ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “หม่อมอุ๋ย” เคาะประมูล 4G สิงหาคมนี้ ตั้งคณะทำงานเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างบรอดแบนด์แห่งชาติ Data Center

“หม่อมอุ๋ย” เคาะประมูล 4G สิงหาคมนี้ ตั้งคณะทำงานเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างบรอดแบนด์แห่งชาติ Data Center

19 มีนาคม 2015


321
พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า คณะกรรมการอนุมัติแผนงานและคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่

1) อนุมัติแผนเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband) มีเป้าหมายให้ทุกบ้านสามารถเข้าถึงเครือข่ายได้ภายในปี 2560 และเข้าถึงทุกหมู่บ้านได้ภายในปี 2559 ซึ่งการดำเนินงาน 2-3 เดือนแรกจะรวบรวมข้อมูลเครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก (Fiber Optic) ส่วนที่ไม่ได้ใช้งานของเอกชนและราชการ เพื่อประหยัดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการไฟฟ้า, การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), บริษัท ทีโอที จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส ทั้งนี้ ระหว่างรวบรวมข้อมูล 3 เดือนนี้ จะเริ่มออกแบบเครือข่ายไปพร้อมกันด้วย

เมื่อได้จำนวนเครือข่ายแล้ว จะนำมาตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนกลางผ่านพระราชบัญญัติร่วมทุน พร้อมทั้งหามืออาชีพมาบริหาร โดยเงินทุนที่ขาดอาจจะกู้เงินจากตลาดการเงินหรือตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องรอผลการรวบรวมข้อมูลก่อนอีกหลายเดือน โดยสัดส่วนบริษัทเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นของราชการมากกว่าเอกชน ทั้งนี้ จะพยายามไม่จัดตั้งเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่คล่องตัว คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือน หลังจากนั้นจะจัดทำประกาศเชิญชวน (TOR) ประมูลหาผู้ก่อสร้างระบบ จนแล้วเสร็จทั้งหมดในอีก 10 เดือนข้างหน้าและเปิดให้บริการปลายปี 2559 ได้ทุกหมู่บ้าน

2) อนุมัติแผนงานศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (Data Center) 40-50 แห่ง สำหรับเก็บข้อมูลเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะช่วยสร้างประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการทำงาน โดยจะเริ่มต้นเก็บข้อมูลของหน่วยราชการที่สามารถเปิดเผยให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ ไม่รวมข้อมูลความมั่นคงและข้อมูลส่วนบุคคล มีความจุเบื้องต้นมากกว่าข้อมูลราชการ 1 เท่าตัว ทำให้มีค่าบำรุงน้อยลงในแต่ละปี ส่วนความจุที่เกินไปมีแนวคิดที่จะเปิดให้เอกชนหรือราชการมาเช่าใช้ได้ต่อไป ซึ่งน่าจะใช้ประมูล

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยราชการ 142 แห่ง ที่มีระบบข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน สร้างภาระต้นทุนดูแลบำรุงรักษาจำนวนมาก ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องโอนมาอยู่ภายใต้ระบบใหม่นี้และไม่ต้องขยายขนาดเพิ่มเติม ส่วนเงินลงทุนจะเป็นเอกชนลงทุนทั้งหมด พร้อมกับจะสร้างหน่วยงานที่ประสานและวางกฎเกณฑ์ในการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ด้วย เช่น ค่าเช่าค่าบริการ เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างมีนาคม 2559 (12 เดือน) และแล้วเสร็จเมษายน 2560 (10 เดือนหลังจากก่อสร้าง)

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่าจะตั้งสำนักงานกลาง เพื่อกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลศูนย์ข้อมูลทั้งหมด วางกฎเกณฑ์การเชื่อมโยง ความปลอดภัย รวมไปถึงค่าเช่า

3) อนุมัติแผนเตรียมการการค้าผ่านสื่อดิจิทัล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใช้ระบบดิจิทัลในธุรกิจ โดยเบื้องต้นได้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดวาระว่าเอกชนต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องอะไรบ้างมาเสนอในการประชุมเดือนหน้า อนึ่ง ทางรัฐบาลจะเริ่มจัดเตรียมกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital Fund เพื่อรองรับโครงการต่างๆ ในอนาคตก่อน ซึ่งเป็นลักษณะการร่วมกันลงทุนผลิตสินค้าออกสู่ตลาด

4) อนุมัติแผนเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ตั้งคณะทำงานเบื้องต้นและให้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่กระทรวงกำลังจัดทำโครงการลักษณะเดียวกันอยู่ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ ส่วนสื่อการสอนสามารถเริ่มได้ทันที เนื่องจากมีเนื้อหาการสอนอยู่แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก

5) อนุมัติให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มต้นประมูล 4 จีทันที หลังจาก คสช. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม หรืออีก 5 เดือน โดยการประมูล 4จีจะให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ ไม่จำเป็นต้องยึดกับคลื่นความถี่ 900 หรือ 1,800 เท่านั้น ส่วนรูปแบบประมูลยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งต้องนำมารายงานคณะรัฐมนตรีทุกเดือนหลังจากนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า หลังจากที่คณะกรรมการชุดใหญ่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว จึงจะมีอำนาจหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ส่วนของความมั่นคง, เพื่อสังคม หรือผู้ด้อยโอกาสได้ แต่ส่วนคลื่นเพื่อการพาณิชย์จะยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. เหมือนเดิม

นอกจากแผนงานหลัก 5 แผนงาน ยังมีมาตรการที่จะเสริมการบริการภาครัฐ 2 มาตรการ ซึ่งคาดว่าจะจัดทำได้ก่อน ได้แก่ 1) ลดสำเนากระดาษในการบริการประชาชน ซึ่งจะเริ่มต้นจากกระทรวงมหาดไทย ก่อนขยายผลไปยังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมรวมถึงกระทรวงอื่นๆ ต่อไป โดยหลักการคือการติดต่อราชการในอนาคตจะไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการรับรองเอกสารอีก แต่จะใช้บัตรประชาชนชนที่เป็นสมาร์ตการ์ดอยู่แล้วยืนยันตัวตนแทน เบื้องต้นคาดว่าจะจัดทำกับบริการ 100 ประเภท คาดว่าจะต้องใช้เวลาแก้ระเบียบและซักซ้อมกับข้าราชการอีกประมาณ 5 เดือน

2) เรื่องจัดทำข้อมูลการขอใบอนุญาตเผยแพร่ ซึ่งเบื้องต้นเลือกมา 63 ใบอนุญาต ก่อนจะนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่าจะต้องขอใบอนุญาตที่ไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง ระยะเวลาอนุมัติกี่วัน ทั้งนี้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับข้าราชการหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องก่อน ขั้นต่อไปจึงจะมีการจัดทำระบบให้เอกสารเชื่อมโยงกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลายแห่ง

ดูเพิ่มเติม (รายชื่อคณะทำงาน)