์ ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีผู้พูดถึงว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้เชิญสตีฟ จอบส์ ไปรับทประทานอาหารด้วยแล้วสอบถามว่าทำอย่างไรจึงจะดึงงานกลับมาที่อเมริกา สตีฟ จอบส์ก็บอกในเชิงที่ว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอเมริกาไม่สามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนกับประเทศจีนได้

สิ่งนี้ก็เป็นประเด็นที่สะท้อนให้เห็นความท้าทายใหม่ๆ

อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึง คือ โลกที่มีลักษณะหลอมรวมกันมากขึ้น ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม แล้วจะสร้างเด็กยุคใหม่อย่างไรให้เข้าใจเรื่องนี้ และมีทักษะในการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

เรามีสิ่งที่เรียกว่า global risk หรือว่าความเสี่ยงในระดับโลก ความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นทางโลก ซึ่งเราไม่สามารถใช้สำนึกระดับชาติในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น วิกฤติการเงินโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่ไประดับโลก

แล้วจะทำอย่างไรที่จะสร้างเด็กที่มีสำนึกระดับโลกมากขึ้น

รวมถึงการที่เทคโนโลยีการสื่อสารดีขึ้น การเดินทางดีขึ้น คนมีปฏิสัมพันธ์กับโลกมากขึ้น แล้วจะทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่เรียกว่า clash of civilizations (การปะทะกันระหว่างอารยธรรม) ล่าสุดที่เห็นกรณี ชาร์ลี เอ็บโด ที่มีการปะทะกันเกิดขึ้น แล้วจะทำอย่างไรที่จะสร้างเด็กให้เห็นและยอมรับความต่างในวัฒนธรรมเหล่านี้

ความท้าทายหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป คือเด็กทุกวันนี้ถูกเรียกว่า digital native คือคนที่เกิดมาในยุคดิจิทัล อาจจะต่างจากผม หรืออีกหลายๆ ท่านที่อาจจะเกิดมาในยุคแอนะล็อกแล้วจะทำอย่างไรที่จะเข้าใจว่าเด็กยุคนี้มีวิธีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปอย่างไร เช่น มีสิ่งที่เรียกว่า personal life learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการของคนมากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ การที่ไม่แบ่งแยกระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน formal และ informal เส้นแบ่งหายไปแล้วเนื่องจากมีเทคโนโลยีเข้ามา หรือว่าการเรียนรู้หรือร่วมมือผ่านเครือข่าย เด็กสมัยนี้เล่นโซเชียลมีเดียตลอดเวลา แล้วจะทำอย่างไรให้โซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเขา มีการเรียนรู้ผ่านการเล่นมากขึ้น อันนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศมากมาย คือการใช้เกมเข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ เหล่านี้ก็เป็นความท้าทายทางการศึกษาใหม่ๆ ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ

ในส่วนทักษะศตวรรษใหม่ที่อยากกล่าวถึง คือ อยากจะยกคำกล่าวของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “ผมขอเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐและผู้นำด้านการศึกษาของรัฐช่วยกันพัฒนามาตรฐานและวิธีการประเมิน ที่ไม่ได้วัดแค่นักเรียนจะสามารถกากบาทข้อสอบได้ แต่วัดว่าพวกเขามีทักษะศตวรรษใหม่ เช่น การแก้ไขปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความเป็นผู้ประกอบการ และความสร้างสรรค์ หรือเปล่า” คือเขาอยากสร้างเด็กที่ไปไกลกว่าการท่องจำ และมีทักษะที่จะจัดการปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

ทักษะที่มีคนพูดถึงและคิดว่ามีความสำคัญในศตวรรษใหม่ก็เช่น ที่เห็นในหนังสือ New Division of Labor ที่กล่าวถึงทักษะที่จะมีความสำคัญในอนาคต คือทักษะที่เรียกว่า การคิดแบบผู้เชี่ยวชาญ และการสื่อสารที่ซับซ้อน ทักษะเหล่านี้ เทคโนโลยีไม่สามารถมาแทนได้

เพราะฉะนั้น ในอนาคต ทักษะที่เรียกว่าการคิดขั้นสูง การสื่อสารขั้นสูง จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าในอนาคตไปอีกก็อาจจะต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากเทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยน เทคโนโลยีสมองกลก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อีก จึงต้องดูว่าจะทำอย่างไรจึงสร้างเด็กที่สามารถคิดเชิงซับซ้อนได้มากยิ่งกว่าเทคโนโลยี

หรืออีกงานศึกษาหนึ่ง จากรายงานที่วิเคราะห์ว่า เด็กของเขาพร้อมที่จะทำงานหรือยัง ก็มีการไปสำรวจว่า บริษัทต่างๆ มองว่ามีทักษะหรือคุณค่าอะไรที่มีความสำคัญ หลักๆ จะมีเรื่องความเป็นมืออาชีพ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม

ส่วนอีกงานศึกษาหนึ่งก็มีการทำเข้าไปสำรวจใน 5 ประเทศ ว่าบริษัทต่างๆ ให้คุณค่ากับทักษะหรือความสามารถอะไร มีการกล่าวถึง 4C ซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษใหม่ นั่นคือการคิดแบบมีวิจารณญาณ (critical thinking) การสื่อสาร (communication) การทำงานเป็นทีม (collaboration) และความสร้างสรรค์นวัตกรรม (creativity) ท่านก็จะเห็นว่าโดยส่วนมากจะเห็นด้วย และเห็นด้วยอย่างมากประมาณ 70-87% ขึ้นไป และบริษัทเหล่านี้จะใช้เป็นเกณฑ์ในวัดบุคคลมองว่าคุณมีทักษะเหล่านี้หรือไม่ เพื่อคัดเลือกคุณเข้าทำงาน เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าตลาดแรงงานได้ให้คุณค่ากับทักษะเหล่านี้มากขึ้น

พอมาดูการขับเคลื่อนในโลกที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาสนับสนุนแนวคิดทักษะศตวรรษที่ 21 จะเห็นว่ามีหลายองค์กรที่โอบรับแนวคิดนี้ อย่างในกรณีนี้คือ สิงคโปร์ หรือประเทศฮ่องกง ที่นำแนวคิดนี้มาใส่ไว้ในวิสัยทัศน์การศึกษาของประเทศเขา

แต่ว่าสิ่งที่ผมอยากจะพูดถึง คือแนวคิดทักษะศตวรรษที่ 21 ที่อยู่ในหนังสือที่ผมแปล ท่านจะเห็นโมเดลนี้อยู่บ่อยๆ คือ ผู้เขียนเริ่มต้นจากคิดว่ามีผลสัมฤทธิ์อะไรที่จำเป็นสำหรับนักเรียนที่จะใช้ชีวิตและทำงานในศตวรรษนี้ คนที่คิดโมเดลนี้คือ “ภาคีพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวในอเมริกา ทั้งจากบริษัทเอกชน และผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการศึกษา โรงเรียน หรือหน่วยงานของรัฐ

วันนี้เองก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีเช่นกัน ที่เกิดการรวมตัวกันจากหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน rainbow coordination เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการศึกษาในศตวรรษใหม่ จากที่เขาระดมความเห็นมาแล้วก็สรุปได้เป็นสายรุ้งอันนี้

เริ่มจากสีเขียวก่อนก็คือ core subject ยังมองว่าวิชาเก่าๆ ที่เรียนอยู่ยังมีความสำคัญอยู่ แต่ว่าเพิ่มขึ้นมาในส่วนเนื้อหาที่มีความสำคัญเพิ่มเติม ที่เรียกว่า twenty-first century theme เป็นความรู้เชิงบูรณาการใหม่ๆ ที่มีความสำคัญในศตวรรษที่ 21 จากนั้นส่วนสีเขียวเป็นเรื่องเนื้อหา ข้างบนสีเขียวเป็นเรื่องของทักษะ ที่เขากล่าวถึงทักษะ 3 กลุ่มที่มีความสำคัญ

สีเหลืองคือทักษะเกี่ยวกับการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สีน้ำเงินคือทักษะเกี่ยวกับการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา และสีแดงคือทักษะในการใช้ชีวิตและการทำงานจริง การจะไปสู่สายรุ้งทั้งหมด เขาเน้นย้ำว่าสายรุ้งที่อยู่ด้านบน อยู่บนสีเขียวนั้นไม่ได้แยกขาด คือการเรียนเนื้อหากับทักษะต้องไปด้วยกัน แต่การจะนำพาผลสัมฤทธิ์พวกนี้ได้จะต้องมีระบบรองรับ ซึ่งก็คือ standard and assessment คือกระบวนการในการตั้งมาตรฐานและวิธีการประเมิน พูดถึงหลักสูตรและวิธีการสอน วิธีพัฒนาวิชาชีพครู และการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนให้เราไปสู่สายรุ้งหรือการพัฒนาทักษะความรู้ที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21

ขอลงรายละเอียด หากดูผลสัมฤทธิ์ที่เขาต้องการในศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง อย่างที่บอกในส่วนสาระวิชาหลักที่เน้นการพัฒนาการอ่าน การเขียน และการคำนวณ ยังคงสำคัญอยู่ในส่วนสีเหลือง แต่เขาเพิ่มความรู้เชิงบูรณาการมา เช่น เรื่อง โลก สำนึกเรื่องโลกเป็นอย่างไร เราจะเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างไร เรื่องการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจการเป็นผู้ประกอบการ ผมคิดว่าการเป็นผู้ประกอบการมีความสำคัญมากในยุคนี้ อย่างผมสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาส่วนใหญ่ทำงานพาร์ทไทม์ หรือมีธุรกิจเป็นของตนเองกันเยอะมาก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ว่าเราอาจสามารถเสริมความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการให้กับเขาได้

เรื่องสิทธิพลเมือง ทำอย่างไรที่จะให้เขารู้สิทธิหน้าที่ของเขาในฐานะพลเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ รวมถึงในฐานะพลเมืองโลกด้วย

เรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรที่จะให้เขารู้ว่า การดำเนินชีวิตประจำวันของเขามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เรื่องพวกนี้มีความสำคัญและเป็นความรู้เชิงบูรณาการที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง

ส่วนเรื่องคุณลักษณะหรือสีเขียวนั้น เขาก็เน้นคุณลักษณะหลายอย่าง เช่น เรื่องการทำงาน ด้านการเรียนรู้และด้านศีลธรรม ซึ่งแนวโน้มในต่างประเทศจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ เริ่มมีงานศึกษาที่ทำให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า non-cognitive skills หรือคุณลักษณะพวกนี้มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องคือ การทำหนังสือ How Children Succeed (เลี้ยงให้รุ่ง) ก็เป็นการบอกให้เห็นว่า non-cognitive skills มีความสำคัญอย่างไร หรือ งานพูด Ted Talk ที่มีคนพูดถึงกันมาก คือ แอนเจลา ลี ดักเวิร์ธ ที่พูดเรื่อง Grit หรือ ความมุมานะ ความเพียร ว่ามีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จของเด็กยุคสมัยใหม่อย่างไร

ส่วนเรื่องของทักษะที่เราจะพูดถึงกันเยอะหน่อย คือ ทักษะ 3 กลุ่ม 1. เรื่องการเรียนรู้นวัตกรรม ซึ่งจะเป็นเรื่องของการคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น 2. ด้านทักษะชีวิตและการทำงาน ว่ามีการปรับตัวอย่างไร ชี้นำตัวเองอย่างไร มีทักษะสังคมอย่างไร สามารถเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมอย่างไร และ 3. คือทักษะด้านสารสนเทศ ที่จะสร้างให้เด็ก ICT literacy (มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศ) ได้เพิ่มขึ้นอย่างไร

“เช่น ทักษะการเรียนรู้ และนวัตกรรม ผมคิดว่าทักษะชุดที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ การคิด น่าจะมีความสำคัญมากโดยเฉพาะสำหรับเด็กไทย ที่อาจจะเรียนกันมาในรูปแบบที่เน้นความจำเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ให้เขาท้าทาย รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผมคิดว่าส่วนนี้มีความสำคัญ

ถ้าเราไปดูเรื่องความสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม กลุ่ม P 21 ที่สร้างโมเดลที่ผมกล่าวมานั้น เขาพูดถึงเกี่ยวกับการเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย แปลกใหม่ นำข้อเสนอไปประยุกต์ใช้ได้ การสร้างสรรค์แนวคิดให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงรูปธรรม ทำอย่างไรที่จะทำแนวคิดที่เป็นนามธรรมของเราเป็นผลงานเชิงรูปธรรมได้ แล้วก็รู้จักประเมินแนวคิดตัวเอง ปรับปรุงความสร้างสรรค์ของตัวเองได้ ผมคิดว่าสังคมไทยชัดเจน ถ้าพูดจากประสบการณ์ ผมคิดว่าสังคมไทยไม่ค่อยให้คุณค่าเรื่องความสร้างสรรค์เท่าไร หากไปดูเด็กส่วนใหญ่ เมื่อให้ทำรายงาน จะพบว่าผลงานมีการตัดแปะงานจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แสดงว่าเราอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญให้เห็นว่าความสร้างสรรค์นั้นมีความสำคัญอย่างไร ว่าเราให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ของเขานะ”

ส่วนเรื่องการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ก็คือผมคิดว่าเด็กไทยน่าจะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ หากให้เด็กทำงานร่วมกันก็จะมีปัญหาในเรื่องการแบ่งงานกันทำให้ไม่สามารถคุยกันได้ว่าจะทำงานที่ดีออกมาอย่างไร เวลาสื่อสารออกมาก็เป็นการนั่งอ่านไปเรื่อยๆ ไม่สามารถพรีเซนต์ ไม่สามารถที่จะชี้ประเด็นสำคัญได้

อีกทักษะหนึ่งที่ส่วนตัวผมจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การคิดแบบมีวิจารณญาณ การคิดแบบ critical จากประสบการณ์ของผม เด็กส่วนมากจะอยู่ประมาณขั้นที่ 2 ที่ได้ A กับเรา คือ comprehension คือเข้าใจสิ่งที่สอนแล้ว แล้วสามารถท่องจำมาตอบได้ แต่สมมติให้รายงานไป ที่ไม่ใช่แค่การสอบในห้องเรียน จะพบว่าเด็กส่วนมากหยุดที่ comprehension คือการแตะ definition (นิยาม) สมมติให้ทำรายงาน ก็จะทำว่าอันนี้นิยามว่าอย่างนี้ นิยามว่าอย่างนั้น แต่ไม่สามารถที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ได้ ไม่สามารถวิเคราะห์ ไม่สามารถสังเคราะห์อะไรได้ ผมคิดว่านี่เป็นทักษะที่จำเป็นจะต้องเร่ง ว่าทำอย่างไรให้เห็น ว่าเราให้คุณค่ากับเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการคิดแบบมีวิจารณญาณจริงๆ

อีกส่วนหนึ่งคือทักษะชีวิตและการทำงาน ไม่ลงรายละเอียดมาก แต่ขอพูดถึงเรื่องความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง ทำอย่างไร ผมว่าประเด็นสำคัญคือ เด็กส่วนมากใช้เวลาเรียนไปทั้งหมดกับห้องเรียน ส่วนมากจะเรียน 6-7 วิชา คือเรียนกันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ เรียนเช้า เรียนบ่าย วิชาละ 3 ชั่วโมง แล้วสุดท้ายผมรู้สึกว่า เด็กที่เราได้นั้นเรียนเยอะมากเลยแต่ไม่มีอะไรติดกลับไป ไม่มีทักษะที่จะไปใช้ในการทำงานได้จริงๆ เพราะส่วนมากเราป้อนเขาผ่านการเลคเชอร์เป็นหลัก แต่เขาไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้ ไม่สามารถตั้งคำถามวิจัยเองได้ ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง กระทั่งผมคิดว่าเป็นปัญหาในมหาวิทยาลัย

samsung_1

“ผมก็คิดว่าเราอาจจะใช้เวลาในการเรียนรู้ในห้องเรียนมากเกินไปจนกระทั่งเด็กรู้สึกว่าการเรียนในห้องเรียนคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่เขาไม่สามารถพัฒนาทักษะเรื่องการชี้นำตนเอง สามารถเรียนรู้ไปไกลกว่าสิ่งที่เราสอนได้ หรือหาความรู้ไปไกลกว่านั้นได้”

ส่วนทักษะหนึ่งคือ ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี เราอาจจะยังใช้ ICT น้อยไปหน่อย กระทั่งทุกวันนี้ตั้งเฟซบุ๊กกรุ๊ปเพราะว่าเราไม่มีแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับการใช้สื่อสารกับเด็กสักเท่าไหร่ และจากประสบการณ์ของผมที่เห็น เด็กส่วนมากขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ส่วนมากที่ผมสอนในห้องผมจะบอกเด็กให้ใช้มือถือได้ แต่ขอให้ใช้ให้เป็น เช่น ผมพูดบางเรื่องคุณไม่อยากถามผม คุณเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตไปพร้อมๆ กับเวลาที่ผมสอน แต่ปรากฏว่าปัญหาก็คือ ส่วนมากเด็กก็ไม่ค่อยทำ ส่วนมากจะนำมือถือมาเล่น เขาอาจจะยังไม่มีความรู้ในการใช้เครื่องมือในการหาความรู้ด้วยตัวเองสักเท่าไร

“เราจะทำอย่างไรที่จะสอนให้เด็กมี literacy มีความรู้ในเรื่องนี้ หรือจะทำอย่างไรที่จะให้เขาสามารถตัดสินได้เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่ข้อมูลท่วมท้น ส่วนมากก็คือ เมื่อเขาเสิร์ชคำอะไรไปแล้วเจอก็ตัดสินเลยว่าอันนี้สามารถใช้ได้ ทำอย่างไรเขาถึงจะตัดสินได้ว่าข้อมูลที่เขาใช้นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร และมีจริยธรรมในการใช้ ก็คือให้เครดิต ไม่ใช่เพียงตัดแปะแล้วลอกมา นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ”

พิธีกร: ให้อาจารย์วรพจน์สรุปสั้นๆ ว่าจากนี้ไปทำอย่างไรให้เราพร้อมที่สุดสำหรับศตวรรษที่ 21

วรพจน์: ฟังมาก็รู้สึกว่าผมมองโลกแง่ร้ายที่สุด แต่ว่าฟังทุกท่านแล้วก็มีความหวังมากขึ้นกับการศึกษาและความหวังที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ เพราะว่าก่อนหน้านี้มีแท็บเล็ต แต่ประสบความล้มเหลว คนอาจจะเข้าใจผิดว่าการโยนเทคโนโลยีเข้าไปเลยจะทำให้เด็กเก่งขึ้น เป็นการคิดที่เรียกว่า technological determinism เทคโนโลยีกำหนดทุกอย่าง แต่จริงๆ การศึกษาไม่ใช่ว่าโยนเทคโนโลยีเข้าไปแล้วจะจบ มันต้องมาพร้อมวิธีการเรียนการสอน เช่น วิธีคิดแบบใหม่ๆ วิธีการเรียนการสอนที่มาพร้อมเทคโนโลยี เช่น constructionism การสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง อย่างนี้ก็ใช้ digital story telling หรือการเรียนรู้แบบแชร์ connectionism สังคมแชร์มากขึ้น ทำอย่างไรให้เขาแชร์ความรู้แล้วสนุกไปกับมัน เรื่องแบบนี้ก็ทำให้มีความหวังเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนา

อาจารย์พูดถึงครู พูดถึง passion คือความรัก ส่วนตัวผมในฐานะนักสังคมวิทยา เราจะสนใจเรื่องโครงสร้างไปพร้อมๆ กับคน เรื่องคนมีความสำคัญ ครูที่มีความรักเด็ก ย่อมจะทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แต่โจทย์คือจะสเกลอัพสิ่งนี้อย่างไร เพราะเราคงไม่ได้มีครูที่มีความสามารถและรักเด็กโดยที่บางโครงสร้างไม่เอื้อให้เขารักเด็กได้ เช่น ครูต้องประเมินทั้งวันแล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทุ่มเทกับเด็ก มันต้องปรับเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว

และในหนังสือที่ผมแปลจะพูดถึงการปรับหลักสูตรและวิธีการสอนที่จะทำอย่างไรให้หลักสูตรกระชับมากขึ้น ไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนี้ มีการบูรณาการให้สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นจริงเขามากขึ้น เน้นกระบวนการคิดขั้นสูง ทำอย่างไรที่จะสร้างหลักสูตรแบบนี้ ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้เป็นวิสัยทัศน์ ในโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา หลายที่กำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าเขาต้องการไปสู่อะไร ไปสู่ทักษะที่ขั้นสูงมากขึ้น ไม่เน้นความจำ

มีโรงเรียนหนึ่งคติว่า Home of Bulldog บลูด็อกคือสุนัข ในแง่หนึ่งหมายถึงคนที่ดื้อ เขาต้องการสร้างเด็กดื้อ เราจะสร้างวิสัยทัศน์อย่างไร ถ้าเราพูดถึงหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. เป็นเหมือนวิสัยทัศน์โดยรวม เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างวิสัยทัศน์เป็นทิศทางที่เราต้องการพัฒนาจริงๆ

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องวิธีการเรียนการสอน เราเน้นเรื่อง project-based problem-based คืออยู่ดีๆ โยนไปบอกให้ครูแล้วบอกว่าสอนแบบนี้ให้ได้ เป็นผม ผมก็ทำไม่ได้ทันที คืออาจจะมีครูบางคนที่มีความรู้เก่ง แต่ภาพรวมน่าจะยังทำไมได้ ทำอย่างไรที่จะมีเครื่องมือให้เขาบางอย่าง เช่น ชุดความรู้บางอย่าง ชุดเหตุการณ์ หรือชุดโปรเจกต์บางอย่างที่เขาสามารถนำไปใช้ได้ทันที อาจประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์บริบทท้องถิ่น หรือเราเอาไอซีทีเข้าไป ต้องไปพร้อมกับ know how วิธีการใช้ไอซีที วิธีการเรียนการสอน ทำอย่างไร

นอกจากหลักสูตรและวิธีการสอนเขายังพูดถึงเรื่องการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งหลายท่านเน้นและเป็นเป้าหมายระยะยาว คือ อยู่ดีๆ จะเสกให้ครูสามารถสอนทักษะศตวรรษที่ 21 ได้ทันทีคงจะยาก อย่างกรณีฟินแลนด์ เขาลงทุนกับครูมานาน เอาคนที่เก่งที่สุดมาเป็นครู และให้เวลาหลังจากจบ มีกระบวนการฝึกหัดเป็นปี ก่อนที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู เรื่องพวกนี้เป็นเป้าหมายระยะยาว แต่ก็ต้องทำ ในเวลาเดียวกันเราอาจสร้างสิ่งที่หลายประเทศพูดถึงคือ PLC คือชุมชนการเรียนรู้ของครู ทำอย่างไรให้ครูสามารถแชร์ประสบการณ์ที่ดีที่สุดได้ อย่างที่ญี่ปุ่นมี partnership ระหว่างโรงเรียนและสถาบันการศึกษา อย่างมหาวิทยาลัย ทำอย่างไรให้เกิดกลุ่มชุมชนการเรียนรู้ของครู เพื่อการพัฒนาเรื่องพวกนี้

เรื่องการประเมินก็มีความสำคัญ อย่าง เซี่ยงไฮ้ แน่นอนเป้าหมายระยะสั้นคือต้องการเพิ่มคะแนน PISA จึงปรับเปลี่ยนวิธีการประเมิน อันนี้เป็นระยะสั้นที่เขาสามารถทำได้ ผมก็คิดว่าเป็นวิธีการที่ดี ทำอย่างไรให้เน้นการประเมินในห้องเรียนมากขึ้น แล้วเน้นการประเมินเพื่อการพัฒนามากกว่าการตัดสินผล อันนี้ชัดเจน คือเด็กส่วนมากไม่ค่อยสนใจเวลาเราชวนเขามาคุยว่างานเขาดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร ผมจะบอกเสมอว่าสอบเสร็จ ส่งรายงานเสร็จให้มาเจอผม แต่พอเกรดออก ก็ไม่มีใครกลับมา คือจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า เออ…การประเมินเพื่อการเรียนรู้มันสำคัญกว่าการประเมินเพื่อตัดสินผลเท่านั้น

และผมคิดว่าตอนนี้วิธีการประเมิน แน่นอนมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ถ้าจะใช้การประเมินแบบทักษะ ผมคิดว่าสิ่งที่เมืองนอกใช้เยอะคือรูบิก ไม่ใช่การประเมินสุดท้ายที่ต้องเป็นตัวเลข หรือ A B C D ซึ่งการประเมินทักษะเหมือนกับการบอกเขาว่าเราให้คุณค่ากับอะไร ถ้าเราบอกเขาให้ชัดเจนว่าให้คุณค่ากับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การใช้ไอซีที ฯลฯ ผมคิดว่าเด็กเขาเปลี่ยน นี่อาจจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น

พิธีกร: ขอบคุณอาจารย์วรพจน์ เรายังมีความหวังกับการปฏิรูปการศึกษา สิ่งที่ต้องทำคือปรับโครงสร้างทั้งหลักสูตรและวิธีการสอน และการประเมินต้องประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่การประเมินเพื่อหวังผล

อ่านตอนที่ 2 “passion for learning” ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ